ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

มูลนิธิราชประชาสมาสัย, มูลนิธิราชประชาสมาสัย หมายถึง, มูลนิธิราชประชาสมาสัย คือ, มูลนิธิราชประชาสมาสัย ความหมาย, มูลนิธิราชประชาสมาสัย คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
มูลนิธิราชประชาสมาสัย

          เมื่อพุทธศักราช  ๒๔๙๗  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ณ  ศาลาเฉลิมกรุงรายได้ทั้งหมดพระราชทานในการสร้างตึก “อานันทมหิดล”  ในบริเวณโรงพยาบาลศิริราชเพื่อเป็นพระอนุสรณ์สถานแด่สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล  ปรากฏว่า  รายได้จากการฉายภาพยนตร์เมื่อ  ๔๕  ปี  มาแล้วนั้น สูงถึง  ๔๔๔,๖๐๐.๕๐ บาท (สี่แสนสี่หมื่นสี่พันหกร้อยบาทห้าสิบสตางค์) แต่กระนั้นก็ยังไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง จึงพระราชทานเงินส่วนพระองค์และเงินที่มีผู้โดยเสด็จพระราชกุศลเพิ่มเติมอีก รวมทั้งสิ้น ๑,๕๕๘,๕๖๑ บาท  (หนึ่งล้านห้าแสนห้าหมื่นแปดพันห้าร้อยหกสิบเอ็ดบาท) ตึก “อานันทมหิดล” จึงถือกำเนิดขึ้นสมดังพระราชประสงค์  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดตึก“อานันทมหิดล” ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๐๐

         เมื่อสร้างตึกสำหรับเด็กเจ็บป่วยขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราชเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่ามีเงินคงเหลืออีก ๑๗๕,๐๖๔.๗๕ บาท (หนึ่งแสนเจ็ดหมื่นห้าพันหกสิบสี่บาทเจ็ดสิบห้าสตางค์)  ประจวบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในสมัยนั้น ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานเงินเพื่อสร้างสร้างสถาบันอบรมเจ้าหน้าที่และค้นคว้าเรื่องโรคเรื้อนขึ้นที่สถานพยาบาลพระประแดง ในวงเงินประมาณหนึ่งล้านบาทจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  พระราชทานเงินจำนวนที่เหลือนี้ให้เป็นทุนในการริเริ่มเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคเรื้อน  การก่อสร้างได้ดำเนินตามโครงการขึ้นทีละหลังตามลำดับ และตามจำนวนเงินที่มีอยู่จนครบสี่หลัง รวมเป็นเงิน ๑,๒๓๖,๐๐๐ บาท  (หนึ่งล้านสองแสนสามหมื่นหกพันบาท)

          เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พุทธศักราช  ๒๕๐๑พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินีนาถ  ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์  ณ  สถานพยาบาลพระประแดง  เมื่อการก่อสร้างได้ดำเนินการจนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  กระทรวงสาธารณสุขได้ขอพระราชทานนามสถาบันแห่งนี้จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “สถาบันราชประชาสมาสัย” (มีความหมายว่า พระมหากษัตริย์และประชาชนอาศัยซึ่งกันและกัน) และเสด็จพระราชดำเนินเปิด “สถาบันราชประชาสมาสัย”  เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม  พุทธศักราช ๒๕๐๓

         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริว่า  ดวงตราประจำของมูลนิธิควรเป็นรูปดอกบัวกับน้ำ  ซึ่งหมายถึง พระมหากษัตริย์กับประชาชน  ผู้ออกแบบดวงตรา คือ นายเหม เวชกร  ดอกบัวสีเหลือง หมายถึง พระมหากษัตริย์  สีเหลืองคือสีประจำวันจันทร์อันเป็นวันพระบรมราชสมภพ  น้ำ หมายถึง ประชาชน โดยธรรมชาติแล้วดอกบัวกับน้ำต้องอาศัยซึ่งกันและกัน จึงมีชีวิตเจริญอยู่ได้

          นับตั้งแต่นั้นมา สถาบันราชประชาสมาสัยนี้ได้รับความช่วยเหลือจากองค์การต่างประเทศหลายองค์การ องค์การอนามัยโลกได้จัดส่งที่ปรึกษามาประจำ กองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์การเรียนการสอน แล้วยังมีมูลนิธิฮาร์ทเดเก้นแห่งประเทศเยอรมนี และซาซากาวาแห่งประเทศญี่ปุ่น และองค์การอื่นๆ ที่ร่วมมือช่วยเหลือสถาบันนี้อีกมาก

         เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของผู้ป่วยโรค เรื้อน  ณ  สถานพยาบาลแห่งนี้  ทรงมีพระราชหฤทัยห่วงใยเด็กๆ  ซึ่งเป็นบุตรของผู้ป่วยโรคเรื้อน วิธีการในสมัยนั้นโรงพยาบาลจำเป็นต้องแยกเด็กจากพ่อแม่มาเลี้ยงไว้ต่างหากตั้งแต่แรกเกิด เพื่อมิให้ติดเชื้อจากพ่อแม่ เพราะทางสถานพยาบาลพระประแดงยังไม่มีหน่วยเลี้ยงบุตรผู้เป็นโรคเรื้อน เมื่อเด็กโตขึ้นจึงส่งไปให้สถานสงเคราะห์เด็กของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขที่จังหวัดนนทบุรี เพื่อให้ศึกษาเล่าเรียนต่อไป

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคำนึงถึงการเล่าเรียนของบุตรผู้ป่วยโรคเรื้อน  ซึ่งทางราชการแยกเลี้ยงไว้ในสถานเลี้ยงเด็กของกรมอนามัย เด็กเหล่านั้นก็เป็นปกติมิได้ติดต่อโรคเรื้อน เมื่อนายพงษ์สวัสดิ์   สุริโยทัย  กับคณะได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินจำนวน  ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท  (หนึ่งล้านบาท)  จึงมีพระราชดำริว่า ครึ่งหนึ่งของเงินจำนวนนี้ควรใช้จ่ายในการก่อสร้าง
โรงเรียน  อีกครึ่งหนึ่งสำหรับใช้เป็นทุนการศึกษาแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้นายขวัญแก้ววัชโรทัย  นำกระแสพระราชดำริไปปรึกษาท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา  มาลากุล  รองประธานกรรมการบริหารมูลนิธ และท่านผู้หญิงจงกลกิตติขจร  ประธานกรรมการบริหาร  ว่ามีพระบรมราโชบาย  ที่จะให้มูลนิธิสร้างโรงเรียน โดยให้อาคารเรียนมีลักษณะไม่แตกต่างจากบ้านพ่อแม่ของเด็กมากนัก  เพราะทรงพิจารณาว่าถ้าเด็กเหล่านี้ได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างกูกวิธี ให้มีโอกาสใช้ชีวิตความเป็นอยู่ที่พอดีตามชีวิตจริงของตน เมื่อเรียนจบแล้วเด็กเหล่านั้นก็จะดำเนินชีวิตไปตามปกติสามัญเยี่ยงประชาชนธรรมดาได้  แต่ถ้าให้กินอยู่ในอาคารใหญ่งดงามกว่าบ้านที่เขาเคยอยู่กับพ่อแม่ จะทำให้เด็กเคยชินต่อความสะดวกสบายมากเกินฐานะ  ต่อไปจะทำให้ดำเนินชีวิตลำบากเพราะปรับตัวไม่ได้

          ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล รับสนองพระบรมราโชบายด้วยความโสมนัส แต่ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างอาคารเป็นตึกเพื่อความมั่นคงถาวร และขอที่ราชพัสดุซึ่งเป็นสวนมะพร้าว  ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจากผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ โดยตั้งอยู่เยื้องกับสถานพยาบาลโรคเรื้อนพระประแดงที่ดินทั้งหมดมีสองแปลง  มีถนนสุขสวัสดิ์ผ่านด้วยความสามารถของผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา  ที่ไปขอร้องผู้ที่ทำสวนมะพร้าวอยู่  ณ  ที่เดิมนั้น  ให้ขยับบ้านพักอาศัยถอยหลังออกไปปลูกใหม่ได้สำเร็จ มูลนิธิราชประชาสมาสัยได้รับความสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องอาคารเรียนระดับประถมศึกษา อาคารโรงฝึกงาน รวมทั้งบุคลากรผู้สอนได้ครบกระบวนการ  พร้อมด้วยอาคาร ๑๐ ปี  หนึ่งหลัง  ต่อมาเมื่อถึงกำหนดงานพระราชพิธีรัชดาภิเษก ในปีพุทธศักราช  ๒๕๑๔ กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายที่จะสร้างโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติขึ้นทั้ง ๔ มุมเมือง จึงขอที่ดินจากกระทรวงสาธารณสุข  ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามโรงเรียนประถมของมูลนิธิราชประชาสมาสัย สร้างเป็นโรงเรียนมัธยม พร้อมทั้งมีหอประชุมโรงเรียนราชประชาสมาสัย จึงได้ค่อยๆ  เจริญก้าวหน้าขึ้น พร้อมทั้งมีโรงเรียนอนุบาล  โรงเรียนระดับประกมศึกษา  และโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาขยายรับเด็กนักเรียนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอพระประแดง  ให้ได้มีโอกาสเข้าศึกษาในโรงเรียนนี้ส่วนเด็กนักเรียนซึ่งเป็นบุตรผู้ป่วยโรคเรื้อนนั้นแม้จะมีกรรมแต่กำเนิดและถูกแยกจากบิดามารดาแต่ปัจจุบันได้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนสามารถประกอบสัมมาอาชีวะเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้เป็นจำนวนไม่น้อย

           คณะกรรมการมูลนิธิราชประชาสมาสัยและผู้ร่วมงานได้ปฏิบัติงานโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยยากลำบาก  ต่างอุทิศใจกายร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ  ของราชการเกี่ยวกับกิจการนี้ทำให้การควบคุมและการบำบัดโรคเรื้อนเกิดผลดีกว้างขวางยิ่งขึ้น  ผลงานสำคัญที่ต้องกล่าวถึงก็ คือ ความสำเร็จของมูลนิธิในด้านการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวกับโรคเรื้อนแก่สาธารณชน ทำให้คนทั่วไปเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของโรคเเละการติดต่อของโรคอย่างถูกต้องมากขึ้น โรงเรียนของมูลนิธิเป็นที่นิยมของประหาชนในอำเภอพระประแดง ซึ่งเป็นเขตที่ตั้งของโรงเรียน ผู้ปกครองนิยมส่งบุตรหลานเข้าศึกษา ร่วมเรียนร่วมเล่นกับบุตรธิดาของผู้ป่วยโรคเรื้อนโดยปราศจากความรังเกียจเพราะเป็นเด็กปกติ ผู้สมัครเข้าเรียนมีจำนวนมากจนต้องสอบคัดเลือก เหตุการณ์ที่ดูว่าเป็นเรื่องเล็กๆ  น้อยๆ  เช่นนี้ กลับเป็นเรื่องที่สำคัญและน่าชื่นชมยินดี เพราะได้ขจัดความทุกข์ของสังคมผู้ป่วยโรคเรื้อน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่รังเกียจหวาดกลัวแก่คนทั่วไป  สถิติก่อนที่จะพระราชทานความช่วยเหลือ  มีคนเป็นโรคเรื้อนถึง  ๕๐  คน  ต่อประชากรหนึ่งหมื่นคน  ปัจจุบันนายแพทย์ ธีระรามสูตร ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคเรื้อน ได้แจ้งให้ทราบว่าในปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคเรื้อนที่ไม่ติดเชื้อและกำลังรับการรักษาอยู่เพียง .๓  (จุดสามคนไม่ถึงหนึ่งคน)  ต่อประชากรหนึ่งหมื่นคน แสดงว่าประเทศไทยเราสามารถควบคุมโรคเรื้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพทั่วประเทศ

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราทรงชุบชีวิตผู้ป่วยโรคเรื้อนที่สิ้นหวังในชีวิต  เพราะคิดว่าเป็นโรคเวรโรคกรรมไม่สามารถรักษาได้ จึงพากันมารับการรักษาจนหาย ด้วยความช่วยเหลือจากทางราชการจนสามารถมีที่ทำกิน ปลูกต้นไม้  เช่น  ส้ม  มะม่วง เป็นต้น มีรายได้เลี้ยงตนได้ดังตัวอย่าง ผู้ที่อยู่ที่นิคมแพร่งขาหยั่ง จังหวัดจันทบุรี นิคมโนนสมบูรณ์ จังหวัดขอนแก่น

          แม้ผู้ป่วยโรคเรื้อนจะมีจำนวนลดน้อยลง แต่มูลนิธิราชประชาสมาสัย ก็ยังให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานคำแนะนำแก่มูลนิธิ  ให้เพิ่มความช่วยเหลือในเรื่องการฟื้นฟูความพิการของผู้ป่วยโรคเรื้อนที่หายป่วยและปราศจากเชื้อแล้ว

มูลนิธิราชประชาสมาสัย, มูลนิธิราชประชาสมาสัย หมายถึง, มูลนิธิราชประชาสมาสัย คือ, มูลนิธิราชประชาสมาสัย ความหมาย, มูลนิธิราชประชาสมาสัย คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu