ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

การเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสในรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๑๑ - ๒๔๕๓), การเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสในรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๑๑ - ๒๔๕๓) หมายถึง, การเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสในรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๑๑ - ๒๔๕๓) คือ, การเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสในรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๑๑ - ๒๔๕๓) ความหมาย, การเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสในรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๑๑ - ๒๔๕๓) คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
การเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสในรัชกาลที่  ๕ (พ.ศ. ๒๔๑๑ - ๒๔๕๓)

          ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว    ได้เกิดเหตุการณ์รุนแรงระหว่างไทยกับฝรั่งเศสจนถึงไทยต้องเสียดินแดนไปเป็นอันมาก เวลานั้นเป็นยุคที่อังกฤษและฝรั่งเศสกำลังขยายอาณานิคมออกมาทางเอเชีย อังกฤษได้พม่าแล้วกำลังแผ่อิทธิพลอยู่ในมลายู     ฝรั่งเศสก็มีอำนาจเหนือเวียดนามและเขมร เมื่อ  พ.ศ. ๒๔๑๐   ไทยทำสัญญายอมรับว่า  เขมร  และเกาะกงเป็นของฝรั่งเศส เมืองไทยอยู่ท่ามกลางมหาอำนาจทั้งสองฝรั่งเศสต้องการดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง อ้างว่าส่วนนี้เคยเป็นของเวียดนาม  ฝรั่งเศสเข้าครอบครองสิบสองจุไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐    เมื่อได้ยกกองทหารเข้ามาในเขตนี้อ้างจะช่วยไทยปราบพวกฮ่อ แต่มิได้ถอยกองทหารออกไปอีกเลย   ใน พ.ศ. ๒๔๓๕  นาย   ออกุสต์ปาวี (Auguste  Pavie)  ได้รับแต่งตั้งเป็นกงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ
           พ.ศ. ๒๔๓๖ ฝรั่งเศสยกกองทหารจากพนมเปญขึ้นมาทางแม่น้ำโขงแล้วรุกเข้ามาในเขตฝั่งซ้ายของแม่น้ำ ปักธงชาติฝรั่งเศสขึ้นที่ทุ่งเชียงคำ คนไทยชักธงลงมาฉีกทิ้งเสียทูตฝรั่งเศสยื่นบันทึกถึงรัฐบาลไทยว่าเมื่อเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น เพื่อคุ้มครองคนในบังคับฝรั่งเศส  ฝรั่งเศสต้องนำเรือรบเข้ามาในน่านน้ำไทยหนึ่งลำ อังกฤษอ้างสถานการณ์ไม่ปลอดภัยนำเรือเข้ามาบ้าง วันที่ ๑๓  กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๔๖๓  ฝรั่งเศสส่งเรือรบ  ๒  ลำคุ้มกันเรือสินค้าเข้ามาถึงปากน้ำทางป้อมพระจุลจอมเกล้า ส่งสัญญาณถาม  เรือรบฝรั่งเศสไม่ตอบเวลานั้นพระยาชลยุทธโยธิน (อังเดร  ดู  เปลซิส เดอ   ริเชอลิเออ  Andre  du Plesis  de  Richelieu  ชาวเดนมาร์ก) เป็นผู้บัญชาการทหารเรือไทยอยู่ที่นั่นด้วย  ทางป้อมยิงปืนยับยั้งเกิดการยิงโต้ตอบกันขึ้น เรือสินค้าฝรั่งเศสถูกปืนเกยตื้น    และเรือรบฝรั่งเศสยิงถูกเรือ "มกุฎราชกุมาร"  ของไทยเสียหาย ครั้งนั้นมีทหารบาดเจ็บและเสียชีวิต   นาย   ออกุสต์ปาวี  ยื่นคำขาดต่อรัฐบาลหลายข้อให้ตอบภายใน  ๔๘ ชั่วโมง รัฐบาลไทยโดยสมเด็จ  กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ  เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศเป็นผู้แทนตอบไปว่า ข้ออื่นๆ เช่นให้ไทยชดใช้ค่าเสียหายนั้นไทยตกลง    แต่ข้อที่ว่าให้ยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสนั้น ฝรั่งเศสไม่มีหลักฐานหรืออำนาจอันชอบธรรมอันใด   ปาวีถือว่าไทยปฏิเสธจึงนั่งเรือรบออกปากน้ำไป แล้วประกาศปิดอ่าวไทยตั้ง แต่วันที่  ๒๖ กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๔๓๖การปิดอ่าวทำให้กระทบกระเทือนถึงเรือชาติอื่นๆ ด้วย   และอังกฤษก็สงวนท่าทีไม่แสดงว่าจะช่วยเหลือไทยอย่างใด ไทยเกรงชาติอื่นจะเข้าแทรกแซงจึงต้องยอมฝรั่งเศส  ฝรั่งเศสเลิกปิดอ่าววันที่  ๓  สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ และตกลงทำสัญญากันเมื่อวันที่ ๓  ตุลาคมพ.ศ. ๒๔๓๖  ไทยเสียดินแดนให้ฝรั่งเศสครั้งนี้ประมาณ ๑๔๐,๐๐๐  ตารางกิโลเมตร
           หลังจากการทำสัญญากับฝรั่งเศสแล้ว   ไทยปฏิบัติตามทุกข้อ แต่ฝรั่งเศสก็ไม่ยอมคืนจันทบุรีที่ยึดไว้เป็นประกัน   ยังคงยึดไว้อีก ๑๐  ปีต่อมา ก่อนฝรั่งเศสจะถอนทหารออกไป     ไทยได้ทำสัญญายกดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามเมืองหลวงพระบาง และทางใต้ตรงข้ามเมืองปากเซให้ฝรั่งเศสเมื่อ  พ.ศ. ๒๔๔๗ ฝรั่งเศสกลับไปยึดเมืองตราดไว้แทนฝรั่งเศสถอนทหารออกจากตราดหลังจากที่ไทยยอมยกพระตะบอง เสียมราฐ   และศรีโสภณให้ฝรั่งเศสตามสัญญาเมื่อ  พ.ศ. ๒๔๕๐  พร้อมกับสัญญานี้ได้ตกลงกันเรื่องอำนาจศาล คือให้มีศาลต่างประเทศ   ผู้พิพากษาเป็นคนไทย  แต่กงสุลมีอำนาจถอนคดีไปพิจารณาในศาลกงสุลได้
           อนึ่ง  ใน  พ.ศ. ๒๔๕๒  ไทยได้ทำสัญญาทำนองเดียวกันนี้กับอังกฤษ   คนในบังคับอังกฤษทั้งหมดขึ้นศาลต่างประเทศ และไทยยอมยก   กลันตัน  ตรังกานู   ไทรบุรี  ปะลิสและเกาะใกล้เคียงให้อังกฤษ  ในการติดต่อกับต่างประเทศในรัชกาลนี้ ไทยได้ที่ปรึกษาราชการ  คือ  นาย  เอ็ดเวิร์ด  สโตรเบล    (Edward   Strobel)   ชาวอเมริกัน และเมื่อเขาถึงแก่กรรม   ผู้ช่วยของเขาชื่อนาย   เจนส์  ไอ  เวสเตนการ์ด  (Jens I.  Westengard) ต่อมาได้เป็นพระยากัลยาณไมตรีคนแรก   ก็ได้ตำแหน่งที่ปรึกษาสืบมา
           แม้ว่าความสัมพันธ์กับชาวต่างประเทศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเป็นผลให้ไทยต้องสูญเสียผลประโยชน์หลายประการดังกล่าวมาแล้ว แต่ยังมีความสัมพันธ์อีกรูปหนึ่งที่เป็นผลดีต่อไทยอย่างมาก     ได้แก่การที่ชาวต่างประเทศเข้ามาช่วยปรับปรุงบ้านเมืองและงานแขนงต่างๆ ให้เจริญขึ้นตามแบบประเทศตะวันตก
           ที่ปรึกษาราชการชาวต่างประเทศที่เข้ามารับราชการในประเทศไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีจำนวนมาก เช่น  ปรากฏว่า ใน  พ.ศ. ๒๔๕๐   มีถึง๒๔๗  คน  ในจำนวนนี้มีชาวอังกฤษมากที่สุด   ชาติอื่นๆ ก็มี เช่น  เดนมาร์ก  อิตาเลียนฝรั่งเศส  อเมริกัน  โปรตุเกส   เยอรมัน   ฮอลันดา  รุสเซีย  เบลเยียม  นอรเว  สเปนชาติเหล่านี้ทำหน้าที่ต่างกันไปตามถนัด    เช่น   ชาวอังกฤษทำหน้าที่รับผิดชอบด้านการคลังการค้า   ภาษี   มหาดไทย   เกษตรกรรม  ชลประทาน  การศึกษา  การรถไฟ  ชาวเดนมาร์กรับผิดชอบเกี่ยวกับการทหารเรือและตำรวจ ชาวอิตาเลียนมุ่งไปทางสถาปัตยกรรมวิศวกรรม  ดูแลงานสำนักพระราชวัง ชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่เชี่ยวชาญทางกฎหมาย
           งานในหน้าที่ของที่ปรึกษาราชการชาวต่างประเทศแบ่งออกเป็นหลายตำแหน่ง ได้แก่ตำแหน่งที่ปรึกษาราชการทั่วไป   ที่ปรึกษาประจำกระทรวง  ประจำกรมกองต่างๆและข้าราชการประจำ   สำหรับที่ปรึกษาราชการแผ่นดินนั้นมีอำนาจสิทธิ์ขาดมาก  ควบคุมประสานงานและแนะนำกิจการทั่วๆ  ไปทุกหน่วยงาน ส่วนที่ปรึกษาราชการอื่นๆส่วนใหญ่เป็นที่ปรึกษาประจำกระทรวง   หรือเป็นเจ้ากรม อธิบดีตามกรมกองต่างๆ คอยช่วยเหลือแนะนำหรือบริหารกิจการงานเมือง ทั้งส่วนที่ปรับปรุงและที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามแบบแผนในเมืองยุโรป ซึ่งคนไทยยังไม่มีความรู้ความชำนาญพอจะจัดการด้วยตนเองได้พร้อมกันนั้นก็ได้ช่วยฝึกงานให้คนไทยไว้รับช่วงกิจการต่อไป
           ที่ปรึกษาราชการชาวต่างประเทศที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ไทยในด้านต่างๆ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีอาทิเช่น
           เจ้าพระยาอภัยราชา (โรลัง  จัคแม็งส์)  (Rolyn  Jacquemins) ชาวเบลเยียม เป็นที่ปรึกษาราชการทั่วไป    เชี่ยวชาญทางกฎหมายระหว่างประเทศ
           นายเอ็ดเวิร์ด  สโตรเบล (Edward  Strobel) ชาวอเมริกัน  ที่ปรึกษาราชการทั่วไป
           พระยากัลยาณไมตรี    (เจนส์    ไอเวอร์สัน    เวสเตนการ์ด) (Jens  Iverson  Westengard) ชาวอเมริกัน  ที่ปรึกษาราชการทั่วไป
           นายเฮนรี  อาลาบาสเตอร์  (Henry  Alabaster)  ชาวอังกฤษ  เป็นที่ปรึกษากฎหมาย
           พระยาชลยุทธโยธิน   (อังเดร   ดู  เปลซิส  เดอ  ริเชอลิเออ)  (André du plésis  deRichelieu)  ชาวเดนมาร์ก  ได้ช่วยวางรากฐานกองทัพเรือไทย
           พลตรีพระยาวาสุเทพ  (จี  เชา)  (G.  Schau)  ชาวเดนมาร์ก  ช่วยจัดระเบียบกรมตำรวจ
           ศาสนาจารย์   เอส   จี  แมคฟาร์แลนด์  (S.G.  Mcfarland)  ชาวอเมริกัน  อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ
           นายดับบลิว   จี   จอห์นสัน   (W.G.  Johnson)  และนาย  อี  เอส  สมิธ  (E.S.  Smith) ครูโรงเรียนสวนกุหลาบ
           นายริชาร์ด    จัคส์    เกิร์กแพตริก    (Richard   Jacques  Kirkpatrick)  ชาวเบลเยียมที่ปรึกษากฎหมายกระทรวงยุติธรรม
           พระยามหิธร   (โตกีจิ   มาซาโอะ  Tokiji  Masao) ชาวญี่ปุ่น   ผู้ช่วยที่ปรึกษากระทรวงยุติธรรม
           นายวิลเลียม    อัลเฟรด    คุณะติลเก   (William   Alfred  Kunatelake)  ชาวลังกา  ช่วยงานกรมอัยการ  ต่อมาได้เป็นเจ้ากรมอัยการ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอรรถการประสิทธิ์  ต้นสกุล  คุณะดิลก
           นายยอร์จ  ปาดูซ์  (George  Padoux) ชาวฝรั่งเศส  ที่ปรึกษาในการร่างกฎหมายประธานกรรมการร่างกฎหมาย
           นายเรอเน   กียอง (René  Guyon)  ชาวฝรั่งเศส  ที่ปรึกษาในกระทรวงยุติธรรมในปลายรัชกาล   และรับราชการต่อมาอีกหลายสิบปี จนเปลี่ยนชื่อเป็นไทยว่า  นายพิชาญบุลยง
           นายเอช  สเลด  (H.  Slade)  ชาวอังกฤษ  ช่วยงานในกรมป่าไม้  ต่อมาได้เป็นเจ้ากรมป่าไม้
           นายเอฟ   เอช  ไจลล์ (F.H.  Giles)  ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร   ต้นสกุล   จิลลานนท์ อธิบดีกรมสรรพากรคนแรก    นายดับบลิวเอ    เกรแฮม   (W.A. Graham)   ชาวอังกฤษ   นาย   ซี  ริเวตต์  คาร์นัค  (C.  Rivett  Carnac)และนาย   ดับบลิว   เจ   เอฟ   วิลเลียมสัน  (W.J.F. Williamson)  ที่ปรึกษากระทรวงการคลัง
          นายเจ   โฮมัน   แฟน   เดอ  ไฮเด  (J. Homan  Van  De   Heide) ชาวฮอลันดา  ที่ปรึกษาการชลประทาน ผู้เป็นเจ้าของโครงการเขื่อนเจ้าพระยา  หรือที่เรียกกันว่าในประวัติกระทรวงเกษตรฯว่า  "สกีมชัยนาท"
          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับนานาประเทศ  ทั้งในเอเชียและยุโรป โดยการเสด็จเยือนประเทศต่างๆหลายครั้ง   ได้เสด็จ   สิงคโปร์ ชวา   (อินโดนีเซีย)   มลายู  อินเดีย   พม่า   ในตอนต้นรัชกาล ต่อมาก็ได้เสด็จประพาสยุโรปถึง  ๒ ครั้ง  คือเมื่อ  พ.ศ. ๒๔๔๐  และ  พ.ศ. ๒๔๕๐ นับว่าได้ผลดียิ่งทั้งในด้านทางการเมือง  การเชื่อมสัมพันธไมตรี และในรัชกาลนี้ไทยได้ทำสัญญาทางไมตรีกับประเทศอื่นๆ เพิ่มอีก  มี  รุสเซีย  สเปน  ออสเตรีย  ฮังการี  อิตาลี  และ  ญี่ปุ่น

การเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสในรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๑๑ - ๒๔๕๓), การเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสในรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๑๑ - ๒๔๕๓) หมายถึง, การเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสในรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๑๑ - ๒๔๕๓) คือ, การเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสในรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๑๑ - ๒๔๕๓) ความหมาย, การเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสในรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๑๑ - ๒๔๕๓) คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 4

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu