ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง, สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หมายถึง, สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง คือ, สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ความหมาย, สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 3
สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 5 พระมหากษัตริย์อาณาจักรอยุธยาพระองค์ที่ 24 (ครองราชย์ พ.ศ. 2173 - พ.ศ. 2199) และทรงเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ปราสาททอง ราชวงศ์ลำดับที่ 4 ของอาณาจักรอยุธยา จากจดหมายเหตุวัน วลิต กล่าวว่าพระเจ้าปราสาททองนั้นเป็นบุตรออกญาศรีธรรมาธิราช ซึ่งเป็นพี่ชายคนใหญ่ของพระชนนีสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม คนทั้งหลายเรียกท่านกันว่า พระองค์ไล ประสูติในปีชวด รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ตรงกับ พ.ศ. 2143) พระองค์ทรงครองราชย์ได้ 25 ปี สวรรคตลงเมื่อพระชนมายุได้ 55 พรรษา

พระนามของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

๑.เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ (บรรดาศักดิ์)
๒.พระเจ้าปราสาททอง (เมื่อครองราชย์)
๓.พระสรรเพชญ์ที่ 5 (พระราชพงศาวดาร)
๔.พระรามาธิเบศร (คำให้การชาวกรุงเก่า)

พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
จดหมายเหตุ วัน วลิต
     พระองค์ไลได้เริ่มต้นรับราชการโดยเริ่มจากการเป็นมหาดเล็ก ต่อจึงได้เลื่อนเป็นหุ้มแพร และได้เลื่อนเป็นจมื่นศรีสรรักษ์ เมื่อจมื่นศรีสรรักษ์มีอายุได้ 18 ปี ได้ไปก่อเหตุทำร้ายพระยาแรกนาแล้วหนีไปหลบอยู่ในวัด พระเจ้าอยู่หัวจึงให้จับตัวออกญาศรีธรรมาธิราชผู้เป็นบิดาไปขัง จมื่นศรีสรรักษ์จึงเข้ามามอบตัว พระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้จับไปขังคุก 5 เดือน แต่ เจ้าขรัวมณีจันทร์ พระชายาม่ายในสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมาทูลขอพระราชทานอภัยโทษแทน จมื่นศรีสรรักษ์จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษออกมารับราชการตามเดิม แต่จมื่นศรีสรรักษ์ก็ยังก่อเรื่องวุ่นวายอีกจนถูกจำคุกอีกสองหน แต่ต่อมาก็ยังได้เลื่อนเป็นจมื่นสรรเพชญ์ภักดี และได้เลื่อนเป็นออกญาศรีวรวงศ์ตามลำดับ กลายเป็นขุนนางที่ได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยอย่างมาก 
 
ก่อนครองราชย์เกิดการแย่งชิงราชสมบัติ

พ.ศ. 2171 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมประชวรหนัก จึงให้ออกญาศรีวรวงศ์เชิญกระแสรับสั่งออกในที่ประชุมขุนนางเรื่องรัชทายาท ซึ่งเหล่าขุนนางมีความเห็นแตกเป็นสองฝ่าย

ฝ่ายหนึ่ง สนับสนุนพระเชษฐาธิราช พระโอรสองค์ใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งมีพระชนมายุ 14 ชันษา
อีกฝ่ายหนึ่ง สนับสนุนพระศรีศิลป์ พระอนุชาของพระเจ้าทรงธรรมซึ่งผนวชอยู่ที่วัดระฆัง ฝ่ายนี้มี ออกญากลาโหม ออกญาท้ายน้ำ ออกหลวงธรรมไตรโลก ออกพระศรีเนาวรัตน์และออกพระจุฬา (ราชมนตรี) สนับสนุน

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีพระราชประสงค์ให้พระเชษฐาธิราชได้ครองราชสมบัติ ทรงมีรับสั่งให้ออกญาศรีวรวงศ์ แจ้งให้บรรดาเสนาบดีทราบ

วันรุ่งขึ้นหลังสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมสวรรคต พระยาศรีวรวงศ์แจ้งให้เหล่าขุนนางทราบว่าทรงให้พระเชษฐาธิราชครองราชย์ต่อ สมเด็จพระเชษฐาธิราชจึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระบิดา ระหว่างพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พระยาศรีวรวงศ์สั่งให้จับออกญากลาโหมกับขุนนางที่สนับสนุนพระศรีศิลป์ไปประหารชีวิตที่ท่าช้าง แล้วริบทรัพย์สมบัติมาแจกจ่ายผู้มีความชอบ สมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงตั้งพระยาศรีวรวงศ์เป็น เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ เสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม แทนเจ้าพระยามหาเสนาบดีที่ถูกประหาร เรียกกันสั้นๆว่า ออกญากลาโหม ภายหลังออกญากลาโหมได้ให้ออกญาเสนาภิมุขไปลวงพระศรีศิลป์มาสังหารทิ้ง

ใน พ.ศ. 2173 มารดาของเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ถึงแก่กรรม เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ได้จัดงานศพอย่างใหญ่โต ขุนนางทั้งหลายต่างไปช่วย บางคนถึงกับไปนอนค้าง เมื่อสมเด็จพระเชษฐาธิราชออกว่าราชการ มีข้าราชการหายไปจำนวนมากจึงทรงพระพิโรธว่าจะลงอาญาข้าราชการเหล่านั้น เหล่าข้าราชการจึงไปขอพึ่งเจ้าพระยากลาโหม และไม่ไปเข้าเฝ้า พวกข้าหลวงเดิมก็ทูลยุยงว่าเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์คิดเป็นกบฏ จึงทรงให้ข้าหลวงไปหลอกให้เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์เข้าวังมาเพื่อสังหารทิ้ง แต่เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์รู้ตัวก่อนจึงประกาศแก่คนทั้งปวงว่า "...เราได้ทำราชการมาด้วยความสุจริต เดี๋ยวนี้พระเจ้าแผ่นดินพาลเอาผิดว่าคิดกบฏ เมื่อภัยมาถึงตัวก็จำต้องเป็นกบฏตามรับสั่ง..."

ข้าราชการทั้งปวงก็พากันเข้าด้วย จึงคุมกำลังเข้ามาปล้นพระราชวัง จับสมเด็จพระเชษฐาธิราชไปปลงพระชนม์ จากนั้นข้าราชการทั้งปวงจึงอัญเชิญเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ให้ขึ้นครองราชย์ แต่เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ปฏิเสธและอัญเชิญสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ พระโอรสองค์เล็กของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมขึ้นครองราชสมบัติสืบไป โดยมีเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เพราะยังทรงพระเยาว์มาก วันๆ ได้แต่ทรงเล่นสนุก ขุนนางทั้งปวงจึงไปขอร้องให้เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ขึ้นครองบัลลังก์เพื่อเห็นแก่บ้านเมือง เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์จึงปลงพระอาทิตยวงศ์ลงจากราชสมบัติ แล้วจึงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ใน พ.ศ. 2173 เมื่อมีพระชนมายุได้ 30 พรรษา ทรงพระนาม สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง


ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรียบเรียงโดย Sanook! Guru

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง, สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หมายถึง, สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง คือ, สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ความหมาย, สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu