ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

บ้านเรือนของเรา, บ้านเรือนของเรา หมายถึง, บ้านเรือนของเรา คือ, บ้านเรือนของเรา ความหมาย, บ้านเรือนของเรา คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
บ้านเรือนของเรา


          บ้านคือที่อยู่อาศัยของมนุษย์ที่จะขาดเสียมิได้  บ้านที่สร้างขึ้นอย่างถูกลักษณะ  สะดวกสบาย แข็งแรง มั่นคง จะให้ความร่มเย็นเป็นสุขแก่ผู้ที่ใช้พักอาศัยไปได้หลายสิบปี

          ในสมัยเดิมทีเดียวนั้น   มนุษย์ได้อาศัยถ้ำเป็นที่กันแดดฝน   พายุ  ตลอดจนลูกเห็บและหิมะ

          แต่เมื่อมนุษย์เริ่มเจริญและสามารถใช้ความรู้ความคิดมากขึ้น  ทั้งถ้ำที่จะใช้อยู่อาศัยได้นั้นมีจำนวนไม่พอกับความต้องการ   มนุษย์ก็เริ่มออกมาอาศัยนอกถ้ำ โดยนำใบไม้ กิ่งไม้ มาทำเป็นซุ้มเป็นเพิง ซึ่งภายหลังได้ดัดแปลงมาเป็นบ้านที่ประกอบด้วยฝาผนังและหลังคา ในบางประเทศมนุษย์ได้นำดินมาปั้นเป็นแผ่นหนาๆ  ใช้ก่อทำผนัง โดยวางแผ่นดินเรียงซ้อนๆ กัน

          ต่อมาเมื่อวิทยาการเจริญขึ้น   มนุษย์รู้จักทำวัสดุก่อสร้างขึ้นหลายชนิด   เป็นต้นว่า   เมื่อนำเอาดินไปเผาที่อุณหภูมิประมาณ๙๐๐ องศาเซลเซียส จะได้อิฐ  หรือเมื่อนำดินเหนียวกับดินขาวมาบดให้ละเอียดเผากับหินปูนในเตาหมุน  (Rotary  Kiln) ที่อุณหภูมิสูง  ก็จะได้ของแข็งทั้งเม็ดใหญ่ เม็ดเล็กขนาดก้อนกรวด  (clinker)  ซึ่งเมื่อบดให้ป่น  จะได้ปูนซีเมนต์สำหรับใช้ทำคอนกรีตในการก่อสร้างตึก เราได้ใช้ซีเมนต์เป็นวัสดุก่อสร้างมาจนทุกวันนี้

          วัสดุก่อสร้างที่สำคัญมากอีกประเภทหนึ่งคือ   ไม้แปรรูปมนุษย์รู้จักโค่นไม้ใหญ่ๆ  แล้วใช้เลื่อยเลื่อยลำต้นไม้นั้นเป็นรูปเสาคาน ไม้พื้น ไม้ฝา ซึ่งนำไปใช้ก่อสร้างบ้านไม้  หรือใช้ประกอบในการก่อสร้างบ้านตึก ตามชนบทของประเทศไทยเรานั้น บ้านที่อยู่อาศัยเป็นบ้านไม้เกือบทั้งหมด   เราอาจกล่าวได้ว่า  แม้จะเป็นเขตชนบท  แต่ทุกคนก็มีบ้านอยู่  หากแต่สภาพของบ้านแตกต่างกันไปตามอัตภาพ  มีทั้งบ้านเล็กบ้านใหญ่  มีทั้งบ้านที่ใช้ช่างก่อสร้าง   เพื่อนบ้านช่วยกันก่อสร้าง  และที่เจ้าของบ้านก่อสร้างเองด้วย  บ้านจึงมีทั้งที่ได้มาตรฐานและไม่ได้มาตรฐาน

          เราอาจแบ่งบ้านเรือนตามชนบท ออกได้เป็น ๒ ประเภทตามฐานะของเจ้าของบ้าน     ถ้าเป็นผู้มีฐานะดีหรือปานกลางบ้านมักจะมีลักษณะเป็นเรือนฝากระดานที่ก่อสร้างหรือซ่อมแซมต่อเติมอย่างมีระบบ  วัสดุก่อสร้างแม้จะใช้ไม้เป็นส่วนใหญ่ก็เป็นไม้แปรรูป  หลังคามุงสังกะสี   หรือกระเบื้องแผ่น  กระเบื้องลอนการออกแบบหรือก่อสร้างจะใช้ช่างผู้มีความชำนาญพอสมควร บ้านประเภทนี้มีความคงทนถาวรมากกว่าอีกประเภทหนึ่ง

          ส่วนบ้านอีกประเภทหนึ่งเป็นบ้านที่มีสภาพด้อยกว่าประเภทแรก    วัสดุก่อสร้างส่วนมากใช้วัสดุท้องถิ่นที่หาได้ง่ายๆรอบตัว เช่น   โครงสร้างของบ้านอาจใช้ไม้ไผ่  หรือไม้ท้องถิ่น  หรืออย่างดีก็เป็นไม้ท้องถิ่นแปรรูป  หลังคาอาจมุงด้วยจาก หญ้าคาแฝก   หรืออย่างดีก็เป็นสังกะสี   เป็นต้น     การก่อสร้างก็ไม่มีระบบ  และนับว่าไม่ได้มาตรฐาน  เจ้าของบ้านอาจเป็นผู้ก่อสร้างเอง  หรือเพื่อนบ้านช่วยกัน  ลักษณะบ้านจะมีส่วนสำคัญสำหรับป้องกันแดด  ฝน  น้ำท่วม หรือความชื้นจากพื้นดิน  ป้องกันสัตว-ภัยจำพวกกัดต่อย   รวมทั้งมดปลวกด้วย

          รูปทรงของบ้านซึ่งเป็นที่นิยมสร้างกันในชนบทของไทยมักเป็นแบบทรงไทย  มีใต้ถุนสูง  มีบันไดขึ้น   มีระเบียง   มีนอกชาน   และมีห้องหลายห้อง    บ้านแบบทรงไทยที่กล่าวนี้ ผู้อยู่จะรู้สึกเย็นสบาย  เพราะมีหลังคาสูง ความร้อนจากหลังคาก็ลงมาไม่ค่อยถึงห้องต่างๆได้ วัสดุที่ใช้ทำบ้าน  อาทิเช่น  คานตง และพื้น ใช้ไม้ทั้งสิ้น   ถ้ามุงหลังคาด้วยใบจากหรือหญ้าคา ที่สานเป็นแผงๆ  แล้วยกขึ้นไปผูกติดกับโครงหลังคา จะเย็นสบายเหมือนกัน   แต่ไม่ทนทาน  ต้องคอยซ่อมแซมอยู่เสมอ  และติดไฟได้ง่ายด้วย  ปัจจุบันจึงนิยมมุงหลังคาด้วยสังกะสีลูกฟูก หรือกระเบื้องลอน

          บ้านที่จะปลูกสร้างให้อยู่สุขสบาย มีความมั่นคง แข็งแรง และสวยงามนั้น  สถาปนิกและวิศวกรจะร่วมกันออกแบบ  ก่อนออกแบบก็จะต้องทราบถึงทิศทางลม  และแนวทางเดินของดวงอาทิตย์  ซึ่งจะเปลี่ยนไปตามฤดูกาลด้วย   เพื่อที่จะออกแบบและวางตำแหน่งบ้านให้ได้รับลมและแสงสว่างเพียงพอ   สถาปนิกเป็นผู้กำหนดรูปบ้าน  อันได้แก่   รูปทรงของบ้าน    และการจัดห้องต่างๆ  เพื่อให้ดูงามตา และผู้อยู่อาศัยได้ใช้ประโยชน์   ได้รับความสะดวกสบายมากที่สุด     ส่วนวิศวกรเป็นผู้คำนวณและกำหนดขนาดของฐานราก   เสา   คาน   ตง  พื้น  ตลอดจนโครงหลังคา ช่วยกันกำหนดและจัดระบบประปา   ไฟฟ้า   สุขา ตลอดจนระบบระบายน้ำทิ้ง ซึ่งรวมทั้งน้ำฝนและน้ำที่ใช้แล้ว  ให้ระบายออกไปจากบ้านอย่างถูกต้องด้วย

บ้านเรือนของเรา, บ้านเรือนของเรา หมายถึง, บ้านเรือนของเรา คือ, บ้านเรือนของเรา ความหมาย, บ้านเรือนของเรา คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 7

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu