ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๔ มีการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข่าวสารแบบไฮเปอร์เทกซ์บนเครือข่าย ส่วนของไฮเปอร์เทกซ์เป็นเอกสารที่เชื่อมโยงกันได้ทั่วทั้งเครือข่าย จึงเรียกระบบสารเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารนี้ว่า WWW (World Wide Web) ระบบข่าวสาร WWW เป็นระบบข่าวสารที่มีประโยชน์มาก มีการใช้กันอย่างกว้างขวาง และเป็นที่นิยมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
หากย้อนกลับไปในอดีต ความคิดในเรื่องไฮเปอร์เทกซ์มีมานานแล้ว โดยเฉพาะในสมัยที่บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์สร้างเครื่องแมคอินทอชและระบบกราฟิคัลยูสเซอร์อินเทอร์เฟซ (GUI)บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ได้สร้างรูปแบบของการเก็บข้อมูลแบบไฮเปอร์เทกซ์ไว้ ระบบการเก็บข้อมูลแบบไฮเปอร์เทกซ์จึงเป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มผู้ใช้เครื่องแอปเปิลแมคอินทอช
เมื่ออินเทอร์เน็ตแพร่หลาย ความคิดในการทำไฮเปอร์เทกซ์มาประยุกต์บนเครือข่ายก็เริ่มเป็นรูปร่าง โดยมีการพัฒนากลไกขึ้นมา ๓ ส่วนส่วนแรกคือ ตัวเนื้อหาหรือข้อมูล ซึ่งก็คือ ตัวหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่รวมรูปภาพ เสียง และภาพเคลื่อนไหวไว้ หรือมีลักษณะเป็นแบบมัลติมีเดียหนังสืออิเล็กทรอนิกส์นี้มีลักษณะเฉพาะตามมาตรฐานที่กำหนด โดยเน้นการผลิตตัวหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่แยกออกไป การจัดรูปแบบหนังสือใช้มาตรฐาน HTML ส่วนที่ ๒ คือส่วนจัดการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์และเชื่อมโยงบนเครือข่าย ซึ่งได้มีการกำหนดโพรโทคอลพิเศษสำหรับการเชื่อมโยงบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์เรียกว่า โพรโทคอล HTTP (HyperText TransportProtocol) โพรโทคอลนี้มีลักษณะทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนที่ ๓ คือ เครื่องเปิดอ่านหนังสือ หรือที่เรียกว่า เบราว์เซอร์ (browser)เครื่องเปิดอ่านหนังสือจะเชื่อมโยงเข้าสู่เครือข่ายตามโพรโทคอลที่กำหนด และเชื่อมโยงเพื่อนำ ข้อมูลหนังสือ (ไฮเปอร์เทกซ์) มาแสดงผลเบราว์เซอร์สามารถแสดงผลแบบมัลติมีเดียได้เมื่อรวมทั้ง ๓ ส่วนนี้เข้าด้วยกัน จึงกลายมาเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมากมาย เราเรียกระบบข่าวสารที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายว่า เวิลด์ไวด์เว็บ (WWW)