วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10653
เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ไม่เคยมีคำสาปแช่ง มัสยิดกรือเซะ มรดกอารยธรรมแห่งมหานครปัตตานี
คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ครองชัย หัตถา ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี
กรือเซะ (Krue Se) หมู่บ้านเล็กๆ ห่างจากตัวเมืองปัตตานีไปทางตะวันออก 6 กิโลเมตร ในเขตปกครองของตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เป็นหมู่บ้านหนึ่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ที่มีการกล่าวถึงกันมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา
หมู่บ้านกรือเซะเป็นที่ตั้งของโบราณสถานที่สำคัญ คือ มัสยิดกรือเซะ, สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกกว่า 20 แห่ง เช่น คูเมือง ป้อมปราการ ที่หล่อปืนใหญ่ บ่อน้ำโบราณ เตาเผาเครื่องถ้วยชาม จุดขนถ่ายสินค้า จุดเรือจม นาเกลือโบราณ สุสานเจ้าเมือง สุสานชาวต่างประเทศ สุสานนักรบปัตตานี ฯลฯ
กรือเซะในอดีตมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักออกไปกว้างไกลในฐานะเป็นที่ตั้งของเมืองปัตตานีสมัยอยุธยา และในฐานะเมืองหลวงและมหานครของดินแดนมลายู ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดเข้าไปฟื้นฟูบูรณะเมืองโบราณแห่งนี้ ทั้งนี้ อาจจะมีเหตุผลว่า ไม่อยากไปรื้อฟื้นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มากด้วยปัญหาความขัดแย้งกับสยามหรืออยุธยาในยุคนั้น รวมทั้งคำบอกเล่าที่ระบุถึงโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองปัตตานี คือ มัสยิดกรือเซะต้องคำสาปของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ทำให้การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จและถูกปล่อยทิ้งร้างมาจนทุกวันนี้
ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด สิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยที่ผ่านมา คือ การขาดองค์ความรู้ในประวัติศาสตร์เมืองปัตตานีและประวัติที่แท้จริงของมัสยิดกรือเซะ นอกเหนือจากตำนานหรือคำบอกเล่า รวมทั้งการเสียโอกาสในการได้รับการพัฒนาจากรัฐ เฉกเช่นเมืองโบราณร่วมสมัยเดียวกัน เช่น อยุธยา สงขลา นครศรีธรรมราช ฯลฯ
ยิ่งกว่านั้น การตอกย้ำคำบอกเล่าที่อ้างถึงตำนานคำสาป รวมทั้งการนำเรื่องคำสาปแช่งมาเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยว กลายเป็นหนทางที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และศาสนา
ปฏิกิริยาความไม่พอใจของชาวมุสลิมขยายวงออกไปจนนำไปสู่การประท้วง และการต่อต้านในรูปแบบต่างๆ เช่น การชุมนุมเรียกร้องให้คืนสถานภาพโบราณสถานของมัสยิดกรือเซะเมื่อปี พ.ศ.2530 ต่อเนื่องถึงปี พ.ศ.2533 การที่มีคนร้ายบุกทำลายทรัพย์สินและเผาอาคารในบริเวณสุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเมื่อปี พ.ศ.2547 รวมทั้งปฏิกิริยาความไม่พอใจมัคคุเทศก์ต่างถิ่นที่มุ่งเน้นถ่ายทอดเรื่องราวเชิงอภินิหารมากกว่าความสำคัญของมัสยิดกรือเซะในฐานะศาสนสถาน
ทุกสังคมใฝ่หาสันติภาพ แต่สันติภาพกับความขัดแย้งก็เกิดขึ้นควบคู่กันไปได้เสมอ เมืองปัตตานีในอดีตก็เช่นเดียวกัน ได้ผ่านช่วงเวลาที่รุ่งเรืองและเสื่อมโทรมมาหลายครั้ง ความเข้าในประวัติศาสตร์ทั้งหมดของเมืองปัตตานีเป็นสิ่งสำคัญที่ควรศึกษาเรียนรู้
กรือเซะในอดีตเป็นเมืองท่าที่มีชื่อเสียงของเอเชียอาคเนย์ เป็นที่พำนักอาศัยของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ได้แก่ ชาวอาหรับ เปอร์เซีย โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ สเปน ญี่ปุ่น อินเดีย รวมทั้งชาวสยาม จีน ชวาและมลายู กรือเซะจึงเป็นที่รวมของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวจีนได้กลายเป็นพลเมืองของปัตตานี โดยส่วนหนึ่งได้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามในเวลาต่อมา ชาวมุสลิมเชื้อสายจีนที่กรือเซะยอมรับในชาติพันธุ์ของเขาด้วยความภาคภูมิใจว่า มีบรรพบุรุษเป็นชาวจีน ชาวกรือเซะยกย่องในเกียรติประวัติของลิ้มโต๊ะเคี่ยมและลิ้มกอเหนี่ยว รวมทั้งชาวจีนอีกหลายพันชีวิตที่เดินทางมายังปัตตานีในสมัยราชวงศ์เหม็ง หรือว่า 400 ปีที่ผ่านมา ในฐานะที่เป็นผู้มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อเมืองปัตตานีและในฐานะที่เป็นบรรพบุรุษของพวกเขา
ชาวกรือเซะศรัทธาและยอมรับในบุญญาบารมีของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ดังที่ปรากฏในประเพณีและความเชื่อในอดีต เช่น การทำบุญและการแก้บน การขอพรและขอความช่วยเหลือจากเจ้าแม่ ฯลฯ สุสานของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและลิ้มโต๊ะเคี่ยม จึงดำรงอยู่ในชุมชนกรือเซะและได้รับการปฏิบัติอย่างสมเกียรติตลอดมา
การผูกโยงเรื่องมัสยิดกรือเซะสร้างไม่แล้วเสร็จเนื่องจากคำสาปแช่งของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นหรือเป็นตำนานที่สร้างขึ้นมาก็ตาม แต่สำหรับมุสลิมแล้วจะเชื่อถือศรัทธาเช่นนั้นไม่ได้ การสื่อสารเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมัสยิดกรือเซะกับเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจึงควรอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม ไม่ก้าวล่วงทำลายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชาวจีนกับชาวมุสลิมที่มีมาเป็นเวลายาวนาน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี และชาวมุสลิมทั่วไปรับรู้เรื่องมัสยิดกรือเซะในฐานะที่เป็นศาสนสถานที่สำคัญสูงสุดของศาสนาอิสลาม นับตั้งแต่ชาวปัตตานีรับเอาวิถีอิสลามเข้ามาในชีวิตประจำวัน เป็นที่ยอมรับกันว่า กรือเซะเป็นมัสยิดแห่งแรกในภูมิภาคนี้ที่สร้างแบบสถาปัตยกรรมตะวันออกกลาง และเป็นต้นแบบของมัสยิดสมัยใหม่ที่แพร่หลายในเวลาต่อมา
เมืองปัตตานีระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21-23 ได้ก้าวสู่ความเป็นศูนย์กลางของการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างชาวตะวันตกและชาวตะวันออกที่สำคัญของภูมิภาคนี้ ทำให้ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นมหานคร เป็นระเบียงแห่งนครมักกะฮ และเป็นประตูการค้าแห่งเอเชียอาคเนย์
แต่หลังจากพุทธศตวรรษที่ 24 เป็นต้นมา ฐานะของเมืองปัตตานีเปลี่ยนแปลงไปด้วยเหตุผลทางด้านการเมือง การปกครอง และสภาพเศรษฐกิจการค้า มัสยิดกรือเซะและโบราณสถานอีกหลายแห่งจึงถูกทิ้งร้างและเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา จนกลายเป็นปริศนาทางประวัติศาสตร์
ต่อไปนี้เป็นบางตอนที่ตัดทอนและปรับปรุงจากหนังสือมัสยิดกรือเซะ มรดกอารยธรรมปัตตานี ของครองชัย หัตถา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2549)
มัสยิดกรือเซะในพงศาวดารและตำนานท้องถิ่น
เรื่องราวเกี่ยวกับมัสยิดกรือเซะ ปรากฏในพงศาวดารเมืองปัตตานี พ.ศ.2445 โดยลิ้มโต๊ะเคี่ยมและลิ้มกอเหนี่ยวมีชื่อปรากฏอยู่ด้วย ดังข้อความตอนหนึ่ง (คัดลอกตามอักขระเดิม) ดังนี้
"...เวลานั้นบ้านเมืองที่เรียกกันว่าเมืองปัตตานีนั้น ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านมะนา ติดต่อกับบ้านโตะโสม บ้านกะเสะ ฝ่ายตะวันออก แต่บ้านพะยาปัตตานี เดี๋ยวนี้ห่างกันทางประมาณสี่สิบเส้นริมทางที่จะไปเมืองยิริง ในระหว่างภรรยาเจ้าเมืองปัตตานีว่าการเปนเจ้าเมืองอยู่นั้น...นางพะยาปัตตานีได้จัดแจงหล่อปืนทองเหลืองใหญ่ไว้สามกระบอก ตำบลที่หล่อปืนนั้นริมบ้านกะเสะ ก่อด้วยอิฐเปนรูปโบสถขึ้นหลังหนึ่งสามห้องเฉลียงรอบ แม่ปะธานกว้างประมาณหกศอก ยาวสิ้นตัวเฉลียงสี่วาเสศ เครื่องบนและพื้นเวลานี้ชำรุดหมด ยังเหลือแต่ฝาผนัง และฝาผนังเฉลียงนั้นก่อเปนโค้งทั้งสี่ด้าน พื้นแม่ปะทานสูงประมาณสองศอกเสศ พื้นเฉลียงสูงประมาณสองศอก โรงหรือโบสถที่ก่อด้วยอิฐนี้ มลายูในแหลมปัตตานีเรียกว่า สับเฆ็ด
แลนายช่างผู้หล่อปืนสามกะบอกนั้น สืบความได้ว่าเดิมเปนจีนมาจากเมืองจีน เปนชาติหกเคี้ยมแส้หลิม ชื่อเคี่ยม เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านกะเสะ จีนเคี่ยมคนนี้มาได้ภรรยามลายู จีนเคี่ยมก็เลยเข้าสุหนัดนับถือศาสนามลายูเสียด้วย พวกมลายูสมมติเรียกกันว่า หลิมโต๊ะเคี่ยม ตลอดต่อมาจนถึงทุกวันนี้ แลในตำบลบ้านกะเสะซึ่งหลิมโต๊ะเคี่ยมอยู่มาก่อนหน้านั้น พลเมืองที่อยู่ต่อมาจนเดี๋ยวนี้ยังนับถือหลิมโต๊ะเคี่ยม ว่าเปนต้นตระกูลของพวกหมู่บ้านนั้น แลยังกล่าวกันอยู่เนืองๆ ว่า เดิมเปนจีน หลิมโต๊ะเคี่ยม นายช่างหล่อปืนนี้มาอยู่ในเมืองปัตตานีหลายปี น้องสาวลิ้มโต๊ะเคี่ยมชื่อเก๊าเนี่ยว ตามมาจากเมืองจีน มาปะหลิมโต๊ะเคี่ยมที่เมืองปัตตานีอยู่เฝ้าอ้อนวอนหลิมโต๊ะเคี่ยมให้ละเสียจากเพศมลายู กลับไปเมืองจีน หลิมโต๊ะเคี่ยมก็ไม่ยอมไป เก๊าเนี่ยวซึ่งเป็นน้องสาวแต่เฝ้าอ้อนวอนหลิมโต๊ะเคี่ยมมานั้นประมาณหลายปี ลิ้มโต๊ะเคี่ยมก็ไม่ยอมไปแขงอยู่ เก๊าเนี่ยวซึ่งเป็นน้องสาวมีความเสียใจลิ้มโต๊ะเคี่ยมผู้พี่ชายผูกคอตายเสีย
ครั้นเก๊าเนี่ยวน้องสาวผูกคอตายแล้ว หลิมโต๊ะเคี่ยมผู้เป็นพี่ก็จัดแจงศพเก๊าเนี่ยวน้องสาวฝังไว้ในตำบลบ้านกะเสะ ทำเป็นฮ๋องสุยปรากฏอยู่ตลอดมาจนเดี๋ยวนี้ พวกจีนก็เลยนับถือว่าเปนผู้หญิงบริสุทธิ์อย่างหนึ่ง เปนคนรักชาติตระกูลอย่างหนึ่ง ได้มีการเซ่นไหว้เสมอทุกปีมิได้ขาดที่ศพเก๊าเนี่ยวนี้..."
พงศาวดารเมืองปัตตานีฉบับนี้ ไม่มีข้อความกล่าวถึงคำสาปแช่งของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว แต่ก็ได้กล่าวถึงมัสยิดกรือเซะ ว่าอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม เครื่องบนและพื้นชำรุดหมด โดยไม่ระบุว่าเป็นเพราะสาเหตุใด
หนังสือ Sejarah Kerajaan Melayu Patani ฉบับพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.1985 ผู้เขียนคือ Ibrahim Syukri ข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงการเสียชีวิตของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว โดยไม่ปรากฏข้อความเรื่องคำสาปแช่งเช่นกัน
หนังสือประวัติเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่พิมพ์โดยมูลนิธิเทพปูชนียสถาน ในโอกาสงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ศาลเจ้าเล่งจูเกียง อาทิ ฉบับที่พิมพ์ปี พ.ศ.2534 2542 และ 2544 แม้ว่าจะได้กล่าวถึงบุญญาบารมีของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและความเกี่ยวข้องระหว่างพี่ชายคือ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมกับมัสยิดกรือเซะ รวมทั้งได้รวบรวมคำบอกเล่าเกี่ยวกับกิตติศัพท์อภินิหารของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจากบุคคลต่างๆ ที่นับถือ ศรัทธาองค์เจ้าแม่ แต่ในหนังสือดังกล่าวก็ไม่ปรากฏข้อความที่เขียนถึงคำสาปแช่งของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวแต่อย่างใด
ในวิทยานิพนธ์เรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวมลายูมุสลิมและชาวจีนในย่านสายกลาง จังหวัดยะลา ของ แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ.2546 อภิปรายถึงกรณีดังกล่าวว่า
"เห็นได้ว่าประวัติของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่พิมพ์เผยแพร่โดยศาลเจ้าเล่งจูเกียง ไม่มีเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวกับคำสาปแช่งต่อมัสยิดกรือเซะ เนื้อหาของประวัติเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เพียงแต่บอกว่าลิ้มเต้าเคียนผู้เป็นพี่ชายได้รับอาสาเจ้าเมืองปัตตานีสร้างมัสยิด ในตอนท้ายเรื่องราวจบลงด้วยการที่ลิ้มกอเหนี่ยว หญิงสาวชาวจีนมีบทบาทช่วยวงศ์ตระกูลของเจ้าเมืองปัตตานีต่อสู้กับกบฏโดยไม่ได้แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนาแต่อย่างใด ส่วนในพงศาวดารเมืองปัตตานี ที่พระยาวิเชียรคีรีบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ในประชุมพงศาวดารภาค 3 (พิมพ์เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ.2471) ไม่มีข้อความที่กล่าวถึงคำสาปแช่งของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเลย
ข้อความเกี่ยวกับคำสาปแช่งของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวต่อมัสยิดปรากฏขึ้นในช่วงใด ไม่แน่ชัด"
เริ่มแรกมีคำสาปแช่ง
เมื่อผู้เขียนได้สอบถามผู้รู้ในมูลนิธิเทพปูชนียสถานและศึกษาเอกสารเพิ่มเติม พบว่าเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวสำนวนหนึ่งเขียนโดยนายสุวิทย์ คณานุรักษ์ ข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงประวัติลิ้มโต๊ะเคี่ยมและเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว รวมทั้งความเกี่ยวข้องกับมัสยิดกรือเซะ ที่อ้างว่าได้รับการถ่ายทอดจากขุนพจน์สารบาญ บุตรชายคนที่สองของพระจีนคณานุรักษ์ ชาวปัตตานี เชื้อสายจีน ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้นำคนสำคัญของเมืองปัตตานีในเวลานั้น
เนื้อความตอนต้นกล่าวถึงประวัติของลิ้มโต๊ะเคี่ยมและลิ้มกอเหนี่ยว คล้ายคลึงกับฉบับของมูลนิธิเทพปูชนียสถาน แต่ต่างกันในตอนท้ายที่ระบุถึงคำสาปของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ดังที่ปรากฏในหนังสือประวัติทายาทหลวงสำเร็จกิจกรจางวางตอนหนึ่งกล่าวถึงเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและมัสยิดกรือเซะ
"การที่ลิ่มโต๊ะเคี่ยมช่วยเจ้าเมืองปัตตานีสร้างมัสยิดนี้เปรียบเสมือนหนึ่งการจุดเพลิงแห่งความแค้นให้รุ่งโรจน์ขึ้นในใจของลิ้มกอเหนี่ยวผู้น้องสาว เธอพยายามอ้อนวอนพี่ชายให้เลิกล้มการช่วยสร้างมัสยิดและเดินทางกลับเมืองจีนเสีย แต่ลิ่มโต๊ะเคี่ยมไม่ฟัง เข้าตั้งหน้าตั้งตาสร้างมัสยิดอย่างจริงจังสุดที่ลิ้มกอเหนี่ยวจะทนดูพฤติการณ์ของพี่ชายได้ เธอสาปแช่งอย่างโกรธแค้นว่า "แม้พี่จะมีความสามารถในการก่อสร้างเพียงไรก็ตามแต่ ขอให้มัสยิดนี้ไม่สำเร็จ" และคืนวันนั้นเองลิ้มกอเหนี่ยว สาวน้อยผู้ยึดถือประเพณี ก็หนีไปผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ต้นใหญ่ ซึ่งอยู่ทางด้านหน้าของมัสยิดที่พี่ชายกำลังก่อสร้างนั่นเอง"
ประวัติเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวสำนวนนี้ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ทั้งการบอกเล่าด้วยวาจาและการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร เอกสารของทางราชการ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ คือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ประชาสัมพันธ์แนะนำแหล่งท่องเที่ยวโดยใช้ข้อความดังกล่าว นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปจึงรับรู้เรื่องมัสยิดกรือเซะผ่านทางตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
มัสยิดกรือเซะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นโบราณสถาน และในขณะเดียวกันก็เป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจของมุสลิม คำถามเกี่ยวกับสถานภาพของมัสยิดกรือเซะจึงมีขึ้นเป็นระยะๆ แต่นั่นไม่สำคัญเท่าความรู้สึกของชาวมุสลิมที่มีต่อนักท่องเที่ยวว่ากำลังมองมัสยิดกรือเซะด้วยสายตาและความรู้สึกเช่นใด
ที่มา www.bloggang.com
ภาพจาก www.pattani.go.th