ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก, สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก หมายถึง, สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก คือ, สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ความหมาย, สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

          สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ลำดับที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2532

          ตลอดเวลาที่ทรงดำรงตำแหน่งนี้ พระองค์ทรงมีคุณูปการอันทรงคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์ ในฐานะประมุขสงฆ์สูงสุด

          พระองค์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจและพระศาสนกิจได้ครบถ้วน ทรงเป็นผู้ปกครองอันเที่ยงธรรมมั่นคงในพระธรรมวินัยยิ่ง 

 



พระชาติภูมิ

          สมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามเดิมว่า เจริญ นามสกุล คชวัตร ประสูติที่ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีฉลู ตรงกับวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖ เวลาประมาณ ๑๐ ทุ่ม มีเศษ (หรือเวลาประมาณ ๐๔.๐๐ นาฬิกาเศษ แห่งวันเสาร์ที่ ๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖ ตามที่นับแบบปัจจุบัน) พระชนกชื่อ นายน้อย คชวัตร (ถึงแก่กรรม พุทธศักราช ๒๔๖๕) พระชนนีชื่อ นางกิมน้อย คชวัตร (ถึงแก่กรรม พุทธศักราช ๒๕๐๘)


บรรพชาอุปสมบท

         พุทธศักราช ๒๔๖๙ ทรงบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเทวสังฆาราม ( วัดเหนือ ) จังหวัดกาญจนบุรี พระครูอดุลยสมณกิจ ( พุทฺธโชติ ดี เอกฉันท์ ) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆารามเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูนิวิฐสมาจาร ( สุวณฺณโชติ เหรียญ รัสสุวรรณ ) เจ้าอาวาสวัดศรีอุปลาราม ( วัดหนองบัว ) เป็นพระอาจารย์ให้สรณะและศีล

          พุทธศักราช ๒๔๗๖ พระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี พระครูอดุลยสมณกิจ (พุทฺธโชติ ดี เอกฉันท์) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูนิวิฐสมาจาร (สุวณฺณโชติ เหรียญ รัสสุวรรณ) เจ้าอาวาสวัดศรีอุปลาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัด หรุง นามสกุลเซี่ยงฉี เจ้าอาวาสวัดทุ่งสมอ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ อุปสมบทแล้วทรงจำพรรษา ที่วัดเทวสังฆาราม ๑ พรรษา

          เมื่อออกพรรษาแล้วในศกเดียวกัน ได้ทรงทำทัฬหีกรรม ( ญัตติซ้ำ ) เป็นธรรมยุต ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๖ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ( สุจิตฺโต หม่อมราชวงศ์ ชื่น นภวงศ์ ป.๗) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเทพเมธี ( อิสฺสรณญาโณ จู ทีปรักษพันธุ์ ป.๗) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

          เมื่อออกพรรษาแล้วใศกเดียวกัน ได้ทรงทำทัฬหีกรรม (ญัตติซ้ำ) เป็นธรรมยุตที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๖ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (สุจิตฺโต หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ ป. ๗) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเทพเมธี (อิสฺสรญาโณ จู ทีปรักษพันธุ์ ป. ๗) เป็นพระกรรมวาจาจารย์



การศึกษา

          ทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้น ณ โรงเรียนประชาบาลวัดเทวสังฆาราม จบชั้นประถม 5 (เทียบชั้นมัธยม 2) หลังจากทรงบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ทรงเรียนพระปริยัติธรรมและทรงสอบไล่ได้ชั้นต่าง ๆ เป็นลำดับมาในสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร ดังนี้

          - พุทธศักราช ๒๔๗๒ ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรี 
          - พุทธศักราช ๒๔๗๓ ทรงสอบได้นักธรรมชั้นโท และเปรียญธรรม ๓ ประโยค 
          - พุทธศักราช ๒๔๗๕ ทรงสอบได้นักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม ๔ ประโยค 
          - พุทธศักราช ๒๔๗๖ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค 
          - พุทธศักราช ๒๔๗๗ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค 
          - พุทธศักราช ๒๔๗๘ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๗ ประโยค 
          - พุทธศักราช ๒๔๘๑ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๘ ประโยค 
          - พุทธศักราช ๒๔๘๔ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค



สมณศักดิ์

          - พุทธศักราช ๒๔๙๐ เป็นพระราชาคณะสามัญที่พระโสภนคณาภรณ์
          - พุทธศักราช ๒๔๙๕ เป็นพระราชาคณะชั้นราชในราชนิทนามเดิม 
          - พุทธศักราช ๒๔๙๘ เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามเดิม    
          - พุทธศักราช ๒๔๙๙ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่พระธรรมวราภรณ์  
          - พุทธศักราช ๒๕๐๔ เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่พระศาสนโสสภณ    
          - พุทธศักราช ๒๕๑๕ เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระญาณสังวร 
          - พุทธศักราช ๒๕๓๒ได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ลำดับที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

          สมเด็จฯ ได้ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปีพ.ศ. 2469 ขณะอายุได้ 14 ปี ภายหลังบรรพชาแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่ วัดเทวสังฆาราม 1 พรรษา จากนั้นได้มาศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดเสน่หา จ.นครปฐม กระทั่งอายุครบอุปสมบท ท่านจึงได้ เดินทางกลับไปอุปสมบทที่วัดเทวสังฆาราม เมื่อพ.ศ. 2476 ภายหลังจึงได้เดินทางเข้ามาจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยต่อไป และที่วัดบวรนิเวศนี่เอง ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบท เป็นธรรมยุตนิกาย โดยมี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ด้านการศึกษา ทรงสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ในปีพ.ศ. 2484 และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น "สมเด็จพระญาณสังวร" เมื่อพ.ศ. 2515

          ท่านได้ทรงอุทิศตนเพื่องาน พระศาสนาโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ทรงรับเป็นองค์แสดงธรรมยังสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่ง นอกจากนั้นยังได้ทรงนิพนธ์ ผลงานทางวิชาการ เอกสาร และตำราด้านพุทธศาสนา ซึ่งล้วนแต่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งไว้มากมาย พ.ศ. 2499 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเลือกให้เป็นพระอภิบาล(พระพี่เลี้ยง) ของพระภิกษุ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในระหว่างที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่าง วันที่ 22 ต.ค. - 5 พ.ย 2499 เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นพระเถระที่ประพฤติปฏิบัติธรรม ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตามทางแห่ง ศีล สมาธิ ปัญญา ทรงเป็นพระผู้ประเสริฐบริสุทธิ์ที่หาได้ยากยิ่งองค์หนึ่ง จากคุณงามความดีที่ท่านได้สร้างสมไว้ ในที่สุดจึงได้รับตำแหน่งเป็น "สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก" เมื่อ 21 เม.ย. 2532 เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์



คุณธรรมที่เป็นแบบอย่าง

          ชีวิตของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ นั้นก็ไม่แตกต่างไปจากชีวิตของคนทั่ว ๆ ไป คือมีทั้งผิด หวังและสมหวัง มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว มีทั้งดีใจและเสียใจ แต่โดยที่ทรงมีคุณธรรม หลายประการที่โดดเด่นเป็นแกนหรือเป็นแก่นของชีวิต ชีวิตของพระองค์จึงมีความสมหวัง มากกว่าผิดหวัง มีความสำเร็จมากกว่าความล้มเหลว และมีความดีใจมากกว่าเสียใจกล่าวโดยรวมก็คือ ด้วยคุณธรรมอันเป็นแกนของชีวิตดังกล่าวพระองค์จึงทรงประสบความสำเร็จ หรือทรง เจริญก้าวหน้าไปตามครรลองของชีวิตจนถึงที่สุด ดังเป็นที่ปรากฏอยู่ในบัดนี้ หากวิเคราะห์ ตามที่ปรากฏในพระประวัติ ก็จะเห็นได้ว่า พระคุณธรรมที่โดดเด่นในชีวิตของพระองค์ ก็คือ
 
          อดทน 
          ใฝ่รู้ 
          กตัญญู 
          ถ่อมตน 
          คารวธรรม 
 
          พระคุณธรรมประการแรกที่ปรากฏเด่นชัดในชีวิตของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก็คือ ความอดทน (ขันติ) เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงมีพระสุขภาพอ่อนแอไม่แข็งแรงมาตั้งเยาว์วัย และมีผลสืบเนื่องมา จนถึงเมื่อทรงบรรพชาเป็นสามเณร พระสุขภาพที่อ่อนแอนับเป็นอุปสรรคสำคัญของการศึกษาเล่าเรียน พระองค์ต้องทรงใช้ความอดทนอย่างหนักจึงสามารถผ่านพ้นอุปสรรคแต่ละขั้นตอนมาได้ ทรงเล่าว่า บางครั้งเมื่อถึงเวลาสอบ ต้องทรงใช้ผ้าสักหลาดพันรอบอกหลายชั้น เพื่อไม่ให้เกิดอาการหนาวสั่น ในเวลานั่งสอบ นอกจากจะต้องงอดทนต่อความไม่สมบูรณ์ของร่างกายแล้ว ยังต้องงอดทนต่อเสียง ค่อนแคะของเพื่อนร่วมสำนักอีกนานัปการ แต่สิ่งเหล่านี้แทนที่จะทำให้กำลังพระทัยลดน้อยลง แต่กลับทำให้ทรงรู้สึกว่าจะต้องมีความอดทนมากขึ้น
 
          พระคุณธรรมที่โดดเด่นประการต่อมาก็คือ ความใฝ่รู้ (สิกขกามตา) เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงเป็นผู้ใฝ่รู้มาโดยตลอดแม้เมื่อทรงเป็นพระมหาเถระแล้ว พระอัธยาศัยใฝ่รู้ของพระองค์ ก็ไม่เคยจืดจาง ได้ทรงแสวงหาความรู้อยู่เสมอด้วยการทรงอ่านหนังสือ ทั้งที่เป็นหนังสือภาษาไทย และภาษาอังกฤษ หนังสือดีมีประโยชน์บางเรื่องที่ทรงอ่านแล้ว ยังทรงพระเมตตาแนะนำให้ ผู้ใกล้ชิดอ่านด้วย โดยมักมีรับสั่งว่า “เรื่องนี้เขาเขียนดี น่าอ่าน”
 
          พระคุณธรรมข้อกตัญญู ดังกล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงมี พระคุณธรรมข้อนี้อย่างเด่นชัด และทรงหาโอกาสสนองคุณของผู้ที่มีพระคุณต่อพระองค์ แม้เพียงเล็กน้อยอยู่เสมอ ดังเช่น เมื่อทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร ก็ทรงรำลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ที่ทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร เป็นรูปแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะหาก ไม่มีสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) เป็นรูปที่ ๑ ก็คงไม่มีสมเด็จพระญาณสังวร คือพระองค์เอง เป็นรูปที่ ๒ ฉะนั้นเมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษา จึงเสด็จไปถวายสักการะพระรูปสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ที่วัดราชสิทธารามเป็นประจำทุกปีตลอด
 
          อีกกรณีหนึ่ง เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวราภรณ์ และทรงได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารใหม่ ๆ (พ.ศ.๒๕๐๔) คราวหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) วัดสระเกศ ได้ทรงปรารภกับพระองค์ด้วยความห่วงใยว่า “เจ้าคุณ จะเอาวัดบวรไว้อยู่หรือ” ซึ่งหมายความว่า จะปกครองวัดบวรนิเวศวิหารที่เป็นพระอารามหลวงที่สำคัญทั้งมีพระเถระที่มีอาวุโสมากกว่า อยู่มากองค์ในขณะนั้นให้เรียบร้อยได้หรือ ด้วยพระปรารภดังกล่าวนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงถือว่า สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) ทรงมีพระเมตตาต่อพระองค์ จึงทรงรำลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระสังฆราช พระองค์นั้นอยู่เสมอ เมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษาจึงทรงไปถวายสักการะ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น นับแต่เมื่อยังมีพระชนม์อยู่และตลอดมาจนบัดนี้

          พระคุณธรรมข้อถ่อมตน (นิวาตะ) เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงมีความถ่อมพระองค์มาแต่ต้น เพราะความถ่อมตน เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ จึงทรงเป็นพระเถระที่สงบเสงี่ยม สำรวมระวัง ตรัสน้อย และไม่ชอบแสดงตน ดังเช่นในการสอนสมาธิกรรมฐาน พระองค์ก็มิได้แสดงพระองค์ว่าเป็นผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญกว่าใคร ๆ แต่มักตรัสว่า “แนะนำในฐานะผู้ร่วมศึกษาปฏิบัติด้วยกัน”

          บางครั้งมีผู้กล่าวถึงพระองค์ว่า เป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงทราบจะทรงแนะว่า ไม่ควรกล่าวเช่นนั้น เพราะ “ใคร ๆ ไม่ควรที่จะอวดอ้างตนว่าเป็นครูอาจารย์ของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทุกคนมีหน้าที่ต้องถวายงานสนองพระราชประสงค์เท่านั้น”

          อีกตัวอย่างหนึ่ง เจ้าพระคุณสมเด็จทรงเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมมาตั้งแต่ทรง ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ และทรงเป็นตลอดมาทุกสมัย ในการประชุมมหาเถรสมาคม แต่ละครั้ง เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ประทับเก้าอี้ท้ายแถวเสมอ กระทั่งครั้งหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราช (จวน) วัดมกุฎกษัตริยาราม ซึ่งทรงเป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคมในขณะนั้น ทรงทักแบบ สัพยอกด้วยพระเมตตาว่า “เจ้าคุณสานั่งไกลนัก กลัวจะเป็นสมเด็จหรือไง”

          พระคุณธรรมข้อคารวธรรม คือความเป็นผู้มีความเคารพต่อผู้ที่ควรเคารพ คารวธรรม ประการแรกของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก็คือความเคารพในพระรัตนตรัย ความเคารพในพระพุทธเจ้านั้น ทรงแสดงออกด้วยการเคารพต่อพระพุทธรูปในทุกสถานการณ์ ดังเช่น ทรงแนะนำภิกษุสามเณร อยู่เสมอว่า การลงโบสถ์ทำวัตรเช้าค่ำนั้น ก็เสมือนการไปเฝ้าพระพุทธเจ้าประจำวันทำให้รำลึกถึง พระพุทธคุณ จิตใจไม่ห่างไกลจากพระธรรม ข้อที่ทรงแนะนำอีกประการหนึ่งก็คือ พระพุทธรูป ไม่ควรตั้งวางในที่ต่ำ หรือในที่ที่จะต้องเดินข้ามไปข้ามมาเป็นต้น

          ความเคารพต่อพระธรรมก็ทรงแสดงออกด้วยการเคารพต่อพระคัมภีร์ เช่นพระคัมภีร์ทาง พระพุทธศาสนาทุกชนิดทรงเก็บรักษาไว้ในที่สูงเสมอ ไม่เก็บไว้ในที่ที่ต้องเดินข้ามเดินผ่านเช่นกัน แม้หนังสือธรรมทุกชนิดก็ไม่ทรงวางบนพื้นธรรมดา ต้องวางไว้บนที่สูงเช่น บนโต๊ะ บนพานเป็นต้น หากทรงเห็นใครวางหนังสือธรรมบนพื้น ก็จะตรัสเตือนว่า “นั่นพระธรรม อย่าวางบนพื้น”

          ความเคารพในพระสงฆ์ ก็ทรงแสดงออกโดยทรงมีความเคารพต่อ พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ หรือที่เรียกกันว่า พระกรรมฐานเป็นพิเศษ เช่นเมื่อมีพระกรรมฐานเป็น อาคันตุกะ มาสู่พระอาราม แม้จะเป็นผู้ที่มีอาวุโสน้อยกว่าก็ทรงต้อนรับปฏิสันถารด้วยความเคารพ

          พระคุณธรรมข้อนี้ที่ปรากฏต่อสาธารณชนทั่วไปก็คือ ทรงแสดงความเคารพต่อพระเถระ ผู้มีอาวุโสมากกว่าพระองค์ทุกรูป ไม่ว่าพระเถระรูปนั้นจะเป็นภิกษุธรรมดาไม่มียศศักดิ์ อะไรหากมีอาวุโสพรรษามากกว่า พระองค์ก็ทรงกราบแสดงความเคารพเสมอ เมื่อมีพระสงฆ์ จากที่ต่าง ๆ มาเข้าเฝ้า หากมีพระเถระผู้เฒ้ามาด้วย ก็จะทรงถามก่อนว่า “ท่านพรรษาเท่าไร” หากมีอายุ พรรษามากกว่า จะทรงนิมนต์ให้นั่งบนอาสนะและทรงกราบตามธรรมเนียมทางพระวินัย

          พระคุณธรรมเหล่านี้ ทำให้ชีวิตของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ เป็นชีวิตที่งดงามหรือกล่าวอย่าง ภาษาชาวโลกก็คือ เป็นชีวิตที่ประสบความสำเร็จ เป็นชีวิตที่สามารถยึดถือ เป็นแบบอย่าง ได้สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตทาง โลกหรือชีวิตทางธรรม 

ที่มา

www.sangharaja.org
www.dhammathai.org


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก, สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก หมายถึง, สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก คือ, สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ความหมาย, สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu