การเพาะเมล็ดในแปลงเพาะหรือในภาชนะ
การเพาะเมล็ดในแปลงเพาะหรือในภาชนะ, การเพาะเมล็ดในแปลงเพาะหรือในภาชนะ หมายถึง, การเพาะเมล็ดในแปลงเพาะหรือในภาชนะ คือ, การเพาะเมล็ดในแปลงเพาะหรือในภาชนะ ความหมาย, การเพาะเมล็ดในแปลงเพาะหรือในภาชนะ คืออะไร
การปลูกพืช หรือเพาะเมล็ดโดยวิธีนี้ เป็นการเตรียมกล้าพืชเพื่อใช้ปลูกก่อนที่จะปลูกในแปลงหรือในกระถางถาวร โดยเพาะเมล็ดในเนื้อที่แคบๆ จนกระทั่งต้นพืชที่เพาะหรือที่เรียกว่า "กล้า" หรือ "เบี้ย" มีขนาดโตพอจึงถอนย้ายไปปลูก วิธีปลูกพืชโดยการเพาะเมล็ดก่อนนี้ เหมาะสำหรับเมล็ดพืชที่มีราคาแพง เนื่องจากการเพาะทำในเนื้อที่ไม่มากเมล็ดมีโอกาสสูญเสียน้อยเพราะสามารถดูแลได้ทั่วถึง วิธีการนี้มักจะใช้กับพืชสวนผัก หรือไม้ดอกล้มลุก รวมทั้งไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นที่เมล็ดมีขนาดเล็กหรือเจริญเติบโตช้า ได้แก่ การปลูกหรือเพาะเมล็ดพืชจำพวกมะเขือเทศ กะหล่ำดอก แอสเทอร์ พิทูเนีย ฝ้ายคำ ปาล์มขวด เป็นต้น ส่วนวิธีการเพาะเมล็ดนั้นอาจแบ่งออกเป็น ๒ แบบตามขนาดและความเหมาะสมในการปฏิบัติ คือ การเพาะเมล็ดในภาชนะเพาะและการเพาะเมล็ดในแปลงเพาะ การเพาะเมล็ดในแปลงเพาะ ส่วนมากเป็นการเพาะเมล็ดในฤดูกาลตามปกติ ซึ่งมีดินฟ้าอากาศอำนวย ฉะนั้นงานใดที่ต้องใช้กล้าจำนวนมากๆ จึงมักจะใช้การเพาะเมล็ดโดยวิธีนี้ ความสำเร็จของการเพาะเมล็ดในแปลงเพาะส่วนใหญ่มักจะขึ้นอยู่กับการเลือกสภาพพื้นที่และวิธีการเตรียมแปลงส่วนการดูแลรักษาต้นกล้านั้น ทำได้ง่ายในฤดูนี้
ก. การเลือกที่และการเตรียมแปลงเพาะ มีวิธีปฏิบัติดังนี้
๑. เลือกที่ที่มีวัชพืชขึ้นน้อย และดินมีความสมบูรณ์พอสมควร ไม่เป็นที่ที่เคยปลูกพืชอื่นมาก่อนโดยเฉพาะพืชที่เกิดโรคง่าย หรือแมลงชอบทำลาย
๒. ถางหญ้าและเก็บเศษวัชพืชต่างๆ ออกให้หมด โดยเฉพาะวัชพืชที่มีหัวหรือเหง้า เช่น แห้วหมู ผักเป็ด ชันกาด หรือหญ้าคา เป็นต้น
๓. วางหรือกะแปลงเพาะให้หัวท้ายของแปลงอยู่ในแนวทิศเหนือและทิศใต้ และกะให้แปลงมีขนาดความยาวประมาณ ๖ เมตร กว้างประมาณ๑.๒๐ เมตร
๔. ถ้าเป็นพื้นที่ดินเหนียว จะต้องฟื้นดินตากแดดให้แห้ง การฟื้นดินควรฟื้นขึ้นเป็นรูป Dเพื่อให้มีพื้นที่ถูกแดดได้มาก ซึ่งจะช่วยให้ดินแห้งร็วขึ้น
๕. เมื่อดินแห้งดีแล้วจึงค่อยย่อยดิน พร้อมกันนี้จะใส่ปุ๋ยคอกลงไป มากน้อยแล้วแต่ความสมบูรณ์และชนิดของดิน และอาจใส่ปูนขาวเล็กน้อย เมื่อเห็นว่าดินมีฤทธิ์เป็นกรดมากเกินไป รดน้ำให้ดินชื้น จากนั้นจึงย่อยดินให้ทั่วแปลงสำหรับขนาดของดินที่ย่อยแล้ว ควรจะมีขนาดราว ๑ ลูกบาศก์เซนติเมตร โดยเฉพาะใน ระดับ ๑๐ เซนติเมตร จากผิวหน้าดิน แล้วจึงแต่งดินยกเป็นรูปแปลงตามขนาดที่กะไว้ โดยให้ตัวแปลงสูงจากพื้นทางเดินราว ๑๕-๒๐ เซนติเมตร
๖. เพื่อความแน่ใจว่าแปลงเพาะจะไม่มีโรคหรือแมลงที่เป็นศัตรูของเมล็ดและกล้าพืชที่เพาะจึงควรจะอบดินเสียก่อน เช่น อาจใช้สารเมทิลโบรไมด์ ในการอบฆ่าศัตรูในดิน เป็นต้น
ข. การหว่านเมล็ดในแปลงเพาะ นิยมหว่านเมล็ดทั่วแปลง แต่เนื่องจากแปลงเพาะมีขนาดกว้างจึงต้องแบ่งหว่านครั้งละซีกแปลง การหว่านถือหลักเช่นเดียวกับการหว่านเมล็ดในภาชนะเพาะในกรณีที่เมล็ดมีขนาดเล็ก หรือการย่อยดินไม่ละเอียดพอก่อนหว่านเมล็ดมักนิยมใช้ปุ๋ยคอกเก่าๆ หว่านให้ทั่วแปลง แล้วรดน้ำให้ปุ๋ยคอกลงไปอุดช่องดินเสียก่อน ทั้งนี้เพื่อป้องกันเมล็ดตกลงไปตามซอกก้อนดินซึ่งลึกเกินไปจนไม่อาจงอกและโผล่พ้นผิวดินได้การหว่านเมล็ดควรจะหว่านพอบางๆ ก่อนแล้วจึงหว่านทับอีกเมื่อเห็นว่าเมล็ดตกบางเกินไป ส่วนการกลบดินทับเมล็ดก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับการเพาะเมล็ดในภาชนะเพาะ
ค. การทำร่มให้แก่ต้นกล้าในแปลงเพาะ ไม่ว่าจะเป็นการเพาะเมล็ดในภาชนะเพาะหรือเพาะเมล็ดในแปลงเพาะ จะต้องทำร่มให้แก่กล้าที่เพาะเช่นเดียวกัน ตั้งแต่ระยะที่กล้าพืชเริ่มงอกจนกระทั่งถึงระยะย้ายปลูก ทั้งนี้เพื่อป้องกันสภาพธรรมชาติเป็นต้นว่าฝนแรงและแดดจัด ซึ่งกล้าพืชที่ยังอ่อนๆหรือเพิ่งเริ่มงอกไม่อาจทนได้ การทำร่มให้แก่แปลงเพาะนี้โดยหลักการก็คือ เมื่อต้นพืชยังเล็กอยู่ก็จะให้แสงแต่น้อย คือ ให้เฉพาะเช้าหรือเย็นขณะที่แดดยังไม่ร้อนเกินไป แต่เมื่อต้นพืชโตขึ้นก็จะให้แสงให้มากขึ้นๆ จนกระทั่งถึงระยะถอนย้าย ซึ่งจะไม่ให้ร่มแก่กล้าพืชเลย ทั้งนี้เป็นการช่วยให้ต้นกล้าที่จะถูกถอนย้ายปรับตัวที่จะไปอยู่สภาพแปลงปลูกใหม่ได้ดีขึ้น สำหรับการทำร่มพรางแสงนั้น จะใช้วัตถุอะไรก็ได้ที่ทึบแสงมาวางให้สูงจากกล้าพืชพอสมควรโดยจัดวางให้กล้าพืชได้รับแสงแต่น้อย แต่ถ้าเป็นการให้ร่มที่ต้องการป้องกันฝนด้วยก็อาจใช้ผ้าพลาสติกที่โปร่งแสงหรือผ้าฝ้ายสีขาวทำเป็นผืนยาวเท่าขนาดแปลงคลุมทับโครงไม้ที่ปักคร่อมแปลงเพาะอยู่วิธีเตรียมโครงไม้และผ้าคลุม ปฏิบัติดังนี้
๑. ใช้ไม้ไผ่ผ่าเป็นซีก กว้างประมาณ๓-๕ ซม. ยาวประมาณ ๒.๕ เมตร เหลาให้อ่อนพอโค้งได้ ปักคร่อมแปลงให้แต่ละอันห่างกันราว๗๐ ซม. และให้โค้งบนสูงสุดจากพื้นแปลง ๘๐-๙๐ซม. ซึ่งถ้าแปลงยาว ๖ เมตร จะต้องปักไม้โค้งนั้น ประมาณ ๘ อัน
๒. ปักหลักกลางตามขวางของแปลงสำหรับเป็นที่ขึงลวดตามยาวตลอดแปลง ๓ หลัก โดยปักหัวท้ายข้างละหนึ่งหลัก และกลางแปลงหนึ่งหลักและควรปักให้สูงประมาณ ๘๐-๙๐ ซม. หรือให้หัวหลักเสมอระดับไม้โค้ง แล้วใช้ลวดขนาด ๑
๑๖ นิ้วขึงตลอดทั้ง ๓ หลัก
๓. ปักหลักสำหรับผูกลวดที่ร้อยผ้าคลุมแปลงทั้งสองข้างแปลง ข้างละ ๒ หลัก โดยปักที่มุมแปลงมุมละหนึ่งหลัก รวมเป็นสี่หลัก และปักให้สูงจากพื้นดินประมาณ ๓๐ ซม.
๔. ใช้ผ้าดิบสีขาวชนิดหนายาวเท่าความยาวของแปลง และมีหน้ากว้างราว ๑๗๐ ซม. โดยใช้ผ้าหน้ากว้าง ๙๐ ซม. เย็บติดกัน ๒ ผืน แล้วทำหูสำหรับร้อยลวดที่ชายทั้งสี่ด้าน ก่อนใช้ผ้าควรซักเพื่อให้หมดแป้งเสียก่อน แล้วอาบด้วยยาป้องกันเชื้อราเพื่อป้องกันผ้ามิให้ผุง่าย
๕. ใช้ลวดร้อยหูด้านข้างตามยาวทั้งสองด้าน และหลังจากที่เพาะเมล็ดเรียบร้อยแล้ว จึงคลุมผ้าบนไม้โค้ง แล้วผูกลวดติดกับหลักที่ปักไว้ตรงมุมแปลงทั้ง ๔ หลักให้แน่น จากนั้นก็คอยปรับแสงให้มากน้อยตามความต้องการของกล้า จนกว่าจะถึงเวลาย้ายปลูกลงแปลงต่อไป
ง. การดูแลรักษาต้นกล้า จุดมุ่งหมายในการดูแลรักษาต้นกล้าก็คือเพื่อเลี้ยงดูกล้าพืชให้แข็งแรงพ้นจากการทำลายของโรคโคนเน่าคอดิน สำหรับการดูแลรักษากล้าพืชในระยะแรกก็คือ การเปิดให้ต้นกล้าได้รับแสงหลังจากที่งอกโผล่พ้นผิวดิน นอกจากแสงแล้วอุณหภูมิก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจริญของกล้าพืชอีกด้วย โดยปกติอุณหภูมิขนาดปานกลางถึงค่อนข้างต่ำจะช่วยให้กล้าพืชเจริญได้แข็งแรงซึ่งถ้าเป็นพืชฤดูหนาวก็ควรจะอยู่ในช่วงของอุณหภูมิ ๖๐° - ๖๕°ฟ. ในเวลากลางวัน แลอุณหภูมิที่ต่ำว่านี้ ๕° - ๑๐°ฟ. ในเวลากลางคืน ส่วนพืชฤดูร้อนควรจะมีอุณหภูมิราว ๗๐° - ๗๕°ฟ. ในเวลากลางวัน และอุณหภูมิที่ต่ำกว่านี้ ๕° - ๑๐°ฟ. ในเวลากลางคืน การให้น้ำแก่กล้าพืชก็เป็นเรื่องสำคัญ คือ จะต้องคอยสังเกตความชื้นในแปลงเพาะและความต้องการน้ำของกล้าพืชเป็นสำคัญ โดยรักษาระดับความชื้นในแปลงเพาะให้พอเหมาะไม่มากเกินไปจนทำให้อากาศถ่ายเทในดินไม่สะดวก อันจะเป็นทางหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคโคนเน่าคอดินระบาดได้รวดเร็ว โดยทั่วไปขณะที่กล้าพืชยังเล็กอยู่ รากยังมีน้อย ควรจะรดน้ำให้บ่อยครั้ง เพื่อช่วยให้รากเจริญได้เร็วขึ้นแต่เมื่อกล้าเจริญได้ดีพอแล้ว อาจจะงดการให้น้ำได้บ้าง แต่ก็ควรให้แปลงเพาะชื้นอยู่เสมอ การรดน้ำกล้าพืชควรจะทำตอนเช้าหรือตอนบ่าย ๓-๔ โมงเย็น เพื่อให้น้ำจับต้นกล้าได้มีโอกาสแห้งโดยเฉพาะในตอนเย็น ซึ่งจะเป็นการป้องกันโรคได้ทางหนึ่ง และถ้ามีการเกิดโรคก็ควรจะงดการรดน้ำตอนเย็นเสียโดยรดแต่ตอนเช้าเพียงเวลาเดียว พร้อมกันนี้ก็ควรใช้ยาป้องกันเชื้อรารดกล้าพืชที่เป็นโรคนั้นจนกว่าโรคนั้นจะหายไป
จ. การย้ายกล้า ในกรณีที่การหว่านเมล็ดหนาเกินไป และเมล็ดงอกเบียดเสียดกันมาก ซึ่งถ้าไม่ถอนย้ายก็อาจทำให้เกิดโรคโคนเน่าคอดินได้ง่ายขึ้นเมื่อเป็นเช่นนี้ก็อาจย้ายกล้าไปปลูกเสียขั้นหนึ่งก่อนเป็นการย้ายปลูกชั่วคราวก่อนที่จะย้ายลงแปลงหรือกระถางถาวร การย้ายกล้าในระยะนี้ควรจะทำเมื่อกล้าพืชมีใบจริง ๒-๓ ใบ และมีขนาดพอที่จะหยิบจับได้ถนัดพอสมควร การย้ายปลูกชั่วคราวนี้ มักนิยมใช้กระบะไม้เป็นภาชนะในการย้ายปลูก เพราะสามารถเคลื่อนย้ายไปปลูกในที่ต่างๆ ได้สะดวก การเตรียมกระบะและเตรียมดินย้ายปลูกทำเช่นเดียวกับการเพาะเมล็ด จากนั้นก็ดำเนินการย้ายปลูก โดยใช้ไม้กดดิน กดดินในกระบะให้เป็นรูในตำแหน่งที่จะย้ายปลูก แล้วจึงย้ายต้นกล้าลงไปปลูกในรูที่เตรียมไว้ กดดินให้กระชับรากพืช แล้วรดน้ำให้โชก ใน ๒-๓ วันแรกควรคลุมหรือเก็บกระบะไว้ในที่ร่มและชื้นจนกว่าต้นพืชจะตั้งตัวซึ่งจะใช้เวลา ๒-๓ วัน จากนั้นก็เป็นการเลี้ยงดูต้นกล้าให้เจริญเติบโตเช่นเดียวกับปฏิบัติกับกล้าพืชทั่วๆไป เมื่อต้นพืชเจริญดีและมีขนาดพอที่จะย้ายปลูกลงกระถางหรือแปลงปลูกถาวร จึงค่อยย้ายปลูกอีกครั้งหนึ่ง สำหรับความสำเร็จในการย้ายกล้าพืชไปปลูกในที่อื่น ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่กล้าพืชจะพึงได้รับเมื่อถูกย้ายออกไป ถ้าสภาพแวดล้อมใหม่ใกล้เคียงกับสภาพของต้นกล้าที่ได้รับขณะอยู่ในแปลงเพาะหรือแปลงย้ายปลูกชั่วคราว ความสำเร็จในการย้ายปลูกก็จะมีมาก แต่ถ้าสภาพแวดล้อมใหม่แตกต่างไปจากสภาพแวดล้อมเดิมมากการย้ายปลูกก็ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ในกรณีของการย้ายกล้าไปปลูกในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างไปจากเดิมมากๆ นี้ จำเป็นต้องทำให้กล้าพืชแข็งตัวซึ่งอาจทำได้โดยทำให้กล้าพืชชะงักการเจริญ ซึ่งจะมีผลทำให้ต้นพืชสะสมอาหารประเภทแป้งไว้มากอันจะทำให้ต้นพืชสามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ดีขึ้น ในการทำให้กล้าพืชแข็งตัวนี้อาจทำได้โดยรดน้ำต้นกล้าให้น้อยลง หรืออาจใช้โพแทสเซียมคลอไรด์ (KC1) อัตราส่วน ๑:๒๕๐-๓๐๐ ละลายน้ำรดต้นพืช ซึ่งควรจะจัดทำก่อนที่จะย้ายปลูกไปที่ใหม่ประมาณ ๗-๑๐ วัน สำหรับการปฏิบัติ ในการถอนย้ายต้นกล้า ก่อนอื่นจะต้องรดน้ำให้ดินในแปลงเพาะชุ่มและอ่อนตัว ซึ่งเมื่อถอนย้ายแล้วต้นพืชจะได้รับการกระทบกระเทือนน้อยที่สุด การถอนย้ายก็ควรจะมีดินติดไปบ้างเล็กน้อย เพื่อกล้าพืชจะได้ตั้งตัวได้เร็วขึ้น โดยจะต้องพิจารณาความสามารถในการตั้งตัวของพืชแต่ละชนิดและสภาพแปลงปลูกใหม่ที่จะถอนย้ายไปปลูกด้วย หลังจากการปลูกแล้วจะต้องรดน้ำให้ชุ่มและควรทำร่มให้เป็นการชั่วคราว ๒-๓ วัน จนกระทั่งกล้าพืชตั้งตัวได้ พร้อมทั้งคอยรดน้ำอย่าให้กล้าพืชเหี่ยวเพราะขาดน้ำในระยะนี้ได้
การใช้ปุ๋ยเร่งจะช่วยให้ต้นพืชตั้งตัวเร็วขึ้นปุ๋ยที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นปุ๋ยผสมที่มีฟอสฟอรัส (P2O5)สูง เช่น ใช้สูตร N:P:K = ๑๐:๕๒:๑๗ ในอัตรา ส่วน ๕-๖ ปอนด์ ต่อน้ำ ๑๐๐ แกลลอนหรือประมาณ๒.๓-๒.๗ กก. ต่อน้ำ ๔๐๐ ลิตร รดกล้าพืชหลังจากการย้ายปลูกใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้กล้าพืชตั้งตัวเร็วขึ้นแต่ต้องระวังอย่าใช้ให้เข้มข้นมาก โดยเฉพาะเมื่อดินมีความชื้นน้อยหรือรดน้ำไม่พอขณะที่ย้ายปลูกใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้กล้าพืชได้รับอันตรายได้
การเพาะเมล็ดในแปลงเพาะหรือในภาชนะ, การเพาะเมล็ดในแปลงเพาะหรือในภาชนะ หมายถึง, การเพาะเมล็ดในแปลงเพาะหรือในภาชนะ คือ, การเพาะเมล็ดในแปลงเพาะหรือในภาชนะ ความหมาย, การเพาะเมล็ดในแปลงเพาะหรือในภาชนะ คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!