ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

กระบวนการฝึกหัดละครนอก-ละครใน, กระบวนการฝึกหัดละครนอก-ละครใน หมายถึง, กระบวนการฝึกหัดละครนอก-ละครใน คือ, กระบวนการฝึกหัดละครนอก-ละครใน ความหมาย, กระบวนการฝึกหัดละครนอก-ละครใน คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
กระบวนการฝึกหัดละครนอก-ละครใน

          การฝึกหัดละครนอกกับละครในเกือบจะเป็นอย่างเดียวกัน ต่างกันที่ทำนองร้องและกระบวนการเล่นบางอย่าง การฝึกหัดมีคำกลอนของเก่า เรียกว่า ตำราฟ้อนรำบอกท่ารำต่างๆ ในชั้นต้น ครูหัดให้รำเพลงต่างๆ คือ ที่ ๑ เพลงช้าที่ ๒ เพลงเร็ว ที่ ๓ เชิดกลอง ที่ ๔ เสมอ รำได้แล้วจึงหัดให้รำใช้บทเหมือนกันหมดทุกคนแล้วแต่ใครจะหัดเป็นตัวยืนเครื่อง หรือเป็นตัวนาง ครูก็จะหัดให้ตามกระบวนการนั้น ถ้าครูเห็นว่าศิษย์คนใดฉลาดท่วงทีน่าจะรำเป็นละครตัวดีได้ ก็หัดเพลงรำสำหรับละครตัวดีเพิ่มเติมต่อไปอีกหนึ่งชุด เช่น รำเชิดฉิ่ง รำลงสรง และออกกลมเป็นต้น รำใช้บทก็หัดเพิ่มเติมให้ถึงบทละครตัวเอก เช่น รำโอ้โลม เป็นต้น และยังมีกระบวนการที่หัดอนุโลมตามแบบโขน เช่น รำท่ายักษ์และ ท่าลิง ออกกราว ออกคุกพาทย์ เป็นต้น เหล่านี้ ก็อยู่ในจำพวกวิชาที่หัดเพิ่มเติมให้แต่เฉพาะบางคนเหมือนกัน เมื่อฝึกหัดกระบวนรำชั้นต้นได้ตลอดแล้ว ครูจึงครอบให้เป็นละคร          ละครหลวงเป็นต้นแบบของละครในโรงอื่นๆ ทั่วไป ละครนอกเอาแบบแผนของละครในไปใช้ แบบแผนบางอย่างที่ละครโรงอื่นไม่สามารถจะทำตามละครหลวงได้ เช่น พิธีการไหว้ครูและพิธีครอบ ละครหลวงจึงยังแตกต่างจากละครอื่นๆ มีสำเนาหมายรับสั่งครั้งครอบละครในรัชกาลที่ ๔ ปรากฏอยู่ดังนี้

สำเนาหมายรับสั่งในรัชกาลที่ ๔

          เรื่องไหว้ครูลครหลวง เมื่อปีขาลฉศก พ.ศ. ๒๓๙๗

          ด้วยพระยาบำเรอศักดิ์ รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่ากำหนดหม่อมลครในพระบรมมหาราชวัง จะได้ออกมาครอบไหว้ครูลคร ณ ชลาพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระสงฆ์ ๗ รูปจะได้สวดพระพุทธมนต์ ณ ทิมดาบคด ณ วัน (พุฒ) แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ เพลาบ่าย ครั้นรุ่งขึ้น ณ วัน (พฤหัสบดี) ขึ้นค่ำ ๑ เดือน ๖ เพลาเช้าพระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้ว ครูจะได้ครอบหม่อมลครนั้น
          หน้าโขนที่ปรากฏในหมายรับสั่งนี้ ผิดกับครอบละครนอกเห็นจะถือเอาเทวรูป แทนหน้าโขนพระอิศวร พระนารายณ์ ในหมายรับสั่งดังนี้
          "อนึ่งให้เจ้ากรม ปลัดกรม สมุห์บาญชี ในกรมพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศวัชรินทร์จัดพระประคนธรรพ กับหน้าฤาษี ๘ หน้า หน้าพระราม ๑ หน้า หน้าพระลักษมณ์ ๑ หน้า หน้าหนุมาน ๑ หน้า หน้าทศกัณฐ์ ๑ หน้า หน้าอินทรชิต ๑ หน้า หน้าพิราพ ๑ หน้า หน้ารามสูร ๑ หน้า หน้าช้าง ๑ หน้า หน้าม้า ๑ หน้า ไม้คลีสำรับ ๑ พัดใบตาลเล่ม ๑ ศรเล่ม ๑ พระขรรค์เล่ม ๑ ขนนกยูงคู่ ๑ ตะบองอัน ๑ เร่งเอาไปเตรียมให้พร้อมที่ชลาน่า พระมหาปราสาท ณ วันแรม ๑๔ ค่ำเดือน ๕ เพลาบ่ายโมงหนึ่งให้ทันเข้าพระมณฑล"
          อนึ่ง ให้พนักงานโรงทานแต่งของเผดียงขึ้นมาถวายพระสงฆ์ ๗ สำรับตามรับสั่ง
          วิธีครอบละครในต้องหาฤกษ์และจัดโรงพิธีอย่างเดียวกับละครนอก เครื่องตั้งเตียงมณฑล นอกจากที่ปรากฏในหมายรับสั่ง ยังมีเทริดกับสมุดบทละครอีก ๒ อย่าง
          เริ่มพิธี พระสงฆ์สวดมนต์เวลาบ่าย ศิษย์ละครใส่มงคลนั่งฟังสวด แล้วพระประพรมน้ำมนต์ให้ ครั้นรุ่งเช้าเลี้ยงพระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์กลับแล้ว ครูนุ่งขาวห่มขาวนำศิษย์จุดธูปเทียน และถวายดอกไม้บูชาพระพุทธรูปก่อน และตอนนี้ยังไม่ทำเพลงปี่พาทย์ เมื่อบูชาพระพุทธรูปแล้วจึงลงมือทำพิธีไหว้ครู
          พิธีไหว้ครูนั้น เริ่มแรกครูเรียกหน้าพาทย์ทำเพลงสาธุการ ครูจุดเทียนทองเทียนเงินและธูปบูชาครูปัฐยายทางหน้าพระพุทธรูป เสร็จแล้วจึงเรียกหน้าพาทย์เพลงตระพระประคนธรรพ ครูหันไปจุดเทียนทองเทียนเงินและธูปบูชา พระประคนธรรพทางวงปี่พาทย์ ครั้นบูชาเสร็จแล้วครูหันกลับมาทางหน้าเทวรูป เรียกหน้าพาทย์เชิญเทวดา คือ 
          ทำเพลงเหาะ             เชิญพระอิศวร
          ทำเพลงแผละ             เชิญพระนารายณ์
          ทำเพลงกลม              (เชิญเทพยดาอื่นๆ)
          ทำเพลงโหมโรง           (เชิญครูละคร)
          ทำเพลงช้าเพลงเร็ว        สำหรับ (ครู) มนุษย์
          ทำเพลงกราวนอกกราวใน    สำหรับ (ครู) วานร
          ทำเพลงเชิดฉิ่ง            สำหรับ (ครู) นาง
          ทำเพลงคุกพาทย์           สำหรับ (ครู) ยักษ์
          ทำเพลงรอนพระพิราพทั้งตัว   สำหรับพระพิราพ

          เสร็จทำหน้าพาทย์เพลงเชิญครูปัฐยายแล้วครูจึงเรียกหน้าพาทย์ลงสรง เชิญเทวรูปออกมาสรงและเจิมจุณ แล้วเชิญกลับขึ้นตั้งไว้อย่างเดิม คราวนี้ถึงตอนถวายเครื่องพลีกรรม ครูเรียกหน้า พาทย์เชิด ครูกับศิษย์ทั้งปวงยกเครื่องพลีกรรม รำถวายครูปัฐยาย แล้วหันมารำถวายพระประคนธรรพ รำเสร็จแล้วเรียกหน้าพาทย์ทำเพลงเสมอ ผีเสมอมารนั่งกิน แล้วครูเส้น (เซ่น) สุรา ปี่พาทย์ทำเพลงเส้นเหล้า เสร็จพิธีไหว้ครูชั้นต้นเพียงเท่านี้ แล้วทำพิธีครอบต่อไป
          พิธีครอบนั้น เริ่มด้วยปี่พาทย์ทำเพลงพราหมณ์เข้า ครูนำศิษย์รำเพลงโปรยข้าวตอกบูชาครูปัฐยายและบูชาพระประคนธรรม แล้วครูเอาหนังค่างใส่ในหัวฤาษีเอาขึ้นสวมศีรษะตนมือขวาถือไม้เท้า มือซ้ายถือสังข์ รำเพลงเสมอสามลา เข้ามานั่งบนก้นขันสิบสองนักษัตร ซึ่งมี ผ้าคลุมคว่ำไว้ตรงหน้าเตียงตั้งเครื่องครูปัฐยายเรียกศิษย์เข้ามาครอบให้ทีละคน คือถอดหัวฤาษีกับหนังค่างจากศีรษะให้ศิษย์ก่อน แล้วเอากลับ ไปใส่ศีรษะครูตามเดิม ต่อจากนั้น เอาหัวโขนพระราม พระลักษมณ์ พระพิราพ ทศกัณฐ์และเทริด ครอบศีรษะให้ศิษย์เป็นลำดับกันไป แล้วรดน้ำสังข์ ให้ใบมงคล คือใบมะตูม หญ้าแพรก ใบเงินใบทอง ซึ่งมัดเป็นช่อให้ศิษย์ทัดหู และสวมมงคลที่ศีรษะศิษย์ ครอบทีละคนจนหมดจำนวนศิษย์ที่จะครอบ ปี่พาทย์ทำเพลงมหาชัยไปตลอดเวลาที่ครอบนี้ เมื่อครอบให้หมดแล้ว ครูจึงอำนวยพรให้ศิษย์พร้อมกันแล้วปี่พาทย์ทำเพลงเสมอเถร ครูรำเป็นทำนองฤาษีกลับ จบแล้วจึงถอดหัวโขนฤาษีออกจากศีรษะ เป็นอันเสร็จพิธีครอบ

กระบวนการฝึกหัดละครนอก-ละครใน, กระบวนการฝึกหัดละครนอก-ละครใน หมายถึง, กระบวนการฝึกหัดละครนอก-ละครใน คือ, กระบวนการฝึกหัดละครนอก-ละครใน ความหมาย, กระบวนการฝึกหัดละครนอก-ละครใน คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 23

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu