ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

กิจการโทรศัพท์ในประเทศไทย, กิจการโทรศัพท์ในประเทศไทย หมายถึง, กิจการโทรศัพท์ในประเทศไทย คือ, กิจการโทรศัพท์ในประเทศไทย ความหมาย, กิจการโทรศัพท์ในประเทศไทย คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
กิจการโทรศัพท์ในประเทศไทย


          ยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า  ได้มีการนำเครื่องโทรศัพท์เข้ามาประเทศไทยตั้งแต่เมื่อใด แต่เข้าใจกันว่า ประเทศไทยมีเครื่องโทรศัพท์ใช้เป็นครั้งแรกราว พ.ศ. ๒๔๒๔ (รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่  ๕) ติดตั้งที่กรุงเทพฯเครื่องหนึ่ง กับที่ปากน้ำ (จังหวัดสมุทรปราเครื่องหนึ่ง  ใช้สายโทรเลขระหว่างกรุงเทพฯ กับปากน้ำ ซึ่งกรมกลาโหมได้สร้างไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๘ เพื่อแจ้งข่าวเกี่ยวกับการผ่านเข้าออกปากแม่น้ำเจ้าพระยา ของเรือกลไฟ

          สมัยนั้น  เรียก  "โทรศัพท์" ว่า "เตลิโฟน" ตามเสียงภาษาอังกฤษ telephone (ปัจจุบัน ภาษามาเลเซียเรียกว่าตาลิโฟน)

          เมื่อตั้งกรมโทรเลขขึ้นใน  พ.ศ.  ๒๔๒๖  และรับช่วงงานโทรเลขจากกรมกลาโหมมาจัดทำต่อแล้ว  เข้าใจว่า  ในพ.ศ. ๒๔๒๙ กรมโทรเลขคงจะได้รับโอนกิจการโทรศัพท์มาดำเนินงาน  และได้ขยายกิจการต่อไปโดยให้ประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และธนบุรีได้เช่าใช้เครื่องโทรศัพท์เป็นครั้งแรก

          เครื่องโทรศัพท์สมัยแรก เป็นระบบ "แมกนิโต" (magneto System) มีหม้อไฟฟ้าต่อประจำอยู่กับตัวเครื่อง   เพื่อป้อนกระแสไฟเลี้ยงไมโครโฟนหรือที่ทางวิชาการโทรศัพท์เรียกว่า"เครื่องส่ง (transmiter)" ใช้สายเดี่ยว (ส่วนอีกสายหนึ่งต่อลงดินอย่างสายโทรเลข)  เมื่อต้องการจะใช้โทรศัพท์ผู้ใช้ต้องหมุนแมกนิโตที่ติดอยู่กับตัวเครื่อง จึงจะมีสัญญาณไฟสว่างและเสียงกระดิ่งดังขึ้นที่ตู้สลับสายโทรศัพท์กลาง  แล้วพนักงานโทรศัพท์จะต่อสายสอบถาม และต่อสายไปหาผู้เช่ารายอื่นๆที่ต้องการจะพูดด้วย  เมื่อเลิกพูดแล้ว   ก็ต้องหมุนแมกนิโตอีกครั้ง  เพื่อให้เกิดสัญญาณขึ้นที่ตู้สลับสาย   แล้วพนักงานจะได้ปลดปลั๊กต่อสายออก  ในครั้งนั้นมีผู้เช่าโทรศัพท์  ๖๑ ราย และมีทางสายโทรศัพท์ยาวทั้งสิ้นประมาณ ๘๖ กิโลเมตร

          เครื่องโทรศัพท์ระบบแมกนิโตมีใช้งานอยู่นานกว่า ๒๐ ปี

          ต่อมาได้มีเครื่องโทรศัพท์แบบใหม่ใช้แรงไฟจากที่ทำการโทรศัพท์กลาง    แต่ว่ายังคงมีพนักงานต่อสายเช่นเดิม     กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงได้สั่งซื้อเครื่องชุมสายโทรศัพท์แบบนี้ มาใช้แทนเครื่องระบบแมกนิโต  และติดตั้งที่ตึกกรมไปรษณีย์โทรเลขปากคลองโอ่งอ่าง หน้าวัดเลียบ  (วัดราชบูรณะเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐   เครื่องโทรศัพท์แบบใหม่นี้ใช้สายคู่   และมีการป้องกันมิให้เส้นแรงไฟฟ้าจากสายไฟฟ้าที่อยู่ใกล้เคียงเข้ารบกวนการฟังเสียงโทรศัพท์  การใช้โทรศัพท์จึงสะดวกดีขึ้น และเนื่องจากสถานที่ตั้งชุมสายโทรศัพท์เดิมคับแคบไม่เหมาะสม   จึงได้ย้ายออกมาตั้งที่ตึกสร้างใหม่ (คือตึกชุมสายวัดเลียบปัจจุบัน) หัวถนนจักรเพ็ชร ใกล้กับตึกกรมไปรษณีย์โทรเลขเดิม

          ใน  พ.ศ.  ๒๔๖๕  จำนวนผู้เช่าใช้เครื่องโทรศัพท์ได้เพิ่มขึ้นเป็น ๑,๔๒๒ เลขหมาย  เฉลี่ยแล้ววันหนึ่งๆ ผู้เช่าโทรศัพท์เรียกพนักงานโทรศัพท์กลางให้ต่อสายถึง  ๑๖,๕๒๔    ครั้งเครื่องชุมสายโทรศัพท์วัดเลียบต้องทำงานหนักเกือบจะเต็มที่อยู่แล้ว  กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงได้ตั้งชุมสายโทรศัพท์แห่งที่๒  เมื่อ  พ.ศ. ๒๔๗๐ ขึ้นที่อาคารเก่าภายในบริเวณไปรษณีย์กลาง  บางรัก     (เดิมเป็นอาคารหลังหนึ่งในสถานทูตอังกฤษต่อมาได้รื้อลงเพื่อจะสร้างตึกกรมไปรษณีย์โทรเลขหลังใหม่ซึ่งเปิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔    ปัจจุบันได้ใช้เป็นที่ทำการของการสื่อสารแห่งประเทศไทย)  เป็นขนาด  ๙๐๐  เลขหมาย  เพื่อแบ่งเอาผู้เช่าโทรศัพท์ในบริเวณตอนล่างของกรุงเทพฯ มาเข้าชุมสายบางรักเสียบ้าง

          ความดำริที่จะเปลี่ยนเครื่องชุมสายโทรศัพท์เป็นระบบอัตโนมัติ ได้มีขึ้นในสมัยที่นายพลเอก    พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน  ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม โดยทรงพิจารณาเห็นว่า เครื่องชุมสายโทรศัพท์ระบบใช้แรงไฟฟ้าจากที่ทำการโทรศัพท์กลางวัดเลียบ  มีอายุใช้งานมากว่า  ๒๕ ปีแล้ว สภาพของเครื่องทรุดโทรม  ไม่สะดวกแก่การใช้   การจัดหาชิ้นส่วนอะไหล่เครื่องอุปกรณ์ก็ยากลำบาก     และมีราคาสูงเนื่องจากบริษัทผู้สร้างเครื่องชุมสายโทรศัพท์แบบเก่า  ได้หันไปสร้างเครื่องชุมสายโทรศัพท์ระบบอัตโนมัติเป็นส่วนใหญ่

          ดังนั้น   กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงได้สั่งซื้อเครื่องชุมสายโทรศัพท์อัตโนมัติแบบทีละขั้นๆ    (หรือแบบสเตราเยอร์)จากบริษัทเจเนอรัล อิเล็กทริก แห่งประเทศอังกฤษ  เมื่อเดือนกรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๔๗๘    สำหรับชุมสายวัดเลียบจำนวน๒,๓๐๐  เลขหมาย  และสำหรับชุมสายบางรักจำนวน ๑,๒๐๐เลขหมาย

          เมื่อได้ติดตั้งเครื่องชุมสายโทรศัพท์ทั้งสองแห่ง    และเปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์ตามบ้านผู้เช่าเสร็จเรียบร้อยแล้ว  จึงได้ตัดเปลี่ยนเลขหมาย  และเปิดใช้ชุมสายโทรศัพท์อัตโนมัติ โดยผู้เช่าหมุนตัวเลขบนหน้าปัดติดต่อถึงกันได้เองเป็นครั้งแรก  เมื่อเวลา  ๐๐.๐๑  นาฬิกา (๒ ยามกับ ๑ นาที) ซึ่งเป็นเวลาย่างวันใหม่ ของวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๐

          เนื่องจากประชาชนนิยมใช้เครื่องโทรศัพท์ระบบอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้น  กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงได้สร้างชุมสายโทรศัพท์เพิ่มเติมคือ ชุมสายโทรศัพท์เพลินจิต  (เปิดใช้เมื่อ ๒๑ เมษายนพ.ศ. ๒๔๙๔)  กับชุมสายโทรศัพท์สามเสน  (เปิดใช้เมื่อ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๕)  ซึ่งเป็นเตรียมการจัดตั้งชุมสายโทรศัพท์ธนบุรีอีกด้วย

          ต่อมาในวันที่  ๒๔ กุมภาพันธ์  พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้มีพระ-บรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย  โดยแยกกองช่างโทรศัพท์  (ซึ่งดำเนินงานโทรศัพท์เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และธนบุรี) ออกจากกรมไปรษณีย์โทรเลขมาตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ ใช้ชื่อว่า"องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย"    สังกัดกระทรวงคมนาคมดำเนินงานในด้านโทรศัพท์ภายในประเทศสืบมาจนปัจจุบัน

          องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้ดำเนินงานจัดตั้งชุมสายโทรศัพท์ธนบุรีต่อจากที่กรมไปรษณีย์โทรเลขทำค้างไว้จนเสร็จ  และได้ตั้งชุมสายโทรศัพท์พหลโยธิน (เปิดใช้งานพ.ศ.  ๒๕๐๕)  ชุมสายโทรศัพท์ชัยพฤกษ์ (เปิดใช้งานปลายพ.ศ. ๒๕๐๖) ชุมสายโทรศัพท์กรุงเกษม (เปิดใช้งานปลาย พ.ศ. ๒๕๐๗)

          ใน พ.ศ.  ๒๕๐๓  องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้รับโอนงานโทรศัพท์ในส่วนภูมิภาคจากกองช่างโทรเลขกรมไปรษณีย์โทรเลขจำนวน  ๑๐ ชุมสาย ใน พ.ศ. ๒๕๐๔ได้รับโอนอีก ๓๗ ชุมสายเป็นงวดสุดท้าย

          พ.ศ.  ๒๕๐๕  องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้ติดตั้งชุมสายโทรศัพท์อัตโนมัติระบบครอสส์บาร์  (crossbar) ซึ่งเป็นระบบใหม่สำหรับประเทศไทย  ที่จังหวัดยะลาเป็นแห่งแรกจังหวัดชลบุรีเป็นแห่งที่ ๒ และที่อำเภอหาดใหญ่  จังหวัดสงขลาเป็นแห่งที่ ๓ ส่วนในเขตนครหลวงได้ติดตั้งที่ชุมสายโทรศัพท์ชัยพฤกษ์เป็นแห่งแรก

           ใน  พ.ศ.  ๒๕๐๗ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้รับโอนงานโทรศัพท์ทางไกลในภาคกลาง ภาคตะวันออก-เฉียงเหนือ   และภาคตะวันออก     ซึ่งใช้สายเคเบิลร่วมแกน(co-axial  cable)  และระบบถ่ายทอดวิทยุด้วยความถี่สูงยิ่งยวด (super  high  frequency)    หรือที่เรียกกันว่า ไมโครเวฟ) จากสำนักงานดำเนินการตามโครงการโทรคมนาคม  กระทรวงคมนาคม    และใน  พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้รับโอนงานโทรศัพท์ทางไกล  ในภาคเหนือ   และภาคใต้จากสำนักงานดำเนินการตามโครงการโทรคมนาคมอีกเช่นกัน

          ปัจจุบัน   ประชาชนสามารถพูดติดต่อถึงกันได้ทั่วประ-เทศไทยด้วยโทรศัพท์อัตโนมัติ  คือ หมุนหมายเลขโทรศัพท์ถึงกันได้เอง   ยิ่งกว่านั้น ยังสามารถหมุนหมายเลขโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมโทรคมนาคมไปต่างประเทศได้อีกด้วย

กิจการโทรศัพท์ในประเทศไทย, กิจการโทรศัพท์ในประเทศไทย หมายถึง, กิจการโทรศัพท์ในประเทศไทย คือ, กิจการโทรศัพท์ในประเทศไทย ความหมาย, กิจการโทรศัพท์ในประเทศไทย คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 7

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu