ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์, พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ หมายถึง, พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ คือ, พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ความหมาย, พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์

        พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ จัดขึ้นครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 2496 และเริ่มจัดพิธีนี้อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ พ.ศ. 2504 เนื่องในวโรกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จนถึงปัจจุบัน 




ประวัติการจัดพิธีฯ

    แต่เดิมพิธีนี้มิได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี หากแต่จัดเป็นครั้งคราวตามที่กระทรวงกลาโหมหรือกองทัพบกจะกำหนด ปรากฏมีบันทึกว่า พิธีนี้เริ่มขึ้นครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2496 สมัยที่จอมพลแปลก พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี โดยจัดให้มีขึ้น เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ (ร.1 รอ.) ซึ่งตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน และเพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานธงไชยเฉลิมพล เพื่อใช้แทนธงไชยเฉลิมพลของเดิม โดยมีพลเอกกฤษณ์ สีวะรา ผู้บังคับการ ร.1 รอ.ในขณะนั้น เป็นผู้บังคับการขบวนสวนสนาม และทหารสังกัด ร.1 รอ. เป็นพลสวนสนาม

        หลังจากพิธีในครั้งนั้นก็ได้ว่างเว้นมาอีกเป็นเวลาหลายปี จนถึงสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้มีการถวายพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนคร หลังจากทรงเสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยได้จัดพิธีสวนสนามของบรรดาทหารบก ทหารเรือ และ ทหารอากาศ เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2504 ซึ่งรัฐบาลประกาศให้เป็น "วันพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม" แต่ทหารทั้งสามเหล่าแต่งกายด้วยเครื่องแบบของแต่ละเหล่าทัพ มิได้แต่งเครื่องแบบเต็มยศ

        ต่อมาในวันที่ 5 ธันวาคม ปีเดียวกัน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีบัญชาให้ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) จัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ เนื่องในวโรกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยใช้หน่วยทหารรักษาพระองค์ในกรุงเทพมหานครเข้าร่วมพิธี จำนวนทั้งหมด 8 กองพัน จัดเป็น 2 กรมสวนสนาม มีรายละเอียดดังนี้

  • กรมสวนสนามที่ 1 จำนวน 4 กองพัน
    • กรมนักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (กรม นนร. รอ. รร.จปร.) จำนวน 1 กองพัน
    • กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) จำนวน 3 กองพัน
  • กรมสวนสนามที่ 2 จำนวน 4 กองพัน
    • กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) จำนวน 1 กองพัน
    • กองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ (ม.พัน 1 รอ.) จำนวน 1 กองพัน (ในครั้งนั้น ไม่ได้ใช้ม้าเข้าร่วมพิธี)
    • กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ (ป.พัน 1 รอ.) จำนวน 1 กองพัน
    • กองพันทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ (ช.พัน 1 รอ.) จำนวน 1 กองพัน

        นับจากนั้นเป็นต้นมา พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามฯ ที่จัดขึ้นในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ นี้ ก็ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ พระลานพระราชวังดุสิต หลังจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม กำหนดให้วันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันพิธีฯ เนื่องจากต้องการให้ได้ทรงพักผ่อนพระวรกายในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งในช่วงระหว่างนั้น (4 และ 6 ธันวาคม) ทรงมีพระราชกรณียกิจหลายประการอันเกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาฯ

        ต่อมา ในปี พ.ศ. 2525 หน่วยทหารรักษาพระองค์ในส่วนภูมิภาคและเหล่าทัพอื่นๆ คือ กองทัพเรือ และ กองทัพอากาศ ได้เข้ามาร่วมพิธีด้วย จึงกำหนดการจัดหน่วยเข้าร่วมพิธีเพิ่มขึ้น จาก 8 กองพัน เป็น 12 กองพัน แบ่งออกเป็น 4 กรมสวนสนาม กรมละ 3 กองพัน แต่ละกองพันสวนสนามประกอบด้วยพลสวนสนาม 144 นาย (จัดแถวแบบ 12x12) หมู่แตรเดี่ยว 8 นาย หมู่เชิญธงชัยเฉลิมพล 4 นาย และผู้บังคับกองพัน 1 นาย โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา กองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ได้จัดให้กำลังพลขี่ม้าเข้าร่วมพิธีด้วย จำนวนกองพันที่เข้าร่วมพิธีจึงเพิ่มเป็น 12+1 กองพัน โดยกองพันทหารม้าดังกล่าวจะเป็นกองพันสุดท้ายในขบวนสวนสนาม

ลำดับขั้นตอนพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนฯ

  1. การสวนสนามของ ม.พัน.29 รอ. ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนฯ ประจำปี พ.ศ. 2549
  2. ทหารรักษาพระองค์ทั้ง 12 กองพันพร้อมกันที่จุดรวมพลบริเวณถนนราชดำเนินนอก
  3. ทหารปืนใหญ่ยิงพลุสัญญาณ ทหารทั้ง 12 กองพันเริ่มเดินสวนสนามมาตามแนวถนนราชดำเนินมาจนถึงลานพระราชวังดุสิต แล้วจัดแถวรอรับการเสด็จพระราชดำเนิน
  4. พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินมาถึงพลับพลาที่ประทับ
  5. เมื่อใกล้ถึงเวลาเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้บังคับกองผสมสั่งทหารติดดาบ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ออกจากพลับพลาที่ประทับไปยังหัวแถวกองผสมเพื่อรอรับเสด็จ
  6. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินออกทางประตูทวยเทพสโมสรด้วยรถยนต์พระที่นั่ง ผู้บังคับกองผสมสั่งวันทยาวุธถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี แตรเดี่ยวเป่าสัญญาณถวายคำนับ 3 จบ ผู้บังคับกองผสมออกวิ่งไปยังหัวแถวทหารเพื่อไปถวายรายงาน
  7. เมื่อสิ้นสุดการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ผู้บังคับกองผสมกราบบังคมทูลถวายรายงานและกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจพลสวนสนาม
  8. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจพลสวนสนามโดยมีผู้บังคับกองผสมและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ตามเสด็จ ดุริยางค์บรรเลงเพลงมาร์ชธงไชยเฉลิมพล เสร็จแล้วเสด็จพระราชดำเนินขึ้นพลับพลาที่ประทับ
  9. ผู้บังคับกองผสมสั่งปลดดาบ เจ้ากรมสารบรรณทหารบกทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนฯ
  10. พลแตรเดี่ยวเป่าสัญญาณเตรียมตัว หมู่เชิญธงชัยเฉลิมพลออกมาหน้าแถวเพื่อเตรียมเชิญธงฯ ไปยังหน้าพลับพลา
  11. พลแตรเดี่ยวเป่าสัญญาณหน้าเดิน หมู่เชิญธงฯ อัญเชิญธงฯ โดยการเดินเปลี่ยนสูงไปยังหน้าพลับพลา ดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาชัยจนทุกหมู่มาพร้อมกันที่หน้าพลับพลา
  12. นายทหารชั้นผู้ใหญ่ออกมาตั้งแถวหน้าพลับพลาที่ประทับ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดทูลเกล้าฯ ถวายพานดอกไม้ ธูปแพ เทียนแพ
  13. ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกล่าวคำถวายพระพร และนำทหารกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตน จบแล้วดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารทุกนายถวายความเคารพและขับร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีถวาย ทหารปืนใหญ่ยิงสลุตเฉลิมพระเกียรติ 21 นัด ตามจังหวะเพลง ในสนามเสือป่ามีการปล่อยลูกโป่งสีและแพรถวายพระพร
  14. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบทหาร จบแล้วดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารทุกนายถวายความเคารพ
  15. หมู่เชิญธงฯ ทุกหมู่กลับเข้าประจำแถวของตน ดุริยางค์บรรเลงเพลงมาร์ชธงไชยเฉลิมพล
  16. พลแตรเดี่ยวให้สัญญาณเตรียมตัว ผู้บังคับกองผสมสั่งทหารติดดาบ และสั่งแถวทหารแปรขบวนเตรียมการสวนสนาม
  17. พลแตรเดี่ยวให้สัญญาณหน้าเดิน กองผสมทำการสวนสนามผ่านหน้าพลับพลาที่ประทับจนครบทุกกอง ดุริยางค์บรรเลงเพลงมาร์ชราชวัลลภ แต่ในขณะที่กองพันที่ 13 คือ กองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์ ซึ่งได้นำม้ามาเข้าร่วมสวนสนามด้วยนั้น ดุริยางค์จะเปลี่ยนไปบรรเลงเพลง King Cotton แทน เพื่อให้สอดคล้องกับจังหวะการเดินของม้า
  18. ดุริยางค์ทหารเคลื่อนขบวนมายังหน้าพลับพลาที่ประทับ เพื่อขับร้องเพลงถวายพระพร ซึ่งประพันธ์โดยกองดุริยางค์ทหารบก จบแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินกลับ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี แตรเดี่ยวเป่าสัญญาณถวายความเคารพ 3 จบ ผู้บังคับกองผสมกล่าวนำทหารถวายพระพร "ทรงพระเจริญ" 3 ครั้ง
  19. แตรเดี่ยวให้สัญญาณเลิกแถว ผู้บังคับกองผสมสั่งเลิกแถว ดุริยางค์บรรเลงเพลงเดิน (เพลงสยามานุสสติ)


 

คำถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์

  • ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม
  • ข้าพระพุทธเจ้า (ยศ-ชื่อ-นามสกุล) ขอถวายคำสัตย์ปฏิญาณ ต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า
  • ข้าพระพุทธเจ้า จะยอมตายเพื่อรักษาไว้ ซึ่งพระบรมเดชานุภาพ แห่งพระมหากษัตริย์เจ้า
  • ข้าพระพุทธเจ้า จะจงรักภักดี และถวายความปลอดภัย ต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จนชีวิตหาไม่
  • ข้าพระพุทธเจ้า จะเชิดชูและรักษาไว้ ซึ่งเกียรติยศ เกียรติศักดิ์ ของทหารรักษาพระองค์
  • ทั้งจะปฏิบัติตน ให้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททุกประการ

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

การเปลี่ยนแปลง

      ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เปลี่ยนแปลงวันพิธีจากวันที่ 3 เป็นวันที่ 2 ธันวาคม จนถึงปัจจุบัน ทุกๆ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งเปิดประทุน ออกทางประตูทวยเทพสโมสร หน้า พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อทรงเป็นองค์ประธานในพิธี ในขณะทรงตรวจพลสวนสนามนั้น จะมีรถยนต์อัญเชิญธงชัยราชกระบี่ยุทธและธงชัยพระครุฑพ่าห์ นำหน้าขบวนเสด็จพระราชดำเนินด้วย นอกจากนี้ ยังได้อัญเชิญธงไชยเฉลิมพลประจำหน่วยต่างๆ เข้าร่วมในพิธีด้วย

      ในปี พ.ศ. 2549 - 2550 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เสด็จพระราชดำเนินกลับจากพิธีนี้ โดยรถยนต์พระที่นั่ง ทะเบียน ร.ย.ล.960 ด้วยเส้นทางจากพระลานพระราชวังดุสิต ไปทางถนนศรีอยุธยา เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระรามที่ 5 กลับเข้าสู่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานทางด้านประตูพระวรุณอยู่เจน โดยตลอดข้างทางนั้นมีพสกนิกรมารอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นจำนวนมาก

      นอกจากนี้ในปีเดียวกัน ยังมีการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนบางประการในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ดังนี้

  1. ขั้นตอนการอัญเชิญธงชัยเฉลิมพล ได้ปรับให้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพลมาตั้งแถวรอที่หน้าพลับพลาที่ประทับก่อนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินมาถึง จากเดิมเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินตรวจพลสวนสนามแล้ว จึงจะมีการเชิญธงชัยเฉลิมพลในลำดับถัดไป ทั้งนี้ เนื่องจากว่าได้มีการเชิญธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารรักษาพระองค์ต่างๆ รวมทั้งสิ้น 36 หน่วย (รวมหน่วยสวนสนาม) มาร่วมพีธีถวายสัตย์ฯ ร่วมกับหน่วยทหารรักษาพระองค์ทั้ง 13 หน่วยที่จะทำการสวนสนามด้วย
  2. การขับร้องเพลงถวายพระพรโดยวงดุริยางค์ทหารบกซึ่งปกติทำกันเป็นประจำทุกปี ได้งดไปในปีนี้
     ในปี พ.ศ. 2551 ได้มีการปรับขบวนทหารกองพันสวนสนามที่ 1 - 12 ในเวลาสวนสนามหน้าพระที่นั่งเป็น 2 แถวสวนสนามพร้อมกัน เพื่อกระชับเวลาของพิธีให้สั้นลง อันเป็นการลดพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในปี พ.ศ. 2552 สำนักราชเลขาธิการได้ประกาศเลื่อนพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนฯ ออกไปจากกำหนดเดิม คือวันที่ 2 ธันวาคม เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปประทับที่โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน

     ในปี พ.ศ. 2553 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พร้อมทั้งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน ส่วนทหารรักษาพระองค์ จำนวน 4 กรม รวม 13 กองพัน เคลื่อนกระบวนจากศาลาว่าการกลาโหม เข้าสู่ประตูวิเศษไชยศรี มาตั้งแถวเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท บนสนามหน้าศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง[3] เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตน[4] โดยงดพิธีสวนสนาม และประกอบพิธีร่วมกับการเสด็จออกมหาสมาคม เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม[3] อนึ่ง กองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์ จะตั้งแถวเป็นกองทหารม้าเกียรติยศ ตามแนวถนนหน้าพระลาน ฝั่งพระบรมมหาราชวัง[ต้องการอ้างอิง] ซึ่งการถวายสัตย์ปฏิญาณตนในปีนี้ นับเป็นครั้งที่สอง ที่มิได้ประกอบพิธี ณ ลานพระราชวังดุสิต นับแต่พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนครั้งแรกสุด เมื่อปี พ.ศ. 2496

     ในปี พ.ศ. 2554 ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พร้อมทั้งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ มุขเด็จ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ส่วนทหารรักษาพระองค์ ประกอบด้วย กองบังคับการกรมผสมจำนวน 18 นาย หมู่เชิญธงชัยเฉลิมพลจำนวน 48 กองพัน กองทหารเกียรติยศ 3 เหล่าทัพ จำนวน 468 นาย เคลื่อนกระบวนจากศาลาว่าการกลาโหม เข้าสู่ประตูวิเศษไชยศรี ประตูพิมานไชยศรี ตั้งแถวเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ที่บริเวณสนามหน้ามุขเด็จ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล และถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์ ในพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล โดยงดการสวนสนาม  และประกอบพิธีร่วมกับการเสด็จออกมหาสมาคม โดยรายทางที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ จะมีกำลังรอรับ-ส่งเสด็จจำนวน 280 นาย แบ่งเป็น ร.11 รอ. 100 นาย, ร.1 พัน 3 รอ. 45 นาย, ช.พัน 1 รอ. 45 นาย, ร.1 รอ. 45 นาย, และ ม.พัน 29 รอ. จำนวน 77 ม้า ซึ่งตั้งแถวเป็นกองทหารม้าเกียรติยศ ซึ่งการถวายสัตย์ปฏิญาณตนในปีนี้ นับเป็นครั้งที่ 3 ที่มิได้ประกอบพิธี ณ ลานพระราชวังดุสิต

แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์



พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์, พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ หมายถึง, พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ คือ, พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ความหมาย, พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu