ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2539, พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2539 หมายถึง, พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2539 คือ, พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2539 ความหมาย, พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2539 คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2539

พระราชดำรัส พระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต วันพุธที่ 4 ธันวาคม 2539

          ขอขอบใจท่านทั้งหลายที่มาในวันนี้ เพื่อมาอวยพรวันเกิด โดย นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวคำอวยพรนั้นในนามของทุกๆ คน ที่มาในชุมนุมนี้. การที่นายกฯ ได้บอกว่า ข้าพเจ้าได้ช่วยให้ประเทศชาติและประชาชนมีความเจริญนั้น ก็ขอยืนยันว่า ถ้าทั้งเจ้าหน้าที่ ทั้งผู้ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ ไม่ได้ช่วยกัน ร่วมมือร่วมแรงกัน ทำให้กิจการต่างๆ ลุล่วงไปโดยดี ก็จะไม่สามารถที่จะทำให้ประชาชนมีความก้าวหน้าอย่างที่เป็นตามรายงานของนายกฯ.

          ข้อนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะว่าถ้าแต่ละคนทำงานคนละทาง แม้จะตั้งใจทำก็จะไม่มีผลสำเร็จ เพราะว่าเหมือนดึงกันไปคนละทิศคนละทาง มันก็อยู่กับที่ หรือบางทีก็ไม่ใช่อยู่กับที่ ก็เสื่อมลงไปได้.  ฉะนั้นข้อสำคัญที่สังคมไทยยังอยู่ ก็เพราะว่าส่วนมากผู้ที่มีงานทำ ทั้งในทางด้านราชการ และเอกชน ได้พยายามทำไปในทิศทางเดียวกัน ถึงทำให้ประเทศไทยยังอยู่ ในโลกนี้ ประเทศอื่นๆ  กำลังปั่นป่วนมาก และคนไทยทุกคนก็คงเป็นห่วงว่า ประเทศไทยจะอยู่.หรือจะไป.  ฉะนั้นเป็นการยืนยันว่าเมืองไทยยังพอที่จะไปได้ ก็เพราะความตั้งใจร่วมกันของทุกคนในชาติ.  ข้อนี้ไม่อยากจะพูดมากเกินไป เพราะว่าแต่ละคนก็มีงาน ถ้าไปเตือนให้ร่วมมือกันอาจจะรำคาญ รำคาญแล้วไม่ทำ.

          ที่อยากจะพูดก็คือใน ๒ ปีที่กำลังจะผ่านพ้นไป คือตั้งแต่ต้นปี ๒๕๓๘ ถึงปลายปี ๒๕๓๙ นั้น ถือว่าเป็นปีกาญจนาภิเษก.  ได้ฉลองกาญจนาภิเษกนี้เป็นเวลา ๒ ปี ซึ่งกิจการ โครงการ พิธีการต่างๆ ใน ๒ ปีนี้ ก็เป็นที่ซาบซึ้งทำให้เห็นใจรัก ที่ประชาชนและคนไทยทุกคนมีต่อข้าพเจ้า.  มีความซาบซึ้งอย่างมาก และการที่ฉลองเป็นระยะเวลา ๒ ปีนั้น ก็นับว่าดี เพราะว่าถ้ามาฉลองเพียงวันเดียว หรือแม้แต่ปีเดียว ก็จะมีงานประดังกันมากมาย และจะทำให้ทั้งผู้รับพร ทั้งผู้ที่ให้พรเดือดร้อน เพราะว่าแย่งกัน.  คราวนี้ได้เฉลี่ยไปเป็นเวลา ๒ ปี ก็เลยผ่านพ้นไปได้ โดยทุกคนมีความร่าเริง มีความพอใจ และปลาบปลื้มใจกัน.

          ฉะนั้นในโอกาสนี้ โดยที่เป็นเวลาใกล้ปลายปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ เป็นเวลาที่จะขอบใจทุกคนที่ได้ร่วมมือกัน ทำให้ส่วนรวมยังคงอยู่ และข้อนี้เป็นสิ่งที่หนักใจมาก เพราะว่าถ้าไม่เป็นเช่นนี้ ประเทศไทยก็อาจจะมีชะตากรรมเหมือนประเทศหลายประเทศในโลก.  หลายประเทศในโลกไม่เรียบร้อยเพราะว่าเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ของประเทศนั้นๆ ในประเทศที่เกิดเรื่องอย่างรุนแรงแสนสาหัส มีประวัติศาสตร์มาเป็นเวลานับร้อยๆ ปี ว่ามีการแตกแยกกัน แม้จะสามารถรวมกันเป็นประเทศได้ และทำให้ประชาชนในประเทศนั้นมีสันติสุขชั่วระยะหนึ่ง ก็กลับมาแตกแยกกัน.

          สำหรับประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ว่า มีการแตกแยกเป็นครั้งเป็นคราว แต่ส่วนใหญ่ก็ปรองดองกัน.  ฉะนั้นแนวโน้ม หรือประวัติ หรือนิสัยของคนไทยก็ไปในทางที่จะรักษาประเทศได้ เพียงแต่ถ้าไม่ระวัง จะเอาวาระที่เราแตกแยกกันมาขึ้นเป็นเอก ก็อาจจะเสื่อมเสียไปได้.  แต่ถ้าเอาความปรองดองเป็นหลัก ก็เชื่อว่าเราจะทำอย่างไรๆ ก็ตาม ก็จะไม่เสียชาติ และไม่เสียความสงบของส่วนรวม.  เดี๋ยวนี้ประเทศไทยก็ยังอยู่ดีพอสมควร ใช้คำว่า พอสมควร เพราะเดี๋ยวมีคนแย้งว่า มีคนจน มีคนที่เดือดร้อนจำนวนมากพอสมควร  แต่ว่าใช้คำว่า พอสมควร นี้หมายความว่าตามอัตภาพ และยังมีงานที่จะทำให้ดีขึ้นอีกมากมาย งานยังรออยู่ข้างหน้ามากมาย .

          ที่เป็นห่วงนั้นเพราะแม้ในเวลา ๒ ปี ที่เป็นปีกาญจนาภิเษก ก็ได้เห็นสิ่งที่ทำให้เห็นได้ว่า ประชาชนยังมีความเดือดร้อนมาก และมีสิ่งที่ควรจะแก้ไขและดำเนินการต่อไปในทุกด้าน.  มีภัยที่มาจากธรรมชาติกระหน่ำ ภัยธรรมชาตินี้เราก็คงสามารถที่จะบรรเทาได้หรือแก้ไขได้ เพียงแต่ว่าจะต้องใช้เวลานานพอใช้.  มีภัยที่มาจากจิตใจของคน ซึ่งก็แก้ไขได้เหมือนกัน. แต่ว่ายากกว่าภัยธรรมชาติ  ธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งนอกกายเรา แต่นิสัยใจคอของคนเป็นสิ่งที่อยู่ข้างใน.  แต่ละคนจะต้องปราบตัวเอง อันนี้ก็เป็นข้อหนึ่งที่ยากในการจัดการให้มีความเรียบร้อยแต่ก็ไม่หมดหวัง.  แล้วก็จะทำได้ ที่จะทำให้สิ่งที่ไม่เรียบร้อย ทั้งภายนอก ภายใน โดยขัดเกลาให้ลุล่วงไปได้.  แม้ ๒ ปีก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลง และใน ๒ ปี คนที่มีอายุไม่มากก็ยังได้เห็น.

          มาพิจารณาถึงปีกาญจนาภิเษกนี่ ปี ๒๕๓๘ เป็นปีที่ ๕๐ ในรัชกาลปัจจุบัน.  ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๘ ถึง ๓๑ ธันวาคม ๒๕๓๘ ดูในกฎหมายที่ผ่านสภาและออกตราเป็นกฎหมายกฤษฎีกา เป็นพระราชบัญญัติ ก็เขียนไว้ตอนต้นว่า เป็นปีที่ ๕๐ ในรัชกาลปัจจุบัน. มาถึง ๒๕๓๙ ก็เป็นปีที่ ๕๑ แต่ถือว่าเป็นการฉลอง ๕๐ ปี คือกาญจนาภิเษก  ถ้าจะฉลองแท้ๆ ก็จะต้องเป็นวันที่ครบ ๕๐ ปีบริบูรณ์.  ก่อนก็ยังไม่ถึง หลังก็เกิน ฉะนั้น จึงได้กะว่า ปีที่ ๕๐ กับปีที่ ๕๑ เป็นปีกาญจนาภิเษกทั้งสองปี  เป็นระยะใกล้ๆ ทุกคนยังจำได้ ว่ามีเหตุการณ์อะไร .

          แต่ถ้าพูดถึง ๕๐ ปี คนที่อายุ ๕๐ ปัจจุบันนี้ ที่อยู่ในที่ประชุมนี้ก็มี.  คนที่อายุ ๕๐ ปีพอดีหรือน้อยกว่า มีเป็นจำนวนมาก อ้างไม่ได้ว่าได้เห็นว่า รัชกาลที่ ๙ เริ่มต้นอย่างไร จำไม่ได้ ไม่มีทางจำได้เพราะว่าเพิ่งเกิด. แม้คนที่เป็นผู้ใหญ่ ก็อาจจะยังจำไม่ได้ เพราะว่าเมื่อ ๕๐ ปี นอกจากผู้ที่อายุมาก ส่วนมากก็ยังเป็นเด็ก.  ถ้าเป็นข้าราชการ อายุยังไม่ถึง ๖๐ ปี ก็หมายความว่าต้องอายุน้อยกว่า ๑๐ ปี.  ส่วนมากข้าราชการผู้ใหญ่ก็อายุราว ๕๘ - ๕๙ ก็หมายความว่า เวลานั้น อายุ ๘ - ๙ ขวบ ซึ่งอาจจะยังไม่ทราบดีว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร ฉะนั้นอาจจะไม่เห็นว่าใน ๕๐ ปี ประเทศมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงมาก.  ในทางที่ดีก็มี ในทางที่ไม่ดี ก็มีเหมือนกัน.  ฉะนั้น นึกว่าการที่ฉลอง ๕๐ ปีของรัชกาลปัจจุบัน ก็น่าจะได้ค้นคว้าว่าวิวัฒนาการของประเทศเป็นมาอย่างไร และต่อไปจะใช้เป็นบทเรียนว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป.

          มีคนพูดว่านี่ผ่านมา ๕๐ ปีแล้ว ขออีก ๕๐ ปี.  อีก ๕๐ ปีจะฉลองอีกทีหนึ่ง หมายความว่าจะเป็น ๑๐๐ ปี  ๑๐๐ ปีนั้น คำนวณดู ข้าพเจ้าอายุ ๑๑๘ (เสียงหัวเราะ).  อายุ ๑๑๘ นี้มีความสำคัญอยู่ เพราะว่ามีคนที่เกิดในปี ๒๔๘๙.  เขาก็ภูมิใจว่า เขาเป็นคนแผ่นดินเดียว. แล้วเขาบอกว่าเขาอยากเป็นคนแผ่นดินเดียว  แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็อยากอายุยืนเหมือนกัน.  เขาบอกว่าเขาอยากอายุ ๑๐๐ ปี แต่ว่าถ้าเขาอายุ ๑๐๐ ปี ก็จะต้องให้พระเจ้าอยู่หัวอายุอย่างน้อย ๑๑๘ ฉะนั้นเราก็จะต้องมีอายุ ๑๑๘ อย่างน้อย เพื่อที่จะให้ผู้นั้นสามารถที่จะมีอายุ ๑๐๐ ปี ตามปณิธานของเขา.  ก็เลยทำให้นึกว่า ต้องอยู่อีก ๕๐ ปี.  อีก ๕๐ ปี ใครจะอยู่ก็ไม่ทราบ (เสียงหัวเราะ).  แต่ว่าจะต้องมีชุมนุมนี้ ต้องมีเมื่ออายุ ๑๑๗ ปี กับ ๓๖๔ วัน  แล้วก็ไม่ทราบใคร ใครเหนียวอยู่ก็มาได้ (เสียงหัวเราะ).  ตอนนั้นถ้าถามว่า เมื่อ ๕๐ ปีเป็นอย่างไร ท่านผู้นั้นก็สามารถที่จะเล่าให้ฟัง หรืออาจจะต้องปรึกษาหารือกัน เพราะว่าป่านนั้นอาจจะหลง อาจจะพูดอะไรไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะมันนาน.  แต่รู้เรื่องหรือไม่ อาจจะคุยกันสนุกว่าเมื่อ ๕๐ ปี มาทำอะไร.  อย่างนี้คนที่อยู่ในที่นี้ทั้งข้างในทั้งข้างนอก อีก ๕๐ ปี ก็เข้าใจว่า มีหลายคนที่ยังอยู่ได้ และจำได้ว่าสภาพและสถานการณ์ของบ้านเมืองเป็นอย่างไร.

          เมื่อ ๕๐ ปี ตอนต้นรัชกาล ถามท่านที่อยู่ในที่ประชุมนี้ ส่วนมากจะไม่รู้ว่ามีอะไร.  เวลานั้นประชากรในประเทศมีประมาณ ๒๐ ล้านคน มาปัจจุบันนี้มีถึง ๖๐ ล้าน เป็นที่แน่นอนว่ามี ๖๐ ล้าน เพราะเขานับไว้. เขาไปดูว่าคนที่ ๖๐ ล้านเกิดมาเมื่อเร็วๆ นี้เอง.  แต่ยังไม่ทราบว่าคนไหนเป็นคนที่ ๖๐ ล้าน เพราะว่าในเวลานั้น ชั่วโมงนั้น นาทีนั้น

          ก็เกิดมาตั้งหลายคน ก็ไม่ทราบว่าคนไหนเป็นคนที่ ๖๐ ล้าน แต่อย่างไรก็ตาม นับคร่าวๆ ว่าเดี๋ยวนี้มีคน ๖๐ ล้าน.  ประชากรในเมืองไทย เปรียบเทียบกับเมื่อครั้งกระโน้นที่มี ๒๐ ล้านคน ความแตกต่างก็เห็นได้ชัด.

          ในทางสถานการณ์อื่นๆ เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ ก็ต่างกัน. จากเวลาโน้นจนถึงเวลานี้ ก็มีวิวัฒนาการ มีความเปลี่ยนแปลงมาตลอด.  ความเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ใช่จะมาเอง ความเปลี่ยนแปลงนี้มาจากการกระทำของคนที่อยู่ในประเทศ.  คนจะแย้งว่าเมืองไทยนี้มีชาวต่างประเทศเข้ามามากมาย และคนไทยที่ถือว่าเป็นคนไทยก็ได้ออกไปต่างประเทศมากมาย. จริง แต่อย่างไรก็ตาม ความเป็นไทยก็ยังอยู่ในประเทศไทย แล้วก็เป็นความรับผิดชอบของแต่ละคน.  พูดถึงโดยเฉพาะคนที่เกิดในปีแรกของรัชกาล ตั้งแต่เกิดมาก็มีความรับผิดชอบแล้ว แม้จะไม่รู้เรื่อง จะอ้างไม่ได้ว่าคนที่เกิดมารู้เรื่องทันที แต่ว่าต้องเรียนรู้ ต้องมาสัมผัส สัมผัสกับโลก หรือสัมผัสกับประเทศเป็นเวลาหลายปีอยู่ ถึงจะเข้าใจว่าประเทศเป็นอย่างไร.

          การที่ประเทศไทยมาอยู่ในสภาพปัจจุบันนี้ก็ผ่าน เรียกว่าฝีมือ หรือการกระทำของคนทั้งประเทศ.  ถ้าเปรียบเทียบความเป็นอยู่เมื่อ ๕๐ ปี กับปัจจุบันนี้ ก็เห็นความแตกต่าง คนที่มีชีวิตตั้งแต่สมัยโน้นจนถึงสมัยนี้ และที่เกิดมาตามทาง ก็เป็นผู้ที่ได้สร้างส่วนรวม ได้สร้างประเทศชาติให้เป็นดังที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้. จะบอกว่าสมัยโน้นกับสมัยนี้เป็นอย่างไร ต่างกันไหม ต่างกัน จะว่าสมัยโน้นดีกว่าสมัยนี้ ก็พูดไม่ได้ ว่าสมัยนี้ดีกว่าสมัยโน้นก็พูดไม่ได้.  อยู่ในปัจจุบันนี้ เรามีสิ่งใด เราก็มีอยู่ในปัจจุบัน ในอดีตเราเคยมีอะไรก็ผ่านไปแล้ว ในอนาคตจะมีอย่างไร ก็จะต้องคอยดูว่าร่วมกันสร้างอย่างไร.  ถ้าร่วมกันสร้างดีก็ดี ถ้าร่วมกันสร้างไม่ดี ก็เสียใจ ก็ไม่ดี.  ฉะนั้นคนที่สามารถที่จะระลึกหวนไปถึงระยะก่อนนี้ และมาเปรียบเทียบกับที่เป็นปัจจุบัน ก็มีความสามารถที่จะถือว่าเป็นบทเรียน.  ถือว่าเป็นหน้าที่ส่วนตัว จะเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย จะเป็นนักธุรกิจ จะเป็นประชาชนที่ทำการค้า ทำหน้าที่อะไรก็ตาม ก็เป็นหน้าที่ของผู้นั้นที่จะหวนระลึกไป เพื่อจะเป็นบทเรียน.  ถ้าไม่หวนระลึกแล้ว ก็ไม่ทำตามที่ได้มีบทเรียนมา สังคมไทยก็ต้องสลายไป.

          ที่พูดถึงว่าเมื่อสมัยก่อนนี้หรือปัจจุบันนี้ อย่างไหนจะดีกว่ากัน เพราะว่ามีบางคนบอกว่าเดี๋ยวนี้เลวทรามมาก สถานการณ์แย่ คนเลว.  จริง คนเลวก็มีมาก คนเลวมีมากกว่าสมัยก่อนนี้ เพราะว่าคน หมายถึงประชากรมีมากกว่าสมัยก่อนนี้ตั้ง ๓ เท่า คนเลวก็ต้องมีมากกว่า ๓ เท่า.  นี่ตามสถิติ ส่วนมากก็เป็นอย่างนั้น คนดีก็ต้องมีมากกว่า ๓ เท่าเหมือน.กัน  ถ้าดูตามสถิติ โดยมากสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสัดเป็นส่วนกัน หมายความว่าเดี๋ยวนี้คนดีก็มากกว่า ๓ เท่า ก็น่าดีใจ แต่คนเลวก็มีมากกว่า ๓ เท่า ก็น่าเสียใจ.  ข้อนี้เป็นเรื่องที่ต้องคิด และเมื่อคิดแล้วก็สามารถจะแก้ไข ให้อีก ๕๐ ปีข้างหน้า เมื่อประชากรอาจจะเพิ่มขึ้นไปอีก อย่าให้คนไม่ดีเพิ่มขึ้น ให้คนดีเพิ่มขึ้นมากกว่าคนไม่ดี จะทำให้อนาคตแจ่มใส.  คือโดยมากสมัยนี้คนเก่าคนแก่ บอกสมัยก่อนนี้ดีมาก สมัยนี้เลวทราม ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น.  ถ้าเราเอาตัวเราใส่ในคนที่จะเป็นในอีก ๕๐ ปี ก็เป็นเหมือนกัน.  แต่ถ้าเราตั้งใจ เราระมัดระวังตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ให้ทำอะไรที่เรียกว่าดี เชื่อว่าใน ๕๐ ปี เมื่อเรามาพบกัน จะมีคนดีมากกว่าคนไม่ดี.  เมื่อมีคนดีมากกว่าคนไม่ดี สังคมไทยย่อมจะสบายกว่า และแต่ละคนจะสบายกว่า.

          ปัญหามีอยู่ว่า คำว่า ดี คืออะไร.  ไม่มีทางที่จะวิเคราะห์ศัพท์ว่า ดี  คือคำว่า ดี  นี่มันสั้นๆ รู้สึกว่าจะเป็นคำที่สั้นสุดในภาษา อาจจะไม่สั้นที่สุด ยังมีคำที่สั้นกว่า แต่อย่างไรก็สั้นมาก. ใครจะมาวิเคราะห์คำนี้ได้ รู้สึกว่ายาก เพราะว่าแต่ละคนก็นึกว่าดี แต่ไม่แน่ว่าใช่หรือไม่ใช่.  อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดคร่าวๆ ความดี คนก็เข้าใจ แต่จะบอกว่าเป็นอะไรยาก. ความดีคืออะไรที่ทำให้เรามีความสงบความสุขใจแท้ๆ เป็นผลดี.  คนที่ไม่ดีเรียกว่าคนเลว คำว่าเลวนี่ก็ยาวกว่าหน่อย คนเลวก็ไม่รู้จะวิเคราะห์ว่าอะไร .

          คนดีทำให้คนอื่นดีได้ หมายความว่าคนดี ทำให้เกิดความดีในสังคม คนอื่นก็ดีไปด้วย.  ความเลวนั้นจะทำให้คนดีเป็นคนเลวก็ยาก แต่เป็นไปได้.  ถ้าคนดีเข้มแข็งในความดี จะให้คนเลวมาทำให้คนดีเป็นคนเลวยาก.  สำคัญอยู่ที่ความเข้มแข็งของคนดี.  คนเลวมิได้อยากให้คนอื่นเลว เพราะว่าถ้าคนอื่นเลว คนเลวนั้นแหละจะเดือดร้อน.  เขารู้ดีกว่าถ้าคนเลวทำให้คนอื่นเลว ก็หมายความว่าคนนั้นจะเบียดเบียนตัวเขาเอง ก็คือเบียดเบียนคนที่เลวทำให้ยิ่งแย่เข้า. ไม่มีใครอยาก.  ฉะนั้นที่มีความหวังว่าอีก ๕๐ ปีข้างหน้านี่ จำนวนคนเลวจะน้อยกว่าคนดี เพราะว่าคนเลวจะทำให้คนดีเป็นคนเลวยาก.  ส่วนคนดีจะทำให้คนเลวเป็นคนดี ก็ไม่พ้นวิสัย ทำได้.  จึงมีหวังว่า อนาคตจะแจ่มใส แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องให้คนในสังคมนี้มีความตั้งใจ.  ถ้าไม่มีความตั้งใจ แล้วก็เชื่อว่า ตัวคนดีจะกลายเป็นคนเลวด้วยตัวเอง ไม่ต้องให้ใครมาชักชวน มันก็เลวไป ก็ลงเหวลงนรก.

          อันนี้ ที่พูดอย่างนี้ได้เพราะได้รับยกย่องว่า มีประสบการณ์มาถึง ๕๐ ปี ก็ได้เห็นความจริงของข้อนี้ ซึ่งเป็นความจริงที่เมื่อทราบแล้ว เมื่อเห็นแล้ว เป็นสิ่งที่น่ากลัว. คนที่มีชีวิตหรือการงานสัก ๕ ปี ๑๐ ปี จะเห็นข้อนี้ยาก เพราะว่าเปรียบเทียบไม่ได้ แต่ผู้ที่ได้รับราชการหรือทำงานมา ๕๐ ปี เชื่อว่าควรจะเห็นได้.  นี่ไม่ใช่อวดตัว แต่ว่าถามท่านผู้ที่มีอายุราชการ หรืออายุทำงานมา ๕๐ ปี ก็เชื่อว่าจะเห็นด้วย ว่าคนดีชนะคนไม่ดีได้ แต่ยากพอใช้ เพราะว่ามีคนมากขึ้น ความต้องการของคนก็มากขึ้น การพัฒนาขึ้นมาไม่ทันกับการพัฒนาของประชากร.

          สำหรับวิธีที่จะทำให้คนเป็นคนดีนั้น ก็มีเช่น การศึกษา.  เมื่อก่อนนี้ด้านการศึกษาคนในเมืองไทยนี่ มีความรู้การอ่านหนังสือ เขียนหนังสือเป็น มีมาก เปรียบเทียบกับประเทศอื่นค่อนข้างจะสูง คือมีการอ่านเขียนได้เปอร์เซ็นต์สูง แต่มาปัจจุบันนี้น้อยลง เพราะว่าคนเพิ่ม โรงเรียน หรือผู้ที่มีหน้าที่สอนน้อยลง เปรียบเทียบกัน.  อาจจะแย้งว่าสมัยนี้มีเทคโนโลยีสูง ทำให้สามารถที่จะทำกิจการโรงเรียน กิจการสั่งสอนแพร่ออกไปได้มากกว่า.  แต่ไม่มีอะไรแทนการอบรม ไม่มีอะไรแทนการบ่มนิสัย.  คือการสอนนี่มีแบ่งเป็นอบรม แล้วก็บ่มนิสัย.  แต่ถ้าไม่มีผู้ที่อบรม ไม่มีผู้ที่บ่มนิสัย หรือผู้ที่อบรม หรือผู้ที่บ่มนิสัย เป็นคนที่คุณภาพต่ำ ผู้ที่ได้รับอบรมบ่มนิสัยย่อมคุณภาพต่ำเหมือนกัน อาจจะยิ่งร้ายกว่า แม้จะมีเทคโนโลยีชั้นสูง.

          เทคโนโลยีชั้นสูงนี้ คนส่วนมาก เดี๋ยวนี้ก็เข้าใจ ว่ามีโทรทัศน์ มีดาวเทียม มีเครื่องคอมพิวเตอร์. แต่ว่าเครื่องเหล่านี้ หรือสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต ดูรูปร่างท่าทางเหมือนมีชีวิต แต่อาจจะไม่มีชีวิต มีสีก็มีสีได้ แต่ว่าไม่มีสัน. คือสีสันนั่นรวมแล้วมันครบถ้วน และยังไม่ครบ ยังไม่มีจิตใจ.  อาจจะทำให้คนที่มีจิตใจอ่อนเปลี่ยนเป็นคนละคนก็ได้ แต่ว่าที่จะอบรมโดยใช้สื่อที่ก้าวหน้าที่มีเทคโนโลยีสูงนี่ยากที่สุด ที่จะอบรมบ่มนิสัยด้วยเครื่องเหล่านี้ ฉะนั้นไม่มีอะไรแทนคนสอนคน.  คนสอนคนนี่ มีที่เขาใช้ดาวเทียม คนเดียวสอนได้เป็นพัน เป็นหมื่นนคราวเดียวกัน แต่ถ่ายทอดความดีนี้ยาก.  ถ้าถ่ายทอด จะว่าไปอาจจะต้องถ่ายทอดตัวต่อตัว.  ฉะนั้นการที่มีความก้าวหน้า เปลี่ยนแปลงในประเทศในสังคมไทย ก็ไม่ได้หมายความว่า จะเปลี่ยนแปลงในทางดี. นอกจากต้องหาวิธีให้มีการถ่ายทอดโดยใช้ตำรา หรือใช้หลักสูตรที่เหมาะสม ที่ทำให้คนเป็นคน.

          อันนี้ก็ขอฝากความคิดอันนี้ไว้ เพราะว่าเป็นสิ่งสำคัญ.  ถ้าสักที่จะให้มีความรู้ทางเทคโนโลยีมากไม่พอ  ต้องมีความเป็นคน คนดี รวมความแล้วว่า ต้องอบรมบ่มนิสัยให้ได้ ก็ต้องหาวิธีที่จะทำ.  ข้อนี้ที่พูดอย่างนี้ค่อนข้างจะเลยเถิด แต่ว่าอดไม่ได้ เพราะว่าพบใคร เดี๋ยวนี้ พบใครก็บอกว่า ๕๐ ปี.  ก็ใช่ ๕๐ ปี ต้องใช้ประโยชน์จาก ๕๐ ปีนี้ ถ้า ๕๐ ปี แล้วไม่ใช้ประโยชน์ เราก็ไร้ประโยชน์.

          ดีที่มีปีกาญจนาภิเษก ๒ ปีนี้ มีการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ ๙ นี่ ซึ่งบางทีคนก็ไม่รู้ แต่เขาไปขุดจากที่ไหนไม่ทราบ.  เขาไปขุดข้อมูลต่างๆ ซึ่งมีมากที่เป็นความจริง ไม่เข้าใจเขาเอามาจากไหน แต่บางทีข้อมูลที่ได้มาไม่มีทางที่จะให้คนอื่นทราบ.  มาควักจากหัว หัวสมองเราเอง  พูดว่า เรา เราคือหมายถึงข้าพเจ้า เรานี่พูดแบบ แบบที่ฝรั่งเรียกว่า “We of Majesty”.  เรารู้อยู่คนเดียว ทำไมคนอื่นรู้ได้ รู้ได้ว่าเราคิดอะไร อันนี้อาจจะเป็นเพราะเผลอไปเล่าให้คนฟังก็ได้ หรือเขาอาจจะสันนิษฐานเอาว่า คิดอย่างนั้นๆ. อย่างไรก็ตามมีหลายอย่างที่ถูกต้อง มีบางอย่างที่ไม่ถูกต้อง ที่เขียนยกยอว่าเป็นอย่างนั้นๆ เราเองยังไม่ทราบ ยังไม่ทราบว่าเป็นอย่างนั้น คิดอย่างนั้น. แต่มาคิดดูก็ไม่เลว (เสียงหัวเราะ) เพราะว่าเราก็เก่งนี่.

          ส่วนมากการยกยอปอปั้น ก็น่าชื่นชม แต่ก็ต้องระวังเหมือนกัน บางคนรับการยกยอมากแล้ว ก็จะลืมตัวไปเลย อาจจะนึกว่า เราเก่งมาก ทำอะไรก็ได้.  แต่มาวิเคราะห์ดู พิจารณาดูว่าที่เขายกยอนั่น บางทีเป็นความจริง แต่ไม่ใช่ของเราคนเดียว.  การแก้ปัญหาต่างๆ อย่างที่นายกฯ พูดว่า แก้ปัญหาสำคัญๆ แก้ปัญหาภัยธรรมชาติ แก้ปัญหาภัยที่ไม่ได้เป็นธรรมชาติ เช่น จราจรคับคั่ง ได้คิดเองส่วนหนึ่ง แต่ว่ามีอีกส่วนที่เป็นส่วนใหญ่ ที่คนอื่นได้ช่วยคิด คนอื่นได้ช่วยปฏิบัติ.  ซึ่งจะว่าไป เราคิด ๑๐ เปอร์เซ็นต์ คนอื่นคิด ๙๐ เปอร์เซ็นต์.  ก็หมายความว่าโครงการพระราชดำรินี้ ทำส่วนหนึ่ง คือมีดำริ พระราชดำริหมายความว่า ตามความคิดของพระราชา แล้วคนอื่นก็ไปทำ.

          บางทีมีพระราชดำริ กว่าจะทำต้องใช้เวลาตั้ง ๑๐ ปี ๒๐ ปี แล้วคนอื่นเขาทำ และบอกว่านี่โครงการพระราชดำริ.  บางทีเราไม่รู้ว่าเป็นพระราชดำริ ใช่ (เสียงหัวเราะ) ไม่รู้ว่าเป็นพระราชดำริ เขาเอาไปทำ.  บางทีพูดไปคำเดียว เขาไปทำโครงการตั้งล้านคำ. อันนี้บางทีก็ดี บางทีก็ไม่ค่อยดี คือได้ปรารภ ไม่ใช่ดำริ ปรารภบางสิ่งบางอย่าง เขาก็เอาไปทำเลย แล้วก็บอกว่า นี่เป็นพระราชดำริ.  บางทีก็ดี เท่ากับเขาให้ความดีความชอบในความคิดนั้นๆ และในโครงการนั้นๆ.  แต่บางทีโครงการนั้นๆ ก็ไม่ค่อยดีนัก เราก็เลยได้ความดีในโครงการที่ไม่ดีนัก. ก็ไม่ค่อยเป็นสิ่งที่น่ายินดีนัก  แต่ส่วนใหญ่โครงการ พระราชดำริซึ่งเป็นการปฏิบัติของผู้อื่นก็ได้เป็นคุณ เป็นประโยชน์ เลยปลื้มใจว่าที่คิดไปนิดเดียวนั้น เกิดประโยชน์ต่อเนื่องไป ทำให้มีประโยชน์ต่อคนหมู่ใหญ่. อันนี้ว่าด้วยโครงการพระราชดำริ.

          เกี่ยวข้องกับ ๕๐ ปีนี้ บอกได้ว่าการฉลองทำให้มีความปลาบปลื้มใจ และที่ปลาบปลื้มใจ ก็การที่หลายองค์กร หลายส่วนราชการ หลายบริษัทได้ขุดเอาเรื่องราวเกี่ยวข้องกับการกระทำทั้งดี ทั้งมีประโยชน์ที่สำเร็จ ทั้งอะไรที่ตลกขบขัน เขียนเป็นเรื่อง เขียนเป็นบทความ จนกระทั่งเป็นหนังสือเป็นเล่มๆ ไปเลย.  อันนี้ดีมาก ไม่ใช่ดีมากว่าชอบใจที่เขายกยอปอปั้น แต่ดีมากเพราะว่าตามปกติแต่ละคนๆ ก็อยากจะได้เขียนอัตชีว-ประวัติ  ตอนนี้ไม่ต้อง คนอื่นเขาเขียนให้.  แต่ว่ามีบางส่วนที่คนอื่นไม่ทราบ ก็คงต้องเขียนเอง ที่จริงเขียนไว้บ้างแล้ว เริ่มต้นเขียนตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ ๕ ขวบ.  คือตั้งแต่เกิดถึงอายุ ๕ ขวบนี่ เดี๋ยวนี้หาคนยากที่ได้เห็น ที่สามารถจะเขียนเรื่อง.

          ตั้งใจจะเขียนเรื่องตั้งแต่เกิด  เกิดนี่ก็เขียนไม่ได้ ต้องเชื่อคนอื่น แต่ตั้งแต่ที่จำได้ จำได้จริงๆ ของตัวเอง ไม่ใช่จากคำพูดของคนอื่น ก็ประมาณ ๓ ขวบ ๔ ขวบ ก็จำได้บางอย่าง อยากจะจดเอาไว้.  เขียนเอาไว้จนกระทั่งอายุ ๑๘. ตั้งแต่อายุ ๑๘ หมายความว่าเมื่อ ๕๐ ปี มีคนไปขุดให้แล้ว คือเราไม่ต้องขุด แต่จากเกิดถึงอายุ ๑๘ เราต้องไปขุดเอง เพราะไม่มีใคร ไม่มีใครสนใจ มีแต่รูปบางรูปที่นำมาลงในหนังสือ ก็คงเห็นเด็กน่าเอ็นดู หัวกลมๆ ก็นั่นคือเรา.  พูดถึงเรานี่ไม่ได้ เพราะตอนนั้นยังไม่มี “Majesty” นำหน้า ยังไม่เป็น เรา เป็นตัวข้าพเจ้า. ตอนนั้นเขาไปขุดมา มาลงในหนังสือ แต่เรื่องราวเบื้องหลังของรูปนั้นไม่มี เพราะไม่มีใครรู้ว่าในหัวกลมๆ นั้นน่ะคิดอะไร.  แต่ว่าก็ยังจำได้หลายอย่าง ฉะนั้นก็จะต้องพยายามที่จะขุดในความจำของเราเอง เรานี่แบบเรา คือ “We of Majesty” ก็เพราะเดี๋ยวนี้เราเป็น “Majesty” เราใหญ่โตแล้ว.  ก็ต้องเขียน.

          เมื่อปีที่แล้วในชุมนุมนี้ได้พูดว่า โครงการแก้มลิงนั้นเริ่มต้นตั้งแต่อายุ ๕ ขวบ เพราะว่ามีลิงอยู่.  ลิงนี่ สมเด็จพระบรมราชชนนีท่านไปซื้อมา แล้วมาไว้ในกรง เพราะท่านอยากที่จะให้ลูกๆ ของท่านเห็นธรรมชาติหลายอย่าง ก็มีไก่ มีลิง มีนก.  ท่านหามาเพื่อที่จะให้เด็กๆ ได้เห็นสิ่งแปลกๆ ต่างๆ และก็ได้ผลจริง ถ้าไม่ได้เห็นอย่างนั้น โครงการแก้มลิงก็ไม่เกิดขึ้น  ลิงนั้นนอกจากมีแก้มลิง ก็มีฟัน ฟันคมด้วย แล้วก็ดุ มันกัด. สมเด็จพระบรมราชชนนี ท่านก็เลยให้หมอฟันฝนฟันลิง เมื่อกัดแล้วจะไม่เข้า คือจะไม่เป็นแผล.  เลยจำได้ว่าลิงนี่ มีฟันคมและมีเขี้ยว ท่านก็เลยตะไบเขี้ยว ตะไบฟัน ไม่ให้เป็นอันตราย. อันนี้ก็ดูท่าทางเหมือนไม่เป็นบทเรียนอะไร น่าจะเป็นบทเรียนของลิงมากกว่าของคน(เสียงหัวเราะ).  แต่ว่าเป็นบทเรียนของคน ให้เห็นว่าใครกัด ก็ต้องถูกตะไบฟัน (เสียงหัวเราะ).  และความจริงก็ควรจะเป็นอย่างนั้น ใครกัดอย่างนั้นเป็นอันธพาล ก็ต้องตะไบฟัน.  นั่นเป็นบทเรียนเมื่ออายุ ๕ ขวบ

          ยังมีเรื่องราวต่างๆ อีกหลายเรื่อง เมื่อหวนระลึกไปถึงเมื่ออายุ ๕ ขวบ.  เดี๋ยวนี้ที่เขียนเอาไว้ เขียนถึงอายุ ๕ ขวบ. ไปเกิดที่สหรัฐอเมริกา.  อายุยังไม่ถึงขวบก็จากมาแล้ว กลับมา คือจะเรียกว่ากลับเมืองไทยก็ไม่ได้ ไม่เคยอยู่มาก่อน เกิดที่อเมริกา. อย่างไรก็ตาม มาผ่านประเทศอังกฤษ และทางยุโรป  แล้วเดินทางมาถึงสิงคโปร์ มาอายุ ๑ ขวบที่สิงคโปร์.  ตอนนั้นจำไม่ได้แน่  แต่โดยที่สมเด็จพระบรมราชชนนีท่านทรงจำได้ ก็ไปถามท่าน เรื่องราวต่างๆ ท่านก็ทรงเล่าให้ฟัง.  มาถึงเมืองไทยแล้ว ก็มีชีวิตในเมืองไทยจนถึงอายุ ๕ ขวบ.  เมื่อปี ๒๔๗๕ ตอนนั้นก็อายุได้ ๕ ขวบ และไปต่างประเทศอีกทีก็ปีต่อไป       เมื่อต้นปีแบบไทย ปี ๒๔๗๖.  ที่ไปนั่นก็ไปเมืองสวิส ก็หมายความว่าประวัติที่พยายามเขียนถึงอายุ ๕ ขวบนี้ ก็เป็นระยะที่มีชีวิตอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่อายุ ๑ ขวบ จนถึงอายุ ๕ ขวบ. แล้วยังต้องเขียนต่อไปให้ได้ไปถึงอายุ ๑๘.  ก็อย่างที่กล่าวเมื่อตะกี้ จากอายุ ๑๘ เป็นประวัติที่คนสนใจ มีคนได้จดเอาไว้ เราจึงไม่ต้องเขียน. ที่พูดทั้งหมดนี้ความจริงเป็นเรื่องส่วนตัว. 

          แต่ว่าไหนๆ ท่านก็มากัน ตะกี้เขาบอกว่า ๑๑,๙๔๒ คน ไม่ได้นับ เชื่อเขา (เสียงหัวเราะ) ๔๐๗ คณะ บางคณะก็ ๑ คน (เสียงหัวเราะ) บางคณะก็ ๑,๐๐๐ คน. ก็จะบอกได้ว่า มานี่ ไม่ได้เชิญท่านมา ไม่ได้เชิญใครมา มากันเอง (เสียงหัวเราะ).  ใครอยากมาก็จดชื่อ ชื่อซ้ำหรือไม่ซ้ำ ก็ไม่ทราบ เพราะว่ามีหลายคณะ บางคณะประกอบด้วยคนคนเดียวกับอีกคณะ.  เคยเห็นรายชื่อของคณะ แล้วก็มีคนที่มีชื่อเดียวกันในหลายคณะ  ก็ไม่ทราบว่า ใน ๑๑,๙๔๒ คน นับซ้ำหรือไม่ อันนี้ก็ไม่ทราบ.  แต่เชื่อเพราะเป็นคนซื่อ (เสียงหัวเราะ) เป็นคนที่ไม่มีความสงสัยในคนอื่น เพราะถือว่าทุกคนก็เป็นคนดีทั้งนั้น จึงไม่สงสัยว่าซ้ำหรือไม่ซ้ำ.  ฉะนั้นคนที่มานี่เป็นคนกันเองทั้งนั้น คือถ้าไม่ใช่คนกันเอง ก็จะต้องมีการเชิญมาเป็นทางการ แต่นี่ใครอยากมาก็มา ก็หมายความเป็นกันเอง ถึงพูดอะไร ก็พูดกันเอง (เสียงหัวเราะ) พูดค่อนข้างจะไม่มีพิธีรีตองกัน.

          แต่รู้สึกว่าพูดมากแล้ว.  เคยตำหนิคนบางคนว่าพูดมาก.  ฮู้...คนนั้นพูดมากเหลือเกิน. เราก็กลายเป็นคนอย่างนั้นเหมือนกัน (เสียงหัวเราะ).  แต่อย่างไรก็ตามที่พูดนี้ก็ถือว่าเป็นการต้อนรับ และเป็นการขอบใจที่มีความปรารถนาดี และอุตส่าห์มานั่งฟัง. สมัยนี้ยังดีนะ แต่ก่อนนี้ไม่ได้นั่งฟัง แต่ก่อนนี้ยืนฟัง (เสียงหัวเราะ).  ต่างคนต่างรู้สึกว่าเมื่อย ก็ขยับไปขยับมา เราก็พูดไม่ออก (เสียงหัวเราะ). เมื่อเขายืนเราก็พูดไม่ออก ทำให้รู้สึกว่าเกรงใจ แล้วทีหลัง เพราะไม่ได้จัดเก้าอี้อย่างนี้ ก็มานั่งกับพื้น ดูแล้วก็รู้สึกลำบากใจ เพราะบางทีนั่งกับพื้น มันก็เมื่อย กลับไปกลับมา เราก็พูดไม่ออกอีกแหละ              (เสียงหัวเราะ). พูดไม่ออก เพราะว่าเกรงใจ.

          บางทีพูดไปพูดมา เอ๊ะ...คนโน้นหลับคนนี้หลับ (เสียงหัวเราะ).  เราก็พูดไม่ออกอีกแหละ (เสียงหัวเราะ) เพราะว่า หมายความว่าที่เราพูดทำให้เขาหลับ นี่ก็แปลกดี (เสียงหัวเราะ). แต่ว่าอาจจะเป็นเกียรติก็ได้ (เสียงหัวเราะ) หมายความว่าคำพูดเราทำให้สบายใจ (เสียงหัวเราะ) ทำให้เคลิบเคลิ้ม (เสียงหัวเราะ) เขาเรียกว่าเคลิบเคลิ้มเลยทำให้หลับ มีเหมือนกัน. แต่วันนี้ไม่หลับ วันนี้คงพูดไม่ดี (เสียงหัวเราะ) คือถ้าพูดดีก็ต้องเคลิบเคลิ้ม.  แต่ว่าคำพูดทำให้คนเคลิบเคลิ้ม มันก็ไม่ค่อยดี (เสียงหัวเราะ) รู้สึกว่าเขาตำหนิคนที่พูดแล้วทำให้คนเคลิบเคลิ้ม ก็หมายความว่าเคลิบเคลิ้มแล้วคิดตาม โดยที่อาจจะไม่ถูกต้อง อาจจะไม่ดีก็ได้.

          วันนี้ท่านไม่เคลิบเคลิ้ม วันนี้ท่านดู... อาจจะเป็นเพราะว่าส่วนมากท่านเป็นเด็กๆ ทั้งนั้น เปรียบเทียบ เพราะว่าเราก็อายุมากขึ้นไป.  นี่ไม่ใช่บอกว่าอายุมากเกินไป.  แต่ว่าอายุมากขึ้น เป็นของดีอย่างหนึ่ง ทำให้เห็นคนอื่นเป็นเด็กหมด.  แล้วก็เลยกันเอง เลยรู้สึกว่า ถือว่าเราเป็นผู้ใหญ่ นอกจากท่านผู้ใหญ่ที่อยู่ข้างหน้านี้ ท่านเป็นผู้ใหญ่.  ความจริงก็เป็นผู้ใหญ่ ถือว่าเป็นรุ่น เหมือนว่าเป็นรุ่นพี่ก็ได้.  แต่ก่อนนี้เวลาพูดกับผู้ใหญ่ เป็นรุ่นพี่ไม่ได้ เป็นรุ่นลุง (เสียงหัวเราะ) อาจจะเป็นรุ่นปู่ก็ได้.

          แต่ก่อนนี้เมื่อสมัย ๔๐ กว่าปี พบกับใคร เขาเป็นผู้ใหญ่กว่ามาก แท้จริงเขาอายุสัก ๕๐ ดูผู้ใหญ่เหลือเกิน.  ก็เลยทำให้นึกว่าเดี๋ยวนี้ เราไม่ใช่อายุ ๕๐.  เรารับราชการมา ๕๐ ปี แต่ว่าคนอื่นก็อยู่อย่างเดิม คนที่พบนี่ส่วนมากอายุต่ำกว่า ๖๐ นอกจากพวกพี่ๆ (เสียงหัวเราะ) เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว. รุ่นลุง รุ่นป้า รุ่นปู่ รุ่นตา รุ่นยาย ไม่มีแล้ว.  แต่อย่างไรก็ตาม พูดไปพูดมานี่ก็ถือว่าเป็นกันเอง.  นึกว่าพอแล้ว ก็เหลือแต่ว่า ขอขอบใจท่านทั้งหลายที่มาให้พร และให้พรนี้สะท้อนกลับไปถึงท่าน ให้มีความเจริญรุ่งเรือง ความดีทุกประการ และความสำเร็จทุกอย่างที่พึงปรารถนา.

ที่มา www.amarin.co.th

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2539, พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2539 หมายถึง, พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2539 คือ, พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2539 ความหมาย, พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2539 คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu