ความเชื่อของชาวเขาในประเทศไทย
ความเชื่อของชาวเขาในประเทศไทย, ความเชื่อของชาวเขาในประเทศไทย หมายถึง, ความเชื่อของชาวเขาในประเทศไทย คือ, ความเชื่อของชาวเขาในประเทศไทย ความหมาย, ความเชื่อของชาวเขาในประเทศไทย คืออะไร
ชาวเขาในประเทศไทยปัจจุบันนี้มีอยู่ประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ ตามรอยตะเข็บชายแดนไทยพม่าจากภาคเหนือลงไปจนถึงกาญจนบุรีและเพชรบุรี ส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ตามชายแดนติดกับประเทศลาว นอกนั้นกระจัดกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ เช่น เพชรบูรณ์ อุทัยธานี กำแพงเพชร เป็นต้น
ชาวเขาเหล่านี้มีอยู่หลายเผ่า เช่น ลัวะ กะเหรี่ยง ม้ง (แม้ว) เมี่ยน (เย้า) ลีซู (ลีซอ) ลาฮู (มูเซอ) อะข่า (อีก้อ) และถิ่น เป็นต้น จำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว อีกจำนวนหนึ่งเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
ความเชื่อและพิธีกรรมสำคัญของชนเผ่าเหล่านี้มีลักษณะคล้ายกันที่ว่า เกี่ยวข้องกับชีวิตการเกิด การตาย และการเจ็บไข้ได้ป่วย ความเชื่อและพิธีกรรมแสดงออกถึงความสัมพันธ์ที่คนมีต่อผี ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเขา แต่ละเผ่าจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป
ความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการเกิดของชาวเขา แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในการที่แม่ตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตร จึงมีกฎเกณฑ์มากมายในการปฏิบัติตนของแม่ ข้อห้ามในชีวิตประจำวัน การกินอยู่ ทั้งนี้เพื่อให้คลอดลูกง่ายและให้ลูกมีสุขภาพดี มีการเซ่นไหว้ผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ชาวเขาเชื่อว่า การเจ็บป่วยมีสาเหตุมาจากผีจึงมีหมอที่บอกถึงอาการและวิธีการรักษา มีการเซ่นไหว้ผี และรักษาด้วยวิธีการทางไสยศาสตร์ โดยหมอผีเป็นผู้ทำพิธี บางกรณีก็ใช้ยาสมุนไพรและส่วนหนึ่งรักษาด้วยการแพทย์สมัยใหม่
เมื่อมีสมาชิกตาย ชาวเขาเชื่อว่า เขาไปสู่โลกอีกโลกหนึ่งของคนตาย เขาจะมีชีวิตและกิจกรรมต่างๆ เหมือนกับโลกมนุษย์ ชาวเขาแต่ละเผ่ามีพิธีกรรมเกี่ยวกับคนตาย ตั้งแต่การอาบน้ำศพ การสวดศพ การจัดพิธีฝังหรือ เผาศพ
ความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ในชีวิตของชาวเขามีรายละเอียดมากมาย ซึ่งล้วนแต่แสดงให้เห็นถึงการสั่งสมประเพณีดังกล่าวมาช้านานและถ่ายทอดมาสู่ลูกหลาน ความเชื่อนี้ไม่ได้แยกออกไปจากการดำเนินชีวิตของพวกเขา ซึ่งสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผี วิญญาณ และสิ่งที่ไม่เห็นหรือสัมผัสได้อยู่ตลอดเวลา การรักษากฎเกณฑ์ที่บรรพบุรุษถ่ายทอดมาจึงต้องทำอย่างเคร่งครัด หากมีการละเมิดก็จะเกิดเหตุไม่ดีต่างๆจะต้องขอขมาต่อผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์และแก้ไขความผิดที่ได้กระทำไป
การรักษากฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัดเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวเขาอยู่รอดได้ในสภาพชีวิตที่ยากลำบาก ที่ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ
ปัจจุบันนี้ วิถีชีวิตของชาวเขาส่วนใหญ่กำลังเปลี่ยนไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสังคมการคมนาคม การติดต่อระหว่างชาวเขากับคนอื่นๆ การไปมาหาสู่กับชุมชนอื่นและกับเมืองถนนหนทางกำลังรุกไล่เข้าไปถึงชุมชนที่พวกเขาอยู่พร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีการดำเนินชีวิต การบริโภค และความสัมพันธ์ภายในสังคมและกัธรรมชาติ ป่าเขาเองก็เปลี่ยนไปแทบจะไม่มีป่าเหลือให้พวกเขาเคลื่อนย้ายทำมาหากินเหมือนที่เคยทำอีกต่อไป ส่วนใหญ่จึงต้องปักหลักปักฐานที่เดิม และเริ่มการผลิตทั้งแบบใหม่ การปลูกผัก ผลไม้ หรือการทำเกษตรยั่งยืน เพื่อการฟื้นธรรมชาติและเพื่อการยังชีพ ส่วนหนึ่งอพยพลงไปอยู่ในเมือง
ลูกหลานชาวเขาส่วนหนึ่งเริ่มเรียนรู้ภาษาไทย อ่านออกเขียนได้ หลายคนเข้าไปเรียนต่อในเมืองและจบมหาวิทยาลัย ส่วนหนึ่งเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์หรือพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งก็ยังรักษาความเชื่อประเพณีดั้งเดิมไว้
การเปลี่ยนแปลงสังคมมีผลอย่างสำคัญต่อความเชื่อดั้งเดิมของชาวเขา เพราะการเปลี่ยนแปลงดำเนินไปอย่างรวดเร็ว จนดูเหมือนว่าพวกเขาไม่สามารถจะตามการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ทัน เมื่อหมดคนเฒ่าคนแก่รุ่นนี้ไปแล้ว คนรุ่นใหม่ก็คงต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่มากยิ่งขึ้นความเชื่อและประเพณีต่างๆ คงเปลี่ยนไปอย่างมาก
ดูเพิ่มเติมจากเรื่อง การศาสนา เล่ม ๔ และสังคมและวัฒนธรรมไทย เล่ม ๑๖
ความเชื่อของชาวเขาในประเทศไทย, ความเชื่อของชาวเขาในประเทศไทย หมายถึง, ความเชื่อของชาวเขาในประเทศไทย คือ, ความเชื่อของชาวเขาในประเทศไทย ความหมาย, ความเชื่อของชาวเขาในประเทศไทย คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!