ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก, พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก หมายถึง, พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก คือ, พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ความหมาย, พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 2
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ  และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก

          ประเทศไทยเรายังคงรักษาเอกราชสืบมาจนถึงทุกวันนี้ได้ ก็ด้วยเหตุที่เรามีความพร้อมเพรียงสามัคคีกันระหว่างชนในชาติ มีศาสนาหลายศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้ชาวไทยครองตนอยู่ในศีลธรรม มีพระมหากษัตริย์เป็นร่มเกล้าธงชัยให้เราได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขสืบมาทุกสมัย ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับสถาบันศาสนาจึงเป็นลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของชาติไทย ในบางประเทศที่มีพื้นฐานและภูมิหลังความเป็นมาตลอดจนประวัติศาสตร์แตกต่างไปจากไทย อาจมีแนวความคิดที่จะต้องแยก  “รัฐ”  ซึ่งหมายความรวมถึงประมุขของรัฐ ออกต่างหากจาก ศาสนาไม่ให้มีความเกี่ยวข้องกันตามทางการ  แต่สำหรับประเทศไทยไม่ได้ยึดถือหลักการเช่นนั้นตรงกันข้าม รัฐได้ให้ความคุ้มครองและส่งเสริมศาสนาต่างๆ  อย่างจริงจังเสมอมา เพราะตระหนักดีว่า ศาสนาทั้งหลายล้วนมีจุดมุ่งหมายที่จะอบรมสั่งสอนศาสนิกของตนให้เป็นคนดีด้วยกันทั้งนั้น

          หากเราย้อนกลับไปศึกษาประวัติความเป็นมาของชาติไทย ตั้งแต่เริ่มมีการจดบันทึกไว้เป็นหลักฐานจนถึงสมัยปัจจุบัน เราจะพบว่าคนไทยตั้งแต่ครั้งบรรพชน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งได้เผยแผ่เข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมินี้เป็นเวลากว่าหนึ่งพันปีแล้วพระพุทธศาสนาได้ฝังรากลึกลงในจิตใจของคนไทย จนอาจกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ขณะเดียวกันก็มีคนไทยที่ศรัทธาเลื่อมใสและเป็นศาสนิกที่ดีของศาสนาต่างๆ อีกหลายศาสนา เป็นต้นว่า ศาสนาอิสลามศาสนาคริสต์ ศาสนาฮินดู  และศาสนาซิกข์ศาสนาต่างๆ เหล่านี้มีคนนับถือจำนวนมิใช่น้อยแม้ชาวไทยจะนับถือศาสนาแตกต่างกัน แต่ก็ถือว่าตนเป็นพี่น้องร่วมชาติเดียวกัน ยังไม่เคยปรากฏและคงจะไม่ปรากฏเลยว่า พี่น้องชาวไทยที่นับถือศาสนาหรือนิกายต่างกัน จะจับอาวุธเข้าประหัตประหารกัน จนเกิดสภาพสงครามกลางเมืองอย่างในบางภูมิภาคของโลก ข้อนี้ถือเป็นความดีที่น่าอัศจรรย์อย่างหนึ่งของคนไทย

          ปัจจัยสำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งที่บันดาลให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ดังกล่าวข้างต้นนั้น ได้แก่ พระราชจริยาและพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่ครั้งบรรพกาล ที่ทรงดำรงพระองคอยู่ในฐานะเหมาะสมแก่การที่ทรงเป็นองค์พระประมุขของชาติมาโดยตลอดแม้เมื่อจะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้วหลักการสำคัญที่เป็นพฤตินัยอันยั่งยืนมาแต่โบราณข้อนี้ ก็ได้มีการบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทของชาติรัฐธรรมนูญทุกฉบับรวมทั้งรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติรับรองไว้ในหมวดพระมหากษัตริย์ มาตรา ๙ ว่า  “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ  และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก”

          บทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นมีความหมายว่า เนื่องจากประเทศไทยของเรา ประชากรส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชน พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขของรัฐจึงต้องทรงเป็นพุทธมามกะ คือ เป็นผู้ที่นับลือศาสนาพุทธ และในขณะเดียวกันก็ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก คือ ทรงทำนุบำรุงอุปถัมภ์ศาสนาทั้งปวงในขอบขัณฑสีมา โดยไม่ทรงแบ่งแยกว่าเป็นศาสนาใดด้วย
นอกจากความหมายดังกล่าวข้างต้นแล้วในด้านนิตินัย ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญยังได้เคยอธิบายบทมาตราทำนองเดียวกันนี้ ซึ่งในเวลานั้นปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๑๑ ว่า
          “การที่มาตรานี้กำหนดว่า  “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ” นั้น เป็นการกำหนดว่า
           (๑) ก่อนหน้าที่คณะองคมนตรีจะเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช  ๒๔๖๗ ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ และก่อนหน้าที่รัฐสภาจะให้ความเห็นชอบตามมาตรา๒๓ นั้น คณะองคมนตรีและรัฐสภาจะต้องสอบสวนจนเป็นที่พอใจว่า ผู้สืบราชสันตติวงศ์นั้นเป็นพุทธมามกะ
           (๒) เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงครองราชย์แล้ว จะทรงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นไม่ได้ ถ้าทรงเปลี่ยนศาสนา ถือว่าขาดคุณสมบัติที่จะเป็นพระมหากษัตริย์”

          บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะนี้  บัญญัติขึ้นเพื่อสะท้อนความจริงในประวัติศาสตร์ที่ว่าพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นต้นมาทุกพระองค์ล้วนมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง พระมหากษัตริย์บางพระองค์มีพระราชศรัทธาถึงกับทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุในระหว่างเวลาที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว ได้แก่ สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอาทิ และเมื่อครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เคยทรงพระราชนิพนธ์เพลงยาวแถลงความในพระราชหฤทัยไว้อย่างน่าประทับใจยิ่งตอนหนึ่งว่า
               “ตั้งใจจะอุปถัมภก
                ยอยกพระพุทธศาสนา
                จะป้องกันขอบขัณฑสีมา
                รักษาประชาชนแลมนตรี”

          สำหรับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ในวันที่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือ วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะท่ามกลางที่ชุมนุมสงฆ์ทั้งปวง ต่อมาเมื่อมีโอกาสอันสมควร ได้เสด็จออกทรงพระผนวช โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว. ชื่น นพวงศ์)  เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ เป็นที่แซ่ซ้องอนุโมทนาของพสกนิกรทั้งแผ่นดิน ยิ่งไปกว่านั้นยังได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้วยสัมมาปฏิบัตินานัปการ ทรงสร้างสมพระราชกุศลสมภารบารมีมิได้ว่างเว้น ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาด้วยอุปการกิจต่าง ๆ ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ว่า ในรัชกาลนี้ ได้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๐ การสังคายนาครั้งนั้นอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงบำเพ็ญธรรมทานอันยิ่งใหญ่ โดยทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่อง “พระมหาชนก” เผยแพร่แก่มหาชน ด้วยพระราชประสงค์ที่จะทรงชี้ให้เห็นผลอันอุดมเลิศของความเพียร พระราชกรณียกิจและพระราชจริยาทั้งปวงนี้ สมกับที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวในโลกปัจจุบัน ที่ทรงนับถือพระพุทธศาสนา

          อนึ่ง สมควรกล่าวด้วยว่า ในฐานะที่ทรงเป็นพุทธมามกะ การคณะสงฆ์ทั้งปวงจึงอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์เสมอมา ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ที่บังคับใช้อยู่ทุกวันนี้มาตรา ๗ กำหนดว่า “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช” สมเด็จพระสังฆราชที่ทรงสถาปนานี้ ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ตลอดทั้งสังฆมฑล สมณศักดิ์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่พระราชาคณะทั้งปวงก็ เป็นไปโดยอนุโลมตามพระราชประเพณีประกอบ กับพระราชอำนาจที่จะทรงสถาปนาฐานันดรศักดิ์ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

          ส่วนบทบัญญัติที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกนั้น ก็ได้บัญญัติขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นมาในประวัติศาสตร์ด้วยเช่นเดียวกัน พระมหากษัตริย์ของไทยได้ทรงเป็นตัวแทนของชาติประกาศความมีน้ำใจกว้างขวาง ไม่รังเกียจกีดกันผู้ที่ศรัทธาเลื่อมใสศาสนาต่างกัน ทุกคนล้วนแต่เป็นข้าแผ่นดินผู้อยู่ในข่ายแห่งพระมหากรุณาเสมอกัน

          ในด้านการศาสนาอิสลามนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติ การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. ๒๕๔๐ ขึ้นเพื่อเป็นหลักในการบริหาร ตามความในมาตรา ๖  ของพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีคนหนึ่งเพื่อเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทยนอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่อิสลามิกชนนานัปการ เช่น  ได้พระราชทานพระราชทรัพย์สำหรับใช้จ่ายในการพิมพ์พระมหาคัมภีร์อัล-กุรอ่านฉบับภาษาไทยออกเผยแพร่ ได้พระราชทานเงินอุดหนุนและซ่อมบำรุงมัสยิดหลายแห่ง นอกจากนี้ ยังได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้พระบรมราชวงศ์เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในงานเมาลิดกลางเป็นประจำทุกปี  พระราชกรณียกิจดังกล่าวนี้ทำให้ชาวไทยมุสลิมทุกคนรู้สึกซาบซึ้งตื้นตันใจ

          ทางฝ่ายคริสต์ศาสนา ก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์เช่นเดียวกับศาสนาอื่นโดยทรงอุดหนุนกิจการคริสต์ศาสนาตามวาระโอกาสต่างๆ อยู่เสมอ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในงานพิธีสำคัญๆ  ของคริสต์ศาสนิกชนเป็นประจำ และที่สำคัญที่สุดคือ ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินเยือนนครรัฐวาติกัน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนทวีปยุโรปเมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อน เพื่อกระชับทางพระราชไมตรีระหว่างประเทศไทยกับคริสตจักร ณ กรุงวาติกัน ฝ่ายนครรัฐวาติ กันก็ได้ แต่งตั้ง เอกอัครสมณทูตมาประจำในพระราชสำนัก แม้แต่สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ ๒ ซึ่งเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ปัจจุบัน ก็ได้เสด็จเยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะ นับว่าเป็นกรณีพิเศษยิ่ง เพราะไม่เคยปรากฏมาก่อนว่าประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิกจะเสด็จมาเยือนประเทศไทยเช่นนี้

          เราสามารถกล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะที่ทรงเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปกัมภก ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้อย่างสมบูรณ์หาที่ติมิได้ที่เป็นดังนี้ เห็นจะมิใช่เพราะกฎหมายบัญญัติจึงต้องทรงกระทำ หากแต่เป็นเพราะพระมหากษัตริย์ของไทยทุกพระองค์ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระองค์เช่นนี้ กฎหมายเพียงแต่บัญญัติรับรองความจริงให้เป็นที่ประจักษ์เท่านั้น

พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก, พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก หมายถึง, พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก คือ, พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ความหมาย, พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu