การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด
การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด, การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด หมายถึง, การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด คือ, การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ความหมาย, การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด คืออะไร
มนุษย์เรา ได้คิดค้นวิธีการรักษาผู้ติดยาเสพติดมาเป็นเวลานานแล้ว กลวิธีที่ใช้ขึ้นอยู่กับแนวความคิดและทัศนคติต่อการติดยาเสพติดในสภาพสังคม และเวลานั้นๆ
หากเห็นว่าการติดยาเสพติดเป็นอาชญากรรมเป็นความชั่วร้ายที่ผู้ติดยาก่อขึ้น วิธีแก้ที่ใช้ก็เป็นการลงโทษ ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ต้นกรุงศรีอยุธยา ให้นำผู้ติดฝิ่นไปประจานด้วยการตระเวนบก ๓ วัน ตระเวนเรือ ๓ วัน แล้วจองจำไว้ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เฆี่ยนแล้วส่งตัวไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง ในปัจจุบันนี้ การใช้ยาเสพติดก็เป็นการผิดกฎหมายอาญา อาจต้องโทษจำคุกได้ ในประเทศสิงคโปร์ ตำรวจอาจจับผู้ใดไปตรวจปัสสาวะหายาเสพติดได้ และถ้าพบว่ามีผลบวก แสดงว่าเคยได้รับเฮโรอีนแล้วก็จะถูกคุมขับเป็นเวลา ๖ เดือนหรือกว่านั้นวิธีการดังกล่าวนี้ หวังจะให้ผู้คนกลัวไม่ไปใช้ยาเสพติดหรือหากติดแล้วก็ต้องเลิกเสีย มิฉะนั้นจะถูกลงโทษหากการรักษากฎหมายกระทำได้เข้มงวดจริงก็เอาได้ผลดังเช่นในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งอ้างว่าไม่มีผู้ติดยาเสพติด เพราะผู้ที่ติดยาและไม่ยอมเลิก จะได้รับโทษสถานหนักถึงถูกยิงเป้า
หากเห็นว่า การติดยาเสพติดเป็นโรคชนิดหนึ่งที่ผู้ติดยาเสพติดเป็นผู้ป่วยที่มีสภาพจิตผิดปกติ การแก้ปัญหาก็เป็นการให้การรักษา และหากเห็นว่าผู้ติดยาเสพติด เป็นผู้โชคร้ายที่เป็นเหยื่อของปัญหาสังคม เขาก็ควรได้รับการช่วยเหลือ
วิธีการในการรักษาผู้ติดยาเสพติด ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดที่เป็นที่ยอมรับ และมีหลักฐานว่า เป็นวิธีที่ได้ผลแน่นอน อาจแบ่งเทคโนโลยีในการรักษาออกเพื่อให้เห็นแนวกลวิธีได้ดังนี้ ในโครงการรักษาผู้ติดยาบางโครงการ เป้าหมายหลักในการรักษา เป็นการปรับปรุงแก้ไขด้านจิตใจ เพื่อให้สามารถหยุดยาได้ตลอดไปหรือลดปัญหาลง เทคนิคในการแก้ไขด้านจิตใจมีอยู่มากมายหลายแบบตัวอย่าง เช่น
๑. การรักษาทางจิต ด้วยวิธีการต่างๆทางจิตเวชศาสตร์ เช่น จิตวิเคราะห์ จิตบำบัด เป็นต้น
๒. การอบรมและให้คำปรึกษาด้วยจิตแพทย์พระภิกษุ นักบวช นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์หรือบุคคลอื่น
๓. การฝึกวินัย เช่น การให้มีชีวิตในที่คุมขังหรือโรงเรียน หรือโรงพยาบาลที่จำกัดขอบเขต และมีระเบียบวินัยที่เข้มงวด ตลอดจนการมีระบบลงโทษและให้รางวัลเพื่อปรับปรุงอุปนิสัย
๔. อาชีวะบำบัด ใช้การทำงานเป็นเครื่องรักษาให้มีเครื่องยึดเหนี่ยว แล้วใช้การฝึกอบรมสั่งสอนและวิธีการต่างๆ เป็นเครื่องช่วยปรับปรุงจิตใจ
๕. ชุมชนบำบัด เป็นวิธีการที่สร้างชุมชนจำลองขึ้น ให้ผู้ที่เคยติดยาเสพติดได้ปรับจิตใจของตนเองให้สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ ส่วนใหญ่จะมีผู้เคยติดยาที่ได้เลิกเด็ดขาดแล้ว เป็นผู้ดำเนินการและช่วยเหลือ เทคนิคที่ใช้ในชุมชนบำบัดนี้มีอยู่หลายแบบ ทั้งด้านการสร้างความเห็นอกเห็นใจ การให้ความช่วยเหลือ การให้คำปรึกษาหรือ การสร้างระเบียบวินัยการสร้างนิสัยการทำงาน การสร้างความรับผิดชอบ บางแห่งมีการใช้เทคนิคการเผชิญหน้า โดยให้ผู้ที่อยู่ในชุมชนได้โต้เถียงและวิพากษ์วิจารณ์กันเพื่อให้เกิดการระลึกตนเองได้
การฝึกสมาธิ การบวชเรียน ก็อาจใช้เป็นวิธีปรับปรุงจิตใจได้
การแก้ไขปรับปรุงจิตใจ สำหรับผู้ติดยาเสพติดนี้ เห็นได้ชัดว่ากระทำได้ลำบากและหวังผลได้ยาก จะต้องใช้เวลานาน และค่อยๆเปลี่ยนและปรับไปทีละน้อยต่างคนก็อาจมีปฏิกิริยาและผลแตกต่างกันออกไป
ในสหรัฐอเมริกา ได้มีสถานบำบัดรักษาแบบชุมชนบำบัดนี้หลายแห่ง เช่น ไซนานูน และเดย์ทอป (Synanoon, Daytop) ที่อังกฤษมีฟีนิกซ์เฮาส์ (Phoenix House) ในยุโรปก็มีอยู่หลายแห่ง เช่น เดย์ทอป เยอรมนี (Daytop Germany) เป็นต้น วิธีการที่ใช้มีหลักการคล้ายคลึงกัน และแตกต่างกันบ้างในข้อปลีกย่อย มีเป้าหมายมุ่งที่จะแก้บุคลิกภาพ และสภาพจิตเป็นสำคัญ ต้องใช้เวลาบำบัดรักษา ๑ - ๒ ปี
ในการประเมินผลการบำบัดรักษา มีผู้อ้างว่าวิธีการนี้ได้ผลดีที่สุด อัตราการเลิกใช้ยาเสพติดเกิน ๒ ปี มีสูงถึงร้อยละ ๘๐ ของผู้ที่รับการรักษาครบกำหนด ส่วนผู้ที่รักษาไม่ครบก็ยังมีอัตราการเลิกใช้ยาสูงพอ และอัตราการเกิดปัญหาทางอาชญากรรมลดลงเป็นที่พอใจ และดีกว่าการรักษาวิธีอื่นๆ อย่างไรก็ตาม บางแห่งอัตราการเลิกรักษากลางคันยังสูงอยู่มาก
การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด, การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด หมายถึง, การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด คือ, การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ความหมาย, การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!