ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

รู้จักกิน-รู้จักอยู่ เคล็ดสู้ร้อนตับแลบ, รู้จักกิน-รู้จักอยู่ เคล็ดสู้ร้อนตับแลบ หมายถึง, รู้จักกิน-รู้จักอยู่ เคล็ดสู้ร้อนตับแลบ คือ, รู้จักกิน-รู้จักอยู่ เคล็ดสู้ร้อนตับแลบ ความหมาย, รู้จักกิน-รู้จักอยู่ เคล็ดสู้ร้อนตับแลบ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
รู้จักกิน-รู้จักอยู่ เคล็ดสู้ร้อนตับแลบ

       ช่วงนี้ไปไหนมาไหน ก็จะได้ยินเสียงบ่นอากาศร้อน โดยเฉพาะวันที่ 26-27 เมษายน คาดว่าหลายพื้นอากาศจะร้อนจัดทำให้มีความชื้นสัมพัทธ์สูง เหงื่อไม่สามารถระเหย และพาความร้อนออกจากร่างกายได้เสี่ยงเป็นโรคลมแดดและอีกหลายโรค เคราะห์หามยามร้ายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ เหล่าคุณหมอจึงออกเตือนประชาชนให้ดูแลสุขภาพให้ดีกับฤดูร้อนนี้
       คุณหมอ มาลินี สุขเวชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) บอกว่า ระยะนี้สภาพอากาศร้อนมาก ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการตากแดดเป็นเวลานาน เพราะเสี่ยงจะเป็นโรคลมแดดหรือฮีตสโตรก (Heat Stroke) ส่วนนักกีฬาหรือประชาชนที่เล่นกีฬากลางแจ้งก็ต้องระมัดระวัง เตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม และควรดื่มเกลือแร่ให้เพียงพอกับการสูญเสียน้ำในร่างกาย ส่วนเรื่องอาหารการกินควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกหรืออาหารที่ไม่ทิ้งไว้นาน เพราะอากาศร้อนทำให้แบคทีเรียโตเร็ว อาหารบูดง่าย หากไม่ระวังจะทำให้ท้องร่วงได้ ขอเตือนผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำอย่างผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับภูมิต้านทาน หากสัมผัสทั้งอากาศเย็นและร้อนสลับกันบ่อยๆ อย่างอยู่ในห้องแอร์และออกไปเจอแดดร้อนๆ และกลับมาห้องแอร์อีก จะทำให้เป็นหวัดหรือเกิดโรคแทรกซ้อนได้
       "อากาศที่ร้อนอาจทำให้เชื้อโรคบางชนิดโตเร็วขึ้น ดังนั้นหลายๆ โรคจึงเกิดขึ้นได้ง่าย ประชาชนจึงควรดูแลสุขภาพให้ดี และนอกจากโรคภัยแล้วยังจะเกิดพายุฤดูร้อนขึ้นอีก ดังนั้น ต้องระมัดระวังป้ายต่างๆ และต้นไม้ที่อาจล้มลงมา อย่างไรก็ตาม กทม.ได้มีมาตรการเตรียมไว้ ทั้งการป้องกันอัคคีภัยและตัดกิ่งต้นไม้ใหญ่ทั่งกรุงเทพฯ แล้ว"พญ.มาลินีกล่าว
       ส่วน คุณหมอพรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค บอกว่า ในช่วงกลางวันเวลาประมาณ 13.00 น. ถึง 16.00 น. จะเป็นช่วงที่อุณหภูมิอากาศร้อนที่สุด โดยเฉพาะเวลาประมาณ 14.00 น. จะเป็นช่วงเวลาร้อนที่สุดของวัน ประชาชนอาจได้รับความร้อนมากจนเกินไปและเกิดภาวะขาดน้ำ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.เด็กแรกเกิดถึงอายุ 4 ขวบ 2.ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป 3.ผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวมาก 4.คนป่วยหรือผู้ทานยาเป็นประจำ 5.ผู้ที่ต้องทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นเวลานานๆ และ 6.ผู้ที่ดื่มสุราหรือเบียร์ในขณะที่มีสภาพอากาศร้อน จะเสี่ยงต่อการป่วยด้วย 4 โรคสำคัญ ได้แก่1.โรคลมแดดหรือฮีต สโตรก (Heat Stroke)2.โรคเพลียแดด (Heat Exhaustion) 3.โรคตะคริวแดด (Heat Cramps) และ 4.ผิวหนังไหม้แดด (Sunburn) ที่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตคือโรคลมแดด
อาการสำคัญของแต่ละโรคมีดังนี้
1.โรคลมแดดหรือฮีต สโตรก 
    อาการที่สังเกตง่ายคือ ผิวหนังจะแดงร้อน และแห้งไม่มีเหงื่อหากวัดปรอททางปาก อุณหภูมิจะสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส หรือ 103 องศาฟาเรนไฮต์ ผู้ป่วยชีพจรเต้นแรงและเร็ว มีอาการคลื่นไส้สับสน ไม่รู้สึกตัว ในการช่วยเหลือเบื้องต้น ให้นำผู้ป่วยเข้าที่ร่มทันที และใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัวหรือแช่ตัวในน้ำเย็น ในรายที่มีอาการหนัก อาจจะใช้ผ้าชุบน้ำเย็นห่อตัวไว้ และรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที ไม่เช่นนั้นอาจเสียชีวิตได้
2.โรคเพลียแดด 
   จะมีอาการเหงื่อออกมากหน้าซีด ปวดหัว วิงเวียน คลื่นไส้หรืออาเจียนผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยอ่อนแรงหรือเป็นลม ผู้ป่วยประเภทนี้จะมีอุณหภูมิในร่างกายสูงกว่า 37 องศาเซลเซียส แต่ไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส ในการช่วยเหลือคนที่เป็นโรคเพลียแดด ให้ดื่มน้ำเย็นที่ไม่มีแอลกอฮอล์ผสม ให้พักอาบน้ำหรือเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น หากเป็นไปได้ให้อยู่ในสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายและสวมเสื้อผ้าที่เบาสบาย อาการก็จะดีขึ้นเรื่อยๆและเป็นปกติได้เอง
3.โรคตะคริวแดด 
   มักพบในผู้ที่ทำงานกลางแดดหรือออกกำลังกายหักโหม ขณะที่มีอากาศร้อนจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อ หน้าท้อง แขน ขามีอาการเกร็ง ผู้ป่วยต้องหยุดออกกำลังกายหรือหยุดใช้แรงทันที เมื่ออาการดีขึ้นแล้วไม่ควรออกกำลังกายซ้ำภายใน 2-3 ชั่วโมง ให้ดื่มน้ำผลไม้หรือเครื่องดื่มที่มีเกลือแร่หากเป็นไปได้ให้อยู่ในที่ที่มีเครื่องปรับอากาศหากอาการไม่ดีขึ้นใน 1 ชั่วโมงให้รีบไปพบแพทย์
4.ผิวหนังไหม้แดด 
   เป็นอาการเบาที่สุดผิวหนังจะเป็นรอยแดงปวดแสบปวดร้อนเล็กน้อยหลังถูกแดด โดยทั่วไปอาการจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ ในการดูแลหากผิวหนังไหม้แดด ขอให้หลีกเลี่ยงการออกแดดซ้ำ และประคบด้วยความเย็น เช่น ผ้าเย็น กระเป๋าน้ำแข็ง ถุงเจลแช่เย็น และทาโลชั่นให้ความชุ่มชื้นบริเวณที่เป็นรอยไหม้ หากมีตุ่มพุพองขึ้นห้ามเจาะ เพราะจะทำให้อักเสบได้
การป้องกันอันตรายจากอากาศร้อน
    คุณหมอพรเทพแนะนำว่า ต้องเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้วหรือประมาณวันละ 2 ลิตร สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี ใช้โลชั่นกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไปก่อนออกแดด 30 นาที เด็กเล็กหรือคนชราที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยควรดูแลเป็นพิเศษ โดยจัดให้อยู่ในสภาพแวดล้อมหรือห้องที่ระบายอากาศได้ดี อย่าเพิกเฉยต่อความรู้สึกร้อนหรือเหนื่อยเกินไปของเด็กและคนชราอย่าปล่อยให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกายหรืออยู่กลางแดดเป็นเวลานานๆ และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
    ในกรณีที่ต้องทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง กลางแดดร้อน ขอให้ดื่มน้ำเย็น2-4 แก้วทุกชั่วโมง หากเสียเหงื่อมากให้ดื่มน้ำเกลือแร่ในช่วงที่อากาศร้อนจัดมาก ขอให้ประชาชนควรอยู่ในอาคาร ส่วนวิธีที่ดีที่สุดในการลดอุณหภูมิของร่างกาย คือ ให้อาบน้ำหรือใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัวและหากมีข้อสงสัยติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทร.1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร.0-2590-3333
สำหรับอาหารการกิน
    นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ เตือนให้ระวังอาหารพวกนมเนยและครีมเป็นของบูดเสียได้ง่าย เพราะในอุณหภูมิสูงจะทำให้มีเชื้อบางชนิดโตเร็ว เช่น เชื้อแบคทีเรียที่หมักนมจนเน่าเสียเหม็นเปรี้ยวได้ ต้องดูว่าข้างในจะสอดไส้อะไรไว้ และขอให้ดูวันหมดอายุด้วย อาหารสอดไส้จำพวกไข่แดง ถั่ว ข้าวโพดธัญพืชต่างๆ ยกตัวอย่าง ขนมเปี๊ยะ เก็บได้นานก็จริง แต่ต้องระวังเชื้อราที่มากับถั่วเพราะเสี่ยงมะเร็งตับจาก "อะฟลาท็อกซิน(Aflatoxin)"หรือท้องเสียจากเชื้อ "ซัลโมเนลล่า (Salmonella)"ในไข่เน่า และอาหารที่นิยมมากในหน้าร้อน คือ ข้าวเหนียวมะม่วงขนมจีนซาวน้ำ หรือจะเป็นแกงเขียวหวานและขนมน้ำกะทิ แม้ว่ากะทิมีประโยชน์ที่ให้วิตามินอีและกรดไขมันดี แต่อยู่ในอากาศร้อนนานๆ กะทิก็จะบูดง่าย ถ้ากินกะทิสดหรือกะทิกล่อง ก็ขอให้ทานสดๆ ที่เหลือเก็บใส่ตู้เย็นให้ดี
    อาหารที่ควรต้องระวังอีกอย่างคือ ของทอดของมัน การกินของมันช่วงหน้าร้อนเป็นการเพิ่มการอักเสบจริงๆ เพราะในของมันส่วนใหญ่ทอดด้วยน้ำมันพืช เช่น กล้วยแขกข้าวเม่า มันฝรั่ง ข้าวโพดคั่ว ฯลฯ ในน้ำมันพืชมี "เคมีอักเสบ" อยู่คือกรดไขมันโอเมก้า 6 มันจะทำให้ร่างกายไปกระตุ้นให้ยิ่งร้อนรุ่มหนักขึ้นส่วนของกระป๋องและของหมักดอง (Fermen tation organisms) หากทิ้งไว้ในอุณหภูมิสูงอาจมีเชื้อปนเปื้อนได้ง่าย
    สำหรับของสดทั้งเปลือก อย่างผักดิบกินกับส้มตำ ขนมจีน หรือผลไม้สดจากรถเข็นใช้เขียงร่วมกัน ไม่ได้ห้ามรับประทาน แต่ให้ระวังไว้เพราะเชื้อท้องร่วงอย่าง "ซัลโมเนลล่า","อี.โคไล"และอื่นๆอีกมาก อาจเข้าสู่ร่างกายได้ ทุเรียน และอาหารที่มีกลิ่นฉุนรุนแรง เช่นกระเทียม กุยช่าย หัวหอม สะตอ กระถินทุเรียน ฯลฯ มีกำมะถันหรือสารซัลเฟอร์เป็นสารประกอบ จะยิ่งเพิ่มความร้อนในร่างกายอาจทำให้เกิดอาการอักเสบหรือที่เรียกจนชินปากว่า "ร้อนใน" ได้ เทคนิคคือกินแล้วให้ดื่มน้ำตามมากๆ แล้วอย่าเพิ่งไปออกกำลังกายมากนัก
     ของเค็มก็เช่นเดียวกัน อย่าง "ข้าวแช่" ก็มีของเค็มอย่างลูกกะปิทอดหรือปลาป่นหวาน,กระเทียมดองผัดไข่, ไชโป๊วผัด อะไรทำนองนี้ล้วนแต่มี "ธาตุเค็ม (โซเดียม)"อยู่พอสมควรด้วยความเค็มทำให้ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำคนสมัยก่อนท่านจึงให้ดื่มน้ำตามด้วย"ข้าวแช่"ที่เย็นชื่นใจสำหรับท่านที่นิยมอาหารชาววังเก่า ต้องระวังเรื่องกับข้าวแช่ให้ดีท่านที่ทานของเค็มอื่นช่วงหน้าร้อนก็ใช้น้ำดื่มดับเค็มเข้าไปมากๆจะทำให้สบาย ไม่ร้อนจัด
     ไอศกรีม รวมไปถึงน้ำแข็งเย็น ไอศกรีมทุกประเภท จะเป็นโคนหรือรถเข็น จัดเป็นของโปรดทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ในไอศกรีมที่มีครีมหรือกะทิ ต้องระวังการปนเปื้อนด้วย อีกทั้งน้ำแข็งในน้ำดื่มด้วยช่วยดูสักนิดว่ามีการแยกช่องระหว่างไอศกรีม, น้ำแข็งบริโภค และอาหารสดด้วยหรือไม่ รวมถึงให้ระวังการเปิดตู้เย็นบ่อยๆ หรือร้านที่ชอบถอดปลั๊กตู้ไอศกรีมไว้เป็นระยะด้วย
     คุณหมอย้ำว่า อาหารที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมด ไม่ได้ห้ามรับประทาน แต่ให้ระวังเพื่อความปลอดภัยของร่างกาย "กินได้แต่ไม่ควรมาก"
แหล่งที่มา : https://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/27923

รู้จักกิน-รู้จักอยู่ เคล็ดสู้ร้อนตับแลบ, รู้จักกิน-รู้จักอยู่ เคล็ดสู้ร้อนตับแลบ หมายถึง, รู้จักกิน-รู้จักอยู่ เคล็ดสู้ร้อนตับแลบ คือ, รู้จักกิน-รู้จักอยู่ เคล็ดสู้ร้อนตับแลบ ความหมาย, รู้จักกิน-รู้จักอยู่ เคล็ดสู้ร้อนตับแลบ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu