ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

พุ่มพวง ดวงจันทร์, พุ่มพวง ดวงจันทร์ หมายถึง, พุ่มพวง ดวงจันทร์ คือ, พุ่มพวง ดวงจันทร์ ความหมาย, พุ่มพวง ดวงจันทร์ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
พุ่มพวง ดวงจันทร์


      พุ่มพวง ดวงจันทร์ (4 สิงหาคม พ.ศ. 2504 - 13 มิถุนายน พ.ศ. 2535) ชื่อเล่น ผึ้ง หรือชื่อจริง รำพึง จิตรหาญ นักร้องเพลงลูกทุ่ง เจ้าของฉายา ราชินีลูกทุ่ง ได้ชื่อว่ามีน้ำเสียงออดอ้อน หวาน จำเนื้อร้องได้แม่นทั้งที่ไม่รู้หนังสือ และเป็นแม่แบบให้กับนักร้องรุ่นหลัง

      รำพึง จิตรหาญ เกิดที่ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี (บางตำราบอกว่า เกิดที่ อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท แต่มาโตที่ จังหวัดสุพรรณบุรี ) เป็นบุตรคนที่ 5 จาก 12 คนของนายสำราญ และนางเล็ก จิตรหาญ ครอบครัวมีอาชีพรับจ้างทำไร่อ้อย

      เด็กหญิงรำพึง จิตรหาญ ในนาม "น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย"เป็นที่ใช้ในการประกวดร้องเพลงแถว สองพี่น้องศรีประจันต์ บางปลาม้า ผักไห่ เสนา มหาราช วิเศษชัยชาญ บ้านแพรก หนองโดนพระพุทธบาทหลังจากนั้น  รำพึง จิตรหาญ ก็บ่ายหน้าเข้ากรุงเทพ ฯ กับพี่ชายมาอยู่รับใช้ในวงดนตรีเล็กๆ แถวซอยบุปผาสวรรค์  เพื่อเป็นนักร้องแต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงกลับบ้านมาตัดอ้อยที่บ้านต่อ จนกระทั่งวงดนตรีของไวพจน์  เพชรสุพรรณ มาเปิดการแสดงที่วัดทับกระดาน พ่อสำราญจึงได้นำเด็กหญิงรำพึง มาฝากกับไวพจน์ในฐานะลูกบุญธรรม และไวพจน์ก็ได้รับไว้ 

      และแล้วความฝันของเด็กหญิงรำพึงก็เป็นความจริงเมื่อครูไวพจน์สนับสนุนให้อัดแผ่นเสียงในเวลาต่อมา  เพลงแรกที่ได้รับการบันทึกแผ่นเสียงคือเพลง "แก้วรอพี่" โดย ไวพจน์ เพชรสุพรรณเป็นผู้แต่งเพลงให้ ตามมาด้วยเพลง "นักร้องบ้านนอก" แต่งโดยครูไวพจน์เช่นกัน จนเป็นที่รู้จักกันในนาม "น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ"

      ในช่วงนั้น รำพึงอายุ 15 ปี  ได้ตัดสินใจออกจากวงของครูไวพจน์ ย้ายมาอยู่วงขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด โดยมีธีระพล แสนสุข เพื่อนรักที่มาด้วยกัน ต่อมามนต์ เมืองเหนือ เห็นว่าชื่อของน้องผึ้งน่าที่จะเปลี่ยนใหม่เพื่อให้แลดูดีขึ้น มนต์ เมืองเหนือ จึงได้ตั้งชื่อให้ใหม่เป็น พุ่มพวง ดวงจันทร์ ด้วยความหมายว่า ดวงจันทร์จะสวยงามเมื่อส่องสว่างอยู่ในท้องทุ่งบ้านนอก

      ในเวลาต่อมา พุ่มพวง ได้ตั้งวงดนตรีขึ้นเองโดยการผลักดันของ ธีระพล แสนสุข และมนต์ เมืองเหนือ ดีบ้างไม่ดีบ้างล้มลุกคลุกคลานมา จนได้เข้าสังกัดของประจวบ จำปาทอง เสี่ยงู้ ปรีชาอัศวฤกษ์นันท์ และหมอเอื้ออารีย์ เห็นแววจึงตัดสินใจนำมาโปรโมทจับคู่กับเสรี รุ่งสว่าง จนโด่งดังสุดขีดในปี 2525 และความดังไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เมื่อพุ่มพวง ได้เพลงจากผลงานการแต่งของครูลพ บุรีรัตน์ เช่น สาวนาสั่งแฟน, นัดพบหน้าอำเภอ, อื้อฮือหล่อจัง, กระแซะเข้ามาซิ และอีกมากมาย  ยิ่งส่งให้พุ่มพวงโด่งดังมากสุด ๆ ในเวลานั้น จนได้รับการยกย่องว่าเธอ คือ  "ราชินีเพลงลูกทุ่ง"  อย่างแท้จริง

      ความโด่งดัง และความที่พุ่มพวงเป็นคนที่มีหน้าตาดี จึงเป็นเข็มทิศนำพาให้ พุ่มพวงเข้าสู่วงการภาพยนตร์ และได้เป็นนางเอกภาพยนตร์  ช่วงนั้นเองพุ่มพวงได้พบกับไกรสร แสงอนันต์  และได้ตกลงที่จะเป็นคู่ชีวิตอยู่กินด้วยกันในเวลาต่อมา จนกระทั่งมีบุตรด้วยกันหนึ่งคน ชื่อ น้องเพชร แต่เส้นทางชีวิตของพุ่มพวงมิได้โปรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป  พุ่มพวงประสบกับปัญหาอย่างหนักหลายเรื่องรวมทั้งปัญหาเรื่องสุขภาพโดยมีอาการภูมิแพ้ตัวเอง หรือโรคเอสแอลอี อาการเริ่มทรุดหนัก และลุกลามถึงไต แล้ววันที่ทำให้แฟนเพลงชาวไทยทั้งประเทศไม่คาดคิดก็มาถึง ในวันที่ 13 มิถุนายน 2535 พุ่มพวงดวงจันทร์  ก็จากไปอย่างไม่มีวันกลับ  ด้วยวัยเพียง 31 ปี เท่านั้น สวดอภิธรรมศพที่วัดมกุฏกษัตริยารามพิธีพระราชทานเพลิงศพของพุ่มพวง ดวงจันทร์ จัดที่วัดทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2535 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธี

      นอกจากนี้ยังมีการสร้างหุ่นพุ่มพวง ตั้งอยู่ในศาลาริมสระน้ำ วัดทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งชาวบ้านมีการจัดงานรำลึก ถึงพุ่มพวงทุกปี ช่วง 13-15 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของเธอ

      พุ่มพวง ดวงจันทร์ เป็นผู้ที่มากด้วยความสามารถ เป็นนักสู้ชีวิต เป็นผู้ที่ไม่ยอมแพ้แก่ดวงชะตา และเป็นผู้ที่มีความอดทนสูง นับว่าเป็นผู้ที่น่าได้รับการยกย่องอย่างยิ่ง



ผลงาน


        ปี พ.ศ.2528 นักร้องสาวผู้เป็นขวัญใจแฟนเพลงทั่วประเทศได้กลับมาทำงานเพลงที่เธอรัก และที่หลายๆ คนต่างเรียกร้องอีกครั้ง หลังหายไปนานปีกว่า พร้อมทั้งการกลับมาหนใหม่เธอได้นำเอาความเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มความสนุกสนาน มีชีวิตชีวาให้กับคนฟังในเพลง กระแซะเข้ามาซิ, ห่างหน่อยถอยนิด, อื้อฮือหล่อจัง ที่ครั้งผลงานโดยรวมต้องยกความดีความชอบให้กับ "ครูลพ บุรีรัตน์" ครูเพลงคู่บุญที่ทำให้อัลบั้มดังกล่าวขายดีเป็นเทน้ำเทท่าเลยทีเดียว
 
        ในเวลาต่อมา "พุ่มพวง" ได้ออกผลงานต่อเนื่องทันทีกับอัลบั้ม "ตั๊กแตนผูกโบ" แต่ความนิยมกลับไม่ดังเปรี้ยงปร้างอย่างที่หลายคนคาดหวังนัก แต่นั่นไม่ได้ทำให้นักร้องสาวผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมายครั่นคร้ามหรือกังวลแต่อย่างใด เพราะผลงานเพลงชุด "หนูไม่รู้" ในปี พ.ศ.2531 ผลงานของครู ลพ บุรีรัตน์ ภายใต้สังกัดท็อปไลน์ ก็ทำให้ชื่อของ "พุ่มพวง" กลับมาฮิตกระฉ่อนกันอีกหน พร้อมกับการการันตีอัลบั้มขายดีดังเดิม
 
        บทเพลงต่างๆ ของ "ราชินีลูกทุ่ง" นาม "พุ่มพวง ดวงจันทร์" ถูกนำเอามาเปิด เอามาร้องตามกันจนฮิตติดปากกันทั่วบ้านทั่วเมือง เป็นร้อยๆ เพลงแต่มีน้อยคนนักที่จะรับรู้ว่าเกียรติประวัติในฐานะผู้สร้างสรรค์ผลงานเพลงให้กับคอเพลงลูกทุ่งนั้น มีรางวัลอะไรบ้าง
 
        สำหรับผลงานเกียรติประวัติที่ได้บันทึกในหน้าประวัติศาสตร์นอกเหนือการได้รับคัดเลือกให้ร้องเพลงพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในเพลง "ส้มตำ" ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 โดยเป็นการร้องถวายการแสดงหน้าพระที่นั่งแล้ว
 
        ลูกทุ่งสาวชื่อดังยังได้รับเกียรติประวัติต่างๆ อีกหลายครั้ง อาทิ ในปี พ.ศ.2521 เธอได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจัดโดย สถานีวิทยุเสียงสามยอด (ส.ส.ส.) ในเพลง "อกสาวเหนือสะอื้น" ที่แต่งโดย คู่ชีวิตคนแรก "ธีระพล แสนสุข"
 
        ในปี พ.ศ.2532 เธอได้รับรางวัลพระราชทานขับร้องดีเด่นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ในเพลง "สาวนาสั่งแฟน" แต่งโดย ครูลพ บุรีรัตน์ (วิเชียร คำเจริญ)
 
        ทั้งนี้ "พุ่มพวง" ถึงกับปลาบปลื้มดีใจ และเป็นเกียรติอย่างมาก เมื่อปี พ.ศ.2533 คณะกรรมการจัดทำเพลงเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า ครบ 90 พรรษา คัดเลือกให้ขับร้องเพลง "น้ำพระทัยสมเด็จย่า" แต่งโดย ครูลพ บุรีรัตน์ ก่อนที่ ปีพ.ศ.2534 จะได้รับรางวัลพระราชทานขับร้องดีเด่นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกครั้ง ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค 2 ในเพลง "สยามเมืองยิ้ม" แต่งโดย ครูลพ บุรีรัตน์
 
        จนกระทั่งปี พ.ศ.2537 รางวัลสุดท้ายที่ "ราชินีลูกทุ่ง" ได้รับ (ถึงแม้จะจากลาแฟนเพลงไปแล้ว) คือ รางวัลพระราชทานเกียรติบัตรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่ง สืบสานคุณค่าวัฒนธรรมไทย ในเพลง "นักร้องบ้านนอก" แต่งโดย ครูเพลงคนแรก "ไวพจน์ เพชรสุพรรณ"
 
        อย่างไรก็ดี เหล่าบรรดาคนในวงการเพลงลูกทุ่งต่างเชื่อมั่นกันเหลือเกินว่า หาก "ผึ้ง" พุ่มพวง ดวงจันทร์ ไม่ด่วนจากลาไปแบบไม่มีใครคาดคิดเสียก่อน "รางวัลศิลปินแห่งชาติ" ต้องตกเป็นของเธออย่างแน่นอน

ผลงานเพลง
- ตั๊กแตนผูกโบว์
- นัดพบหน้าอำเภอ
- อื้อฮือหล่อจัง
- กระแซะเข้ามาซิ
- ดาวเรืองดาวโรย
- คนดังลืมหลังควาย
- นักร้องบ้านนอก
- บทเรียนราคาเพลง
- หม้ายขันหมาก
- ส้มตำ
- แก้วรอพี่

ผลงานภาพยนตร์
- สงครามเพลง
- รอยไม้เรียว (2526)
- ขอโทษที ที่รัก (2527)
- คุณนาย ป.4 (2527)
- จงอางผงาด (2527)
- ชี (2527)
- นางสาวกะทิสด (2527)
- มนต์รักนักเพลง (2527)
- สาวนาสั่งแฟน (2527)
- อาจารย์เด๋อเจอพุ่มพวง (2527)
- อีแต๋น ไอเลิฟยู (2527)
- ที่รัก เธออยู่ไหน (2528)
- เชลยรัก (2530)
- เพลงรัก เพลงปืน (2530)

ข้อมูลจาก :
https://www.chumchonradio.net
https://www.siamdara.com


พุ่มพวง ดวงจันทร์, พุ่มพวง ดวงจันทร์ หมายถึง, พุ่มพวง ดวงจันทร์ คือ, พุ่มพวง ดวงจันทร์ ความหมาย, พุ่มพวง ดวงจันทร์ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu