ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

อาคารของคลองส่งน้ำ, อาคารของคลองส่งน้ำ หมายถึง, อาคารของคลองส่งน้ำ คือ, อาคารของคลองส่งน้ำ ความหมาย, อาคารของคลองส่งน้ำ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
อาคารของคลองส่งน้ำ


          นอกจากคลองส่งน้ำของโครงการชลประทาน ซึ่งได้แก่คลองส่งน้ำสายใหญ่  คลองซอย   และคลองแยกซอยแล้ว   ตามคลองส่งน้ำทุกสายยังจะต้องสร้างอาคารประเภทต่างๆเป็นแห่งๆแล้วแต่ความเหมาะสม เพื่อให้ระบบส่งน้ำสามารถส่งน้ำไปให้กับพื้นที่เพาะปลูกตลอดคลองในเขตโครงการชลประทานตามที่ต้องการได้

          อาคารของคลองส่งน้ำมีหลายประเภทหลายลักษณะ และมีหน้าที่แตกต่างกัน ซึ่งจะกล่าวถึงเฉพาะสำหรับอาคารที่สำคัญๆเท่านั้น ดังต่อไปนี้

          ก. ประตูหรือท่อปากคลองซอยและคลองแยกซอย  ที่ต้นคลองซอยซึ่งแยกออกจากคลองส่งน้ำสายใหญ่และคลองแยกซอยซึ่งแยกออกจากคลองซอย  จะต้องสร้างอาคารไว้สำหรับควบคุมน้ำให้ไหลเข้าคลองส่งน้ำตามจำนวนที่ต้องการ  หากคลองซอยหรือคลองแยกซอยมีขนาดใหญ่ และจะต้องส่งน้ำไปตามคลองจำนวนมาก  ก็จะนิยมสร้างอาคารควบคุมน้ำไว้ที่ต้นคลองเป็นแบบประตูระบายน้ำ  ซึ่งจะมีรูปร่างเหมือนกับประตูปากคลองส่งน้ำสายใหญ่ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ถ้าหากคลองซอยหรือคลองแยกซอยมีขนาดเล็กและจะต้องส่งน้ำไปตามคลองจำนวนไม่มากนัก  ก็จะนิยมสร้างอาคารที่ต้นคลองเหล่านั้นเป็นแบบท่อโดยที่ปากทางเข้าของท่อจะติดตั้งบานประตูไว้ สำหรับควบคุมปริมาณน้ำที่จะให้ไหลผ่านท่อในจำนวนที่ต้องการได้  เช่นเดียวกับท่อปากคลองส่งน้ำสายใหญ่

          ข. ท่อเชื่อม  เป็นท่อที่สร้างเชื่อมระหว่างคลองส่งน้ำสำหรับนำน้ำจากคลองส่งน้ำที่อยู่ทางฝั่งหนึ่งของลำน้ำธรรมชาติหรือถนน ให้ไหลไปในท่อที่ฝังลอดใต้ลำน้ำหรือถนน ไปยังคลองส่งน้ำที่อยู่อีกทางฝั่งหนึ่ง  ท่อเชื่อมส่วนใหญ่จะสร้างเป็นท่อคอนกรีตเสริมเหล็ก  แต่จะมีรูปร่างกลมหรือสี่เหลี่ยม และจะสร้างเป็นแถวเดียวหรือหลายแถวนั้น  ก็ต้องให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่จะให้ไหลผ่านท่อ  ตัวท่อที่ฝังอยู่ใต้ผิวดินจะต้องสร้างอย่างมั่นคงแข็งแรง ให้สามารถรับแรงดันทั้งของดินและของน้ำภายในท่อได้น้ำจากคลองส่งน้ำจะไหลเข้าท่อในสภาพที่มีน้ำเต็มท่อ  แล้วไหลไปออกที่คลองส่งน้ำอีกทางด้านหนึ่ง  ด้วยแรงที่เกิดจากการที่ระดับน้ำในคลองบริเวณปากทางเข้าท่อสูงกว่าระดับน้ำในคลองด้านทางออกของท่อ

          โดยทั่วไปท่อเชื่อมระหว่างคลองส่งน้ำจะสร้างไว้ในบริเวณที่คลองส่งน้ำตัดกับลำน้ำธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ และในลำน้ำธรรมชาติมีน้ำไหลมากกว่าน้ำที่ไหลในคลองส่งน้ำมาก

          ค. สะพานน้ำ เป็นทางน้ำสำหรับนำน้ำจากคลองส่งน้ำอยู่ทางด้านหนึ่งของลำน้ำธรรมชาติ  ที่ลุ่มหรือลาดเชิงเขา ข้ามไปหาคลองส่งน้ำที่อยู่อีกทางด้านหนึ่ง สะพานน้ำจะมีลักษณะเป็นรางน้ำเปิดธรรมดาหรือรางน้ำปิดแบบท่อ   โดยวางอยู่บนตอม่อหรือฐานรองรับทอดข้ามลำน้ำธรรมชาติ  ที่ลุ่ม  หรือวางไปตามลาดเชิงเขา  ปากทางเข้าและปากทางออกของสะพานน้ำจะเชื่อมกับคลองส่งน้ำ  ซึ่งเมื่อน้ำไหลออกจากสะพานน้ำแล้วก็จะไหลต่อไปในคลองส่งน้ำได้ตามปกติ

          สะพานน้ำโดยทั่วไปจะมีลักษณะเป็นรูปวงกลม   ครึ่งวงกลม  หรือเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่ประกอบด้วยพื้นและผนังอีก ๒ ด้านสร้างตั้งฉากกับพื้น   และจะสร้างได้ด้วยวัสดุต่างๆกัน  เช่น  ไม้แผ่นเหล็ก และคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นต้น

          น้ำที่ไหลในสะพานน้ำจะเหมือนกับการไหลของน้ำในคลองส่งน้ำ   การคำนวณหาขนาดพื้นที่หน้าตัดของน้ำที่ไหลในทางน้ำ จึงใช้สูตรในการคำนวณแบบการคำนวณคลองส่งน้ำ

          ง. น้ำตก เนื่องด้วยคลองส่งน้ำบางสาย อาจจะมีแนวไปตามสภาพภูมิประเทศซึ่งผิวดินตามธรรมชาติมีความลาดเทมากกว่าความลาดเทของคลองส่งน้ำที่กำหนดไว้  จึงจำเป็นต้องลดระดับท้องคลองส่งน้ำให้ต่ำลงในแนวดิ่งบ้างเป็นแห่งๆ ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศที่แนวคลองส่งน้ำผ่าน  ในบริเวณที่คลองส่งน้ำเปลี่ยนระดับต่ำลงนี้ จำเป็นต้องมีอาคาร   สำหรับบังคับน้ำที่ไหลมาตามคลองส่งน้ำที่อยู่ในแนวบนให้ไหลตกลงมาที่อาคาร ขึ้นอยู่กับขนาดของคลองส่งน้ำ   และปริมาณน้ำสูงสุดของคลอง

          สำหรับอาคารอัดน้ำของคลองส่งน้ำที่มีขนาดใหญ่  อาจจะสร้างเป็นอาคารแบบเดียวกับประตูปากคลองส่งน้ำ  โดยมีบานประตูสำหรับควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านมากหรือน้อยได้ ส่วนอาคารอัดน้ำของคลองที่มีขนาดเล็กอาจจะสร้างเป็นกำแพงตั้งติดกับพื้นวางขวางคลองส่งน้ำ โดยที่กำแพงจะมีช่องเปิดช่องเดียว   หรือหลายช่องก็ได้  แต่จะต้องมีความลึกให้ถึงระดับพื้นด้านล่าง และให้กว้างพอที่ปริมาณน้ำสูงสุดในคลองส่งน้ำจะผ่านไปได้อย่างสะดวก แต่ละช่องอาจจะทำร่องสำหรับให้ใส่แผ่นไม้  ซึ่งไหลมาในคลองจะถูกทดอัดขึ้นจนสูง  แล้วไหลข้ามแผ่นไม้ไปได้เหมือนกับน้ำที่ไหลข้ามไปบนสันฝายนั่นเอง  อาคารอัดน้ำส่วนมากมักจะสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก

          นอกจากอาคารอัดน้ำซึ่งสร้างให้ทำหน้าที่ทดอัดน้ำโดยตรงดังกล่าวข้างต้นแล้ว  อาคารประเภทอื่น ได้แก่ ท่อเชื่อมสะพานน้ำ  น้ำตก  และรางเท  ฯลฯ ยังสามารถดัดแปลงโดยติด-ตั้งบานประตู หรือจัดช่องสำหรับใส่แผ่นไม้ที่บริเวณด้านหน้าของอาคารเหล่านั้น เพื่อให้ทำหน้าที่ทดอัดน้ำในคลองให้มีระดับสูงตามที่ต้องการได้อีกด้วยเช่นกัน

          ช. ท่อส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูก เป็นอาคารซึ่งสร้างที่คลองส่งน้ำ  ทำหน้าที่จ่ายและควบคุมน้ำที่จะส่งออกจากคลองส่งน้ำไปให้พื้นที่เพาะปลูก  ตลอดแนวคลองส่งน้ำจะมีท่อส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกที่สร้างไว้เป็นระยะๆ ตามตำแหน่งซึ่งสามารถส่งน้ำออกไปได้สะดวกและทั่วถึง ท่อส่งน้ำแต่ละแห่งจะสามารถส่งน้ำชลประทานให้กับพื้นที่เพาะปลูกได้จำนวนหนึ่ง    ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกที่ท่อส่งน้ำทุกแห่งส่งไปให้ได้ จะเป็นพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดที่คลองส่งน้ำนั้นๆ ควบคุมอยู่

          ท่อส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกส่วนมากจะสร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก  ประกอบด้วยท่อฝังผ่านคันคลองส่งน้ำ  ปากทางน้ำเข้าท่อที่ลาดด้านข้างของคลองส่งน้ำจะมีร่องน้ำขนาดเล็ก สร้างไปเชื่อมกับท่อ พร้อมกับติดตั้งบานประตูไว้ที่ปากทางเข้าท่อ เพื่อทำหน้าที่ควบคุมน้ำที่จะไหลเข้าท่อให้มีจำนวนมากหรือน้อยตามที่ต้องการได้เสมอ  ส่วนที่ปากทางออกของท่อก็จะสร้างรางน้ำขนาดเล็กไปต่อเชื่อมกับคูส่งน้ำ  ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อนำน้ำกระ-จายไปให้ทั่วพื้นที่เพาะปลูกด้วย

          ซ. ท่อระบายน้ำลอดใต้คลองส่งน้ำ  ในกรณีที่คลองส่งน้ำตัดผ่านร่องน้ำขนาดเล็กและบริเวณพื้นที่อื่น เช่น ที่ลุ่มซึ่งมีน้ำไหลมาตามธรรมชาติน้อย  มักจะนิยมสร้างอาคารแบบท่อเพื่อระบายน้ำให้ลอดใต้ท้องคลองส่งน้ำไป โดยไม่สร้างท่อเชื่อมระหว่างคลองส่งน้ำลอดใต้ร่องน้ำหรือที่ลุ่ม เนื่องจากมีราคาแพงกว่า

          ท่อระบายน้ำลอดใต้คลองส่งน้ำอาจสร้างเป็นท่อกลมหรือท่อสี่เหลี่ยม  ซึ่งเป็นท่อคอนกรีตเสริมเหล็ก

          ฌ.  อาคารระบายน้ำล้น เป็นอาคารสำหรับทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้น้ำที่ไหลมาในคลองส่งน้ำ   มีระดับสูงเกินกว่าระดับน้ำสูงสุดในคลองที่กำหนดไว้จนล้นข้างคลองและทำความเสียหายให้แก่คลองส่งน้ำ  ทั้งนี้เพราะในขณะทำการส่งน้ำนั้น ระดับน้ำในคลองส่งน้ำจะถูกทดอัดให้สูงอยู่ตลอดเวลา  และทางต้นคลองส่งน้ำก็จะเปิดประตูหรือท่อปากคลองส่งน้ำ  จนมีน้ำไหลเข้ามาในคลองเท่ากับจำนวนน้ำที่ส่งออกจากคลองผ่านท่อส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกทุกแห่ง  ซึ่งทำให้น้ำในคลองขณะส่งน้ำมีระดับคงที่ หากเวลาใดที่ชาวนาชาวไร่หรือเจ้าหน้าที่ส่งน้ำปิดท่อส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูก หรืออาคารซึ่งทำหน้าที่ทดอัดน้ำหลายแห่งอย่างบังเอิญหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยไม่ลดปริมาณน้ำที่ไหลเข้ามาทางต้นคลองส่งน้ำเสียก่อน  จะทำให้น้ำในคลองมีระดับสูงขึ้นๆ  จนล้นคลองส่งน้ำได้  จึงมักจะสร้างอาคารระบายน้ำล้นไว้ที่ข้างคลองส่งน้ำ ในบริเวณด้านหน้าอาคารอัดน้ำ  สะพานน้ำ ท่อเชื่อมหรือน้ำตก เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้

          อาคารระบายน้ำล้นอาจจะสร้างเป็นอาคารคล้ายกับฝายโดยการตัดคันคลองส่งน้ำด้านใดด้านหนึ่งลงไปจนถึงระดับน้ำสูงสุดในคลองที่กำหนดไว้    แล้วดาดด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กให้มีความลาดเอียงลงไปจนถึงพื้นดินธรรมชาติทางด้านล่างของคันคลองส่งน้ำ หรืออาจจะสร้างเป็นท่อฝังผ่านคันคลองส่งน้ำเชื่อมกับทางน้ำล้นเข้า  ที่อยู่ในบริเวณข้างคลองส่งน้ำ  โดยมีสันทางน้ำล้นเท่ากับระดับน้ำสูงสุดในคลองที่กำหนดไว้นั้นเช่นกัน

อาคารของคลองส่งน้ำ, อาคารของคลองส่งน้ำ หมายถึง, อาคารของคลองส่งน้ำ คือ, อาคารของคลองส่งน้ำ ความหมาย, อาคารของคลองส่งน้ำ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 7

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu