ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

สำนักราชเลขาธิการ, สำนักราชเลขาธิการ หมายถึง, สำนักราชเลขาธิการ คือ, สำนักราชเลขาธิการ ความหมาย, สำนักราชเลขาธิการ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
สำนักราชเลขาธิการ

          สำนักราชเลขาธิการเป็นหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการเลขานุการในพระองค์พระมหากษัตริย์ ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในสมัยนั้นเรียกว่า ออฟฟิศไปรเวตสิเกรตารีหลวงหรือ กรมราชเลขานุการ มีฐานะเป็นกรมพิเศษไม่สังกัดอยู่กับหน่วยงานใด ในที่นี้  ไม่พบหลักฐานว่า ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งกรมราชเลขานุการ ขึ้นในปีใดแต่ในปีพุทธศักราช ๒๔๑๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งพระยาภาษกรวงษ์ดำรงตำแหน่ง “ไปรเวตสิเกรตารีหลวง” หรือ  “ราชเลขานุการ”  และในปีพุทธศักราช ๒๔๓๘  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ราชเลขานุการ  ถือตราพระนารายณ์ยืนแท่นเป็นตราประจำตำแหน่ง

          ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยกกรมพระอาลักษณ์และกรมรัฐมนตรีสภา  มารวมอยู่ในกรมราชเลขานุการ เนื่องจากมีหน้าที่เกี่ยวเนื่องกัน แต่ให้คงชื่อกรมทั้งสองอยู่อย่างเดิม มีหน้าที่เป็นราชเลขานุการฝ่ายกฎหมายของพระมหากษัตริย์ส่วนกรมราชเลขานุการมีหน้าที่เป็นราชเลขานุการทั่วไป และราชเลขานุการในพระองค์พระมหากษัตริย์ด้วย

         รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๒ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เปลี่ยนชื่อตำเหน่งราชเลขานุการเป็นราชเลขาธิการและเปลี่ยนชื่อกรมราชเลขานุการเป็นกรมราชเลขาธิการเพื่อให้สอดคล้องกัน และทรงพระกรุณาโปรดกล้าโปรดกระหม่อมให้เรียกชื่อตำแหน่งราชเลขาธิการเป็นภาษาอังกฤษว่า “His Majesty's Principal  Private Secretary”  อย่างไรก็ตาม ปรากฏหลักฐานว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์ควบคู่กับตำแหน่งราชเลขาธิการ  โดยราชเลขานุการในพระองค์ถือตรานาคบัลลังก์เป็นตราประจำตำแหน่ง ส่วนราชเลขาธิการยังคงถือตราพระนารายณ์ยืนแท่นเช่นเดิม หากแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แก้ไขหน้าที่ประทับนูนให้เป็นหน้าราบและแก้ไขด้ามที่จับประทับใหม่ ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๖๔  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รวมกรมราชเลขานุการในพระองค์ เข้ากับกรมราชเลขาธิการ  โดยมีราชเลขาธิการเป็นผู้บังคับบัญชา

         ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  กรมราชเลขาธิการได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวง และเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงมุรธาธร  เมื่อวันที่ ๗  เมษายน  พุทธศักราช  ๒๔๗๕ และเรียกตำแหน่งราชเลขาธิการว่าเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร  ภายหลังเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔  มิถุนายนพุทธศักราช ๒๔๗๕  แล้ว  กระทรวงมุรธาธรและกรมราชเลขานุการในพระองค์ถูกรวมเข้าเป็นหน่วยงานหนึ่ง ในสังกัดกระทรวงวัง ต่อมาอีกสองเดือนเศษ  จึงได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ยุบกรมราชเลขาธิการ หรือกระทรวงมุรธาธรและโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มี กรมราชเลขาธิการของคณะกรรมการราษฎร ขึ้นแทนที่และปฏิบัติงานในหน้าที่เดิมของกรมราชเลขาธิการเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวง ทบวง และกรม ๒๔๗๖ จึงปรากฏเฉพาะกรมราชเลขานุการในพระองค์เท่านั้น และมีฐานะเป็นกรมหนึ่ง สังกัดศาลาว่าการพระราชวังซึ่งต่อมายกฐานะขึ้นเป็นกระทรวงวัง

         กรมราชเลขานุการในพระองค์ได้สังกัดอยู่ในกระทรวงวังประมาณสองปีเศษ  ต่อมาในปีพุทธศักราช  ๒๔๗๘  จึงได้แยกออกมาเป็นหน่วยงานอิสระ เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ และอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี  มีอำนาจหน้าที่จัดสรรสารบรรณ และการในพระองค์พระมหากษัตริย์

         รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล  พระอัฐมรามาธิบดินทร  ในปีพุทธศักราช  ๒๔๘๘  สำนักงาน ราชเลขานุการในพระองค์มีฐานะเทียบเท่ากรม  แบ่งส่วนราชการออกเป็น  ๒  กอง คือ  กองกลาง และกองราชเลขานุ การในพระองค์ ต่อมาในปีพุทธศักราช๒๔๙๓ รัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมไห้เปลี่ยนชื่อกรมราชเลขานุการในพระองค์เป็น สำนักราชเลขาธิการ มีฐานะเป็นทบวงการเมือง  มีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับการเลขานุการในพระองค์พระมหากษัตริย์ และอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี

 ในปัจจุบัน สำนักราชเลขาธิการมีอำนาจและหน้าที่ตามที่ระบุไว้ในประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๑๖ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน  พุทธศักราช ๒๕๑๕ ข้อ ๓๒ ซึ่งกำหนดไว้ว่า

         “สำนักราชเลขาธิการ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลขานุการในพระองค์พระมหากษัตริย์ และให้อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี”

          อำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลขานุการในพระองค์พระมหากษัตริย์ของสำนักราชเลขาธิการดังกล่าว มีดังนี้คือ
          ๑.  ทำหน้าที่ราชเลขาธิการในพระองค์พระมหากษัตริย์ทั้งในราชการแผ่นดินและส่วนพระองค์ และทำหน้าที่ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินีนาถ  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ   สยามบรมราชกุมารีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี  พระวรราชาทินัดดามาตุ ตลอดจนทำหน้าที่เลขาธิการคณะองคมนตรี
          ๒. ทำหน้าที่ประสานราชการระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐบาล และรัฐสภาให้เป็นไปโดยเรียบร้อย และพิจารณาประสานพระราชภารกิจโดยทำหน้าที่ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเรื่องที่มาจากองคมนตรี รัฐสภา คณะรัฐมนตรีกระทรวง ทบวง กรม พระบรมวงศานุวงศ์ และประชาชน
          ๓. ทำหน้าที่รวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ พระราชประเพณี และศาสนา
          ๔. พิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการขอพระราชทานในเรื่องต่าง ๆ การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญ และเข็มต่างๆ
          ๕. ทำหน้าที่ร่างพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท และพระบรมราชโองการ
          ๖. ทำหน้าที่ประสานงาน ดูแลการดำเนินงานตามโครงการส่วนพระองค์  โครงการตามพระราชประสงค์ โครงการพัฒนาตามพระราชดำริ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้บรรลุตามพระราชประสงค์

สำนักราชเลขาธิการ, สำนักราชเลขาธิการ หมายถึง, สำนักราชเลขาธิการ คือ, สำนักราชเลขาธิการ ความหมาย, สำนักราชเลขาธิการ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu