ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

เครื่องประดับ, เครื่องประดับ หมายถึง, เครื่องประดับ คือ, เครื่องประดับ ความหมาย, เครื่องประดับ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
เครื่องประดับ

          การใช้เครื่องประดับตกแต่งร่างกายของคนไทยในสมัยโบราณไม่มีมากนัก ถึงจะมีก็ไม่ใช่ของที่มีราคาสูง เพราะในสมัยโบราณมีกฎหมายข้อห้ามมิให้ข้าราชการและราษฎรใช้เครื่องประดับที่มีราคาแพง เช่น มีกฎหมายโบราณกำหนดไว้ว่า "จะแต่งบุตรและหลานก็ให้ใส่แต่จี้เสมาภัควจั่นจำหลักประดับพลอยแดงเขียวเท่านี้ก็ให้ใส่แต่ลายแทงและเกลี้ยงเกี้ยว อย่าให้มีกระจังประจำยามสี่ทิศ แลแหวนถมราชาวดีประดับพลอยห้ามมิให้ซื้อขายเป็นอันขาดทีเดียว ถ้าข้าราชการผู้น้อยแลอาณาประชาราษฎร์ ช่างทองกระทำให้ด้วยอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน จะเอาตัวเป็นโทษจงหนัก" ซึ่งตรงกับที่กล่าวไว้ในจดหมายเหตุครั้งรัชกาลที่ ๑ ที่ห้ามราษฎร ขุนนางมิให้ใช้จี้กุดั่นเกี้ยวกำไล เข็มขัดประจำยาม แหวนลงยา กำไลหลังเจียด กำไลเท้าทองลูกประหล่ำลงยา ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น

          อาจจะเป็นเพราะข้อห้ามดังกล่าว หรือความต้องการของคนจนที่อยากจะมีเครื่องประดับให้ดูสวยงามกับเขาบ้าง จึงได้มีคนทำของราคาถูกขึ้นจำหน่าย เช่น มีกล่าวไว้ในหนังสือคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมว่า "ที่เชิงตะภานชีกุนตะวันตก พวกแขกนั่งร้านขายกำไลมือ กำไลเท้าปิ่นปักผม แหวนหัวมะกล่ำ แหวนลูกแก้วลูกปัดเครื่องประดับประดาล้วนแต่เครื่องทองเหลืองตะกั่วทั้งสิ้น"

          ความนิยมใช้เครื่องประดับที่ทำด้วยทองเหลืองยังติดต่อมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งมีถิ่นทำเครื่องประดับทองเหลืองอยู่บริเวณใกล้ๆเสาชิงช้า จึงมีชื่อเรียกกันว่า "ทองเสาชิงช้า" ดังที่กล่าวไว้ในสุภาษิตสอนหญิง ตอนหนึ่งว่า

     "ที่บางคนเห็นที่ท่านมีทรัพย์
    แต่งประดับผิวพรรณในสัณฐาน
    ประกอบผูกลูกสะกดสร้อยสังวาล
    แลละลานล้วนสุวรรณอันละออ
    เจ้าคนจนมันให้ร่ำจะทำบ้าง
    เอาเยี่ยงอย่างอยากได้น้ำลายสอ
    แต่ตัวจนอ้นอั้นตันในคอ
    ลงเที่ยวผลอไพล่เผลเพทุบาย
    หาทองแท้แก้ไขมันไม่คล่อง
    ต้องเอาทองเสาชิงช้าน่าใจหาย
    แต่ล้วนเนื้อสิบน้ำทองคำทวาย
    สายสร้อยสายหนึ่งก็ถึงสลึงเฟื้อง
    แพงไม่เบาเขายังกล้าอุตส่าห์ซื้อ
    ผูกข้อมือแลงามอร่ามเหลือง
    ถึงจนยากอยากบำรุงให้รุ่งเรือง
    จนทองเหลืองก็ไม่ละจะกละงาม"

          การใช้เครื่องประดับตกแต่งร่างกายของคนไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากที่กล่าวมาแล้วในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ก็ได้กล่าวเพิ่มเติมไว้ว่า "ชาวสยามสวมแหวนที่นิ้วท้ายๆ (คือนิ้วกลางนิ้วนาง นิ้วก้อย) ของมือทั้งสอง และสมัยนิยมอนุญาตให้สอดสวมได้มากวงเท่าที่จะมากได้ เขาอาจปลงใจซื้อแหวนเพชรก็ได้ในราคาถึงวงละตั้งครึ่งเอกิว (เอกิวหนึ่งมีค่าเท่ากับ ๓ ปอนด์)...พวกผู้ชายไม่รู้จักใช้สร้อยประดับคอของตนหรือของภรรยาเลย แต่พวกผู้หญิงและเด็กๆ ทั้งสองเพศ รู้จักการใช้ตุ้มหู ตามปกตินั้นตุ้มหูมีรูปร่างเหมือนอย่างลูกปัวร์ (poire- ลูกแพร์) ทำด้วยทองคำ เงินหรือกะไหล่ทอง เด็กหนุ่มเด็กสาวลูกผู้ดีสวม กำไลข้อมือ แต่จะสวมอยู่ถึงอายุ ๖ หรือ ๗ ขวบเท่านั้น แล้วยังสวมกำไลที่แขนและที่ขาอีกด้วยเป็นกำไลวง (ก้านแข็ง) ทำด้วยทองคำ หรือกะไหล่ทอง"

          นอกจากเครื่องประดับต่างๆ ดังกล่าวแล้วในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ยังมีผู้นิยมนำเหรียญต่างๆ มาใช้เป็นเครื่องประดับแต่งตัวให้เด็กอีกด้วยเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องมีพระบรมราชโองการฯ ให้ประกาศห้ามเมื่อ ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเส็ง นพศก (ตามปฏิทินน่าจะเป็นวันขึ้น ๕ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๔๐๐) มีความตอนหนึ่งว่า

          "อนึ่ง ราษฎรชาวบ้านนอกมีเงินน้อย หาเงินยาก เมื่อหาได้เล็กน้อย ก็เอาเงินบาทบ้าง เงินสลึงบ้าง เงินเฟื้องบ้าง เจาะร้อยผูกคอ ผูกข้อมือบุตรหลาน ด้วยจะอวดกันว่ามีเงินอย่างนั้น เห็นงามอยู่หรือ แลบัดนี้คนในกรุงเป็นอันมาก ทั้งไพร่ทั้งผู้ดีชื่นชมนิยมกันเอาทองเหรียญ เงินเหรียญเจาะร้อยผูกคอบ้าง ผูกข้อมือบ้าง ทำเป็นสังวาลบ้าง แต่งตัวบุตรหลานด้วยสำคัญว่าเป็นของประหลาด จะอวดว่ากว้างขวาง มีของต่างประเทศนั้นเห็นว่างามอย่างไร เมื่อคิดดูเป็นน่าอายน่าอดสูแก่คนนอกประเทศ ซึ่งมีทองเหรียญ เงินทองดื่นถมมากมายใช้สอยซื้อขายเหมือนเงินบาท เงินสลึง เงินเฟื้อง แลเบี้ยที่ใช้สอยกันอยู่ในกรุงแลในเขตแดนพระราชอาณาจักรนี้ ไม่เป็นของวิเศษแปลกประหลาดเลย...แต่นี้ไปขอเสียเถิด ชายหญิงใน กรุงนอกกรุงทั้งไพร่ผู้ดีบรรดาอยู่ในพระราชอาณาจักรอย่าได้เอาทองเหรียญ เงินเหรียญมาเจาะร้อยทำเป็นเครื่องแต่งตัวบุตรหลานเลย ขอให้เลิกเสียเป็นอันขาดทีเดียว"

          ตามที่กล่าวมานี้พอสรุปได้ว่า การตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องทองของมีค่าในสมัยโบราณ ไม่อาจจะแต่งเหมือนกันไปได้หมดทุกคน เจ้านายขุนนาง และราษฎร ต้องรู้กาลเทศะว่าควรแต่งและไม่ควรแต่งอย่างไรจึงจะถูกต้องตามธรรมเนียมที่กำหนดไว้
ดูเพิ่มเติมเรื่อง ผ้าไทย เล่ม ๑๕

เครื่องประดับ, เครื่องประดับ หมายถึง, เครื่องประดับ คือ, เครื่องประดับ ความหมาย, เครื่องประดับ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 18

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu