ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ประเพณีไหลเรือไฟ, ประเพณีไหลเรือไฟ หมายถึง, ประเพณีไหลเรือไฟ คือ, ประเพณีไหลเรือไฟ ความหมาย, ประเพณีไหลเรือไฟ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ประเพณีไหลเรือไฟ

ประเพณีไหลเรือไฟ : Illuminated Boat Procession

         ประเพณีไหลเรือไฟ บางทีเรียกว่า “ลอยเรือไฟ” หรือ “ล่องเรือไฟ “หรือ “ปล่อยเรือไฟ” เป็น พิธีกรรมทางพุทธศาสนาที่นิยมทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (วันออกพรรษา) โดยเฉพาะท้องถิ่นที่มีชัยภูมิเหมาะสม คือ มีแม่น้ำหรือลำน้ำ เท่าที่ปรากฏจะมีแนวทางที่คล้ายกันและอยู่บนพื้นฐานความเชื่อต่าง ๆ อาทิ ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชารอยพระพุทธบาท ความเชื่อเกี่ยวกับการบวงสรวงพระธาตุจุฬามณีบนสวรรค์ ความเชื่อเกี่ยวกับการขอฝน ความเชื่อในการเอาไฟเผาความทุกข์ ความเชื่อเกี่ยวกับการขอขมาและระลึกถึงพระคุณพระแม่คงคา เป็นต้น เรือไฟในสมัยโบราณนั้นมีรูปแบบที่เรียบง่าย โดยทำจากต้นกล้วยและลำไม้ไผ่ที่หาได้มาจัดทำเป็นโครงเรือไฟง่าย ๆ พอที่จะทำให้ลอยน้ำได้ การรประดับตกแต่งเรือไฟภายในเรือไฟจะประดับด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ตะเกียง ขี้ไต้ สำหรับจุดให้สว่างไสว ก่อนจะปล่อย เรือไฟลงกลางลำน้ำโขง ปัจจุบันได้จัดทำเรือไฟรูปแบบต่างๆ โดยมีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้ประกอบในการจัดทำ และประดับตกแต่งให้วิจิตรตระการตามากยิ่งขึ้น เมื่อปล่อยเรือไฟเหล่านี้ลงกลางลำน้ำโขงภายหลังการจุดไฟให้ลุกโชติช่วง แล้วจะเป็นภาพที่งดงามและติดตาตรึงใจตลอดไป



กิจกรรมพิธีกรรมภายในงาน

          การทำเรือไฟในอดีตนั้น ทำด้วยไม้ไผ่และต้นกล้วย ยาวเพียง ๕ - ๖ วาเท่านั้น ความสูง ไม่เกิน ๑ เมตร และเป็นรูปเรือธรรมดา ทำราวไว้สองข้าง เพื่อวางขี้กะไต้ ตะเกียง หรือโคมไฟ มีการจัด ข้าวปลาอาหารขนมนมเนย ฝ้ายไน ไหมหลอด เสื่อผืน บรรจุไว้ข้างใน พอเวลาประมาณ ๕ โมงเย็นจะเริ่ม ทำพิธี โดยนิมนต์พระมาสวดและหลังการรับศีล ฟังเทศน์ ไหว้พระเรียบร้อยแล้ว จึงให้ญาติโยมตกแต่งเรือด้วยดอกไม้ธูปเทียนที่ถือไปบำเพ็ญกุศลนั้นเอง พอย่ำค่ำก็นำเรือไฟออกไปกลางแม่น้ำโขงแล้วจุดไฟปล่อย ให้เรือไหลไปตามลำน้ำส่งแสงระยิบตาเลยทีเดียว

          จังหวัดนครพนม ได้มีการฟื้นฟูประเพณีไหลเรือไฟขึ้น เมื่อปี ๒๕๒๖ โดยเทศบาลเมือง นครพนม ได้ประกาศชักชวนส่วนข้าราชการพ่อค้า ประชาชน และชาวคุ้มวัดต่าง ๆ ช่วยกันประดิษฐ์เรือไฟ ด้วยต้นกล้วย ไม้ไผ่ หรือวัสดุอย่างหนึ่งอย่างใดที่ลอยน้ำได้ ให้มีรูปร่างลักษณะเหมือนเรือ มีความยาวไม่น้อยกว่า ๖ เมตร โดยจะประดิษฐ์เป็นรูปหงส์ นาค ครุฑ หรือรูปอย่างใดก็ได้ที่คิดว่าสวยงาม ส่งเข้าประกวด ชิงรางวัลต่อมาการทำเรือไฟมีวิธีตกแต่งให้วิจิตรพิสดารมากยิ่งขึ้น รู้จักนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้า มาประกอบ ทำให้สามารถดัดแปลงเรือไฟให้มีรูปร่างแปลกตาออกไปอีก ทั้งพระภิกษุ สามเณร ชาวบ้าน แต่ละคุ้มวัดจะเตรียมจัดทำเรือไฟไว้ล่วงหน้าหลายวัน

          โดยนำเอาต้นกล้วยทั้งต้นมาเสียบไม้ต่อกันให้ยาว หลายวา วางขนานกันสองแถว กว้างห่างกันพอประมาณ แล้วนำไม้ไผ่เรียวยาวมาผูกไขว้กันเป็นตารางสี่เหลี่ยม มีระยะห่างกันคืบเศษวางราบพื้น มัดด้วยลวดให้แน่นและแข็งแรงเพื่อรอการออกแบบภาพบนแผงผู้ออกแบบแสดงความคิดสร้างสรรค์อย่างสวยงามที่สุด เช่นประดิษฐ์เป็นเรื่องราวตามพระพุทธประวัติ หรือสัตว์ในตำนานบ้างเป็นพญานาค ครุฑ หงส์เป็นต้น แล้วนำไปปักติดเป็นเสาบนแพหยวกกล้วยในอดีตเชื้อเพลิงที่ใช้จุดไฟนั้นใช้น้ำมันยางตระบอกขี้ผึ้งสีน้ำมันพร้าว, น้ำมันสน, น้ำมันยาง ที่เจาะสกัดจากต้นยางตะแบกชาด แล้วเอาไฟลนให้น้ำมันไหลออกมา แต่ปัจจุบันเปลี่ยนน้ำมันก๊าดหรือ น้ำมันดีเซล บรรจุในขวดน้ำดื่มต่าง ๆแล้วนำมาแขวนตามโครงเรือซึ่งต้องอาศัยการคำนวณที่แม่นยำ เพราะ ถ้าติดกันมากเกินไปจะทำให้เรือไหม้ไฟได้ ส่วนโครงเรือเป็นไม้ไผ่มีขนาดใหญ่ และเน้นความวิจิตรตระการตา เมื่อปล่อยเรือไฟลงน้ำโขงแล้ว จะมีความวิจิตรตระการตา สว่างไสวไปทั่วริมฝั่งแม่น้ำโขง อวดโฉมระยิบระยับมีฉากหลังเป็นสีดำจากท้องฟ้าในยามค่ำคืน และแสงที่สะท้อนจากท้องน้ำเพิ่มความงดงามมากยิ่งขึ้น

          เรือที่ทำปัจจุบันมีมาจากคุ้มต่าง ๆ ที่อยู่ในจังหวัดนครพนม มีการออกแบบที่สวยงาม มี เรื่องราว และดูเหมือนจริง เช่นรูปพระธาตุพนม ก็มีการออกแบบมาให้เหมือนจริงเป็น ๓ มิติ ทั้งนี้เป็น เพราะว่าถ้าคุ้มไหนชนะก็ถือเป็นหน้าเป็นตา และมีเงินรางวัลประชาชนในจังหวัดจะร่วมมือกันเป็นอย่างดี ในการช่วยเหลือกัน เพื่อทำงานนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปก่อนที่จะมีการไหลเรือไฟ ในช่วงเช้าจะประกอบการกุศลด้วยการทำบุญตักบาตร ถวาย ภัตตาหาร และเลี้ยงดูกัน ตกตอนบ่ายก็ตกแต่งเรือและมีการเล่นสนุกสนานต่าง ๆ ตอนเย็นมีการสวดมนต์ รับศีลและฟังเทศน์ พอตอนค่ำระหว่าง ๑๙.๐๐ - ๒๐.๐๐ น. จึงนำเรือออกไปลงน้ำและพิธีไหลเรือไฟก็เริ่มขึ้น

          จังหวัดหนองคาย การประดิษฐ์เรือไฟและพิธีการมีความคล้ายคลึงกับทางจังหวัด นครพนมเป็นอย่างมาก แต่มีรายละเอียดแตกต่างออกไป คือ เมื่อมีการทำบุญและฟังเทศน์จบแล้ว ก็จะมี การร้องรำทำเพลงฉลองเรือไฟ พอเวลาค่ำชาวบ้านจะนำของกินของใช้ เช่น ขนมข้าวต้ม กล้วย อ้อย ฝ้าย ผ้าไหม หมากพลู บุหรี่ ใส่กระจาดบรรจุไว้ในเรือไฟ ครั้นได้เวลาก็จุดไต้ หรือคบเพลิงในเฮือไฟให้สว่าง ชาวบ้านจุดธูปเทียนบูชา และคารวะแม่คงคา เสร็จแล้วนำเอาธูปเทียนไปวางไว้ในเรือไฟ เมื่อบูชากันหมด ทุกคน จึงปล่อยเรือไฟออกจากฝั่งให้ลอยไปตามลำน้ำ พอรุ่งเช้าเรือไฟไปติดที่ฝั่งไหนก็จะมีคนไปเก็บของออก จากเรือไฟ การล่องเรือไฟจะมีผู้เข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก

          นอกจากการลอยเรือไฟ ขณะเดียวกันที่หนองคายมีการลอยกระทง โดยใช้หยวกกล้วย ทั้งต้นมาต่อกัน มีไม้เสียบ ยาวหลายวาวางขนานกัน ๒ แถว กว้างห่างกันพอประมาณ แล้วปักเสาบนหยวก กล้วยเป็นระยะบนปลายเสา สร้างเป็นรูปพญานาค แล้วเอาผ้าขี้ริ้วชุบน้ำมันยางจุดบนปลายไม้บาง ๆ เป็น ระยะ ๆ หรือไม่ก็ใช้จุดด้วยไต้ หัวหยวกกล้วยเท่ากับเป็นทุ่น วัดในตำบลหนึ่ง ๆ ทำกระทงอย่างนี้กระทงหนึ่ง แล้วลากไปไว้เหนือน้ำ จอดอยู่ริมฝั่งทั้งสองข้าง เวลาเย็นชาวบ้านทั้ง ๒ ฝั่งแม่น้ำพากันลงเรือไปชุมนุม กันร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน พอได้เวลากลางคืนก็จุดไต้ที่กระทงเอาเชือกลากไปที่กลางน้ำ แล้ว ปล่อยให้ลอยไป ในกระทงมีอาหาร เสื้อผ้าของใช้ต่าง ๆ เมื่อเห็นลอยไปพ้นหมู่บ้านแล้วก็พากันกลับ คนที่ ยากจนที่อยู่ปลายน้ำก็จะเก็บกระทงไป

          แต่ในปัจจุบัน การลอยกระทงมิได้บรรจุอะไรนอกจากดอกไม้ธูปเทียน แล้วเรียกลอยกระทง นี้ว่า "การไหลเรือ" และต่างคนต่างลอย มิได้ลอยร่วมกัน เมื่อลอยไปแล้วผู้ที่อยู่ใต้น้ำมักจะเก็บไต้ที่จุดไปใน กระทงไปเสีย ทำให้กระทงที่จุดไต้สว่างสวย ลอยอยู่ในน้ำได้ไม่นาน

          นอกจากหนองคายมีการไหลเรือและลอยกระทงแล้ว ก็มีการแข่งเรือในแม่น้ำโขงในวันรุ่งขึ้น อีกด้วย

          จังหวัดอุบลราชธานี งานประเพณีไหลเรือไฟของชาวอุบลฯ ได้ถือกำเนิดขึ้นจากบุคคล สำคัญ ๓ คน คือ
          ๑. นายคูณ ส่งศรี อายุ ๗๓ ปี ถึงแก่กรรม ๒๔๙๐
          ๒. นายโพธิ์ ส่งศรี อายุ ๙๔ ปี ถึงแก่กรรม ๒๕๒๓
          ๓. นายดวง ส่งศรี อายุ ๘๓ ปี ถึงแก่กรรม ๒๕๑๖

          ท่านทั้ง ๓ เป็นพี่น้องกัน เป็นศรัทธาวัดทุ่งศรีเมือง ได้ประกอบพิธีไหลเรือไฟ โดยเอาถัง ประทีปที่ชาวบ้านมาจุดบูชาที่วัดลอยที่แม่น้ำมูลในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ต่อมาได้พัฒนาจากถังประทีป มาเป็นเรืออย่างเช่นที่อื่น ๆ และมาในช่วงที่ทหารอเมริกันมาประจำที่ฐานบินจังหวัดอุบลราชธานี ในระหว่างปีพ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นต้นมา มีการใช้ถังน้ำมันขนาด ๒๐๐ ลิตร ทำทุ่นและใช้ไม้ไผ่เป็นลำมาติดถังที่เคยเป็นรูปเรือ ก็ปรากฏเป็นรูปอื่น

          ส่วนจังหวัดเลย และศรีสะเกษ ก็มีความคล้ายคลึงกับจังหวัดอื่นๆ ทั้งในด้านพิธีกรรมและกิจกรรม

ที่มา
www.thatphanom.com
https://student.nu.ac.th



ประวัติความเป็นมา

          งานประเพณีไหลเรือไฟ หรือ งานประเพณีไหลเฮือไฟ (ในภาษาท้องถิ่น-อีสาน) เป็นประเพณีที่จัดขึ้นทั่วไปในหลาย จังหวัดในภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดที่ตั้งอยู่ติดลำน้ำ เช่น แม่น้ำมูล - ชี แม่น้ำโขง เป็นต้น การไหลเรือไฟ ในภาคอีสานนั้นเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันแน่ชัดสันนิษฐานว่าคงมีมาก่อนที่พุทธศาสนา จะเผยแพร่มาสู่ประเทศไทย เพราะสมัยก่อนกษัตริย์ไทยยังยึดถือพิธีพราหมณ์อยู่ โดยได้รับอิทธิพลมาจาก อินเดีย สมัยที่นำอารยธรรมเข้ามาเผยแพร่ในแถบสุวรรณภูมิ ดังพบว่าประเพณีงานบุญโดดเด่นที่จัดขึ้น ในภาคอีสานมักเกี่ยวโยงหรือผูกพันกับเรื่องของไฟเกือบทั้งสิ้น เช่น งานแห่เทียนเข้าพรรษา บุญบั้งไฟ พิธีไหลเรือไฟ เพราะมีความเชื่อว่า "ไฟ"เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์ เรียกว่า เทพอัคคี มีฐานะรอง จากพระอินทร์ สามารถเผาผลาญสิ่งชั่วร้ายและขจัดความทุกข์ยากให้ดับสลายไปได้

          จังหวัดต่าง ๆ ที่มีการจัดประเพณีไหลเรือไฟ เช่น จังหวัดศรีษะเกษ จังหวัดเลย จังหวัด นครพนม จังหวัดหนองคาย จังหวัดอุบลราชธานี ฯลฯ  โดยงานประเพณีไหลเรือไฟของจังหวัดนครพนม จัดว่าเป็นงานไหลเรือไฟที่ยิ่งใหญ่ระดับประเทศมักจัดขึ้นคล้ายคลึงกัน แต่ก็แตกต่างกันในด้านคติ ความเชื่อ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

          จังหวัดนครพนมและหนองคาย (มีทำเลที่ตั้งติดแม่น้ำโขงเหมือนกัน) มีความเชื่อว่า เป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ประทับไว้ ที่ริมฝั่งน้ำนัมทานที ซึ่งตามพุทธประวัติกล่าวว่า ครั้งที่พญานาคได้ทูลอาราธนาพระพุทธองค์ไปแสดงธรรม ในพิภพของนาคใต้เมืองบาดาล เมื่อพระองค์เสด็จกลับทางฝ่ายพญานาคได้ทูลขอให้พระองค์ประทับรอย พระบาทไว้ ณ ริมฝั่งน้ำนัมทานที พระองค์จึงได้ประทับรอยพระบาทไว้ ณ หาดทรายริมน้ำตามประสงค์ของ พญานาค ซึ่งรอยพระบาทที่ประทับไว้นี้ ไม่เพียงแต่เป็นที่เคารพสักการะของเหล่าพญานาคเท่านั้น ยังเป็นที่เคารพของเหล่าเทวดาและมนุษย์ด้วย   จนแสดงออกด้วยการไหลเรือไฟบูชารอยพระพุทธบาทของพระองค์

          ความเป็นมาของการจัดประเพณีไหลเรือไฟของจังหวัดนครพนม เสฐียรโกเศศ ได้เขียนไว้ ในหนังสือวัฒนธรรมและประเพณีอ้างตามคำบอกเล่าของพระเถระรูปหนึ่งว่า การลอยกระทงที่จังหวัด หนองคาย เมื่อกลางเดือน ๑๑ ชาวคุ้มวัดต่าง ๆ จะร่วมกันสร้างเรือนบนต้นกล้วย เอาไม้เสียบเรียงขนานกัน เป็นทุ่นใช้ผ้าชุบน้ำมันยางมัดติดปลายไม้ หรือใช้ไต้เรียงเป็นระยะ ๆ แล้วช่วยกันเอาเชือกลากออกไปกลาง กระแสน้ำ จุดไฟปล่อยไปในเวลากลางคืน เรียกว่า "ไหลเรือ" และเมื่อลอยไปแล้วมักจะถูกคนที่อยู่ใต้กระแส น้ำเก็บเอาไต้ที่จุดไปเสียทำให้กระทงที่ดูสว่างไสวสวยงามนั้นลอยอยู่ในน้ำไม่ได้นานหลายครั้งหลายหน เข้าผู้ร่วมมือร่วมแรงกันประดิษฐ์กระทงเรือก็หมดกำลังใจ ทำให้การไหลเฮือไฟซบเซาไป และมาหยุดชะงัก เมื่อปี ๒๕๑๘ เมื่อประเทศลาวมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อันเป็นผลกระทบทางด้านการเมือง   ต่อมาทางจังหวัดนครพนมได้ฟื้นฟูประเพณีนี้ขึ้นมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ โดยเทศบาลเมือง นครพนม ได้ประกาศชักชวนส่วนราชการพ่อค้า สมาคม และชาวคุ้มวัดต่าง ๆ ประดิษฐ์เรือไฟด้วยต้นกล้วย ไม้ไผ่ หรือวัสดุอย่างหนึ่งอย่างใดที่สามารถลอยน้ำได้ ให้มีรูปร่างลักษณะเหมือนเรือมีความยาวไม่น้อยกว่า ๖ เมตร และประดิษฐ์เป็นรูปหงส์ นาค ครุฑ หรือรูปอย่างใดก็ได้ที่คิดว่าสวยงามส่งเข้าประกวดชิงรางวัลเงินสด และปรากฏว่ามีผู้สนใจส่งเรือไฟเข้าประกวดถึง ๕๒ ลำ ในงานประกวดนั้นเฮือไฟที่งดงามจากฝีมืออันประณีตประดับด้วยโคมไฟที่สวยสะดุดตาเรียงรายอยู่กลางลำน้ำโขง เป็นภาพที่ประทับใจของชาวนครพนมและผู้ที่ ไปเที่ยวชมอย่างยิ่ง

          จังหวัดศรีษะเกษ มีความเชื่อว่า เป็นการเซ่นสรวงพญานาค ซึ่งสิงสถิตตามแม่น้ำลำคลอง ให้คุ้มครองผู้ที่สัญจรไปมาทางน้ำ ไม่ให้มีภัยอันตรายเข้ามากล้ำกราย

          จังหวัดอุบลราชธานี มีความเชื่อว่า
          - เป็นการบูชารอยพระพุทธบาท
          - เป็นการบูชาพระรัตนตรัยและพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ อันได้แก่ พระกกุสันโธ พระโกนา-คมโน พระกัสสโป พระโคตโม และพระอาริยเมตไตร- เป็นการบูชาคุณแม่โพสพ คือ บูชาพานข้าว
          - เป็นการบูชาประทีปตามประเพณี
          - เป็นการบูชาดวงวิญญาณของบรรพบุรุษในความเชื่อเรื่องการบูชาบรรพบุรุษ หรือพกาพรหม ปรากฏตามนิทานชาวบ้านที่เล่าสืบต่อ กันมาว่า ครั้งหนึ่งมีกาเผือกสองผัวเมียทำรังอาศัยอยู่บนต้นไม้ในป่าหิมพานต์ใกล้กับฝั่งแม่น้ำ วันหนึ่งกาตัว ผู้บินจากรังไปหากินเผอิญหลงทางกลับรังไม่ได้ จึงบินกระเจิดกระเจิงหายไป กาตัวเมียที่กำลังกกไข่อยู่ ๕ ฟอง คอยกาตัวผู้ไม่เห็นกลับจึงกระวนกระวายใจ อยู่มาวันหนึ่งเกิดพายุใหญ่พัดรังกาพังไข่ทั้ง ๕ ฟอง ตกลงในแม่น้ำ ส่วนแม่กาถูกพัดพาไปอีกทางหนึ่ง ครั้นลมสงบบินกลับมาที่รังพบว่า รังถูกพายุพัดพังและไข่ ทั้ง ๕ ฟองหายไปหมด จึงเสียใจจนตายไป และไปเกิดใหม่ในพรหมโลก ชื่อท้าวพกาพรหมส่วนไข่ทั้ง ๕ ฟอง มีผู้นำไปรักษาไว้ดังนี้ ฟองแรกแม่ไก่เอาไป ฟองที่ ๒ แม่นาคเอาไป ฟองที่ ๓ แม่เต่าเอาไป ฟองที่ ๔ แม่โคเอาไปและฟองสุดท้ายแม่ราชสีห์เอาไปครั้นเมื่อไข่ครบกำหนดฟักแตกออกมากลับเป็นมนุษย์ไม่ใช่ลูกกาตามปกติครั้นเมื่อลูกกาทั้ง ๕โตเป็นหนุ่มเห็นโทษของการเป็นฆราวาส และเห็นถึงอานิสงส์แห่งการบรรพชาจึงได้ลามารดาเลี้ยงออกบวชเป็นฤาษีอยู่ในป่าหิมพานต์ วันหนึ่งฤาษีทั้ง ๕ ได้มาพบกันจึงได้ไต่ถามเรื่องราวของกันและกัน และพร้อมใจกันอธิษฐานว่า ถ้าต่อไปจะได้เป็น องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าขอให้ร้อนไปถึงมารดาด้วย

          แรงอธิษฐานครั้งนั้นได้ร้อนไปถึงท้าวพกาพรหม และเสด็จจากพรหมโลกจำแลงองค์เป็นกาเผือกบินมาเกาะบนต้นไม้ตรงหน้าฤาษีทั้ง ๕ และเล่าเรื่องเดิมให้ ฟัง และกล่าวว่า "ถ้าคิดถึงแม่ เมื่อถึงวันเพ็ญ เดือน ๑๑ และเดือน ๑๒ ให้เอาด้ายดิบผูกไม้ตีนกาปักธูป เทียนบูชา ลอยกระทงในแม่น้ำเถิด ทำอย่างนี้เรียกว่า คิดถึงแม่" เมื่อบอกเสร็จท้าวพกาพรหมก็ลากลับไป จนกลายมาเป็นที่มาของการลอยกระทงและไหลเรือไฟ

          จังหวัดเลย มีความเชื่อว่า  เป็นการบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวคือ บูชา พระพุทธเจ้า ในวันที่พระองค์เสด็จลงมาจากเทวโลกหลังจากที่พระพุทธองค์ได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่ดาว ดึงส์พิภพ เพื่อแสดงพระสักธรรมเทศนาอภิธรรม ๗ คัมภีร์ (บทที่ใช้สวดในงานศพ) เพื่อโปรดพุทธมารดา เมื่อออกพรรษาแล้ว พระพุทธเจ้าก็เสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์ โดยบันไดทิพย์ทั้ง ๓ คือ บันไดทองอยู่เบื้องขวา เป็นที่ลงแห่งหมู่เทพยดา บันไดเงินเป็นที่ลงแห่งหมู่พรหม ส่วนบันไดแก้วเป็นทางเสด็จพระพุทธเจ้า หัวบันได อยู่ยอดเขาพระสิเนรุราช ทรงแสดง"โลกวิวรณ์ปาฏิหาริย์" คือ เปิดโลกโดยทอดพระเนตรไปเบื้องบนถึงพรหม โลก เบื้องต่ำสุดถึงอเวจีนรก และทิศต่าง ๆ ทั้งแปดทิศโลกธาตุแห่งหมื่นจักรวาล และเห็นเป็นลานกว้าง อันเดียวกัน ทำให้สวรรค์ มนุษย์ นรกแลเห็นกันและกัน จึงเรียกวันนี้ว่า "วันพระเจ้าโปรดโลก"พระองค์เสด็จ มา ณ เมืองสังกัสสะ สถานที่นั่นเรียกว่า "อจลเจดีย์" ทวยเทพทั้งหลายส่งเสด็จ มนุษย์ทั้งหลายรับเสด็จด้วยเครื่องสักการะบูชามโหฬาร การไหลเรือไฟก็ถือเป็นการสักการะบูชาอย่างหนึ่งในวันนั้น



กำหนดจัดงาน

          งานประเพณีไหลเรือไฟจัดขึ้นในช่วงเทศกาลออกพรรษา ระหว่างขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ - วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑  ของทุกปี

ประเพณีไหลเรือไฟ, ประเพณีไหลเรือไฟ หมายถึง, ประเพณีไหลเรือไฟ คือ, ประเพณีไหลเรือไฟ ความหมาย, ประเพณีไหลเรือไฟ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu