ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่), วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) หมายถึง, วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) คือ, วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) ความหมาย, วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่)

ที่ตั้งและอาณาเขต
          วัดมังกรกมลาวาส ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๔๒๓ ถนนเจริญกรุง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่าง ซอยเจริญกรุง 19 และ 21
          - ทิศเหนือ ติด วัดคณิกาผล
          - ทิศใต้ ติด ถนนเจริญกรุง
          - ทิศตะวันตก ติด ถนนมังกร
          - ทิศตะวันออก ติด ซอยเจริญกรุง 21

ลักษณะทางกายภาพและสิ่งแวดล้อม

          วัดมังกรกมลาวาส มีชื่อจีน “ วัดเล่งเน่ยยี่ ” ในภาษาจีนแต้จิ๋ว คำว่า “ เล่ง ” แปลว่า มังกร , คำว่า “ เน่ย ” แปลว่า ดอกบัวและคำว่า “ ยี่ ” แปลว่า อารามหรือวัด ทางด้านหน้าของวัดติดกับถนนเจริญกรุงนั้น เป็นบริเวณย่านการค้า ของชาวไทยเชื้อสายจีนตลอดสาย ด้านหน้าทางเข้าวัดมีร้านขายของเครื่องเซ่นไหว้และขนมต่างๆ เมื่อเดินเข้ามาภายในบริเวณวัดจะเป็นลานกว้าง ด้านหน้าจะเป็นวิหารท้าวจตุโลกบาล ทางด้านขวามือจะเห็นศาลเจ้า ส่วนทางด้าน ซ้ายมือจะมีศาลา และเมื่อหันหลังกลับไปจะเห็นตึก 9 ชั้น ที่มีชื่อว่า “ ตึกพิพิธภัณฑ์วัตถุธรรม ” ซึ่งเริ่มก่อสร้าง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 ภายใต้การควบคุมของวิศวกรรมยุทธโยธากองทัพบกและผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะจีนตึกนี้เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ และมี โรงเรียนมังกรกมลาวาสวิทยาลัย ที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2533 โดยพระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ ( ท่านเจ้าคุณเย็นเชี้ยว ) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมสายสามัญศึกษาของวัดมังกรกมลาวาสที่มีการสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 และยังเป็นโรงเรียนแห่งแรกของคณะสงฆ์จีนในประเทศไทยอีกด้วย

          สถาปัตยกรรมของวัดมังกรกมลาวาสนั้น เป็นการวางผังตามแบบลักษณะสถาปัตยกรรมจีนทางตอนใต้ โดยมีลักษณะแบบสกุลช่างแต้จิ๋วเป็นหลัก การวางผังถืดตามแบบพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ตัวอาคารจะวางล้อมลานเรียกว่า “ ซี่เตี่ยมกิม ” เป็นแบบ เฉพาะของตัวอาคารพื้นถิ่นแต้จิ๋ว การจัดวางวิหารถือตามแบบวังหลวง โดยมีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก อุโบสถอยู่กลาง ด้านหลังพระอุโบสถมีวิหารบูรพาจารย์ ตัวอาคารทั้งหมดในวัดประกอบด้วยอิฐและไม้ เป็นโครงสร้างสำคัญ โดยเฉพาะโครงสร้าง

          หลังคาวิหารท้าวจตุโลกบาล แสดงโครงสร้างคานขื่อตามแบบแต้จิ๋วอย่างสวยงาม หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบจีนโบราณ มีการประดับตกแต่งอาคารด้วยกระเบื้องตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ประกอบด้วยลวดลายสิริมงคลตามความเชื่อจีน มีการวาดลวดลาย และแกะสลักลวดลายปิดทองอย่างสวยงาม

          หน้าประตูวัดมีป้ายจารึกชื่อวัดเป็นภาษาไทยว่า “ ทรงพระราชทานนามวัดมังกรกมลาวาส ” และมีป้ายสีแดงภาษาจีนทำ จากไม้ที่เป็นลายมือของพระอาจารย์สกเห็ง ( เจ้าอาวาสองค์แรกของวัด ) ประตูทางเข้าทั้งสองด้านมีป้ายแขวนคำโคลงคู่มีความ หมายว่า
          - ป้ายด้านซ้ายมือ หมายความว่า “ มังกรเหินสู่สวรรค์ ณ ถิ่นนี้ ”
          - ป้ายด้านขวา หมายความว่า “ ประทุมประทีปส่องสว่างกลางเวหา ”

          โคลงนี้เป็นโคลงที่แต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง โดยจักรพรรดิกวงซื่อ ในปี ค.ศ. 1879 และถือได้ว่าเป็นงานศิลปะด้านการเขียน ลายมือจีนที่มีค่ามากชิ้นหนึ่ง นอกจากนี้ภายในวัดยังมีป้ายที่เขียนขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 มีอายุกว่า 100 ปี ที่กล่าวถึงปรัชญาต่างๆ อีกจำนวนหนึ่ง

          ภายในอุโบสถของวัดมังกรกมลาวาสเป็นที่ประดิษฐานของพระประธานของวัด คือ พระศากยมุนีพุทธเจ้า และ วิหารด้านหน้า ประดิษฐานท้าวจตุโลกบาลข้างละ 2 องค์ เป็นรูปหล่อปูนเขียนสีแต่งกายแบบนักรบจีน ส่วนด้านข้างเป็นเทพเจ้าตามความเชื่อของ ลัทธิเต๋าและเทพเจ้าพื้นเมืองของจีน เช่นเทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา (ไท้ส่วยเอี๊ยะ) เทพเจ้าแห่งยา (เซียงซือกง) เทพเจ้าแห่งโชคลาภ (ไฉ่ซิ้งเอี๊ยะ) และยังมีรูป 18 พระอรหันต์ตั้งอยู่ทั้งสองข้างของวิหาร ซึ่งรวมเทพเจ้าได้ทั้งหมด 58 องค์ 

          นอกจากนี้ภายในอุโบสถ ของวัดยังมีตู้เก็บป้ายวิญญาณของครอบครัวที่มีส่วนร่วมในการก่อสร้างวัดอีกด้วย ซึ่งจะมีการสวดมนต์ให้ในวันครบรอบวันเสียชีวิตและเทศกาลต่างๆ โดยทางครอบครัวจะเป็นผู้กำหนด



ประวัติความเป็นมาของวัดมังกรกมลาวาส

          วัดมังกรกมลาวาส เดิมชื่อ วัดเล่งเน่ยยี่ ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๔๓๒ ถนนเจริญกรุง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระปิยมหาราช) รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงกรุณาโปรดกล้าฯ ให้เลือกชัยภูมิที่ตั้งวัดเนื้อที่ ๔ไร่ ๑๘ ตารางวา โดยให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐีเจ้ากรมท่าซ้ายร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวจีนก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๔ ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ ๘ ปี จึงแล้วเสร็จให้ชื่อว่า “เล่งเน่ยยี่” ซึ่งมีความหมายคือ เล่ง แปลว่า มังกร เน่ย แปลว่า ดอกบัว ยี่ แปลว่า อาราม วัด

         การตั้งชื่อวัดตั้งตามหลักโบราณจีนคือการตั้งตามชัยภูมิ ฮวงจุ้ย ทำเลนั้นๆ ซึ้งนับเป็นสังฆารามตามลัทธินิกายมหายานที่มีศิลปะงดงามและใหญ่ที่สุดใน ประเทศไทยซึ่งภายหลังได้รับพระราชทานพระกรุณาโปรดกล้าฯจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัว(พระปิยมหาราช) รัชกาลที่ ๕ พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดมังกรกมลาวาส” โดยได้อาราธนาพระอาจารย์สกเห็งเป็นเจ้าอาวาส และทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสมณศักดิ์แก่พระอาจารย์สกเห็ง เป็นพระอาจารย์จีนวังสมาธิวัตร ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปแรกในประเทศไทย และเป็นปฐมบูรพจารย์ของวัดมังกรกมลาวาส ท่านเป็นพระที่มีความเมตตา เชี่ยวชาญทางด้านวิปัสสนากรรมฐาน ท่านทราบว่าชีวิตของท่านจะดับขันธ์จึงเจริญวิปัสสนาจนหมดลมปราณและมรณภาพในอิริยาบถนั้น

         กาลต่อมาเจ้าอาวาสองค์ที่ ๒ พระอาจารย์กวยหงอ ได้สร้างหอไตรปิฎก และกุฏิเจ้าอาวาสขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ ได้รบพระราชทาน สมณศักดิ์เป็นพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายองค์ที่

         เจ้าอาวาสองค์ที่ ๓ พระอาจารย์โล่วเข่ง ได้บูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถและพระพุทธรูปในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้รับพระราชทานสมณคักดิ์เป็นพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายองค์ที่ ๓

         เจ้าอาวาสองค์ที่ ๔ พระอาจารย์ฮวบจง ได้สร้างเจดีย์ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ แต่เนื่องจากท่านเดินทางกลับไปยังประเทศจีน เพื่อรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดน่ำฮั่วยี่ จึงไม่ทันได้รับพระราชทานสมณศักดิ์

         เจ้าอาวาสองค์ที่ ๕ พระอาจารย์ย่งปิง ได้สร้างศาลาบุญโญทัยในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร รักษาการเจ้าคณะใหญ่จีนนิกายองค์ที่ ๔

         เจ้าอาวาสองค์ที่ ๖ พระอาจารย์เซี่ยงหงี ได้บูรณปฏิสังขรณ์ภาในวัด ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระอาจารย์วังสสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายองค์ที่ ๕

         เจ้าอาวาสองค์ที่ ๗ พระอาจารย์โพธิ์แจ้ง ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระสังฆราชให้เป็นอุปัชฌาย์รูปแรกแห่งจีนนิกายในปี พ.ศ.๒๔๙๓ ต่อมาสมเด็จพระสังฆราชทรงมีบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ และได้เลื่อนสมณคักดิ์จากหลวงจีนคณาณัติจีนพรต เป็นที่พระอาจารย์ธรรมสมาธิวัตรเจ้าคณะใหญ่จีนนิกายองค์ที่ ๖ ซึ่งได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ตลอดจนได้รับปรับปรุงระเบียบการบรรพชาอุปสมบท ฝ่ายจีนนิกายให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยและได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระอาจารย์วังสสมาธิวัตรพุทธบริษัทจีนเนตาในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้บูรณปฏิสังขรณ์โดยใช้โมเสคติดผนังทั้งหมดและพื้นขัดหินอ่อนหลังจากนั้นได้สร้างตึกพิพิธภัณฑ์วัตถุธรรมสูง ๙ ชั้น เพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจลจอมกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๕ ซึ่งทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อคณะสงฆ์จีนเป็นล้นพ้น อีกทั้งเพื่อเป็นกิตยานูสรณ์เฉลิมพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง ๒ ปี ๔ เดือน จึงแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐

          คณะสงฆ์จีนนิกายและคณะกรรมการจัดงานได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดตึกพิพิธภัณฑ์วัตถุธรรม “หอพิพิภัณฑ์วัตถุธรรม วัดมังกรกมลาวาส” เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ อีกทั้งยังได้พระราชทานพระบรมราชานุญาติให้อันเชิญพระปรมาภิไธยย่อ “ภ.ป.ร.” ประดิษฐานที่พระกริ่งไวโรจนพุทธ เพื่อมอบแก่พุทธศาสนิกชนผู้บริจาคทรัพย์โดยเสด็จพระราชกุศล ภายหลังได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิแจ้งมหาเถระ) เสมอด้วยชั้นรองสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนา

         เจ้าอาวาสองค์ที่ ๘ พระอาจารย์เย็นเจี่ยว ได้ช่วยดูแลควบคุมการก่อสร้างตึกพิพิธภัณฑ์วัตถุธรรม ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระอาจารย์จีนธรรมคณาธิการ ไพศาลสมณกิจ

         เจ้าอาวาสองค์ที่ ๙ องค์ปัจจุบัน พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ ( ท่านเจ้าคุณเย็นเชี้ยว ) ท่านเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์โพธิ์แจ้งมหาเถระเจ้าอาวาสองค์ที่ ๗ มารับตำแหน่งในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระอาจารย์จีนวินยานุกรท่านได้วางแบบพัฒนาปรับปรุงระบบต่างๆ ของวัด ทั้งด้านบุคคลและวัตถุให้เป็นระเบียบ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระอาจารย์จีนธรรมคณาธิการ ไพศาลสมณกิจท่านได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัด ตลอดจนสร้างกุฏิสงฆ์และหอฉันในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้บูรณะปฏิสังขรวิหารและองค์ท้าวจตุโลกบาล ในปีถัดมาได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระคณาจารย์จีนธรรมวิริยาจารย์ ไพศาลสมณกิจ ท่านอาจารย์ก็ยังคงพัฒนาและปรับปรุงเสนาสนะต่างๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ท่านได้เปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ( โรงเรียนมังกรกมลาวาสวิทยาลัย ) วัตถุประสงค์เพื่อสร้างศาสนทายาท ตลอดจนให้โอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนผู้ด้อยโอกาสและเป็นการช่วยรัฐและสังคมทางหนึ่ง

         จะเห็นได้ว่าอาจารย์เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ให้ความต่อการพัฒนาบุคคล เพื่อจะเป็นกำลังของศาสนาและสังคมโดยส่วนรวมต่อไปในอนาคตข้างหน้า ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระคณาจารย์จีนธรรมวิริยาจารย์ ไพศาลสมณกิจประสิทธิ์สิริมงคลคุณาภิวัฒน์ถึง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ไพศาลสุนทรสมณกิจ สิริมงคลประสิทธิ์คุณาภิวัฒน์ พุทธบริษัทจีนวิเนตา จริยคุณของท่านอาจารย์จึงนับว่าได้ฟื้นฟูวัดมังกรกมลาวาสให้เจริญรุ่งเรืองและสืบทอดบวรพุทธศาสนาให้แผ่ไพศาลด้วยวิริยคุณเป็นเอนกอนันต์ตลอดจนเป็นคุณประโยชน์แก่บรรดาพุทธบริษัทตลอดกาล



เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส

ประวัติสังเขป
พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ (เย็นเชี้ยว)
รองเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย
เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) กรุงเทพมหานคร

         พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ มีนามฉายาว่า เย็นเชี้ยว เกิดในตระกูลแซ่เจียม มีภูลำเนาเดิมอยู่เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร บิดาท่านชื่อ นายยุ่นฮะ แซ่เจียม มารดาท่านชื่อ นางซิ้วเกียว แซ่ลี้ เชื้อชาติจีน (จีนแต้จิ๋ว) มณฑลกวางตุ้ง สัญชาติไทย

         เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ปัจจุบันมีอายุ๖๔ ปี บรรพชาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ และอุปสมบทเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ ณ วัดโพธิ์เย็น อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี โดยมีพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรฯ (โพธิ์แจ้ง) เป็นพระอุปัชฌาย์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมังกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

         พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ เป็นผู้มีปัญญาเฉียบแหลม ตั้งใจศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นที่แตกฉาน ว่างจากกิจวัตรประจำวันแล้ว ก็ยังค้นคว้าศึกษาวิชาความรู้ต่างๆ ชอบการกุศล เจรจาไพเราะ มีกำลังใจกล้าหาญไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากทั้งหลายเคร่งครัดระเบียบวินัย อยู่ในสัมมาปฏิบัติเป็นพระอาจารย์อบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณรเป็นเวลากว่า ๑๕ ปี เป็นผู้มีความสามารถในการบริหารสูง มีปณิธานที่จะพัฒนาพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า จึงเป็นที่เคารพศรัทธาเลื่อมใสของสาธุชนทั้งหลาย



คณะสงฆ์จีนนิกายในประเทศไทย

พระอาจารย์จีนวังสมาธิวัตร (สกเห็ง)

เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายองค์ที่ ๑

ปฐมบูรพาจารย์ของคณะสงฆ์จีนนิกายในประทศไทย

         ในราวพุทธศตวรรษที่ ๓ พระพุทธศาสนาได้เข้าสู่แคว้นสุวรรณภูมิ ซึ่งแต่เดิมนั้นดินแดนแห่งนี้ยังเป็นของชน ๓ ชาติ คือ ขอม มอญ ละว้า

         ในราวพุทธศตวรรษที่ ๗ ชนชาติไทยได้อยู่ในน่านเจ้าในจีนเวลานั้นขุนหลวงเม้ากษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่ง ก็ได้รับนับถือพระพุทธศาสนามหายานจากพระเจ้าฮั่นเม่งเต้ กษัตริย์จีนในสมัยนั้น พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาประจำชาติไทยมาตั้งแต่นั้นมา

         ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๗ พระพุทธศาสนามหายานในอาณาจักรน่านเจ้ากำลังรุ่งเรือง ต่อมาในราสพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เมื่อกุบไลข่านกษัตริย์ชาติมองโกลได้นไทัพเข้าตีอาณาจักรน่านเจ้าแตกแล้วชนชาติไทยก็ได้อพยพลงมาตามลำน้ำสาละวินและแม่น้ำโขงพวกหนึงได้เข้ามาสู่แคว้นสุวรรณภูมิที่เราเรียกกันในปัจจุบันว่า "ประเทศไทย" ต่อมาได้รวมกำลังกับชนชาติไทยที่เข้ามาอยู่ก่อนหน้านั้นโดยได้ผู้นำที่เข้มแข็งสองท่าน คือ ขุนผาเมือง เจ้าเมืองราดอและขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง ได้นำทัพเข้าตีขอมและสถาปนาขึ้นเป็นกรุงสุโขทัยใน พ.ศ. ๑๘๐๐ ราษฎรทั้งหลายจึงยกขุนบางกลางหาวเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า "ขุนศรีอินทราทิตย์" ซึ่งในเวลานั้นพระพุทธศาสนาก็ยังเป็นแบบมหายานและได้เปลี่ยนมาเป็นเถรวาทหมด ในสมัยของ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์ที่ ๓ แห่งกรุงสุโขทัย ถึงกระนั้นก็ตามอิทธิพลของมหายานก็ยังมีอยู่แต่ไม่แพร่หลานเหมือนเดิม ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุทธยา ชาวจีนได้อพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นลำดับมาดังนั้นจึงเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาแบบมหายานเริ่มมีบทบาทตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

         จนถึงสมัยกรุงธนบุรี วัดวาอารามทางมหายานได้ถูกสร้างขึ้นโดยการนำของพระสงฆ์จีนและญวน เมื่อสิ้นสมัยกรุงธนบุรีแล้ว ในสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ - ๔ วัดทางมหายานได้ถูกสร้างขึ้นเรื่อยๆ ไม่น้อยกว่า ๑๐ วัดขึ้นไป จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ ๕ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)ท่านทรงเล็งเห็นความสำคัญองชาวจีนและวัดจีนมหายาน ครั้นได้สร้างวัดเล่งเน่ยยี่ขึ้น ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดมังกรกมลาวาส" ซึ่งยังความปีติยินดีในหมู่ชนชาวจีนหาที่สุดมิได้ และในสมัยเดียวกันนั้น ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสมณศักดิ์ให้กับพระสงฆ์จีนมหายานรูปแรกคือ "พระอาจารย์วังสมาธิวัตร"(สกเห็ง) และได้พระราชทานตำแหน่งสมณศักดิ์เพิ่มขึ้นเป็นลำดับต่อมา

          จนกระทั่งในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอคุลยเดช รัชกาลที่ ๙ นี้ คณะสงฆ์จีนก็ได้มีความเจริญเติบโตขึ้นจนมีการก่อสร้างวัดขึ้นในปี ๒๔๙๓ และเป็นวัดแรกที่ได้ทำการผูกพัทธสีมาซึ่งสามารถไห้การอุปสมบทแก่กุลบุตรในประเทศไทยต่อมา นอกจากนี้ยังมีวัด โพธฺ์แมนคุณาราม วัดโพธฺ์ทัตตาราม วัดมังกรบุปผาราม ล้วนเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๙ และในโอกาศเฉลิมฉลองพระชนมายุครบ ๗๒ พรรษา คณะสงฆืจีนนิกายนำโดยวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) และขนชาวจีนภายไต้บรมโพธิ์สมภาร ต่างพร้อมใจกันสร้างวัดเฉลิมพระเกียรติและต่อมาวัดดังกล่าวก็ได้รับพระราชทานนามว่า "วัดบรมราชากาญจนาภิกเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์" ตั้งอยู่ ณ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี จะเห็นได้ว่า ความเจริญรุ่งเรืองของคณะสงฆ์จีนนิกายในประเทศไทยอยู่ภายไต้พระบรมชูปถัมภ์มาโดยตลอด ในฐานะที่พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ล้วนทรงเป็นองค์เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก

ข้อมูลจาก www.lengnoeiyi.com


วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่), วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) หมายถึง, วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) คือ, วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) ความหมาย, วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu