ชื่อ ประเพณีทำบุญกลางบ้าน
ภาค ภาคกลาง
จังหวัด ชลบุรี
ลักษณะความเชื่อ
เป็นการทำบุญตลอดจนบูชาและอุทิศส่วนกุศลให้พระภูมิเจ้าที่ เจ้ากรรมนายเวร เพื่อขอความคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุขและประสบความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่ การงาน ขับไล่สิ่งเลวร้ายต่าง ๆ ที่ผ่านมาให้หมดสิ้นไปด้วยการสะเดาะเคราะห์ และขอให้ฝนตกตามฤดูกาล อันจะทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์
ความสำคัญ
สร้างความสามัคคีของคนในหมู่บ้าน ให้มีความรักสามัคคี ไต่ถามทุกข์สุขซึ่งกันและกัน มีปัญหาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
พิธีกรรม
กระทำพิธีประมาณกลางเดือน ๓ โดยให้ผู้เฒ่าผู้แก่ หรือชาวบ้านกำหนดวันทำบุญโดยถือเอาวันสะดวกและวันว่าง ใช้สถานที่ที่เป็นที่ว่างกลางหมู่บ้าน พิธีกรรมจะเริ่มเมื่อสวดมนต์เย็นในบริเวณพิธี พระสงฆ์ประมาณ ๙ รูป หรือมากกว่าจะมาสวดมนต์เย็น หลังจากนั้นจะมีการละเล่นในหมู่บ้านและตอนเช้าวันรุ่งขื้นมีการสวดมนต์ทำบุญ เลี้ยงพระ ชาวบ้านจะนำอาหารมาถวายพระและจะแบ่งอาหารใส่กระทงใบตอง วางลงบนกระทงกาบกล้วยรูปสี่เหลี่ยม และใช้กาบกล้วยตัดเป็นรูปคน หรือใช้ดินเหนียวปั้นวางลงในกระทงจุดธูปดอกเดียวปักลงในกระทง และนำไปวางไว้ที่ทิศตะวันตก
เมื่อพระฉันอาหารเสร็จเรียบร้อยจะนำน้ำมารูปละ ๑ แก้ว ยืนเป็นวงกลมแล้วสวดมนต์กรวดน้ำราดลงไปในกระทง บางแห่งอุทิศให้คนอยู่บางแห่งอุทิศให้คนตาย เสร็จแล้วจะนำกระทงไปวางทิ้งบริเวณพื้นที่ทางสามแพร่ง หลังจากเสร็จพิธีชาวบ้านจึงร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน ไต่ถามความเป็นอยู่ตลอดจนแก้ปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน หรืออาจจะมีการละเล่นต่าง ๆ ก็ได้
ที่มา https://www.prapayneethai.com/th/belief/center/view.asp?id=088