ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

การใช้คอมพิวเตอร์ในโรงงานอุตสาหกรรม, การใช้คอมพิวเตอร์ในโรงงานอุตสาหกรรม หมายถึง, การใช้คอมพิวเตอร์ในโรงงานอุตสาหกรรม คือ, การใช้คอมพิวเตอร์ในโรงงานอุตสาหกรรม ความหมาย, การใช้คอมพิวเตอร์ในโรงงานอุตสาหกรรม คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
การใช้คอมพิวเตอร์ในโรงงานอุตสาหกรรม

          ในโรงงานอุตสาหกรรมนั้น  นอกจากจะใช้คอมพิวเตอร์ทำบัญชีต่างๆ เช่น  บัญชีเงินเดือน บัญชีลูกหนี้และบัญชีเจ้าหนี้แล้ว ก็อาจจะใช้คอมพิวเตอร์ช่วยงานของโรงงานโดยตรง เช่น การจัดส่งสินค้าตามใบสั่ง  การควบคุมวัสดุคงคลัง การจัดการผลิต และการคิดราคาต้นทุนสินค้า เป็นต้น
          ในการจัดสินค้าส่งตามใบสั่ง  (order filling) นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าโดยรวดเร็วสมมติว่าพนักงานเจาะบัตรเจาะใบสั่งสินค้าของบ่ายวันที่ผ่านมาและของเช้าวันนั้นเสร็จภายใน  ๑๒.๐๐ นาฬิกา  ระหว่างเวลาที่พนักงานหยุดพักรับประทานอาหารกลางวันคอมพิวเตอร์ก็จะพิมพ์ใบหยิบสินค้า (picking label) ให้ เมื่อพนักงานคลังสินค้ากลับเข้าทำงานเวลา ๑๓.๐๐ นาฬิกา  ก็เริ่มจัดสินค้าลงหีบห่อได้ทันทีภายใน ๑๗.๐๐ นาฬิกา  ของวันนั้นส่วนตอนเช้า พนักงานคลังสินค้าก็จะได้มีเวลาตรวจสินค้าคงคลังและจัดสินค้าที่มาใหม่
           นอกจากพิมพ์ใบหยิบสินค้าแล้ว คอมพิวเตอร์จะพิมพ์ใบจัดสินค้าเข้าหีบห่อ (packing  slips) จัดปรับปรุงแก้ไขแฟ้มข้อมูลวัสดุคงคลัง  และจัดรายการสำหรับทำใบส่งของ
           ถ้าสินค้าไม่พอ  คอมพิวเตอร์ก็จะทราบ เพราะมีแฟ้มข้อมูลวัสดุคงคลังอยู่ คอมพิวเตอร์จะจัดสั่งสินค้าที่ขาดให้ เพื่อจัดส่งในวันต่อๆ ไป
           คอมพิวเตอร์อาจจะทำรายงานต่างๆ ให้ด้วย เช่น จำนวนลูกค้าที่สั่งสินค้าแต่ละชนิด  จำนวนชิ้นสินค้าที่สั่งโดยเฉลี่ย และเนื้อที่หรือปริมาตรที่ต้องใช้ในการเก็บสินค้า
           เมื่อส่งสินค้าได้เร็วขึ้นก็มีทางเก็บเงินได้เร็วขึ้น มีทางขายสินค้าได้มากขึ้น และเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสินค้าน้อยลง
           นอกจากจะใช้คอมพิวเตอร์ช่วยจัดสั่งสินค้าแล้ว ก็อาจใช้คอมพิวเตอร์ช่วยงานสินค้าคงคลัง ซึ่งจะเห็นผลได้ชัดเจนทั้งทางด้านความต้องการเงินสดและด้านกำไร  หลักสำคัญก็คือ จัดสั่งสินค้าจากผู้ผลิตให้มีมากพอขายแต่ไม่ให้มากเกินไป ถ้ามีสินค้าไม่พอขายก็ขาดกำไรจากสินค้าที่ไม่ได้ขายนั้น ถ้ามีสินค้ามากเกินไปขายไม่หมด  ก็เสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา และเสียผลประโยชน์ที่จะได้จากการเอาเงินไปใช้หมุนเวียนทางอื่น
           ข้อมูลที่สำคัญในการควบคุมวัสดุคงคลัง คือ แฟ้มข้อมูลหลัก ซึ่งอาจจะได้มาจากระบบจัดสั่งสินค้าหรือสร้างขึ้นโดยเฉพาะเพื่อทำงานด้านวัสดุคงคลัง อย่างไรก็ตามแฟ้มข้อมูลหลักจะระบุความต้องการของสินค้าทุกชนิดในอดีตและการเคลื่อนไหวของสินค้าเหล่านั้นในปัจจุบัน
           การใช้ประวัติความต้องการสินค้ามาทำนายความต้องการในเดือนต่อๆ ไป มีสูตรและวิธีทำนายหลายประเภทวิธีทำนายต่างๆ นี้มีผลต่างกัน ฉะนั้น  พนักงานจัดซื้อจะต้องพิจารณาการทำนายแบบต่างๆ นี้โดยถี่ถ้วน จะต้องพิจารณาผลที่ได้จากการลงทุน ความยากง่ายและปลอดภัยในการเก็บสินค้า เวลาที่ต้องรอตั้งแต่เริ่มสั่งจนได้รับสินค้าคอมพิวเตอร์จะใช้ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ไปคิดว่าเมื่อใดควรจะสั่งสินค้าชนิดใดเท่าใด
           นอกจากประวัติความต้องการสินค้าแล้ว คอมพิวเตอร์จะคำนึงถึงข้อมูลภายนอก เช่น สภาวะเศรษฐกิจทั่วๆ ไปและกรณีพิเศษต่างๆ ด้วย  เป็นต้น
          พนักงานคลังสินค้าควรจะตรวจสอบสินค้าที่มีอยู่จริงว่า ตรงกับบัญชีของคอมพิวเตอร์หรือไม่ ถ้ามีความแตกต่างกันเล็กน้อยก็อาจจะปรับบัญชีของคอมพิวเตอร์ให้ตรงกับของจริงเป็นครั้งคราว แต่ถ้าแตกต่างกันมากก็จะต้องสืบหาเหตุผล
          ถ้าใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมวัสดุคงคลังแล้ว ก็อาจใช้ชุดคำสั่งเดียวกันนั้น ช่วยในการจัดซื้อได้ด้วย  อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารควรตรวจดูจำนวนและชนิดสินค้าที่คอมพิวเตอร์เสนอให้ซื้อและเปลี่ยนแปลงแก้ไขบ้างตามสภาวะเศรษฐกิจและสภาวะธุรกิจที่ผู้บริหารทราบดีกว่าคอมพิวเตอร์  ถ้าผู้บริหารเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายการสั่งซื้อก็ควรแก้รายการในคอมพิวเตอร์ให้ตรงกันด้วยจากนั้นคอมพิวเตอร์ก็อาจพิมพ์จดหมายสั่งซื้อสินค้าและจัดทำแฟ้มสั่งสินค้า เมื่อสินค้าที่สั่งมาถึงคลัง พนักงานรับสินค้าจะต้องตรวจของว่าถูกต้องตามที่สั่งหรือไม่ แล้วแจ้งให้คอมพิวเตอร์ทราบเพื่อจัดแฟ้มรับสินค้า และหักบัญชีจากแฟ้มสั่งสินค้าพร้อมทั้งพิมพ์รายงานว่าสินค้าชนิดใดได้รับแล้วชนิดใดยังไม่ได้รับ  ชนิดใดสั่งไปนานเท่าใดแล้ว ปกติควรจะใช้เวลาเท่าใด   รายงานนี้อาจนำมาใช้จัดลำดับผู้ผลิตว่าบริษัทผู้ผลิตใดบริการดีหรือไม่ดีอย่างไร เพื่อจะได้เลือกสั่งสินค้าจากผู้ผลิตที่บริการดีในภายหลัง
          นอกจากสินค้าที่สั่งจากผู้ผลิตภายนอกแล้ว บางบริษัทอาจผลิตสินค้าบางอย่างขึ้นเอง หรือนำสินค้าที่สั่งจากภายนอกมาบรรจุขวดหรือกล่องที่มีขนาดเล็กลง การผลิตสินค้านี้อาจแบ่งเป็น ๒ แบบ  คือ ผลิตตามที่ลูกค้าสั่ง(manufacture-to-order) และผลิตเข้าคลัง (manufacture-to-stock) ในการนี้เราอาจใช้คอมพิวเตอร์ช่วยจัดวาระการผลิตสินค้า เพื่อให้ผลิตสินค้าได้ทันตามกำหนดเวลาที่ตกลงไว้กับลูกค้า หรือให้มีพอขายจากคลัง
          คอมพิวเตอร์อาจต้องออกกำหนดการผลิต ระบุว่าจะต้องผลิตอะไร เมื่อใด ก่อนหรือหลังสิ่งใด ถ้าไม่ใช้คอมพิวเตอร์ก็อาจทำกำหนดการผลิตได้  แต่จะเสียเวลามากและอาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร คอมพิวเตอร์จะแปลความต้องการสินค้าเป็นความต้องการทางด้านงานต่างๆ ว่า สินค้าใดจะต้องผลิตเป็นจังหวะอย่างไร   แยกเป็นงานย่อยอย่างไรจะแบ่งพนักงานออกทำงานทางใดเมื่อใด เมื่องานใดเสร็จคอมพิวเตอร์ก็จะจัดการปรับกำหนดต่างๆ ให้สอดคล้องกันด้วย
          การใช้คอมพิวเตอร์จะช่วยให้ประสิทธิภาพของโรงงานดีขึ้น เช่น แทนที่จะทำงานที่ ๑  ตามด้วยงานที่ ๒ งานที่ ๓  เรื่อยๆ ไปตามใบสั่ง คอมพิวเตอร์อาจจะช่วยวิเคราะห์ก่อนว่างานที่ ๑  กับที่ ๓  และที่ ๕  เป็นงานแบบเดียวกันควรจัดกำหนดการทำติดต่อกันไปให้เสร็จ แล้วจึงค่อยทำงานที่๒ และที่ ๔  ซึ่งทำให้เสียเวลาปรับเครื่องน้อยลง ดังนี้เป็นต้น เมื่อประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น ราคาค่าผลิตก็จะต่ำลง เป็นประโยชน์ทั้งด้านผู้ผลิต ผู้ขาย และผู้ซื้อ
         จากการใช้คอมพิวเตอร์จัดวาระการผลิตสินค้า  และจากบัตรลงเวลาที่ใช้ในการทำบัญชีเงินเดือน เราอาจให้คอมพิวเตอร์ช่วยวิเคราะห์ต่อไปอีกขั้นหนึ่งว่าพนักงานผู้ใดทำงานชนิดใดได้ผลดี ทำงานชนิดใดได้ผลไม่ดี เพื่อเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้ใช้ในการจัดให้ผู้ใดทำงานอะไรอย่างไรต่อไป
         นอกจากนี้  ยังอาจให้ตีราคางานที่กำลังทำอยู่และที่ทำเสร็จไปแล้ว การตีราคางานที่กำลังทำอยู่นั้น อาจจะใช้เป็นประโยชน์ในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงงานที่ยังเหลือ เช่น สินค้าชนิดหนึ่งมีผู้สั่งจำนวนมากในราคาหนึ่ง เมื่อทำไปได้เพียงครึ่งเดียว ปรากฏว่าค่าแรงค่าวัสดุสูงกว่าที่คาดไว้มากฝ่ายบริหารก็จะได้พิจารณาว่ามีทางเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพื่อลดค่าใช้จ่ายของส่วนที่ยังเหลือได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ก็จะได้รีบขึ้นราคาสินค้าชนิดนั้นก่อนที่จะมีผู้สั่งเพิ่มเติม การตีราคางานที่เสร็จแล้วนั้น  อาจจะนำมาใช้วัดสมรรถภาพของหน่วยงานต่างๆ ได้ด้วย
         ผลการใช้คอมพิวเตอร์จัดบุคลากรและตีราคางานนี้จะช่วยให้บริษัทควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างใกล้ชิด และช่วยในการพิจารณาการตัดรายจ่ายว่าควรตัดทางด้านใดอย่างไร
         การใช้คอมพิวเตอร์ในโรงงานอุตสาหกรรมนี้ รวมถึงการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมด้วย

การใช้คอมพิวเตอร์ในโรงงานอุตสาหกรรม, การใช้คอมพิวเตอร์ในโรงงานอุตสาหกรรม หมายถึง, การใช้คอมพิวเตอร์ในโรงงานอุตสาหกรรม คือ, การใช้คอมพิวเตอร์ในโรงงานอุตสาหกรรม ความหมาย, การใช้คอมพิวเตอร์ในโรงงานอุตสาหกรรม คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 11

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu