ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ศึกเมืองทวาย, ศึกเมืองทวาย หมายถึง, ศึกเมืองทวาย คือ, ศึกเมืองทวาย ความหมาย, ศึกเมืองทวาย คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ศึกเมืองทวาย

สงครามครั้งที่ ๔
คราวไทยตีเมืองทวาย
ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐



เรื่องสงครามคราวนี้ มีเนื้อความปรากฏในพงศาวดารพม่าประกอบกับหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อกองทัพไทยตีทัพพม่าที่ท่าดินแดงแตกไปในปลายปีมะแม พ.ศ. ๒๓๒๙ แล้ว พอถึงปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กับกรมพระราชวังบวรฯ ก็ทรงปรึกษากันให้กะเกณฑ์กองทัพมีจำนวนพล ๘๐,๐๐๐ กำหนดจะเสด็จไปตีเมืองพม่าในฤดูแล้งปลายปีมะแมนั้น แต่กระบวนศึกจะได้ทรงพระราชดำริเป็นอย่างไรหาปรากฏไม่ เพราะกองทัพไทยยังไม่ทันยกไปก็ได้ข่าวลงมาถึงกรุงเทพฯว่า พม่ายกกองทัพ ๒ ทัพเข้ามาตีเมืองป่าซางและเมืองนครลำปาง

จึงโปรดให้แบ่งกำลังที่เกณฑ์ไว้จัดกองทัพมีจำนวนพล ๖๐,๐๐๐ ให้กรมพระราชวังบวรฯเสด็จขึ้นไปปราบปรามพม่าทางพม่าข้างเหนือ(๑) ดังกล่าวมาแล้วในเรื่องสงครามครั้งที่ ๓ ครั้นกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จยกทัพไปแล้ว ทางนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็เสด็จยกทัพหลวงจำนวนพล ๒๐,๐๐๐ ออกจากกรุงเทพฯ เมื่อ ณ วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น ๕ ค่ำ เสด็จไปตีเมืองทวายในปีมะแมนั้นเหมือนกัน

ตรงนี้จะกล่าวอธิบายถึงเหตุที่ไทยคิดจะตีเมืองพม่า และเหตุใดพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงเสด็จไปตีเมืองทวายเสียก่อน

อันสาเหตุที่ไทยคิดจะตีเมืองพม่านั้น ก็เพราะจะแก้แค้นพม่าที่ได้มาทำแก่ไทยให้ได้ความลำบากยากแค้นแสนสาหัส ความรู้สึกของไทยในสมัยนั้นเป็นอย่างไร จะแลเห็นได้ในกลอนเพลงยาวของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อจะไปตีเมืองพม่า เพลฃงยาวนี้พิมพ์ไว้ในหนังสือพระราชวิจารญ์ทั้งฉบับ แต่คัดมาลงไว้ต่อไปนี้ พอให้เห็นความเป็นตัวอย่างว่า

" มันทำเมืองเราก่อนเท่าใด
จะทดแทนมันให้หมดสิ้น
มันจิตอหังการ์ทมิฬ
จะล้างให้สิ้นอย่างสงกา
อันกรุงรัตนอังวะครั้งนี้หรือ
จักพ้นเงื้อมมืออย่างสงสัย
พม่าจะมาเป็นข้าไทย
จะได้ใช้สร้างกรุงอยุธยา
แม้นสมจิตไม่ผิดหมาย
จะเสี่ยงทายตามบุพเพวาสนา
จะได้ชูกู้ยกนัครา
สมดังปรารถนาทุกสิ่งอัน
ถ้าเสร็จการอังวะลงตราบใด
จะพาใจเป็นสุขเกษมสันต์
อ้ายชาติพม่ามันอาธรรม์
เที่ยงล้างขอบขัณฑ์ทุกพารา
แต่ก่อนก็มิให้มีความสุข
รบรุกฆ่าฟันเสียหนักหนา
จนบ้านร้างเมืองเซทุกวัดวา
ยับเยินเป็นป่าทุกตำบล
มันไม่คิดบาปกรรมให้ลำบาก
ต้องพลัดพรากจากกันทุกแห่งหน
มันเหล่าอาสัตย์ทรชน
ครั้งนี้จะป่นเป็นธุลี "



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแสดงกระแสพระราชดำริด้วยเรื่องเพลงยาวของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ฉบับนี้ไว้ในหนังสือพระราชวิจารณ์ว่า

" ข้อความตามพระราชพิพนธ์นี้ ถ้าผู้อ่านพิจารณาด้วยญาณอันหยั่งลงว่าเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่อ่านเรื่องจักรๆวงศ์ๆ(๒) จะรู้สึกน้ำใจท่านผู้เป็นต้นตระกูลของเราว่า มีความอัปยศทุกข์ร้อนลำบากยากเข็ญแค้นเคืองสักเพียงใด ความคิดเช่นนี้ใช่ว่าจะมีแต่กรมพระราชวังบวรฯ ย่อมมีทั่วไปในผู้มีบรรดาศักดิ์และมีปัญญาในเวลานั้น " ดังนี้

แท้จริงความคิดที่อยากจะแก้แค้นพม่าคงมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรีแล้ว แต่ในเวลานั้นไทยเพิ่งตั้งตัวใหม่กำลังน้อยก็ได้แต่สู้รักษาบ้านเมือง ครั้นถึงรัชกาลที่ ๑ เมื่อไทยสามารถตีทัพกษัตริย์ของพม่าให้พ่ายแพ้ไปได้ถึง ๒ ครั้งติดๆกัน จนพม่าครั่นคร้ามไม่กล้ายกกองทัพมาอีก ก็เห็นเป็นโอกาสว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยควรจะตอบแทนพม่าบ้าง จึงโปรดให้เตรียมกองทัพจะยกไปตีเมืองพม่า

แต่เมื่อเตรียมกองทัพจะยกไป เผอิญมีศึดพม่ามาตีเมืองป่าซางและเมืองนครลำปาง ต้องแบ่งกำลังไปรักษาพระราชอาณาเขตเสียเป็นอันมาก การที่จะตีเมืองพม่าก็เกิดขัดข้อง แต่จะเลิกเสียทีเดียวก็ทรงเสียดาย จึงยกไปตีเมืองทวายแต่เมืองเดียว การที่จะเมืองทวายครั้งนี้คงเป็นด้วยพระราชดำริว่า ตั้งแต่พ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มา กองทัพไทยไม่ได้ยกตีเมืองพม่าช้านานกว่า ๑๐๐ ปี ได้รบพุ่งกับพม่าแต่ในแดนไทยตลอดมา เสียเปรียบอยู่ที่พม่ารู้ภูมิลำเนาเมืองไทยชำนาญ แต่ไทยยังหารู้ภูมิลำเนาเมืองพม่าไม่

อีกประการหนึ่งถึงสมัยนี้มีพวกมอญที่ถูกพม่ากดขี่หนีเข้ามาอยู่ในเมืองไทยมาก พวกมอญที่ยังอยู่ในเมืองเดิมก็อยู่โดยจำเป็นมิได้มีใจนิยมต่อพม่า ถ้าหากว่าไทยยกออกไปตีหัวเมืองในแดนเมืองพม่าให้ปรากฏว่า ไทยอาจจะบุกรุกเข้าไปรบพม่าได้ไม่อ่อนแอเหมือนแต่ก่อน พวกมอญทั้งปวงคงจะพากันนิยมมาเข้ากับไทย ช่วยเป็นกำลังตีเมืองพม่าต่อไป

ก็หัวเมืองขึ้นของพม่าที่สมควรจะไปตีได้ในเวลานั้น เมืองอื่นไม่เหมาะเหมือนเมืองทวาย เพราะเมืองทวายอยู่ห่างลงมาข้างใต้ พม่าจะยกกองทัพเพิ่มเติมลงมารักษาเมืองไม่สะดวก ถึงรี้พลยกไปไม่มากนักก็เห็นจะพอทำการสำเร็จได้ ถ้าได้เมืองทวายก็คงได้เมืองตะนาวศรีและเมืองมะริดที่อยู่ต่อลงมาข้างใต้ด้วยทั้ง ๒ เมือง จะได้เอาไว้เป็นที่มั่นสำหรับทำสงครามตีเมืองพม่าต่อไป

โดยที่สุดถึงจะตีไม่ได้เมืองทวายในครั้งนั้น ก็จะได้ประโยชน์ที่รู้ภูมิลำเนาของข้าศึกไว้คิดอ่านการสงครามต่อไปข้างหน้า สันนิษฐานว่ากระพระราชดำริที่จะตีเมืองทวายคงเป็นเช่นกล่าวมานี้ และคงจะได้ปรึกษาหารือตกลงกัน แต่เมื่อกรมพระราชวังบวรฯจะเสด็จยกกองทัพขึ้นไปทางเหนือ เพราะฉะนั้นกรมพระราชวังบวรฯเสด็จไปแล้ว ทางนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็เสด็จยกกองทัพไปตีเมืองทวาย

กองทัพไทยที่ยกไปคราวนี้ โปรดให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธที่สมุหนายกเป็นทัพหน้ายกไปก่อนทัพหนึ่ง แล้วให้เจ้าพระยามหาเสนา พระยายมราชเป็นกองหน้าของทัพหลวงยกไปอีก ๒ กอง ส่วนทัพหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จเป็นจอมทัพ โปรดให้พระยาพระคลังเป็นเกียกกาย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อยังดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรเป็นยกกระบัตร และเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์เป็นกองหลัง รวมจำนวนพลทั้งสิ้น ๒๐,๐๐๐ เศษ เสด็จโดยกระบวนเรือจากกรุงเทพฯไปทางลำแม่น้ำไทนโยค ไปขึ้นบกที่เมืองท่าตะกั่ว ให้กองหน้าทั้ง ๓ กอง พล ๑๐,๐๐๐ เศษ ยกล่วงหน้าไปก่อน แล้วเสด็จยกกองทัพหลวงตามไปโดยลำดับ

ทางที่กองทัพไทยจะยกไปเมืองทวายไปได้ ๒ ทาง ทางข้างฝ่ายใต้เดินทางด่านบ้องตี้ (ซึ่งทำทางโทรเลขเมื่อภายหลัง) ทางนี้เมื่อข้ามเขาบรรทัดแล้ว ต้องเดินผ่านเมืองตะนาวศรีไปก่อน แล้วจึงถึงเมืองทวาย ทางฝ่ายเหนือมีอีกทางหนึ่งเรียกว่า ช่องเขาสูง ข้ามเขาบรรทัดแล้วตรงเข้าเมืองทวายทีเดียว ทางนี้เป็นทางใกล้แต่เป็นทางกันดารเดินยาก

กองทัพหลวงยกไปเมืองทวายครั้งนั้นประสงค์จะไปทางใกล้ และบางทีจะคิดลัดหลีกทำเลที่พม่าจะตั้งต่อสู้ได้ถนัด จึงยกไปทางช่องเขาสูง ชะรอยผู้ที่กะการทัพคราวนั้นจะไม่ทราบว่าช่องเขาสูงเป็นแต่ทางสำหรับคนเดินเท้า ต่อเดินกองทัพไปถึงที่จะข้ามเขาบรรทัดจึงได้ปรากฏเป็นทางกันดารเดินยากยิ่งนัก

กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เขาบรรทัดนั้นสูงชัน ช้างต้องเอางวงยึดต้นไม้เหนี่ยวตัวดึงขึ้นไป ช้างบางตัวเดินพลาดพลัดตกเหวตายทั้งช้างทั้งควาญก็มี ต้องปลดสัปคับและสิ่งของลงจากหลังช้างให้คนแบกขนข้ามไป แม้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ต้องลงทรงพระราชดำเนินด้วยพระบาท อาศัยผูกราวตามต้นไม้ค่อยเหนี่ยวพระองค์ขึ้นไปแต่เช้ายันเที่ยงจนถึงยอดเขา ขาลงก็ต้องลงเช่นนั้นอีก จึงถึงออกพระโอษฐ์ตรัสว่า "ไม่รู้ทางเดินยากถึงอย่างนี้ พาลูกหลานมาได้ความลำบากนักหนา" ความตรงนี้เป็นอุทาหรณ์ให้เห็นว่า ไทยตีเมืองพม่าเมื่อรัชกาลที่ ๑ ยกกว่าพม่ามาตีเมืองไทยอย่างไร

ฝ่ายพม่าที่รักษาเมืองทวายในครั้งนั้น ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า กองทัพพม่าที่ยกลงมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก เมื่อปีมะเส็งตั้งอยู่ที่เมืองทะวาย เกงหวุ่นแมงยีแม่ทัพจึงเป็นผู้บัญชาการต่อสู้ไทย แต่ในจดหมายเหตุของนายพันตรีไมเคล ไซม์ ทูตอังกฤษที่ไปเมืองพม่าภายหลังสงครามครั้งนี้สัก ๕ ปี ว่าพระเจ้าปดุงตั้งอะแซหวุ่นกี้ลงมาเป็นอุปราช ครองหัวเมืองฝ่ายใต้อยู่ที่เมืองเมาะตะมะในเวลานั้น อะแซหวุ่นกี้ลงมาเป็นแม่ทัพต่อสู้รักษาเมืองทวาย

แต่ความที่กล่าวนี้น่าสงสัยอยู่ ด้วยเมื่ออะแซหวุ่นกี้มาตีเมืองพิษณุโลกเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๓๑๘ บอกว่าอายุ ๗๒ ปี ถ้ามารบคราวรักษาเมืองทวายในปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐ นี้ อายุถึง ๘๔ ปี เห็นจะแก่เกินการนัก

วิธีที่พม่าต่อสู้ไทยครั้งนี้ ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า พม่าให้กองทัพมาตั้งสกัด ๓ แห่ง คือให้นัดมิแลงถือพล ๓,๐๐๐ มาตั้งสกัดที่ด่านวังปอ เข้าใจว่าตรงช่องที่จะลงไปจากช่องเขาบรรทัดแห่งหนึ่ง อีกกองหนึ่งใครเป็นแม่ทัพหาปรากฏชื่อไม่ จำนวนพล ๑,๐๐๐ ตั้งรักษาเมืองกลิอ่อง ทำนองจะเป็นกองหนุนของกองรักษาด่านวังปออีกกองหนึ่ง ตัวพระยาทวายถือพล ๔,๐๐๐ มาตั้งสลัดทางในท้องทุ่งที่จะเดินจากเมืองกลิอ่องไปเมืองทวาย ตรงนี้ตั้งค่ายหลายค่าย ชัดปีกกาถึงกันมั่นคง ส่วนตัวแม่ทัพใหญ่นั้นตั้งรักษาอยู่ที่เมืองทวาย

ฝ่ายกองทัพไทยเดินข้ามเขาลงไป พระยาสุรเสนา พระยามหาอำมาตย์ กองหน้าของเจ้าพระยารัตนาพิพิธถือพล ๕,๐๐๐ ยกไปถึงด่านวังปอเมื่อ ณ วันเสาร์ เดือน ๓ ขึ้น ๙ ค่ำ ก็เข้าตีค่ายพม่ารบพุ่งกันเป็นสามารถ พระยาสุรเสนา พระยาสมบัติบาลตายในที่รบ ยังไม่ได้ค่ายพม่า สู้รบติดพันกันอยู่ เจ้าพระยาพิพิธ เจ้าพระยามหาเสนายกลงไปถึงเมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือน ๓ แรม ๑๐ ค่ำ จึงพร้อมกันเข้าระดมตีค่ายพม่า ก็ได้ค่ายที่ด่านวังปอในวันนั้น

นัดมิแลงนายทัพพม่าล่าถอยกลับไปรักษาเมืองกลิอ่อง พม่าต่อสู้อยู่วันกับคืนหนึ่ง เหลือกำลังก็ถอยหนี กองทัพไทยได้เมืองกลิอ่องเมื่อ ณ วันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๒ ค่ำ เพลาค่ำยามเศษ เขาตั้งพักรวบรวมผู้คนอยู่ในเมืองนั้น กองทัพหลวงก็เสด็จยกหนุนไปตั้งอยู่ที่ด่านวังปอ

ทรงทราบว่ามีกองทัพพม่าตั้งค่ายปีกการายรับอยู่ที่ท้องทุ่ง จึงดำรัสสั่งกองทัพหน้าให้เตรียมการยกเข้าระดมตีค่ายพม่าพร้อมกันทั้ง ๒ กองให้ได้ค่ายแต่ในเพลาเดียว เจ้าพระยารัตนาพิพิธ เจ้าพระยามหาเสนา จัดกระบวนทัพพร้อมแล้วก็ยกไปตีค่ายพม่าที่ท้องทุ่ง สู้รบกันอยู่แต่เช้าจนค่ำ กองทัพไทยก็ตีได้ค่ายพม่าทั้งหมด เมื่อ ณ วันเสาร์ เดือน ๔ แรม ๘ ค่ำ แล้วก็รีบยกติดตามลงไปเมืองทวายในเพลากลางคืนวันนั้น

ฝ่ายแม่ทัพพม่าที่รักษาเมืองทวาย เห็นกองทัพที่ไปตั้งสกัดทางแตกถอยมาหมด กองทัพไทยติดตามมาจวนจะถึงเมืองทวาย ไม่ไว้ใจชาวเมืองทวายจะเข้ากับไทย หรือจะยำเกรงพม่าอยู่อย่างเดิม จึงพากองทหารทั้งปวงข้ามแม่น้ำไปอยู่ข้างฟากโน้น ทิ้งเมืองทวายไว้ให้ไทย(๓) กองทัพเจ้าพระยารัตนาพิพิธ เจ้าพระยามหาเสนายกไปถึงเมืองทวายเมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือน ๔ แรม ๙ ค่ำ ไม่เห็นกองทัพรักษาหน้าที่เชิงเทิน เห็นแต่ประตูเมืองปิดอยู่ จะยกเข้าไปในเมืองเกรงว่าพม่าจะแต่งกลซุ่มทหารไว้ จึงตั้งค่ายรายล้อมเมืองอยู่ข้างนอกทั้ง ๓ ด้าน เปิดไว้แต่ทางด้านแม่น้ำ กองทัพหลวงก็เสด็จยกตามไปตั้งค่ายที่ใกล้เมืองทวาย ห่างค่ายกองทัพหน้ามาประมาณ ๕๐ เส้น กองทัพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จไปตั้งในระหว่างค่ายกองหน้ากับทัพหลวงต่อเข้ามา

ฝ่ายแมทัพพม่าเห็นว่าพวกทวายไม่เข้ากับไทย ก็กลับเข้ามาตั้งรักษาเมืองอยู่ดังแต่ก่อน แต่มิได้ออกสู้รบกองทัพไทยต่อไป

ฝ่ายกองทัพไทยเมื่อไปตั้งล้อมเมืองทวายอยู่นั้น การลำเลียงเสบียงอาหารขัดข้องส่งถึงกันไม่ทันใช้ จึงเกิดเป็นปัญหาว่าจะควรถอยกองทัพกลับ หรือรีบหักโหมตีเอาเมืองทวายเสียให้ได้โดยเร็ว ปรากฏว่าแม่ทัพนายกองโดยมากกราบทูลอาสาจะเข้าตีเมืองทวาย แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็หาได้โปรดให้เข้าตีไม่

ด้วยทรงพระราชดำริว่า ถึงตีเมืองทวายได้ในคราวนั้นก็จะรักษาไว้ไม่ได้(๔) ยกเข้าตีเมืองก็เปลืองรี้พลเปล่าๆ ถ้าตีไม่ได้หรือไปเสียทีพม่าลงมาอย่างไร จะถอยทัพกลับก็ยาก ด้วยการทั้งปวงที่ตระเตรียมไปในครั้งนั้นเหมือนเป็นการทดลอง ก็สำเร็จประโยชน์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นพอพักรี้พลครบ ๑๕ วันแล้วก็โปรดให้เลิกทัพกลับมา

และการที่ถอยทัพกลับมาครั้งนั้น เพราะกองทัพไทยมีกำลังบริบูรณ์ไม่บกพร่องบอบช้ำ พม่ายกกองทัพออกติดตามก็ไม่สามารถจะทำอันตรายแก่กองทัพไทยได้ จึงถอยกลับมาโดยสะดวกตลอดทาง

ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ครั้นเสด็จการปราบปรามพม่าที่เมืองนครลำปางแลเมืองป่าซางแล้ว เสด็จยกกองทัพกลับมาถึงกลางทางทรงทราบว่า สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเสด็จถอยกองทัพหลวงกลับจากเมืองทวายก็ตกพระทัย สำคัญว่าเสียทีข้าศึก จึงยกกองทัพวังหน้าตามออกไป ไปทันเฝ้าฯเมื่อเสด็จกลับเข้ามาถึงลำน้ำเมืองไทรโยค กรมพระราชวังบวรฯทรงตั้งกองทัพอยู่ที่นั่น คอยระวังพม่าเผื่อจะติดตามล่วงแดนเข้ามา ครั้นเห็นพม่าไม่ยกตามมาก็เลิกทัพกลับคืนมาพระนคร


....................................................................................................................................................

(๑) จำนวนพลว่า ๖๐,๐๐๐ ตรงนี้ ว่าตามที่กล่าวในพงศาวดารพม่า ดูจะสูงเกินไป งามจะไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ เป็นอย่างมาก ถ้าเช่นนั้นยอด ๘๐,๐๐๐ ต้องลดลงมาเป็น ๕๐,๐๐๐ เห็นว่าจะพอสมควร

(๒) ทรงหมายความว่าจำพวกเรื่องหนังสือต่างๆ ซึ่งแต่งขึ้นพิมพ์ขายสำหรับอ่านในท้องตลาด อันมักชอบใช้ชื่อว่า "วงศ์" หรือ "จักร" เช่นเรื่องวงศ์เทวราช สินสุริยวงศ์ จักรแก้ว เป็นต้น

(๓) ตรงนี้หนังสือพระราชพงศาวดารว่าพม่าคิดเป็นกลอุบาย แต่ข้าพเจ้าเห็นตามกระแสพระราชนิพนธ์ในหนังสือพระราชวิจารณ์

(๔) สังเกตได้ว่า เมื่อไทยตั้งล้อมเมืองทวายคราวแรกที่ยกมาถึง ชาวเมืองทวายก็ไม่มาเข้ากับไทย คิดว่าข้อนี้คงจะเป็นมูลเหตุของพระราชดำริ ครั้งนี้ถึงตีได้เมืองพอยกกลับไปจากเมืองทวาย ทวายก็คงจะกลับไปเข้ากับพม่าอีก - กัม

ที่มา www.bloggang.com


ศึกเมืองทวาย, ศึกเมืองทวาย หมายถึง, ศึกเมืองทวาย คือ, ศึกเมืองทวาย ความหมาย, ศึกเมืองทวาย คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu