
เช่น ทำบุญ ฟ้อนรำ แต่งงานหรือเทศกาลต่างๆ ในสังคมไทย สมัยก่อนถือว่าการทอผ้าเป็นงานของผู้หญิง เพราะต้องใช้ความประณีตและละเอียดอ่อน ใช้เวลานานกว่าจะทอผ้าชนิดนี้เสร็จแต่ละผืน ผู้หญิงซึ่งในสมัยนั้นต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนอยู่แล้ว จึงมีโอกาสทอผ้ามากกว่าผู้ชาย อีกประการหนึ่ง ค่านิยมของสมัยนั้นยกย่องผู้หญิงที่ทอผ้าเก่ง เพราะเมื่อโตเป็นสาวแล้วจะต้องแต่งงานมีครอบครัวไปนั้น ผู้หญิงจะต้องเตรียมผ้าผ่อนสำหรับออกเรือน ถ้าผู้หญิงคนใดทอผ้าไม่เป็นหรือไม่เก่งก็จะถูกตำหนิ ชายหนุ่มจะไม่สนใจ เพราะถือว่าไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมจะเป็นแม่บ้าน เมื่อมีงานเทศกาลสำคัญต่างๆ ชาวบ้านจะพากันแต่งตัวด้วยผ้าทอเป็นพิเศษไปอวดประชันกัน ผ้าชนิดนี้จะทอขึ้นด้วยฝีมือประณีตเช่นเดียวกัน มีสีสัน และลวดลาย ดอกดวงงดงามเป็นพิเศษ ผ้าบางผืนจะทอกันเป็นเวลาแรมปีด้วยใจรักและศรัทธา เช่น ผ้าลายจก ผ้าตีนจก ผ้าตาด ผ้ายก และผ้าปูม เป็นต้น
ดังกล่าวแล้วว่าการทอผ้านั้นมีอยู่ทุกภาคของประเทศ แต่ละภาคจะมีจังหวัดที่มีความเด่นเป็นพิเศษในการทอผ้า คือ
ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดลำพูน จังหวัดเชียงใหม่
ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพฯ จังหวัดสระบุรี จังหวัดชลบุรี จังหวัดราชบุรี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย จังหวัดขอนแก่น
ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา
ในเรื่องของผ้าที่ใช้ในการแต่งงานนั้น เรียกว่า ผ้าไหว้ ซึ่งเป็นผ้าของฝ่ายชายที่นำไปมอบให้แก่ญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิงในวันแต่งงานตามแต่จะตกลงกันว่ากี่ชุดเพื่อเป็นการแสดงความเคารพและฝากตัวในการที่ฝ่ายชายเข้ามาอยู่ร่วมกับสกุลหรือญาติวงศ์ของฝ่ายหญิง นอกจากนี้แล้วยังใช้สำหรับไหว้ผีบรรพชนของฝ่ายหญิงอีกด้วย