ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ลักษณะของจิตรกรรมไทยแบบประเพณี, ลักษณะของจิตรกรรมไทยแบบประเพณี หมายถึง, ลักษณะของจิตรกรรมไทยแบบประเพณี คือ, ลักษณะของจิตรกรรมไทยแบบประเพณี ความหมาย, ลักษณะของจิตรกรรมไทยแบบประเพณี คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 2
ลักษณะของจิตรกรรมไทยแบบประเพณี

          จิตรกรรมไทยแบบประเพณีเด่นชัดด้วยสีที่ระบายเรียบและตัดเส้นแสดงรูปร่าง แสดงรายละเอียดของภาพ ดังภาพบุคคล เช่น พระราชา เสนาบดี บ่าว ไพร่ หรือภาพสัตว์ ต้นไม้ ดอกไม้ใบไม้ ทั้งหมดเขียนเพื่อให้ดูสมจริงตามเรื่องราวอันเป็นอุดมคติในพุทธศาสนา

          งานตัดเส้นในงานจิตรกรรมไทยมีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะแสดงฝีมือเชิงช่างแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นแนวความคิดทางสังคมระดับต่างๆ ภาพพระราชา เจ้านายหรือบุคคลชั้นสูง ข้าทาส บ่าวไพร่ มีกฎเกณฑ์ในการแสดงภาพแตกต่างกัน การแสดงออกทางด้านความประณีตก็ต่างกันด้วย

          ภาพพระราชาได้รับการตัดเส้นให้ดูอ่อนช้อยรายละเอียดทางด้านสรีระเขียนเพียงเท่าที่จำเป็นโดยไม่แสดงกล้ามเนื้อ รอยต่อข้อกระดูก เพราะสิ่งเหล่านี้ขวางกั้นลักษณะเลื่อนไหล  ที่ก่อให้เกิดความนุ่มนวลงามสง่าอย่างละคร โดยสื่อความตามท้องเรื่อง ซึ่งชาวไทยมีแนวความคิดว่าพระราชาทรงเป็นเทวราชา หรือสมมติเทพ เครื่องทรงของพระองค์ก็เขียนขึ้นอย่างประณีตพิถีพิถันปิดทองตัดเส้นอย่างงดงามที่เครื่องประดับ ภาพเจ้านายหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ก็เขียนอย่างประณีตลดหลั่นลงไป ดังกล่าวนี้เป็นลักษณะแห่งอุดมคติที่อิงความสมจริง

          ภาพเสนาบดีขุนนาง ภาพบ่าวไพร่ มีเครื่องแต่งกายตามยศศักดิ์ฐานะ กิริยาท่าทางของภาพบุคคลเหล่านี้มักเป็นไปอย่างธรรมชาติภาพผู้ดีมีกิริยาสุภาพนุ่มนวล ไม่ตลกคะนองอย่างภาพชาวบ้าน ซึ่งได้พบเห็นเสมอในฉากที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในชีวิตประจำวัน

          ภาพพระพุทธองค์ซึ่งย่อมเป็นภาพประธานในฉากเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนต่างๆ เขียนขึ้นให้สมจริง โดยผสมผสานกับพุทธลักษณะอันเป็นอุดมคติตามที่คัมภีร์ระบุไว้  กรรมวิธีของจิตรกรรมที่ช่างเขียนนำมาใช้เพื่อเน้นพุทธบารมี ได้แก่ กรอบประภามณฑลรอบพระวรกาย หรือกรอบรอบพระเศียร เป็นต้น ประภามณฑลหมายถึง รัศมีที่เปล่งออกมาจากพระพุทธองค์ภายหลังจากที่ทรงตรัสรู้ พระรัศมีรูปเปลวเหนือพระเศียร ซึ่งมักปิดทองเพื่อให้ดูแวววาว ก็เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่นิยมใช้ในงานจิตรกรรมไทยแบบประเพณี

          ภาพปราสาทราชวัง เครื่องสูงต่างๆ ของพระราชามหากษัตริย์มีสีสัน ปิดทองตัดเส้นอย่างงดงาม เขียนขึ้นอย่างสมจริงที่อิงความงามอย่างอุดมคติโดยสอดคล้องกับภาพพระราชา ขณะที่ภาพบ้านเรือนภาพสัตว์น้อยใหญ่ ต้นไม้ ท้องฟ้า น้ำ เป็นต้น มีความสมจริงมากกว่า

          อนึ่ง เนื่องจากยังมีภาพบนแผ่นราบเป็น ๒ มิติ คล้ายงานจิตรกรรมแต่ไม่ระบายสี มักอนุโลมจัดไว้ในกลุ่มงานจิตรกรรม ได้แก่ ภาพลายเส้นปิดทอง ที่เรียกว่า ลายรดน้ำ ภาพลายเส้นจารลงบนแผ่นหิน หรืองานประดับมุกภาพที่มีกรรมวิธีพิเศษต่างกันเหล่านี้ต่างมีลักษณะสำคัญอย่างเดียวกัน คือลายเส้นที่งดงามตามแบบฉบับ แต่ในงานจิตรกรรมนั้นมีการระบายสีด้วย          การแสดงออกของช่างเขียนโบราณประกอบจากปัจจัยสำคัญหลายอย่าง ที่ทำให้จิตรกรรมไทยแบบประเพณีมีคุณค่าแตกต่างไปจากจิตรกรรมแนวตะวันตก เรื่องราวเนื่องในพุทธศาสนา เช่น พุทธประวัติหรือชาดก ได้รับการถ่ายทอดออกเป็นภาพสืบทอดความนิยมกันมาช้านาน และแม้จะเป็นเรื่องราวที่ซ้ำซากแต่ก็มีความแตกต่างกันของแต่ละยุคสมัย ตามทัศนคติของสังคมที่แปรเปลี่ยน อันเป็นผลต่อการแสดงออกของช่างเขียนด้วย

          คัมภีร์เล่มเดียวกันหรือเนื้อเรื่องเดียวกันเมื่อช่างนำมาเขียนเป็นภาพเล่าเรื่องก็มีความแตกต่างกันด้วย ขึ้นอยู่กับช่างหรือสังคมนั้นให้ความสำคัญต่อประเด็นความเชื่อในเนื้อหาตอนใด เช่นภาพเรื่องพระพุทธเจ้าในอดีตชาติที่เขียนขึ้นสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา บางแห่งให้ความสำคัญแก่จำนวนอันมากมายจนนับไม่ได้ของพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ อดีตพระพุทธเจ้าเหล่านั้น เสด็จมาตรัสรู้บนโลกนี้ก่อนพระพุทธเจ้าของเรา (พระศรีศากยมุนี) ดังกล่าวนี้มีระบุไว้ในคัมภีร์ของพุทธศาสนาโดยมิได้ระบุรายพระนามของพระพุทธเจ้าในอดีตชาติเหล่านั้น ช่างเขียนนำมาแสดงเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้าเรียงรายเป็นแถว แต่ละแถวเรียงซ้อนกันจนเต็มผนัง ส่วนจิตรกรรมบางแห่งก็เขียนภาพอดีตพระพุทธเจ้าเรียงกันเพียงจำนวน ๒๔ หรือ ๒๘ พระองค์ อันเป็นจำนวนอดีตพระพุทธเจ้าที่เสด็จมาตรัสรู้ในโลกนี้ซึ่งคัมภีร์เล่มเดียวกันได้ระบุพระนามของแต่ละพระองค์ไว้
          การเลือกให้ความสำคัญตอนใดตอนหนึ่งในคัมภีร์ คงสะท้อนศรัทธาความเชื่อที่ผิดแผกกันไปบ้าง เรื่องพระพุทธเจ้าในอดีตชาติได้รับความนิยมน้อยลงในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ภาพที่มีอยู่กลับเป็นภาพเล่าเรื่องมีหลายตอนต่อเนื่องกันแตกต่างจากเรื่องเดียวกันที่เขียนขึ้นเมื่อกว่า ๔๐๐ ปี ที่ผ่านมา

          แนวความนิยมในการแสดงเรื่อง และลักษณะของภาพที่แตกต่างกันแต่ละสมัย ช่วยให้ ทราบกำหนดอายุก่อนหรือหลังของภาพจิตรกรรมซึ่งเป็นประโยชน์ในการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ - โบราณคดี และทำให้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านแนวความคิดที่คลี่คลายปรับเปลี่ยนไปด้วย

          ภาพเล่าเรื่องนิทานชาดกที่เขียนกันในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา เขียนเป็นภาพเล่าเรื่องด้วยฉาก เหตุการณ์เดียวมีภาพบอกเรื่องราวอยู่อย่างจำกัดเพียงเพื่อให้ทราบเรื่องราวเฉพาะตอนสำคัญเพียงตอนเดียว ตัวอย่างเช่น นิทานชาดกเรื่องมหาชนก ที่ช่างเลือกเขียนเพียงฉากเรือของพระมหาชนกที่อับปางอยู่กลางทะเล มีภาพนางมณีเมขลาอุ้มพระมหาชนกให้รอดพ้นจากการจมน้ำแต่เรื่องเดียวกันนี้ที่เขียนขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ นิทานชาดกเรื่องดังกล่าวมีฉากเหตุการณ์อื่นเพิ่มขึ้น

          รายละเอียดที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังมากขึ้น เปิดโอกาสทำให้เราสามารถศึกษาแง่มุมต่างๆ ทางประวัติศาสตร์สังคมขนบประเพณีที่แฝงอยู่ในภาพมากขึ้นด้วย จึงเท่ากับว่าจิตรกรรมไทยแบบประเพณีเป็นภาพบันทึกประวัติศาสตร์ได้อย่างหนึ่ง

          จิตรกรรมเรื่องพุทธประวัติก็เช่นกัน ตอนต่างๆ ในพุทธประวัติได้รับการถ่ายทอดเป็นภาพอย่างจำกัด ที่เรียกว่า เหตุการณ์ตอนเดียวระยะหลังจึงมีรายละเอียดประกอบฉากมากขึ้นทุกทีโดยแบ่งเป็นฉากย่อยๆเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นพัฒนา-การเช่นเดียวกับภาพเล่าเรื่องพระพุทธเจ้าในอดีตชาติและเรื่องชาดกที่กล่าวมาแล้ว

          การคลี่คลายของลักษณะของจิตรกรรมนอกจากช่วยให้เราสามารถสังเกตความแตกต่างของภาพ และแนวความคิดในการแสดงออกที่แตกต่างกันไปตามยุคสมัยแล้ว ยังสะท้อนแนวความคิดวิธีการของช่างเขียนที่แตกต่างไปตามยุคสมัยด้วย กล่าวคือ

          การแสดงเรื่องเล่าด้วยภาพเหตุการณ์ตอนเดียวของช่างสมัยต้นกรุงศรีอยุธยามีลักษณะในเชิงสัญลักษณ์ เพราะด้วยฉากเหตุการณ์ตอนเดียวก็สื่อให้ผู้ดูนึกถึงเรื่องราวได้ตลอดทั้งเรื่องช่างเขียนเลือกเหตุการณ์ในท้องเรื่องมาเขียนเป็นภาพ ย่อมเลือกเหตุการณ์ที่เด่นเพียงพอที่จะเป็นตัวแทนของเรื่องราวทั้งหมด

          เมื่อการเขียนภาพเชิงสัญลักษณ์คลี่คลายไปในระยะหลัง โดยสร้างฉากเหตุการณ์เพิ่มขึ้น การแสดงออกของช่างจึงสื่อความทางด้านราย-ละเอียดมากกว่าก่อน เป็นช่องทางที่ช่างได้แสดงศิลปะของตนโดยสร้างฉากเหตุการณ์ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น

          รายละเอียดต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นต้องการความสามารถในการออกแบบ ควบคุมทุกสิ่งที่ปรากฏเป็นภาพให้มีความสอดคล้องแนบเนียน ทำให้ผู้ดูภาพเกิดความเพลิดเพลินกับฉากเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกัน จิตรกรรมที่คลี่คลายมาเป็นลักษณะเช่นนี้ เป็นภาพเล่าเรื่องอย่างแท้จริงยิ่งไปกว่าจิตรกรรมที่แสดงฉากสัญลักษณ์ ซึ่งแสดงถึงภาพเหตุการณ์ตอนเดียว

          ความแตกต่างดังกล่าว ต่างก็มีคุณค่าและมีความหมายโดยเฉพาะกล่าวคือ ช่างเขียนสมัยต้นกรุงศรีอยุธยาแสดงความสามารถในการสื่อเรื่องราวเชิงสัญลักษณ์ แสดงถึงภูมิปัญญาในการคัดเลือกความเด่นชัดของเรื่องออกเป็นภาพเพียงเหตุการณ์ตอนเดียวก็สามารถสื่อความได้ทั้ง เรื่อง ส่วนช่างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หรือสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้ใช้ภูมิปัญญาเชิงช่างของตนเพื่อควบคุมเรื่องราวที่เขียนเป็นฉากเหตุการณ์หลายฉาก มีความหลากหลายของส่วนประกอบฉาก ให้รวมกันอย่างเป็นเอกภาพ

          จิตรกรรมของไทยที่ได้รับอิทธิพลตะวันตก นับตั้งแต่เรื่องราวที่นำมาเขียนภาพที่เป็นเรื่องจริง เช่น พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอลดจนลักษณะของจิตรกรรมก็เปลี่ยนมาแสดงความเหมือนจริง ตามแนวการเขียนภาพแบบตะวันตกด้วย

ลักษณะของจิตรกรรมไทยแบบประเพณี, ลักษณะของจิตรกรรมไทยแบบประเพณี หมายถึง, ลักษณะของจิตรกรรมไทยแบบประเพณี คือ, ลักษณะของจิตรกรรมไทยแบบประเพณี ความหมาย, ลักษณะของจิตรกรรมไทยแบบประเพณี คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 20

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu