ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค), สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) หมายถึง, สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) คือ, สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ความหมาย, สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

เมื่อก่อนเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน.

อธิบายเบื้องต้น

หนังสือซึ่งข้าพเจ้าเรียบเรียงทูลเกล้าฯถวาย ในงานพระราชกุศลหน้าพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร ๒ เรื่องที่พิมพ์มาแล้ว คือ เรื่องจดหมายเหตุเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พิมพ์ในงานสัตมวาร และเรื่องพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อก่อนเสวยราชย์ พิมพ์ในงานปัญญาสมวาร มีข้อความกล่าวถึงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหมทั้ง ๒ เรื่อง ครั้นถึงเวลาเรียบเรียงหนังสือทูลเกล้าฯถวายสำหรับพิมพ์ในงานศตมาห ข้าพเจ้าคิดว่าถ้าเป็นเรื่องประวัติสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เห็นจะเหมาะดี จะได้เป็นเรื่องเนื่องต่อกันในหนังสือแจกทั้ง ๓ งาน ข้าพเจ้าจึงได้เรียบเรียงเรื่องประวัติสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ตอนเมื่อก่อนเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ความที่กล่าวในเรื่องประวัตินี้ โดยมากล่าวตามที่พบในจดหมายเหตุต่างๆทั้งของไทยและของฝรั่ง ที่ทราบด้วยตนเองก็มีบ้าง แห่งใดซึ่งเป็นแต่กล่าวโดยสันนิษฐานของข้าพเจ้าก็ได้บอกไว้ เพื่อท่านจะได้วินิจฉัยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ในทางความรู้โบราณของท่านทั้งปวง


สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)เป็นบุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์(ดิศ บุนนาค) ท่านผู้หญิงจัน(น้องกรมหมื่นนรินทรภักดี)เป็นมารดาเกิดในรัชกาลที่ ๑ เมื่อวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๕๑ ( คนสำคัญของประเทศสยามเกิดเป็นสหชาติกันในปีมะโรงมี ๔ คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์ ๑ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทพระองค์ ๑ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ๑ เจ้าพระยาภูธราภัย(นุช บุณยรัตพันธ์)ที่สมุหนายก ๑ ) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๙ คน แต่อยู่มาจนเป็นผู้ใหญ่แต่ตัวท่านกับน้องอีก ๔ คน คือเจ้าคุณหญิงแข เรียกกันว่าเจ้าคุณตำหนักใหม่คน ๑ เจ้าคุณหญิงปุก เรียกกันว่าเจ้าคุณกลางคน ๑ เจ้าคุณหญิงหรุ่นเรียกกันว่าเจ้าคุณน้อยคน ๑ พระยามนตรีสุริยวงศ์(ชุ่ม)คน ๑

เรื่องประวัติสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ปรากฏว่าได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กแต่ในรัชกาลที่ ๒ แต่ส่วนการศึกษานั้นมีเค้าเงื่อนทราบในชั้นหลัง ว่าเห็นจะไม่ได้เรียนอักขระสมัยลึกซึ้งนัก เพราะการเล่าเรียนของลูกผู้ดีในสมัยเมื่อท่านยังเยาวัยนั้นมักเป็นแต่ฝากให้พระภิกษุสอนตามวัดไม่ได้เล่าเรียนกวดขัน จะรู้ได้มากหรือน้อยก็แล้วแต่ความนิยมของเด็ก แม้การที่เรียนวิชาสำหรับเป็นอาชีพเมื่อเติบใหญ่ ในสมัยนั้นก็มักเรียนโดยกระบวนฝึกหัดอบรมในสำนักผู้ปกครองคือบิดาเป็นอาทิ ดังเช่นบิดาเป็นช่างหรือเป็นนายแพทย์ บุตรก็ฝึกหัดศึกษาวิชานั้นจากบิดาต่อไปดังนี้เป็นต้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นบุตรชายคนใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ ซึ่งเป็นพระยาพระคลังเสนาบดีว่าการต่างประเทศ(ในสมัยเมื่อยังมิได้แยกออกเป็นกระทรวงหนึ่งต่างหาก) และได้ว่าการปกครองหัวเมืองชายทะเลฝ่ายตะวันออกมาแต่ในรัชกาลที่ ๒ คงจะได้ศึกษาราชการที่เนื่องกับชาวต่างประเทศ และกระบวนการปกครองหัวเมืองในสำนักของบิดาเป็นวิชาสำคัญสำหรับตัวมาแต่แรก จึงไม่ปรากฏว่าท่านสันทัดในการช่าง(ต่อเมื่อมีตำแหน่งในราชการแล้ว จึงได้ศึกษาวิชาต่อเรือกำปั่นจนชำนิชำนาญ กับอีกอย่างหนึ่งดูเหมือนจะชอบศึกษาพงศาวดารจีนด้วย แต่ก็เป็นการชั้นหลัง) หรือในการขี่ช้างขี่ม้าและวิชาอื่นอย่างหนึ่งอย่างใด ได้ยินว่าท่านผู้หลักผู้ใหญ่ชมมาก็แต่ข้อที่มีความสามารถฉลาดในกระบวนราชการบ้านเมืองอย่างเดียว

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เห็นจะเป็นคนโปรดของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมาตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๒ ด้วยบิดาของท่านเป็นผู้ซึ่งทรงชอบชิดสนิทสนม และได้มารับราชการกรมท่าร่วมกันเมื่อตอนปลายรัชกาล เพราะฉะนั้นพอถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อทรงตั้งบิดาของท่านให้เป็นเจ้าพระยาพระคลัง ตัวท่านก็ได้เป็นที่นายชัยขรรค์หุ้มแพร มหาดเล็ก และต่อมาทรงพระกรุณาโปรดฯให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นหลวงสิทธิ์นายเวรมหาดเล็ก(สันนิษฐานว่าได้เป็นที่นายชัยขรรค์ ในต้นรัชกาลที่ ๓ เวลานั้นอายุได้ ๑๘ ปี และมีจดหมายเหตุของมิชชันนารี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ เรียกท่านว่า หลวงนายสิทธิ์ เห็นจะได้เป็นหลวงสิทธิ์นายเวรมหาดเล็ก เมื่ออายุราว ๒๕ ปี) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เมื่อยังเป็นหลวงนายสิทธิ์แต่งงานกับท่านผู้หญิงกลิ่น ธิดาหลวงแก้วอายัติ(จาด)บุตรของเจ้าพระยามหาเสนาบุนนาค (แต่เจ้าคุณนวลมิได้เป็นมารดา) แต่จะแต่งงานเมื่อปีใดนั้นทราบได้แต่ว่าก่อน พ.ศ. ๒๓๗๑ เพราะเจ้าพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์บุตรของท่เกิดเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๗๑ แล้วมีธิดาอีกคนหนึ่งชื่อกลาง ได้แต่งงานสมรสกับพระยาสีหราชฤทธิไกร(แย้ม บุณยรัตพันธุ์)บุตรเจ้าพระยาภูธราภัย

พิเคราะห์ตามความที่ปรากฏในหนังสือจดหมายเหตุเก่าๆ ดูเหมือนความสามารถฉลาดหลักแหลมของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จะเริ่มปรากฏแก่คนทั้งหลายตั้งแต่เมื่อเป็นหลวงสิทธิ์นายเวร เพราะเหตุการณ์ต่างๆให้โอกาสประกอบกับฐานะของท่านที่เป็นบุตรเจ้าพระยาพระคลัง เป็นต้นว่าพอถึงรัชกาลที่ ๓ แล้วไม่ช้าอังกฤษก็เริ่มมามีอำนาจขึ้นใกล้ชิดกับประเทศสยาม ด้วยตีได้หัวเมืองของพม่าที่ต่อแดนไทยไว้เป็นเมืองขึ้น และมาตั้งเมืองเกาะหมากเป็นที่มั่นต่อแดนไทยทางหัวเมืองมลายูต้องทำหนังสือสัญญาทางไมตรีกับบริษัทอังกฤษซึ่งปกครองอินเดียเริ่มมีการเมืองและการค้าขายเกี่ยวข้องขึ้นกับอังกฤษต่อนั้นมา (เมื่อเสร็จการปราบกบฏเวียงจันทร์แล้ว) ไทยเกิดรบกับญวนต้องเตรียมรักษาปากน้ำเจ้าพระยาและเมืองจันทบุรี มิให้ญวนจู่มาทำร้ายได้โดยทางทะเล ในการปรึกษาทำหนังสือสัญญากับทูตอังกฤษก็ดี การสร้างป้อมและเตรียมรักษาปากน้ำเจ้าพระยาและเมืองสมุทรปราการก็ดี การสร้างเมืองจันทบุรีใหม่ที่เนินวงบางกระจะก็ดี อยู่ในกระทรวงของเจ้าพระยาพระคลังบิดาของท่าน

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นบุตรผู้ใหญ่ก็ได้รับใช้เป็นผู้ช่วยอย่างกับมือขวาของบิดาของท่านในการทั้งปวง(บุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ ที่ได้เป็นกำลังช่วยบิดาอีกคนหนึ่งในครั้งนั้นคือ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค)ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ ได้เป็นที่จมื่นราชามาตย์ในกรมตำรวจ) จึงเป็นโอกาสที่ได้แสดงคุณวุฒิให้ปรากฏ จะนำเรื่องมาสาธกพอเป็นอุทาหรณ์ ดังเช่น เมื่อบิดาของท่านลงไปสร้างเมืองจันทบุรีตัวท่านต่อเรือกำปั่นรบ คิดพยายามทำเรือกำปั่นอย่างฝรั่งได้ แล้วพาเรือกำปั่นบริค(เป็นเรือชนิดใช้ใบเหลี่ยมทั้งเสาหน้าเสาท้าย)ลำแรกเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ โปรดฯพระราชทานชื่อว่า "เรือแกล้วกลางสมุทร" (แต่มีชื่อเรียกอย่างฝรั่งอีกชื่อหนึ่งว่าเรือ "อาเรียล")

มีจดหยามเหตุของพวกมิชชันนารีอเมริกาแต่พิมพ์ไว้ในหนังสือบางกอกริคอเดอร์ ว่าด้วยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เมื่อยังเป็นหลวงนายสิทธิ์ ร่วมเวลาเมื่อพาเรือกำปั่นลำนั้นเข้ามาถวาย ได้คัดคำแปลมาลงไว้ต่อไปนี้

วันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๗๘
วันนี้มีขุนนางไทยหนุ่มคนหนึ่งมาหาพวกมิชชันนารี ขุนนางหนุ่มผู้นี้ท่าทางคมขำ เฉียบแหลม พูดจาไพเราะ เมื่อแรกมาถึงได้สนทนากับพวกมิชชันนารรีอยู่สักพักหนึ่ง ครั้นจวนจะกลับจึงได้สนทนากับยอน แบบติสต์ผู้ช่วยในร้านขายยา ตอนที่คุยกับยอน แบบติสต์นี้เอง ขุนนางหนุ่มคนนั้นได้บอกว่าตัวท่านคือหลวงนายสิทธิ์(คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์)บุตรหัวปีของเจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ พึ่งกลับมาจากจันทบุรีโดยเรือที่ต่อมาจากที่นั่นซึ่งได้เรียกชื่อว่าอาเรียล ส่วนบิดาของท่านยังคงอยู่ที่จันทบุรี เมื่อพวกมิชชันนารีรู้เข้าเช่นนี้จึงเชื้อเชิญให้ท่านอยู่สนทนากันอีกก่อน ท่านก็ยอมอยู่สนทนาด้วยอีกสักครู่หนึ่ง ขณะเมื่อจะลาไปได้เชิญให้พวกมิชชันนารีไปเที่ยวที่บ้านของท่านบ้าง

วันที่ ๒๔ ตุลาคม
วันนี้พวกมิชชันนารีได้ไปหาหลวงนายสิทธิ์ยังบ้านท่าน บ้านท่านหลวงนายสิทธิ์นี้ หมอบรัดเลกล่าวว่าใหญ่โตงดงามมาก ที่หน้าบ้านเขียนป้ายติดไว้ว่า"นี่บ้านหลวงนายสิทธิ์ ขอเชิญท่านสหายทั้งหลาย" ที่บ้านหลวงนายสิทธิ์นี้พวกมิชชันนารีได้รู้จักคนดีๆอีกหลายคน ข้อนี้พวกมิชชันนารีรู้สึกชอบพอและรักใคร่ท่านมาก

วันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๗๘
พวกมิชชันนารีไปชมเรือใบ อาเรียล ซึ่งต่อมาจากเมืองจันทบุรี มาถึงได้ ๒-๓ วันเท่านั้น จะนำมาถวายให้ในหลวงทอดพระเนตร พวกมิชชันนารีกล่าวว่าเรืออาเรียลนี้เป็นเรือลำแรกที่ทำเทียมฝรั่ง หลวงนายสิทธิ์ไม่มีแบบดีแต่เที่ยวได้จำแบบเรือจากฝรั่งลำโน้นนิดลำนี้หน่อยแล้วมาทำขึ้น ถึงเช่นนั้นก็นับว่าทำพอใช้ทีเดียว หลวงนายสิทธิ์ผู้นี้เป็นคนฉลาดไหวพริบนัก คนไทยออกจะฉลาดเทียมฝรั่งแล้ว นอกจากเรืออาเรียลที่นำมาถวายทอดพระเนตร หลวงนายสิทธิ์ยังได้ต่อเรืออื่นๆที่เมืองจันทบุรีนั้นอีกเป็นจำนวนมาก น้ำหนักตั้งแต่ ๓๐๐ ตันถึง ๔๐๐ ตัน

ภรรยาหลวงนายสิทธิ์(ท่านผู้หญิงกลิ่น) นิสัยก็คล้ายกับสามี ชอบสมาคมกับชาวต่างประเทศ ได้ชอบพอรักใคร่กับนางแบบติสต์มาก ถึงกับเคยไปนอนค้างที่บ้านนางแบบติสต์ กินหมากติด

วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๗๘
เรเวอเรนต์ ยอนสันกับภรรยามาหาหมอบรัดเลแจ้งว่า หลวงนายสิทธิ์เชิญเขาทั้งสองไปเมืองจันทบุรี และจะให้พักอยู่ที่นั่นสัก ๖ เดือน ด้วยหลวงนายสิทธิ์ ภรรยาและลูกมีความประสงค์จะเรียนภาษาอังกฤษในโอกาสอันนี้ ยอนสันจะได้แจกหนังสือและสอนศาสนาแก่พวกจีนที่จันทบุรีด้วย

วันที่ ๗ ยอนสันกับภรรยาตกลงจะไปกัลหลวงนายสิทธิ์แน่นอน หมอบรัดเลก็จะไปด้วยแต่ไปเปลี่ยนอากาศชั่วคราว เมื่อสบายดีแล้วจะกลับมา เพราะหมอบรัดเลไม่ไคร่สบายมาตั้งแต่พวกมิชชันนารีถูกไล่ออกจากที่อยู่เดิม หมอเป็นผู้วิ่งเต้นเรื่องที่อยู่อันเป็นภาระมากมาย

วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๗๘ หมอบรัดเลออกจากบ้านไปลงเรืออาเรียล ซึ่งจะไปยังเมืองจันทบุรีพร้อมด้วยยอนสันและภรรยา ไปถึงเรือเวลาเที่ยงตรง ได้พบกับมารดาและภรรยาหลวงนายสิทธิ์ไปถึงก่อนแล้ว มารดาและภรรยาของหลวงนายสิทธิ์นี่เป็นคนอัธยาศัยดีทั้งคู่ คุณกลิ่น(ภรรยาหลวงนายสิทธิ์)ออกตัวและขอโทษแก่พวกฝรั่งว่าเรือคับแคบ หลวงนายสิทธิ์จัดให้พวกฝรั่งพักบนดาดฟ้าชั้นบน หมอบรัดเลต้องอยู่พรากจากเมียเป็นครั้งแรกตั้งแต่แต่งงานมา เรือแล่นไปสะดวกดีเกินที่คาดหมายกัน

วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๗๘
รุ่งเช้าเรือล่องลงมาถึงปากน้ำ มารดาและญาติพี่น้องผู้หญิงของหลวงนายสิทธิ์ลงเรือมาส่งแค่นี้แล้วขึ้นจากเรือที่ปากน้ำ ตกเวลากลางคืนพวกมิชชันนารีร้องเพลงเล่นกันแก้ง่วง หลวงนายสิทธิ์บอกว่าบนดาดฟ้าดีกว่าข้างล่าง เพราะข้างล่างปะปนกันมาก พวกที่อยู่ข้างล่างก็ซ้อมเพลงกล่อมช้างเผือกที่ได้ ณ เมืองจันทบุรี วันหนึ่งร้องหลายๆเที่ยวกลับไปกลับมาจนน่าเบื่อ Dr. ยอนสันกับภรรยาอยู่ห้องใกล้ๆกับหมอบรัดเล พวกมิชชันนารีที่ไปเมืองจันทบุรีคราวนี้ได้รับความเอาใจใส่จากกัปตันลิช พวกลูกเรือและผู้ที่มาด้วยเป็นอย่างดี

วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๗๘
พอน้ำมากข้ามสันดอนได้ก็ออกเรือ หลวงนายสิทธิ์แสดงว่ามีความเสียใจที่ต้องจากมารดาไป และมารดาก็เหมือนกัน เมื่อจะไปแสดงว่าเสียดายที่จะจากบุตรและหลาน ในจำพวกบุตรของหลวงนายสิทธิ์ชั้นหลังได้เป็นอัครมหาเสนาบดีและเสนาบดีกระทรวงกลาโหมคนหนึ่ง(คือเจ้าพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์(วอน บุนนาค)) เรือแล่นไปโดยสวัสดิภาพ

วันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๗๘
วันนี้หลวงนายสิทธิ์มีความกรุณาเตรียมเข้าของและเครื่องเสบียงอาหารอันจะใช้เป็นของสำหรับเดินทางกลับกรุงเทพฯ ให้แก่หมอบรัดเลเป็นจำนวนมาก

วันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๗๘ วันนี้หมอบรัดเลลงเรือที่ปากน้ำจันทบุรี เดินทางกลับกรุงเทพฯกลับมาพร้อมกับน้องเขยของหลวงนายสิทธิ์(พระยาสุรเสนา)

วันที่ ๑๙ ถึงปากน้ำเมืองสมุทร วันที่ ๒๐ ลงเรือสำปั้นเข้ามากรุงเทพฯกับนายสุจินดา(คือพระยาสุรเสนา(สวัสดิ์) ต้นสกุล "สวัสดิชูโต" นั้นเอง) วันที่ ๒๑ ถึงกรุงเทพฯมีความสุขสบายดี

การที่คบหาสมาคมกับมิชชันนารีอเมริกันในสมัยนั้นไม่แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เท่านั้น ตั้งแต่พวกมิชชันนารีอเมริกันเริ่มเข้ามาตั้งในกรุงเทพฯเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๑ เดิมมาเช่าที่ตั้งอยู่ที่หน้าวัดเกาะ ครั้นถึงพ.ศ. ๒๓๗๓ มีฝรั่งพวกนายเรือใบไปอาศัยพวกมิชชันนารีแล้วเลยเข้าไปยิงนกในวัดเกาะเป็นเหตุวิวาทขึ้นกับพระ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาพระคลัง จึงให้พวกมิชชันนารีย้ายขึ้นมาอยู่ใต้บ้านพวกเข้ารีตที่กุฎีจีนใกล้กับจวนของท่าน เป็นเหตุให้พวกมิชชันนารีอเมริกันได้โอกาสเข้าใกล้ชิดกับไทยที่มีบรรดาศักดิ์ ก็ลักษณะที่พวกมิชชันนารีประพฤตินั้น มีการสอนคริสต์ศาสนาเป็นเบื้องต้นก็จริง แต่พอใจสอนภาษาอังกฤษและวิชาความรู้ต่างๆของฝรั่งไปด้วยกันกับทั้งรับรักษาไข้เจ็บด้วย ถึงกระนั้นไทยโดยมากก็มีความรังเกียจพวกมิชชันนารีด้วยเห็นว่าจะมาสอนให้เข้ารีตถือศาสนาอื่น แต่มีบางคนซึ่งเป็นชั้นหนุ่มหรือถ้าจะเรียกตามอย่างปัจจุบันนี้ก็ว่าเป็นพวกสมัยใหม่ ใคร่จะเรียนภาษาและวิชาของฝรั่งเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองไม่รังเกียจการที่จะคบหาสมาคมและศึกษาวิชาการกับพวกมิชชันนารี

พวกสมัยใหม่ที่กล่าวนี้ได้มาเป็นบุคคลสำคัญในชั้นหลัง ๔ คน คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงผนวช พอพระราชหฤทัยใคร่จะเรียนภาษาและหนังสืออังกฤษกับทั้งวิชาต่างๆมีโหราศาสตร์เป็นต้นพระองค์ ๑ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พอพระราชหฤทัยจะทรงเรียนวิชาทหารเป็นที่ตั้ง ทั้งเรียนหนังสือเพื่อจะได้ทรงอ่านตำหรับตำราได้เองพระองค์ ๑ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ซึ่งได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์ไทยอยู่แล้ว ใคร่จะทรงศึกษาวิชาแพทย์ฝรั่งแต่ไม่ประสงค์จะทรงเรียนภาษาอังกฤษพระองค์ ๑ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อยังเป็นหลวงสิทธิ์นายเวร ใคร่จะเรียนวิชาต่อเรือกำปั่นเป็นสำคัญและภาษาอังกฤษก็ดูเหมือนจะได้เรียนบ้าง อีกคน ๑ (จะรู้ภาษาอังกฤษเพียงใดทราบไม่ได้ ข้าพเจ้าเคยได้ยินท่านพูดภาษาอังกฤษกังฝรั่งครั้งหนึ่ง ดูเหมือนจะพอสนทนาปราศัยได้ แต่การต่อเรือกำปั่นท่านศึกษาจนชำนิชำนาญไม่มีตัวสู้ในสมัยของท่าน ได้เป็นผู้ต่อตลอดจนเรือกำปั่นไฟในรัชการที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕)

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เห็นจะได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นที่จมื่นวัยวรนารถ หัวหมื่นมหาดเล็ก เมื่อราวปีฉลู พ.ศ. ๒๓๘๔ ด้วยปรากฎในการทำสงครามกับญวนในปีนั้น ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้จัดกองทัพเรือใช้เรือกำปั่นที่ต่อใหม่เป็นพื้น และโปรดให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์เป็นแม่ทัพใหญ่ ใหญ่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เมื่อยังเป็นที่จมื่นวัยวรนารถเป็นนายทัพหน้า ยกลงไปตีเมืองบันทานมาศ(ฮาเตียน)แต่ไปทำการไม่สำเร็จดังพระราชประสงค์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเพิ่มสร้อยนามพระราชทานว่า "จมื่นวัยวรนารถภักดีศรีสุริยวงศ์" (นามนี้ปรากฎอยู่ในจดหมายเหตุครั้งเซอร์เชมสบรุกเป็นทูตอังกฤษเข้ามาเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓)

จะเป็นด้วยทำความชอบพิเศษอย่างไรหาทราบไม่แต่เมื่อพิเคราะห์ตามเหตุการณ์ในสมัยนั้นก็พอจะสันนิษฐานเค้าเงื่อนได้ ด้วยบิดาของท่านดำรงตำแหน่งเสนาบดีกลาโหมกับกรมท่ารวมกัน ๒ กระทรวงมาหลายปี เมื่อจับแก่ชราและมีการเกี่ยวข้องกับฝรั่งมากขึ้น ตัวท่านไม่สันทัดการฝรั่งก็เป็นธรรมดาที่จะปรึกษาหารือบุตรซึ่งได้ศึกษาการนั้น ช่วยปลดเปลื้องกิจธุระในตำแหน่ง ได้ช่วยราชการต่างหูต่างตามากขึ้นก็เป็นโอกาสที่จะให้ปรากฏคุณวุฒิแก่พระญาณของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยิ่งขึ้นเป็นลำดับมา ข้อนี้พึงเห็นได้ในหนังสือจดหมายเหตุเรื่องเซอร์เชมสบรุกทูตอังกฤษเข้ามาขอแก้หนังสือสัญญาเมื่อเดือน ๙ ปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓ เป็นเวลาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเริ่มทรงประชวรในคราวที่จะเสด็จสวรรคต เสด็จออกว่าราชการไม่ได้ เพราะทรงพระวิตกว่าการครั้งนี้ผิดกับครั้งครอเฟรอดเป็นทูตมาในรัชกาลที่ ๒ และเฮนรีเบอร์นีเป็นทูตเข้ามาเมื่อต้นรัชกาลที่ ๓ ซึ่งเป็นแต่ทูตของบริษัทอังกฤษที่ปกครองหัวเมืองในอินเดีย เซอร์เชมสบรุกเป็นทูตมาจากรัฐบาลอังกฤษมีศุภอักษรของลอร์ดปาลเมอสตอนอัครมหาเสนาบดีประเทศอังกฤษมาว่ากล่าวจะให้แก้สัญญา จะประมาทไม่ได้ด้วยรัฐบาลอังกฤษเอากำลังเข้ารบพุ่งบังคับให้จีนทำสัญญามาไม่ช้านัก ได้โปรดฯให้ตระเตรียมป้องกันปากน้ำไว้อย่างแข็งแรง

ครั้นเซอร์เชมบรุกมีหนังสือมาจึงมีรับสั่งให้เขียนข้อพระราชดำริพระราชทานออกมาให้เสนาบดีกับผู้อื่นซึ่งทรงเลือสรรโดยเฉพาะให้ประชุมปรึกษากัน ความในกระแสรับสั่งแห่งหนึ่งว่า "....การครั้งนี้เป็นการฝรั่ง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ทราบอย่างธรรมเนียมฝรั่งมาก ควรเอาเป็นที่ปรึกษาใหญ่ได้ ก็แต่ว่าติดประจำปืนอยู่ที่เมืองสมุทรปราการ จมื่นวัยวรนารถเล่าก็เป็นคนสันทัดหนักในอย่างธรรมเนียมฝรั่งก็ลงไปรักษาเมืองสมุทรปราการอยู่ แต่ทว่าเห็นจะได้พูดจาปรึกษาหารือกับเจ้าพระยาพระคลังแล้ว ก็เห็นจะถูกต้องกันกับเจ้าพระยาพระคลัง...." ดังนี้ กระแสรับสั่งที่กล่าวมาพระราชทานออกมาเมื่อ ณ วันอังคาร เดือน ๙ ขึ้น ๑๒ ค่ำ คือก่อนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเพียง ๘ เดือน ปรากฏว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ยังเป็นจมื่นวัยวรนารถอยู่ เพราะฉะนั้นเห็นจะได้เลื่อนที่เป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ ตำแหน่งจางวางมหาดเล็กเมื่อจวนสิ้นรัชกาลที่ ๓ และเป็นพระยาอยู่ไม่ถึงปีก็ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยา (ในรัชกาลที่ ๒ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ได้เป็นที่พระยาสุริยวงศ์มนตรี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติได้เป็นที่พระยาศรีสุริยวงศ์ ตำแหน่งจางวางมหาดเล็กทั้ง ๒ คน(มาก่อน))

ในเวลาเมื่อใกล้จะสิ้นรัชกาลที่ ๓ นั้น ปรากฏว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์วงศ์ได้อาศัยสติปัญญาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ช่วยแก้ไขเหตุลำบากเรื่องหนึ่ง จะต้องกล่าวย้อนขึ้นไปถึงเรื่องอันเป็นมูลเหตุก่อน คือในรัชกาลที่ ๓ เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคตแล้ว พวกข้าเจ้าต่างกรมพากันคาดว่าเจ้านายของตนจะได้เลื่อนขึ้นเป็นพระมหาอุปราชหลายกรม บางแห่งถึงเตรียมตัวหาผ้าสมปักขุนนาง และที่เป็นตำรวจหาหอกไว้ถือแห่เสด็จก็มี กิตติศัพท์นั้นทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรึกษาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาพระคลัง กับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติเมื่อยังเป็นพระยาศรีพิพัฒน์ พระยาศรพิพัฒน์กราบทูลความเห็นว่าควรโปรดฯให้เลื่อนกรมเจ้านายที่มีความชอบเสียทันที จะได้ปรากฏว่าเจ้านายของตนจะได้เลื่อนพระยศเป็นเพียงนั้นเอง ก็ทรงดำริเห็นชอบด้วย (เรื่องครั้งนี้เป็นมูลเหตุจึงเลยเป็นประเพณีที่เลื่อนกรมและตั้งกรมเจ้านาย เมื่อพระมหาอุปราชสวรรคตในรัชกาลหลังๆต่อมา)

เมื่อจวนสิ้นรัชกาลที่ ๓ เจ้านายซึ่งได้เลื่อนกรมครั้งนั้นยังดำรงพระชนม์อยู่หลายพระองค์ แต่กรมขุนพิพิธภูเบนทร์นั้นเกิดทรงหวาดหวั่นเพราะข้าในกรมเคยขึ้นชื่ออวดอ้างยิ่งกว่ากรมอื่น ทรงพระวิตกเกรงเจ้าพระยาพระคลังกับพระยาศรีพิพัฒน์จะพาลเอาผิดในเวลาเปลี่ยนรัชกาล จึงเรียกระดมพวกข้าในกรมเข้ามารักษาพระองค์ที่ในวังเชิงสะพานหัวจระเข้ไม่พอให้คนอยู่ ต้องให้ไปอาศัยพักอยู่ตามศาลาในวัดพระเชตุพน ความนั้นทราบถึงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ แต่ยังสงสัยอยู่จึงให้บุตรสองคน (คือพระยามนตรีสุริยวงศ์(ชุ่ม)เมื่อยังเป็นนายพลพันหุ้มแพรคน ๑ กับเจ้าพระยาภานุวงศ์ฯเมื่อยังเป็นมหาดเล็กคน ๑) ไปดูที่วัดพระเชตุพนว่าจะจริงอย่างว่าหรือฉันใด ก็ไปเห็นผู้คนมีอยู่ตามศาลามากผิดปกติ ไต่ถามได้ทราบว่าเป็นข้าในกรมขุนพิพิธภูเบนทร์ทั้งนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์จึงเรียกสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มาปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เรียนว่าขอให้สงบไว้สักวันหนึ่งก่อน ในวันนั้นท่านรีบลงไปยังเมืองสมุทรปราการ เรียกพวกทหารปืนเล็กเอาลงบรรทุกเรือกำปั่นลำหนึ่งแล่นขึ้นมาในกลางคืน พอเช้าถึงกรุงเทพฯให้เรือทอดสมอที่ตรงท่าเตียน แล้วตัวท่านก็ไปเฝ้ากรมขุนพิพิธภูเบนทร์ ทูลว่าบิดาให้มาทูลถาม ว่าที่ระดมผู้คนเข้ามาไว้มากมายเช่นนั้นมีพระประสงค์อย่างใด กรมขุนพิพิธฯตรัสตอบว่าด้วยเกรงภัยอันตราย (คำว่าภัยอันตรายในสมันนั้น หมายความได้กว้างออกไปจนถึง เช่น เกิดโจรผู้ร้ายกำเริบขึ้นในพระนคร หรือเกิดแย่งชิงราชสมบัติกันเมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต) จึงเรียกคนมาไว้เพื่อป้องกันพระองค์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ทูลว่า บิดาของท่านกับเสนาบดีช่วยกันรักษาราชการบ้านเมืองเป็นปกติอยู่ ไม่มีเหตุสมควรจะทรงหวาดหวั่นเช่นนั้น ขอให้ไล่คนกลับไปเสียให้หมดโดยเร็วมิฉะนั้นจะให้ทหารมาจับเอาคนเหล่านั้นไปทำโทษ กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ก็จนพระทัยต้องปล่อยคนกลับไปหมด

เรื่องประวัติสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ อันเนื่องด้วยการถวายพระราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เคยได้ยินท่านผู้หลักผู้ใหญ่แต่ก่อนเล่ากันมา ว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้คิดเห็นก่อนบิดาของท่าน ว่าถ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตราชสมบัติต้องได้แก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบ้านเมืองจึงจะเป็นปกติต่อไป อาศัยเหตุนั้นตัวท่านเมื่อยังเป็นที่จมื่นวัยวรนารถกับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์เมื่อยังเป็นจมื่นราชามาตย์ซึ่งมีความเห็นพ้องกัน จึงชวนกันปฏิสังขรณ์วัดดอดไม้ (ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า วัดบุปผาราม สันนิษฐานว่าในสมัยนั้นเห็นจะเป็นวัดร้าง) ซึ่งอยู่ในสวนแห่งหนึ่งไม่ไกลกับบ้านที่ท่านอยู่นั้น แล้วกราบทูลขอคณะสงฆ์ธรรมยุตจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปครอง

เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เกิดมีกิจที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องเสด็จไปทรงตรวจตราและสั่งสอนพระสงฆ์ซึ่งออกวัดไปใหม่เนืองๆ ฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์กับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ก็ได้โอกาสมาเฝ้าแหน เกิดวิสาสะประกอบกับสมานฉันท์ในความนิยมศึกษาวิชาความรู้ทางข้างฝรั่งก็เลยทรงชอบชิดสนิทสนมแต่นั้นมา ครั้นถึงเวลาปัญหาเกิดขึ้นจริงด้วยเรื่องรัชทายาท ท่านทั้งสองนั้นก็ได้เป็นกำลังสำคัญอยู่ข้างหลังบิดาในการขวยขวายให้พร้อมเพรียงกันถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงสถาปนาเจ้าพระยาพระคลังขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ตำแหน่ง"ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน" และทรงสถาปนาพระยาศรีพิพัฒน์ขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ตำแหน่ง"ผู้สำเร็จราชการพระนคร" แล้วจึงทรงตั้งพระยาศรีสุริยวงศ์จางวางมหาดเล็กเป็น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ "ว่าที่สมุหพระกลาโหม" และทรงตั้งจมื่นราชามาตย์เป็นเจ้าพระยารวิวงศ์"ผู้ช่วยราชการกรมท่า" (การตั้งขุนนางผู้ใหญ่ดูเหมือนจะมีประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อทรงตั้งสมเด็จเจ้าพระยา ๒ องค์นี้ แต่ที่ทรงตั้งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์และเจ้าพระยารวิวงศ์หาปรากฏว่ามีประกาศไม่)

ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้สร้างตราสุริยมณฑลพระราชทานสำหรับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ และตราจัทรมณฑลสำหรับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ยังคงถือตราพระคชสีห์สำหรับตำแหน่งสมุหพระกลาโหมกับตราบัวแก้วสำหรับตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลังอยู่อย่างเดิม จึงโปรดฯให้สร้างตราศรพระขรรค์ขึ้นอีกดวงหนึ่งพระราชทานสำหรับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ใช้ ครั้นต่อมาเมื่อเจ้าพระยาศรีสุรยวงศ์ได้เป็นที่สมุหพระกลาโหมเต็มตำแหน่งแล้ว จึงโปรดฯให้ใช้ตราศรพระขรรค์เป็นคู่กับตราพระคชสีห์ เหมือนอย่างกับตราจักรเป็นคู่กับตราพระคชสีห์ สำหรับตำแหน่งสมุหนายก (แต่สมุหนายกคนอื่นต่อมาหาได้ถือตราศรพระขรรค์ไม่ เห็นจะเป็นเพราะเมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเมื่อตอนต้นรัชกาลที่ ๕ ใช้ตราศรพระขรรค์เป็นตราอาญาสิทธิ์ ตรานั้นก็เลยเกินศักดิ์สมุหกลาโหม)

เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้เป็นเจ้าพระยาว่าที่สมุหพระกลาโหมนั้น ได้พระราชทานที่บ้านเจ้าพระยาบดินเดชา(สิงห์ สิงหเสนี) (อันอยู่ริมคลองสะพานหันฝั่งตะวันออก ตรงหน้าวังบูรพาภิรมย์ข้าม) อันเป็นบ้านหลวงให้เป็นจวนที่อยู่ด้วย แต่เห็นจะอยู่เรือนของเดิมเป็นแต่ซ่อมแซมไม่ได้สร้างเหย้าเรือนขึ้นใหม่ (เจ้าคุณพระประยูรวงศ์บอกว่าเมื่อท่านเกิดนั้น เจ้าพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์บิดาของท่านอยู่ในบ้านนี้ ท่านเกิดที่เรือนแพจึงได้ตั้งนามว่า "แพ" มีพี่ของท่านคนหนึ่งชื่อว่า ฉาง เพราะเกิดที่ฉางเก่า(ซึ่งแก้ไขเป็นเรือนที่อยู่)) ได้อยู่ในจวนแห่งนี้จนสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ถึงพิราลัยใน พ.ศ. ๒๓๙๘ และโปรดฯให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นอัครมหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหมเต็มตำแหน่ง จึงได้ข้ามกลับไปอยู่ทางฟากธนบุรี แต่ไปสร้างจวนอยู่ใหม่(ที่เรียกว่า โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (ปัจจุบันคือ โรงเรียนศึกษานารี) อยู่ริมคลองสานบัดนี้)ที่จวนเดิมของบิดาท่านให้น้องอยู่

เรื่องประวัติของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มามีเป็นตอนสำคัญปรากฏเมื่อครั้งสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียประเทศอังกฤษให้ เซอร์จอน เบาริง เป็นราชทูตเขามาขอทำสัญญาทางพระราชไมตรีเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ อธิบายเรื่องนี้ก็จะต้องกล่าวความย้อนถอยหลังขึ้นไปสักหน่อย คือเมื่อรัชกาลที่ ๓ ไทยได้ทำหนังสือสัญญาค้าขายกับบริษัทอังกฤษซึ่งปกครองอินเดีย เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๖๙ (คือครั้งร้อยเอกเฮนรี่ เบอร์นี่) แล้วต่อมาทำหนังสือสัญญาเช่นเดียวกันกับสหปาลีรัฐอเมริกันเข้ามาค้าขายในพระราชอาณาเขตโดยสะดวก ข้างอังกฤษและอเมริกันยอมให้ไทยเก็บค่าจังกอบตามขนาดปากเรือ ถ้าเป็นเรือบรรทุกสินค้าเข้ามาขายให้เก็บจังกอบวาละ ๑,๗๐๐ บาท ถ้าเป็นเรือเปล่าเข้ามาซื้อสินค้าให้เก็บค่าจังกอบเพียงวาละ ๑,๕๐๐ บาทเมื่อได้เสียจังกอบแล้วไทยรับว่าจะไม่เรียกเก็บภาษีอย่างอื่นอีกเช่นนี้ ต่อมาพวกพ่อค้าอังกฤษและอเมริกันเกิดไม้พอใจเหตุด้วยในสมัยนั้นการเก็บภาษีภายในใช้วิธีให้ผูกขาดอยู่เป็นพื้น(ภาษีผูกขาดในชั้นหลังเป็นแต่ชักส่วนสิ่งของซึ่งต้องเสียภาษี เห็นจะแก้วิธีผูกขาดอย่างเดิมในรัชกาลที่ ๔ เมื่อทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศ)

ก็วิธีผูกขาดอย่างโบราณนั้นมอบอำนาจให้เจ้าภาษีซื้อขายสินค้าสิ่งซึ่งตนรับผูกขาดได้แต่คนเดียว ใครมีสินค้าสิ่งนั้นจะขายก็ต้องขายแก่เจ้าภาษี ใครต้องการซื้อก็ต้องมาซื้อไปจากเจ้าภาษี ยังสินค้าซึ่งเป็นของมีราคามากดังเช่น นอแรด งาช้าง และดีบุกเป็นต้น ก็ผูกขาดเป็นของหลวงขายซื้อได้แต่พระคลังสินค้าแห่งเดียว นอกจากวิธีภาษีผูกขาดดังกล่าวมาในสมัยนั้นทั้งในหลวงและเจ้านายผู้ใหญ่ ผู้น้อยยังทำการค้าขายเองตามประเพณีซึ่งมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา คือแต่งเรือไปซื้อขายสินค้าถึงนานาประเทศบ้าง เช่นระวางเรือผู้อื่นฝากสินค้าไปมาบ้าง และผู้พาสินค้าเข้าออกยังต้องเสียภาษีอีกชั้นหนึ่ง พวกพ่อค้าฝรั่งกล่าวหาว่ารัฐบาลเก็บค่าจังกอบแล้วยังแย่งค้าขาย และให้ผูกขาดเก็บภาษีทางอ้อมไม่ทำตามหนังสือสัญญา ข้างฝ่ายไทยเถียงว่าไม่ได้ทำผิดสัญญาเพราะพวกพ่อค้าแขกและจีนก็ต้องเสียภาษีขาเข้าและขาออกอยู่อย่างเดิมพวกฝรั่งมาขอเปลี่ยนเป็นเสียค่าจังกอบตามขนาดปากเรือก็อนุญาตให้ตามประ

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค), สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) หมายถึง, สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) คือ, สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ความหมาย, สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu