ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขุนพลแก้ว, เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขุนพลแก้ว หมายถึง, เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขุนพลแก้ว คือ, เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขุนพลแก้ว ความหมาย, เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขุนพลแก้ว คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 2
เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขุนพลแก้ว

ตามทางสืบสวนได้ความว่า บรรพบุรุษของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)เป็นพราหมณ์ ชื่อศิริวัฒนะ รับราชการในสมัยสมเด็จพระนารายณ์อยู่ในตำแหน่งราชปุโรหิต มีบุตรได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณจนเป็นที่ พระมหาราชครูพระราชปุโรหิตาจารย์ ราชสุภาวดี ศรีบรมหงส์ องค์บุริโสดมพรหมทิชาจารย์

พระมหาราชครู มีบุตรปรากฏนามต่อมา ๒ คน คือ เจ้าพระยาพิศณุโลก(เมฆ) และเจ้าพระยามหาสมบัติ(ผล)

เจ้าพระยาพิศณุโลก(เมฆ) มีบุตรปรากฏนามต่อมา ๓ คน คือ
๑. เจ้าพระยานเรนทราภัย(บุญเกิด)
๒. เจ้าพระยาสุรินทรภักดี(บุญมี)
๓. เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์(อู่)
ได้ดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็นเจ้าพระยามหาอุปราช เป็นต้นสกุล "ศิริวัฒนกุล","จันทโรจวงศ์","บุรณศิริ","สุจริตกุล","ภูมิรัตน","ชัชกุล" รวม ๖ สกุล

เจ้าพระยามหาสมบัติ(ผล)มีบุตรธิดาปรากฏนามต่อมา ๖ คน คือ
๑. ญ.เลื่อน
๒. เจ้าพระยาพลเทพ(ทองอิน) ต้นสกุล "ทองอิน" และ"อินทรผล"
๓. กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์(มุก) ภัสดากรมหลวงนรินทรเทวี(กุ) ต้นสกุล "นรินทรกุล"
๔. ท้าวทรงกันดาร(ทองศรี)
๕. ญ.ทองเภา ไปอยู่พม่าเพราะถูกกวาดต้อนเมื่อคราวไทยเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๓๑๐ ว่าเป็นพระราชมารดาพระเจ้าธีบอ
๖. เจ้าพระยาอภัยราชา(ปิ่น)

เจ้าพระยาอภัยราชา(ปิ่น)มีบุตรธิดาปรากฏนามต่อมา ๘ คน คือ
๑. เจ้าจอมปริก ในรัชกาลที่ ๑
๒. จมื่นเด็กชายหัวหมื่นมหาดเล็ก(แตงโม) ในกรมพระราชวังบวรรัชกาลที่ ๑
๓. เจ้าจอมปรางค์ ในรัชกาลที่ ๒
๔. เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)
๕. หลวงรามณรงค์(โต)
๖. พระยาพิชัยสงคราม(โห้)
๗. หลวงมหาใจภักดิ์(เจริญ)
๘. หลวงพิพิธ(ม่วง)
๙. คุณหญิงบุนนาคกำแหงสงคราม(ทองอิน อินทรกำแหง)

บุตรที่ ๔ คือ เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)นั้นเกิดแต่ท่านผู้หญิงฝัก เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๓๒๐ เป็นปีที่ ๑๐ ในสมัยกรุงธนบุรี ที่บ้านริมคลองรอบกรุงธนบุรีด้านตะวันออกซึ่งบัดนี้นับเป็นเขตจังหวัดพระนคร ตอนเชิงสะพานข้างโรงสีหน้ากระทรวงมหาดไทยทุกวันนี้

ต่อมาในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยาอภัยราช(ปิ่น)นำนายสิงห์ บุตรชายขึ้นถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศนสุนทร นายสิงห์ตั้งใจรับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยความอุตสาหะพากเพียรสม่ำเสมอ ได้รับพระราชทานยศโดยลำดับจนเป็น จมื่นเสมอใจราช

เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๑ แล้ว โปรดฯให้ย้ายไปรับราชการที่วังหน้า ต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็น พระนายเสมอใจราช

ในระหว่างที่เป็นพระนายเสมอใจราชนี้เอง เคยต้องโทษครั้งหนึ่งเพราะต้องหาว่าพายเรือตัดหน้าฉาน ตามเรื่องมีว่า ตอนเช้าวันนั้นพนักงานได้จัดเทียบเรือพระที่นั่งและเรือกระบวนไว้พร้อมแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยังมิได้เสด็จลง หมอกกำลังลงจัดพระนายเสมอใจราช(สิงห์)มีธุระผ่านเรือไปทางนั้นในระยะไม่ห่างเพราะหมอกลงคลุมขาวมัวไปหมด ในที่สุดก็ถูกจับไปลงพระราชอาญาจำอยู่ที่ทิมในพระราชวังหลวง แต่อาศัยพระอนุเคราะห์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเวลานั้นยังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร ได้ทรงพระกรุณาช่วยให้พ้นโทษโดยเร็ว

เมื่อพระนายเสมอใจราช(สิงห์)พ้นโทษแล้ว ได้รับราชการในตำแหน่งเดิมอีก ต่อมาได้รับพระราชทานบรรศักดิ์เป็นพระยาเกษตรรักษา ว่าการกรมนาฝ่ายพระราชวังบวร

พระยาเกษตรรักษา(สิงห์)เป็นผู้มีนิสัยขะมักเขม้นทั้งในทางราชการ และในการทางบ้าน เมื่อว่างจากราชก็ดำริการค้าขาย พยายามต่อสำเภาแต่งออกไปค้าขายยังเมืองจีน สิ่งที่ขายได้ผลดีมากคือเศษเหล็ก จัดหาซื้อส่งไปขายเป็นจำนวนมาก สถานที่ตั้งต่อสำเภาหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอู่ตะเภา ก็คือที่บริเวณวัดตึกทุกวันนี้ การค้าขายได้กำไรดี ทางราชการก็เจริญดีเรื่อยมาจนต้องโทษเป็นครั้งที่ ๒

ราชการสำคัญของพระยาเกษตรรักษา(สิงห์)ที่ต้องปฏิบัติในระหว่างนี้ก้คือการนา ได้ออกไปควบคุมการทำนาหลวงอยู่เนื่องๆ ในที่สุดต้องหาว่าไปตั้งค่ายคูอย่างทำศึก และประกอบกับการที่ค้าขายเศษเหล็กเป็นส่วนตัวอยู่ด้วย น่าระแวงว่าจะสะสมเหล็กทำอาวุธบ้างกระมัง จึงถูกนำตัวมาจำไว้ในพระบรมมหาราชวัง แต่ก็ได้อาศัยพระบารมีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกเป็นครั้งที่ ๒ เหมือนกัน ซึ่งเวลานั้นยังเป็นรัชกาลที่ ๒ พระองค์อยู่ในฐานะเป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ และทรงบัญชาราชการสำคัญหลายอย่าง ทรงอนุเคราะห์พระยาเกษตรรักษา(สิงห์) แม้จะต้องโทษถูกจำอยู่ก็ผ่อนหนักเป็นเบาตลอดมาจนสิ้นรัชกาลที่ ๒

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์แล้ว ทรงพระกรุณาให้พระยาเกษตรรักษา(สิงห์)พ้นโทษ และต่อมาโปรดฯให้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาราชสุภาวดี ตั้งแต่นั้นมาชีวิตของพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ก็เริ่มเจริญรุ่งเรืองขึ้นในกิจการสำคัญของชาติ จนปรากฏเกียรติคุณประจักษ์อยู่ในพระราชพงศาวดารเป็นต้น

ถึง พ.ศ. ๒๓๖๙ เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลที่ ๓ พระเจ้าอนุวงศ์ นครเวียงจันทร์คิดการกบฎยกกองทัพจู่โจมเข้ามายึดนครราชสีมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้กรมพระราชวังบวรเป็นแม่ทัพใหญ่ยกขึ้นไปทางสระบุรี แล้วโปรดฯให้กองทัพยกไปทางเมืองปราจีนบุรี เพื่อรุกเข้าทางช่องเรือแตกอีก ๔ ทัพ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์เป็นแม่ทัพใหญ่ พระยาราชสุภาวดี(สิงห์)เป็นแม่ทัพหน้า

พระยาราชสุภาวดี(สิงห์)เดินทัพถึงเมืองสุวรรณภูมิพบกองทัพเจ้าโถง นัดดาพระเจ้าอนุวงศ์ซึ่งตั้งอยู่ ณ ริมเมืองพิมายก็ยกเข้าตีถึงตะลุมบอน ทัพเจ้าโถงรับไมหยุดก็แตกกระจายไปสิ้น เมื่อได้ชัยชนะแล้วพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ก็เคลื่อนกองทัพไปตั้งอยู่เมืองขอนแก่น แล้วยกไปตีค่ายเวียงคุกที่เมืองยโสธรแตกอีก จึงหยุดพักพลอยู่ ณ เมืองยโสธร เพื่อสะสมกำลังสำหรับยกไปปราบนครจำปาศักดิ์ต่อไป ฝ่ายเจ้าราชบุตรซึ่งเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ตั้งค่ายอยู่เมืองศรีสะเกษ ได้ทราบข่าวว่าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)จะยกกองทัพตัดตรงไปนครจำปาศักดิ์ ก็รีบยกมาตั้งรับที่เมืองอุบลราชธานี และให้เจ้าปานและเจ้าสุวรรณอนุชาทั้งสอง ยกทัพมาตั้งยันทัพพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)อยู่ที่แดนเมืองยโสธร พระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ก็เคลื่อนกองทัพออกตีทัพเจ้าปานและเจ้าสุวรรณแตก แล้วตามตีทัพเจ้าราชบุตร ณ เมืองอุบลราชธานี ฝ่ายไทยชาวเมืองอุบลราชธานีที่ถูกเกณฑ์เข้ากองทัพเจ้าราชบุตร เมื่อทราบว่ากองทัพพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ยกไปถึง ก็พร้อมกันก่อการกำเริบฆ่าฟันพวกเจ้าราชบุตรล้มตายเป็นอลม่านขึ้นในค่าย กองทัพพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ก็ตีโอบเข้ามา เจ้าราชบุตรเห็นเหลือกำลังที่จะต่อสู้ก็พาพรรคพวกหนีไปนครจำปาศักดิ์ พระยาราชสุภาวดี(สิงห์)รีบยกกองทัพติดตามไปไม่ลดละ

ฝ่ายครัวเมืองต่างๆทางเจ้าราชบุตรกวาดไปรวมไว้ในนครจำปาศักดิ์ทราบขจ่าวว่ากองทัพเจ้าราชบุตรเสียที จึงพร้อมกันก่อการกำเริเบเอาไฟจุดเผาบ้านเรือนในนครจำปาศักดิ์ไหม้ขึ้นเป็นอันมาก เจ้าราชบุตรเห็นดังนั้นจะเข้าเมืองมิได้ก็รีบหนีข้ามฟากแม่น้ำโขงไปทางตะวันออก พระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ก็ยกกองทัพเข้าไปตั้งมั่นในนครจำปาศกดิ์ และให้กองตระเวนออกสืบจับพวกเจ้าราชบุตร ได้ตัวเจ้าราชบุตร เจ้าปาน เจ้าสุวรรณ มาจำไว้ แล้วเดินทัพมาตั้งอยู่เมืองนครพนม พอทราบข่าวว่าทัพหลวงกรมพระราชวังบวร จะเสด็จกลับกรุงเทพฯจึงรีบเดินทางมาเฝ้ากราบทูลชี้แจงข้อราชการ กรมพระราชวังบวรก็โปรดฯให้พระยาราชสุภาวดี(สิงห์)อยู่จัดการบ้านเมืองทางภาคอีสานจนกว่าจะสงบเรียบร้อย

ครั้นกรมพระราชวังบวรเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯก็กราบทูลความดีความชอบของพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ที่เข้มแข็งในการสงคราม สามารถปราบปรามกบฎให้พ่ายแพ้ลงได้โดยเร็ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯให้มีตราขึ้นไปเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดีว่าที่สมุหนายก ใน พ.ศ. ๒๓๗๐ เวลานั้นอายุย่างขึ้นปีที่ ๕๑

เจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์) จัดการบ้านเมืองตามท้องถิ่นให้สงบลงตามสมควรแล้ว ให้เพี้ยเมืองจันทน์อยู่รักษานครเวียงจันทน์พร้อมด้วยท้าวเพี้ยกรมการ จึงพาเจ้าอุปราชลงมาเฝ้าทูลละอองฯ ณ กรุงเทพฯในปลายปีนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบางให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ผู้ว่าที่สมุหนายกเชิญไปสร้างพระวิหารประดิษฐานไว้ ณ วัดจักรวรรดิราชาวาส

รุ่งขึ้นปีชวด พ.ศ. ๒๓๗๑ โปรดฯให้เจ้าพำระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ผู้ว่าที่สมุหนายก ยกกองทัพไปนครเวียงจันทน์อีก

เมื่อไปถึงหนองบัวลำภู เจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ก็แต่งให้พระยาราชรองเมือง พระยาพิชัยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์เมืองนครราชสีมา (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯโปรดให้เปลี่ยนราชทินนามนี้เป็น"บรรเทาทุกขราษฎร์" เมื่อปีฉลูเบญจศก--กัมม์) หลวงสุเรนทรวิชิต เป็นกองหน้าคุมทหาร ๕๐๐ คน ยกล่วงหน้าขึ้นไปตั้งอยู่พันพร้าวก่อน ครั้นกองหน้าไปถึงพันพร้าว ได้ทราบข่าวเพี้ยกรมการที่ให้อยู่รักษานครเวียงจันทน์ มีกิริยาอาการผิดปกติอยู่บ้าง พระยาราชรองเมืองไม่ไว้ใจแก่เหตุการณ์จึงจัดให้พระยาพิชัยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์ หลวงสุเรนทรวิชิต แบ่งกำลัง ๓๐๐ คน ยกข้ามไปตั้งฟังราชการอยู่ที่นครเวียงจ้นทน์

ฝ่ายพระเจ้าอนุวงศ์หนีไปพึ่งญวน ญวนอุดหนุนและนำมาส่งยังนครเวียงจันทน์ พร้อมทั้งมีกำลังในอาณาเขตเวียงจันทน์ประมาณ ๑,๐๐๐ คน พวกญวนราว ๘๐ คนเศษ พระเจ้าอนุวงศ์ทำเป็นทียอมสารภาพรับผิดแสดงไมตรีจิตกับนายทัพนายกองไทยเป็นอย่างดี จนนายทัพนายกองไทยหลงเชื่อว่าพระเจ้าอนุวงศ์จะไม่เป็นปรปักษ์อีก พอรุ่งขึ้นเพลาบ่าย ๔ โมง พระเจ้าอนุวงศ์ก็ยกพวกเข้าล้อมยิงกองพระยาพิชัยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์ หลวงสุเรนทรวิชิต ซึ่งตายใจมิได้ระวังคุมเชิงไว้ พลทหารอยู่บ้างไม่อยู่บ้าง ในที่สุดก็แตกเสียทีแก่พระเจ้าอนุวงศ์ทั้งนายทั้งพลถูกฆ่าตายเกือบหมด ที่พยายามหนีลงน้ำจะว่ายข้ามฟากมา ก็ถูกพวกเจ้าอนุวงศ์ลงเรือตามฆ่าฟันย่อยยับ ได้เหลือรอดตายว่ายน้ำหนีมาได้คือ หมื่นรักษานาเวศกับพลทหารเพียง ๔๐ เศษ

เจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ได้ทราบว่าพวกญวนพาพระเจ้าอนุวงศ์กลับมานครเวียงจันทน์ ก็รีบเดินทัพไปพอถึงค่ายพันพร้าวบ่าย ๓ โมง ก่อนหน้าที่พระเจ้าอนุวงศ์จะลงมือล้อมยิงกองพระยาพิชัยสงครามเพียงชั่วโมงเดียว เจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)เห็นชาวเวียงจันทน์กลุ้มรุมฆ่าฟันที่หาดทรายหน้าเมืองก็เข้าใจว่ากองพระยาพิชัยสงครามคงเป็นอันตราย เป็นเวลาจวนตัวจะรีบยกกองทัพข้ามไปช่วย เรือก็ไม่มี ทั้งกำลังคนก็ยังน้อย พอเวลาค่ำหมื่นรักษาเทเวศมารายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนเเย็น เจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)จะตั้งรับอยู่ที่ค่ายพันพร้าวทหารก็น้อยตัว จะถอนมานครราชสีมาก็ไกลนัก พระยาเชียงสาเรียนว่า เมืองยโสธรผู้คนข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ รับอาสาจะนำเดินทางลัดก็ตกลงออกเดินทางจากค่ายพันพร้าวในคืนวันนั้น มุ่งตรงไปยังเมืองยโสธรทันที

ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ เมื่อสังหารกองพระยาพิชัยสงครามวอดวายแล้ว ทราบว่าเจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ยกไปตั้งอยู่ค่ายพันพร้าว ก็จัดให้เจ้าราชวงศ์รีบยกกองทัพข้ามฟากมาล้อมจับเจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์) ครั้นเจ้าราชวงศ์ยกมาและทราบว่าเจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ยกไปเมืองยโสธรเสียแล้ว เจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์ก้เร่งกองทัพออกตามไปโดยเร็ว

วันรุ่งขึ้นเจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ได้ทราบว่าเจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์ยกทัพตามมา จึงรีบจัดกองทัพยกไปต่อสู้ กองทัพทั้งสองปะทะกันที่บกหวาน ต่างบุกบั่นสู้รบถึงตะลุมบอน บังเอิญม้าของเจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)เหยียบคันนาแพลงล้มลงทับขาเจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์) ทันใดนั้นพอดีเจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์ขับม้าสะอึกเข้าไปถึง จึงเอาหอกแทงปักตรงกลางตัวเจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์) เจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)รู้ท่วงทีอยู่ก่อนแล้วจึงเบ่งพุ่งลวงตาเจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์เมื่อหอกพุ่งปร๊าดลงไป เจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)แขม่วท้องแล้วเอี้ยวหลบปลายหอกแทงเฉี่ยวข้าง เสียดผิวท้องถูกผ้าทะลุ หอกก็ปักตรึงอยู่กับดิน เจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์จะดึงหอกขึ้นแทงซ้ำ แต่เจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)จับคันหอกยึดไว้ แล้วพยายามชักมีดหมอประจำตัวจะแทงสวนขึ้นไป เจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์ดึงหอกไม่ได้สมประสงค์จึงชักดาบที่คอม้าออก เงื้อจะจ้วงฟันเจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์) ฝ่ายหลวงพิพิธ(ม่วง)น้องชายเจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)เห็นดังนั้น จึงกระโจนเข้ารับดาบเจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์ เสียทีถูกเจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์ฟันขาดใจตายทันที ขณะที่เจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์กำลังจ้วงฟันอยู่นั้น เจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ชักมีดหมอออกทัน และได้ทีก็แทงสวนขึ้นไปถูกโคนขาเจ้าราชวงศืเวียงจันทน์ เป็นแผลลึกและตัวเจ้าราชวงศืเวียงจันทน์ก็ผงะตกจากหลังม้าเลือดสาดแดงฉาน พวกมหาดเล็กเข้าใจว่านายตาย รีบช่วยกันประคองเจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์จัดการหามหนีไปโดยเร็ว

ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ให้จัดการบาดแผลเรียบร้อยเเล้ว เร่งทหารให้รีบตามกองทัพเจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์ไปทันที ตามไปจนถึงฝั่งแม่น้ำโขงก็ไม่ทัน จึงเดินทางไปตั้งพักอยู่ที่พันพร้าว

การที่เจ้าราชวงศ์ต้องถอยหนีคราวนั้น เป็นผลให้ชาวเวียงจันทน์เข็ดขยาดกองทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)เป็นอันมาก แม้จนพระเจ้าอนุวงศ์ก็ไม่คิดต่อสู้อีก พระเจ้าอนุวงศ์รีบจัดแจงพากันหนีไปจากนครเวียงจันทน์ในวันรุ่งขึ้น

กองทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์) เดินไปถึงเมืองพันพร้าวภายหลังเมื่อพระเจ้าอนุวงศ์หนีไปแล้ววันหนึ่ง จึงแบ่งกำลังยกไปตามจับโดยเร็วที่สุด จับได้เจ้านายบุตรหลานพระเจ้าอนุวงศ์มาหลานองค์ ทราบว่าพระเจ้าอนุวงศ์หนีไปทางเมืองพวน ก็เร่งให้กองทหารรีบตามไปจับให้ได้ ถึงเดือนธันวาคม เมืองพวนช่วยกับเมืองหลวงพระบางพยายามตามจับพระเจ้าอนุวงศ์ส่งมาให้ จับได้ที่น้ำไฮเชิงเขาไก่แขวงเมืองพวน เจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)อยู่จัดราชการจนเรียบร้อยตลอด เห็นว่าเป็นที่วางใจก็กลับลงมาเฝ้ากราบทูลข้อราชการใน พ.ศ. ๒๓๗๒ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาสถาปนา เจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ขึ้นเป็น เจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่สมุหนายก เวลานั้นท่านอายุย่างขึ้นปีที่ ๕๓

เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)สมุหนายก รับราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่ในพระนครเพียง ๒ ปี ถึง พ.ศ. ๒๓๗๕ ก็โปรดฯให้ออกไปราชการที่เมืองพัตบอง รุ่งขึ้นปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๗๖ ไทยจำเป็นต้องรบกับญวน(ดังปรากฏเหตุการณ์ตามที่กรมศิลปากร ทำบันทึกประจำปีลงไว้ให้ทราบ มีแจ้งอยู่ในจดหมายเหตุต่อไปนี้) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตั้งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)สมุหนายกเป็นแม่ทัพใหญ่ ผู้สำเร็จราชการ ยกไปรบกับญวนขับเคี่ยวกันมาตั้งแต่ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๗๖

ในระหว่างที่ไปบัญชาการรบอยู่ ณ เมืองพัตบอง พระยาศรีสหเทพ(เพ็ง ศรีเพ็ญ)แต่งให้หมื่นจงอักษร คุมเอาของกิน ๕๐ ชะลอมส่งไปให้ เป็นการแสดงไมตรีจิตตามฉันผู้น้อยกับผู้ใหญ่ ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)นอกจากจะตอบขอบใจตามธรรมเนียมแล้ว ยังแสดงความรู้สึกอันจริงใจให้พระยาศรีสหเทพ(เพ็ง ศรีเพ็ญ)ทราบอีกว่า การของกินนั้นอย่าให้ส่งเสียเป็นธุระอีกเลย ถึงจะบรรทุกเกวียนไปเท่าใดก็หาพอไม่ ด้วยนายทัพนายกองมากต้องเจือจานไปทุกแห่ง เป็นนิสัยไปราชการทัพก็ต้องอดอยากเป็นธรรมดา ให้พระยาศรีสหเทพตั้งใจแต่ที่จะตรงราชการ กับให้บอกกระแสพระราชดำริออกไปให้รู้เนืองๆจะได้ฉลองพระเดชพระคุณให้ถูกกับพระราชดำริ

บางปีเจ้าพระยาบดินทร์เดชา(สิงห์)ได้กลับเข้ามาเฝ้ากราบทูลข้อราชการด้วยตนเองบ้าง และในระหว่างที่ยังไม่ได้ออกไปบัญชาการทัพที่เมืองพัตบอง บางคราวต้องไปทำการสำรวจกำลังพลตามท้องถิ่น เช่นทางภาคอีสานจะได้ทราบจำนวนที่ใกล้ความจริง เป็นประโยชน์ในราชการต่อไป

เจ้าพระบดินทรเดชา(สิงห์)ต้องไปตรากตรำในการสู้รบกับญวน เพื่อป้องกันเขมรมิให้ถูกญวนกลืนเสียตั้งแต่ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๗๖ จนถึงปีวอก พ.ศ. ๒๓๙๑ ในที่สุดญวนขอผูกไมตรีอย่างเดิม ฝ่ายไทยเห็นว่าได้ช่วยเขมรให้กลับมีราชวงศ์ปกครอง และมีอำนาจในการรักษาประเทศเขมรอย่างแต่ก่อน ไม่ต้องอยู่ใต้บังคับบัญชาญวนอยู่ในลักษณะเป็นเมืองขึ้นของไทย ฟังพระราชกำหนดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร เป็นแต่ถึงกำหนด ๓ ปีนำบรรณาการไปออกแก่ญวนครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบตามคำแนะนำของเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)

จึงโปรดฯให้รับเป็นไมตรีกับญวน และให้มีตราไปถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)ปรารภข้อราชการตามสมควร แล้วแจ้งความรู้สึกส่วนพระองค์ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบว่า ทรงพระราชดำริราชการเมืองเขมร เข้าพระทัยว่าทำนองญวนก็จะเหมือนกันกับทำนองแต่ก่อน ที่ไหนจะให้มา กลับมาสมคิดสมหมายง่ายๆ พระราชดำริผิดไปแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)คิดราชการถูก อุตส่าห์พากเพียรจนสำเร็จได้ตามความปรารถนา "ออกไปลำบากตรากตรำ คิดราชการจะเอาเมืองเขมรคืนตั้งแต่ปีมะเส็งเบญจศก ช้านานถึง ๑๕ ปี อุปมาเหมือนหนึ่งว่ายน้ำอยู่กลางพระมหาสมุทร ไม่เห็นเกาะไม่เห็นฝั่ง พึ่งมาได้ขอนไม้น้อยลอยมา ได้เกาะเป็นที่ยึดที่หน่วงว่ายเข้าหาฝั่ง" (ดูตราฉบับลงวันพุธเดือน ๘ ขึ้น ๔ ค่ำ จ.ศ. ๑๒๐๙)

เมื่อได้จัดการพิธีราชาภิเษกพระองค์ด้วง เป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชา ตามพระราชโองการเสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าพระยาบดินเดชา(สิงห์)ก้เดินทางกับมาประเทศสยาม ณ วันศุกร์ที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๑ ในระหว่างนั้นเกิดจีนตั้วเหี่ยก่อการกำเริบขึ้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)จึงแวะช่วยทำราชการปราบปรามจนสงบ แล้วเข้ามาเฝ้าทูลละอองฯ ณ กรุงเทพฯ

ความอ่อนแอซึ่งมีมาแต่ก่อนจนถึงสมัยนั้น ได้ทำความหนักใจให้แก่เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)เป็นอันมาก จนท่านต้องใช้ความเฉียบขาดเป็นหลักในการบังคับบัญชา จึงได้ผลคือทำการปราบปรามกบฎพระเจ้าอนุวงศ์นครเวียงจันทน์ และช่วยป้องกันเขมรจากญวน สำเร็จตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นำเกียรติคุณมาสู่ทหารไทยอีกครั้งหนึ่ง แต่ถึงกระนั้นก็ยังน่าเสียใจอยู่บ้างว่า ท่านต้องใช้เวลานานเกินสมควร และขาดผลสำคัญที่น่าจะได้ยิ่งกว่าที่ได้แล้วอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพราะความอ่อนแอของนายทัพนายกองเป็นเหตุให้ต้องยืดเวลาเยิ่นเย้อออกไป และตัดทอนความไพบูลย์ของผลสำเร็จลงเสียไม่น้อยนั่นเอง เนื่องจากลักษณะที่กล่าวมาในลักษณะตรงกันข้าม เป็นอันพิสูจน์ให้เห็นความมั่นคงของบ้านเมืองได้ประการหนึ่งว่า สยามจะยั่งยืนในเอกราชได้ก็ต้องกำจัดมูลรากของความอ่อนแอให้หมดไปเสีย

นอกจากจะทำประโยชน์อันใหญ่ยิ่งแก่บ้าเมืองแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห)ยังได้พยายามทะนุบำรุงการพระศาสนา เช่นบูรณะปฎิสังขรณ์หรือสร้างวัด แม้ในระหว่างไปราชการทัพก็ยังเป็นห่วงถึง บางคราวได้ขอร้องให้พระยาศรีสหเทพ(เพ็ง เพ็ญศรี)ช่วยเป็นธุระให้บ้าง

รวมวัดที่เจ้าพระยาบดินทร์เดชาได้ปฎิสังขรและสร้างใหม่ คือ

๑. ปฏิสังขรวัดจักรวรรดิราชาวาส(เดิมเรียกวัดสามปลื้ม) และสร้างพระปรางค์กับวิหารพระบางที่เชิญมาจากนครเวียงจันทร์(พระบางนั้นเดิมอยู่ที่นครเวียงจันทร์ ครั้งกรุงธนบุรีทำสงครามกับนครเวียงจันทร์มีชัยชนะ จึงเชิญพระแก้วมรกตกับพระบางลงมา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้มีการสมโภชพระพุทธรูปสำคัญ ๒ องค์นั้นพร้อมกับฉลองชัยชนะของบ้านเมือง เป็นงานมโหฬารยิ่ง เมื่อวิสาขบูชา ตรงกับวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๒ ต่อมาในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์นี้ พระเจ้านันทเสน นครเวียงจันทร์ ขอพระราชทานพระบางกลับคืนไปนครเวียงจันทร์ ถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อเสร็จการปราบกบฏพระเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์แล้ว จึงเชิญพระบางกลับลงมาอีก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)สร้างวิหารประดิษฐานไว้ ณ วัดจักรวรรดิราชาวาส ครั้นต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระราชทานกลับไปประดิษฐานที่นครหลวงพระบาง แล้วโปรดให้เชิญพระนาคจากหอพระในพระบรมมหาราชวัง ไปประดิษฐานไว้ในวิหารนั้นแทนพระบาง วัดจักรวรรดิราชาวาสสืบมาจนทุกวันนี้)

๒. ปฎิสังขรณ์วัดพรหมสุรินทร์ จังหวัดพระนครในรัชกาลที่ ๓ พระราชทานนามใหม่ว่าวัดปรินายก และทรงปฏิสังขรณ์ต่อมา

๓. ปฏิสังขรณ์วัดช่างทอง ซึ่งเป็นวัดที่ท่านผู้หญิงฝักผู้เป็นมารดาได้สร้างไว้ อยู่ที่เกาะเรียน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

๔. ปฏิสังขรณ์วัดวรนายกรังสรร(เขาดิน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

๕. สร้างวัดเทพลีลา ในคลองบางกะปิ ชาวบ้านเรียกว่าวัดตึกบ้าง วัดตึกคลองตันบ้าง ได้ยินว่าวัดนี้สร้างในระหว่างไปทำสงครามขับเคี่ยวกับญวน เมื่อต้องขุดคลองบางกะปิและทำนาไปตลอดทางเพื่อสะสมเสบียงกองทัพ และเพื่อความบริบูรณ์ของบ้านเมืองในเวลาต่อมาด้วย จึงถือโอกาสให้ทหารในกองทัพได้ร่วมกันสร้างวัดเป็นที่ยัดหน่วงในการทำศึก และปลูกกำลังใจในการต่อสู้เพื่อรักษาพระศาสนาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นอีก

๖. ยกที่บ้านถวายเป็นวัด แล้วสร้างโบสถ์วิหารการเปรียญเสนาสนะพร้อม มีชื่อว่าวัดไชยชนะสงครามแต่ชาวบ้านมักเรียกกันว่าวัดตึกจนทุกวันนี้ อยู่ตรงข้ามกับเวิ้งนครเขษมใกล้สี่แยกวัดตึก จังหวัดพระนคร

นอกจากนี้ยังสร้างวัดที่เมืองพัตบอง และเมืองอุดงมีชัยเป็นต้น อีกทั้งได้ช่วยทะนุบำรุงการพระศาสนาในประเทศเขมร ได้สืบต่อศาสนวงศ์มาจนสมัยปัจจุบันนี้

ปีที่กลับจากประเทศเขมรนั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)มีอายุย่างขึ้น ๗๒ ปี แต่ก็ยังเข้มแข็งสามารถรับราชการฉลองพระเดชพระคุณต่อมา ถึงวันอาทิตย์ที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๙๒ ก็ถึงอสัญกรรมด้วยโรคปัจจุบัน(อหิวาตกโรคซึ่งบังเกิดชุกชุมในปีนั้น) รุ่งขึ้นปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓ พระราชทานเพลิงศพวันอาทิตย์ที่ ๕ พฤษภาคม ที่เมรุผ้าขาว ณ วัด สระเกศ(แต่ในพงศาวดารว่าเป็นวันอังคารที่ ๒๘ พฤษภาคม)

รูปหล่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)ซึ่งมีอยู่ในเก๋งจีนข้างพระปรางค์วัดจักรวรรดิราชาวาส(วัดสามปลื้ม)นั้น พระพุฒาจารย์(มา)ไปถ่ายมาจามเมืองเขมรอีกต่อหนึ่งแล้วจัดการหล่อขึ้น มีเรื่องเล่ากันมาว่า

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ เมื่อองหริรักษ์(นักองด้วง)พระเจ้ากรุงกัมพูชาได้ทราบว่า เจ้าพระยาบดินทร์เดชา(สิงห์)ถึงอสัญกรรมแล้ว องหริรักษ์ระลึกถึงบุญคุณที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ช่วยเหลือปราบปรามหมู่ปัจจามิตรทั้งช่วยจัดราชการเมืองเขมรให้ราบคาบเรียบร้อยตลอดมา จึงสั่งสร้างเก๋งขึ้นที่หน้าค่ายใหญ่ ใกล้วัดโพธารามในเมืองอุดงมีชัย(เมืองหลวงเก่าเมืองเขมร)แล้วให้พระภิกษุสุกชาวเขมรช่างปั้นฝีมือเยี่ยมในยุคนั้น ปั้นรูปเจ้าพระยาบดินทรเดชาขึ้นไว้เป็นอนุสาวรีย์ด้วยปูนเพชร และประกอบการกุศลมีสดับปกรณ์เป็นต้นปีละครั้งที่เก๋ง ชาวเขมรเรียกว่า"รูปองบดินทร"ตลอดมาจนบัดนี้ รูปนี้สร้างขึ้นในราวปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๒

การถ่ายอย่างรูปเจ้าพระยาบดินทรเดชามาหล่อไว้ ณ วัดจักรวรรดิราชาวาสนี้ เนื่องด้วยพระพุฒาจารย์(มา)เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส เมื่อยังเป็นพระมงคลทิพยมุนี ระลึกถึงอุปการคุณที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้บูรณะปฏิสังขรณ์ให้ความเจริญเรียบร้อยแก่วัดจักรวรรดราชาวาสมาโดยเอนกประการ นับว่าเป็นอนุสาวรีย์สำคัญที่วัดจักรวรรดิราชาวาสระลึกถึงคุณความดีของเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)ซึ่งมีต่อบ้านเมืองและพระศาสนา แล้วร่วมใจกันสร้างขึ้นไว้เป็นทำนองปฏิการคุณโดยปริยาย ซึ่งขณะที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาถึงอสัญกรรมพระพุฒาจารย์ยังเป๋นสามเณรอยู่ที่วัดจักรวรรดิราชาวาสนี้ ทันได้เห็นกิจการบูรณะของท่านด้วยดีทุกอย่าง จึงได้ให้คนไปวาดเขียนถ่ายอย่างรูปปั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองเขมรมาให้นายเล็กช่างหล่อจัดการหล่อขึ้น ขณะที่ปั้นหุ่นรูปได้อาศัยช่างเขียน และท่านทองภรรยาเจ้าพระยายมราช(แก้ว)ซึ่งมีอายุทันได้เห็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา ช่วยกันติชมแก้ไขเห็นว่าเหมือนเจ้าพระยาบดินทรเดชาแล้ว จึงได้จัดการหล่อขึ้น ประจวบกับพระพุฒาจารย์มีอายุครบ ๕ รอบ( ๖๐ ปี)จึงได้ร่วมทำพิธีฉลองอายุในคราวเดียวกัน รูปนี้ หล่อขึ้นในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๑ กับ พ.ศ. ๒๔๔๗

เหตุประจวบอีกอย่างก็คือขุนวิจิตรจักราวาส(คำ)ไวยาวัจกร วัดจักรวรรดิราชาวาส ขออนุญาตพระพุฒาจารย์สร้างเกซิ้นนามเจ้าพระยาบดินทรเดชาไว้เป็นที่ระลึกสักการะด้วยอักษรจีน อ่านได้ความว่าเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์) สลักลงในแผ่นหินอ่อน และสร้างเก๋งจีนข้างพระปรางค์ใหญ่ด้านตะวันออกซึ่งเดิมเคยเป็นที่วางดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระปรางค์ ฝังศิลาจารึกเกซิ้นไว้กับผนังด้านหลังภายในเก๋ง แล้วเลยประดิษฐานรูปหล่อเจ้าพระยาบดินทรเดชารวมไว้ในเก๋งนั้นด้วยทีเดียวเป็นที่ระลึกสักการะของผู้เคารพนับถือตลอดมาจนทุกวันนี้

ภาพและที่มา www.bloggang.com

เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขุนพลแก้ว, เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขุนพลแก้ว หมายถึง, เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขุนพลแก้ว คือ, เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขุนพลแก้ว ความหมาย, เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขุนพลแก้ว คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu