การบริหารการเงินส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่ค่อนข้างกว้าง เพราะแต่ละคนมีแนวทางการบริหารเงินของตัวเองที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบที่แตกต่างกัน เช่น บางคนมีรายได้เยอะ จึงสามารถบริหารการเงินได้หลายรูปแบบ ในขณะที่บางคนมีรายได้น้อย แต่มีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบทางการเงินเยอะ ซึ่งอาจทำให้มีข้อจำกัดบางประการในการบริหารการเงินของตัว David Berky ประธานบริษัท Simple Joe, Inc. ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ทางการเงินได้ให้แนวคิดพื้นฐานในการบริหารการเงินส่วนบุคคลไว้ 4 ประการได้แก่
- บริหารเงินเพื่อป้องกันผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน (Security) เนื่องจากเหตุการณ์เลวร้ายอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้ว่าท่านจะพยายามดูแลตัวเองอย่างดี อยู่อย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น ในการบริหารการเงินส่วนบุคคลของท่าน ท่านไม่ควรละเลยที่จะเผื่อเงินส่วนหนึ่งไว้ใช้ในยามฉุกเฉินหรือเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ท่านขาดรายได้ เช่น ตกงาน เกิดอุบัติเหตุถึงขั้นพิการ เป็นต้น การบริหารการเงินที่ท่านสามารถกระทำได้ ได้แก่ การทำประกันชีวิต การประกันสุขภาพ ประกันการว่างงาน และการกันเงินออมส่วนหนึ่งไว้สำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เป็นต้น สำหรับบางท่านที่ยังมองว่าการทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพเปรียบเสมือนการแช่งตัวเอง ก็น่าจะเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เพราะว่าเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังตัวอย่างที่ท่านมักเห็นทางหน้าหนังสือพิมพ์ ที่เมื่อหลายครอบครัวขาดเสาหลักในการหารายได้ คนที่อยู่เบื้องหลังจะต้องทนทุกข์ทรมานมากน้อยเพียงใด หรือหลายๆคนที่ไม่ได้ทำประกันสุขภาพไว้ เมื่อตรวจพบโรคร้ายแรงที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นเงินจำนวนมาก และต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ก็อาจทำให้ฐานะทางการเงินของท่านแย่ลงอย่างรวดเร็ว
- บริหารเงินเพื่อความมั่นคงของชีวิต (Stability) โดยมีหลักง่ายๆคือ ไม่ใช้จ่ายเกินรายได้ที่มีอยู่ และไม่พยายามสร้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ การใช้จ่ายเกินรายได้ที่มี เช่นการซื้อสินค้าราคาแพงผ่านบัตรเครดิต โดยคิดว่าในอนาคตจะมีรายได้เพิ่มพอที่จะจ่ายคืนได้ ถือว่าเป็นการนำเงินออมในอนาคตของท่านมาใช้ล่วงหน้า ในขณะที่รายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นยังเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน การกระทำเช่นนี้นอกจากจะบั่นทอนความสามารถในการใช้จ่ายของท่านในอนาคตแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะสร้างภาระหนี้สินที่ท่านอาจไม่มีความสามารถที่จะชำระคืนได้ ซึ่งก็หมายความว่าความมั่นคงทางการเงินของท่านกำลังถูกสั่นคลอนจากภาระหนี้สินที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม หากภาระหนี้สินที่ท่านมีอยู่เป็นหนี้สินที่จะสร้างรายได้ในอนาคต เช่น เงินผ่อนชำระค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ท่านซื้อมาเพื่อปล่อยเช่าให้แก่ผู้อื่น หนี้สินเหล่านี้อาจจัดเป็นเงินลงทุนได้ สำหรับการบริหารเงินเพื่อสร้างความมั่นคง สามารถทำได้อย่างง่ายๆ เช่น การทำงบประมาณรับจ่าย ซึ่งจะทำให้ท่านรู้และติดตามได้ว่า รายจ่ายส่วนใดที่ท่านใช้มากเกินไป และรายจ่ายส่วนใดที่ต้องติดตามมากเป็นพิเศษ
- การบริหารเงินเพื่อสร้างความมั่งคั่ง (Growth) หลังจากที่ท่านสามารถบริหารเงินเพื่อป้องกันผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน และสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิตได้แล้ว ท่านก็สามารถจะเริ่มคิดถึงการสร้างความมั่งคั่งให้แก่ตนเอง โดยอาจจะเริ่มต้นจากการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น การลงทุนในกองทุนตราสารเงิน พันธบัตรรัฐบาล หุ้น กองทุนรวมประเภทต่างๆ อสังหาริมทรัพย์ สินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น โดยในช่วงเริ่มต้นของการลงทุน ท่านอาจจะเริ่มจากเงินจำนวนน้อย เพื่อประเมินว่าท่านมีความเข้าใจในสิ่งที่ท่านลงทุนอยู่มากน้อยเพียงใด เมื่อท่านมั่นใจว่าตนเองมีความเข้าใจและมีความชำนาญเพียงพอแล้ว ก็อาจจะเพิ่มเงินลงทุนให้มากขึ้น
- การป้องกันและบริหารความมั่งคั่ง (Protection and Management) หลังจากที่ท่านสร้างความมั่งคั่งได้เพียงพอกับความต้องการแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือรักษาระดับความมั่งคั่งของท่านไว้ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น หาที่ปรึกษาทางการเงินให้มาดูแลความมั่งคั่งของท่าน การทำประกันอัคคีภัยสำหรับอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
แนวทางการบริหารเงินส่วนบุคคลที่แนะนำมานี้ ผู้อ่านอาจนำไปประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสมของแต่ละท่าน หรือบางท่านก็อาจมีแนวทางของตนเองที่แตกต่างไปจากนี้ ก็ถือว่าไม่ผิดครับ
โดย คุณวีระชาติ ชุตินันท์วโรดม
ที่มา TSI Investment Wiki
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
https://www.tsi-thailand.org/
https://www.set.or.th/