
ในปัจจุบันนี้มีความตื่นตัวในโรคพาร์กินสันเป็นอย่างมาก และได้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการวิจัยเกี่ยวกับสาเหตุของโรคพาร์กินสันและการรักษาขึ้นมาด้วย เนื่องในวันพาร์กินสันโลก วันที่ 11 เมษายน จึงอยากนำเสนอบทความที่ให้ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการรักษาทั้งจากทางการใช้ยาใหม่ๆ และการผ่าตัดสมอง หรือการผ่าตัดสอดสายเข้าลำไส้เล็กเพื่อปลดปล่อยยาอย่างสม่ำเสมอโดยใช้เครื่องปั๊มยาช่วย มีการคาดการว่าโดยทางสถิติน่าจะมีผู้ป่วย ป่วยด้วยโรคนี้ในประเทศไทย ประมาณ 40,000-50,000 คน โดยบางส่วนอาจยังไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องตลอดจนยังไม่ได้รักษาอย่างถูกวิธี
อาการของโรคพาร์กินสัน 4 อาการหลัก ได้แก่
- อาการสั่น (Rest Tremor)
- อาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ (Muscle rigidity)
- อาการเคลื่อนไหวช้า (Bradykinesia)
- อาการสูญเสียการทรงตัว (Postural instability)
อาการจะเริ่มจากข้างใดข้างหนึ่งและลามไปอีกข้างหนึ่ง โดยที่อาการสองข้างจะไม่เท่ากัน ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการสั่น เคลื่อนไหวลำบากปวดกล้ามเนื้อ ไหล่ติด ในรายที่สูงอายุอาจมาด้วยอาการหกล้ม ซึ่งนำไปสู่สภาวะกระดูกหักได้
การรักษา
ปัจจุบันการรักษาด้วยยายังคงเป็นการรักษาที่ดีที่สุด โดยเฉพาะในช่วงต้นของอาการ โดยยากลุ่มใหม่ๆ ที่ใช้ในการรักษาจะเป็นยาชนิดออกฤทธิ์ยาวใช้กินเพียงแค่วันละ 1 ครั้ง ก็สามารถควบคุมอาการได้ 24 ชั่วโมง เช่น pramipexole หรือ ropinirole หรือยาชนิดแผ่นแปะบริเวณผิวหนัง ได้แก่ Rotigotine patch ซึ่งยาชนิดใหม่ทั้ง 3 ตัวนี้ เป็นยากลุ่มโดปามีนอโกนิส (dopamineagonists) ชนิดออกฤทธิ์ยาว ซึ่งถ้าใช้ในระยะเริ่มต้นจะช่วยชะลอการใช้ยา Levodopa ได้ ซึ่งทำให้โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนระยะยาวเช่นอาการยาหมดฤทธิ์ก่อนเวลาอันควร (wearing off) หรืออาการตัวยุกยิกรำละคร (dyskinesias) ลดน้อยลงได้ ส่วนยาอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นยาใหม่ คือยา Rasagiline ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม MAO-B inhibitor ซึ่งนอกจากมีฤทธิ์ในการลดอาการของโรคพาร์กินสันได้แล้ว อาจยังสามารถชะลอ ความเสื่อมของโรคพาร์กินสันได้อีกด้วย ส่วนยา Stalevo เป็นยาที่มีส่วนประกอบของยา levodopa ร่วมกับ entacapone และ carbidopa ซึ่งสามารถยืดระยะเวลาให้ยาสามารถออกฤทธิ์ได้นานขึ้นกว่าเดิม
ส่วนในกลุ่มของผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนจากโรคนี้และยาออกฤทธิ์ได้น้อยลง ทำให้การปรับยาเป็นไปได้ยากขึ้น จึงมีการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี
- การผ่าตัดสอดสายเข้าทางหน้าท้องสู่ลำไส้เล็กและเชื่อมต่อสายหน้าท้องกับยา Duodopa ซึ่งเป็นยา Levodopa gel โดยใช้ปั๊มยาเข้าสู่ลำไส้เล็กตลอดเวลาทำให้การดูดซับยาดีขึ้น ใช้ยาขนาดน้อยลงและยาออกฤทธิ์ได้ยาวขึ้นมาก ช่วยลดอาการของโรคพาร์กินสันในระยะรุนแรง และสามารถปรับขนาดของยาที่ให้ได้ตลอดเวลาตามอาการของโรค
- การผ่าตัดสมอง Deep Brain Stimulation เป็นการฝังสายไฟในสมองส่วนลึก โดยการเจาะรู้ผ่านรูเล็กๆ บริเวณกะโหลกศรีษะ และเชื่อมต่อสายเข้ากับแบตเตอรี่ขนาดเล็กที่บริเวณหน้าอก ซึ่งสามารถตั้งโปรแกรมได้ตามความเหมาะสมกับอาการของผู้ป่วย และทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น ออกฤทธิ์ได้ยาวขึ้น ภาวะแทรกซ้อนน้อยลง และยังสามารถลดปริมาณยาที่กินอยู่ลงได้ 30-50% ทำให้ภาวะแทรกซ้อนจากยาลดลงด้วย ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นกว่าเดิมมาก
ในปัจจุบันโรคพาร์กินสันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม รวมทั้งการเปลี่ยนถ่ายของเซล์ตัวอ่อน (Stem Cell) หรือวิธีล้างสารตกค้างจากร่างกาย (Chelation) เนื่องจากเรายังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ว่าเกิดจากอะไร
นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ได้มีการตั้งสมมุติฐานและทำการทดลองเพื่อหาสาเหตุของโรคนี้และหาทางหยุดยั้งการเสื่อมของเซลล์สมอง รวมทั้งทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นด้วย จึงเป็นโอกาสและความหวังของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้
แหล่งที่มา : https://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/27963