โครงการโรงสีข้าวส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
เริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ ดำเนินการสีข้าวด้วยเครื่องสีข้าวแบบต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูลในเรื่องค่าใช้จ่าย และพัฒนากรรมวิธีสีข้าว จนประดิษฐ์เครื่องสีข้าวระบบแรงเหวี่ยง “ปิ่นแก้ว” เสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ เครื่องสีข้าวนี้มีผลดีต่อคุณภาพของข้าวสารและช่วยลดต้นทุนการสีข้าว
โครงการโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป
เริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาในการจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร เนื่องจากตลาดและโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ห่างไกล ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง หรือเกษตรกรต้องนำมาส่งเอง อาจเกิดการสูญเสียผลิตผล โรงงานอาหารสำเร็จรูปมีในจังหวัดเชียงใหม่ ๒ แห่ง จังหวัดเชียงราย ๑ แห่ง และจังหวัดอุบลราชธานี ๑ แห่ง
โครงการค้นคว้าน้ำมันเชื้อเพลิง
เริ่มเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ เพื่อแก้ปัญหาน้ำมันเชื้อเพลิงขาดแคลน และมีราคาแพง ดำเนินการค้นคว้าและทดลองในห้องปฏิบัติการทดสอบใช้น้ำมัน ท.อีเทอร์นัลกับเครื่องยนต์และรถยนต์ สามารถสร้างต้นแบบขนาดกำลังผลิตได้จาก ๑๐๐ ลิตรถึง ๕๐๐ ลิตรต่อวัน (๑๐ ชั่วโมง) แต่การทดลองนี้ต้องใช้วัตถุดิบซึ่งมีราคาสูงขึ้นมาก จึงยังต้องทำการค้นคว้าวิจัยกรรมวิธีอื่นที่จะทำให้ได้เชื้อเพลิงที่มีต้นทุนในการผลิตต่ำสุดต่อไป
โครงการธนาคารข้าว
เริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้จัดตั้งธนาคารข้าวของราษฎรตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้รวมกลุ่มช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สงเคราะห์ประชาชนผู้ยากจนได้กู้ยืมข้าวไปใช้บริโภคและทำพันธุ์ในฤดูทำนา เป็นแหล่งกลางรวบรวมข้าวไว้ขายในราคายุติธรรม ปัจจุบันมีธนาคารข้าว ๔,๓๒๐ แห่ง ใน ๕๗ จังหวัด
ธนาคารโคและกระบือเพื่อเกษตรกร
เริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนองพระราชดำริ จัดหาโคและกระบือ ให้แก่เกษตรกรในท้องถิ่นทุรกันดารได้นำไปเลี้ยงในระยะยาว เพื่อใช้ในการผสมพันธุ์และประกอบอาชีพการทำไร่นา และใช้ในการขนส่ง โคและกระบือนี้ส่วนหนึ่งได้รับจากการบริจาค
โครงการส่งเสริมการทำปุ๋ยหมัก
เริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ และเสร็จสิ้นใน พ.ศ. ๒๕๒๔ เพื่อปรับปรุงสภาพของที่ดินให้เหมาะแก่การเพาะปลูก โดยเกษตรกรนำวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตรและมูลสัตว์มาใช้ทำปุ๋ยหมักเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต
โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก
เริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ และเสร็จสิ้นใน พ.ศ. ๒๕๒๙ เพื่อพัฒนาอุปกรณ์หีบน้ำมันปาล์มขนาดเล็กโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์จากบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในด้านการเกษตรและการผลิตน้ำมันปาล์มประสานงานกับกรมประชาสงเคราะห์และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ทำคู่มือเกษตรกรในด้านการปลูกปาล์ม การสกัดน้ำมัน การวิเคราะห์ คุณภาพน้ำมัน พร้อมทั้งจัดเตรียมเครื่องอะไหล่ วัสดุ สารเคมี และการซ่อมบำรุง เพื่อให้เกษตรกรได้ช่วยตัวเองในอนาคต