ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

พิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์, พิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ หมายถึง, พิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ คือ, พิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ ความหมาย, พิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
พิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์

 

พิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์
ห้วยเขามหาชัย ต.ท่างิ้ว อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช



ผศ.ประหยัด เกษม



ประวัติความเป็นมา
ในครั้งโบราณนั้น เมื่อต้องการใช้น้ำพระพุทธมนต์ประกอบพระราชพิธี เช่น น้ำอภิเษก น้ำบรมราชาภิเษก และน้ำพิพัฒน์สัตยา เป็นต้น เจ้าเมืองก็จะให้ราชบุรุษไปพลีกรรม เพื่อเอาน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ทั้ง 6 แหล่งมาประกอบพิธีทุกครั้งไป
แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 6 แหล่งมีที่มาและความสำคัญดังนี้

1. บ่อน้ำวัดหน้าพระลานอยู่ทางทิศใต้ของวัดพระมหาธาตุ ตำบลในเมือง เป็นบ่อที่มีน้ำใสสะอาดและมีน้ำหนักมากกว่าที่อื่น ใครได้ดื่มจะมีสติปัญญาดี

2. บ่อน้ำวัดเสมาเมืองตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน บริเวณด้านหน้าโรงเรียนเทศบาลวัดเสมาเมือง เป็นบ่อในศาสนาพราหมณ์มาก่อนใช้แก้คุณไสยได้ดี

3. บ่อน้ำวัดเสมาไชยตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน ใกล้กับร้านแสดงผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ เมื่อทำศึกสงครามเคยใช้น้ำบ่อนี้ทำน้ำพระพุทธมนต์ ประพรมแก่กองทหาร เพื่อสวัสดิมงคล

4.บ่อน้ำวัดประตูขาวตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราช แต่ครั้งโบราณบ่อน้ำนี้ได้รับการปลุกเสกน้ำทั้งบ่อให้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเจ้าอาวาสเป็นผู้ที่มีมนต์ขลังขมังเวทย์ เสกน้ำกันอาเพศทั้งหลายได้

5. ห้วยเขามหาชัยเป็นลำห้วยที่ไหลมาจากห้วยเขามหาชัย ผ่านลงมาที่พื้นที่ หมู่ที่ 7 ตำบลท่างิ้ว บริเวณหลังโรงเรียนวัดมหาชัยวนารามในปัจจุบัน มีตำนานเล่าว่า การที่มีชื่อว่า "มหาชัย" ก็เพราะที่เชิงเขาลูกนี้เคยเป็นที่ปะทะระหว่างทหารเมืองนครศรีธรรมราช กับ สลัดชวา เมื่อครั้งพุทธศตวรรษที่ 21 (ราว พ.ศ. 2090) ผู้นำทหารเมืองนครศรีธรรมราชในเวลานั้นชื่อ "พังพการ" ได้วางแผนซุ่มโจมตีสลัดชวาทุกวันที่เชิงเขาแห่งนี้ เป็นผลให้สลัดชวาแตกพ่ายกลับไป วีรกรรมสำคัญนี้มีปรากฎในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชความตนหนึ่งว่า "พระญา(ศรีธรรมโศกราช) ก็คิดแข็งเมืองกับชวา พระญาก็ให้ขุดคูรอบเมืองพระเวียง พระญาชวายกทัพเรือมารบ พระญาก็ให้พังพการเป็นทหารออกรบ พังพการฆ่าทหารชวาเสียสามสิบคน ยี่สิบคนทุกวันพลชวาตายมากนัก แลจักเห็นตัวพังการก็หาไม่ ชวาก็แตกหนีไป พระญาก็แบ่งเมืองให้พังพการฝ่ายหนึ่ง" ท้องที่ที่แบ่งให้ปกครองนี้ ปัจจุบันคือท้องที่ "ตำบลไชยมนตรี" คือ มนตรีผู้มีชัยชนะ และตั้งชื่อภูเขาที่ชนะศึกนั้นว่า "ภูเขามหาชัย" ถือเป็นแหล่งน้ำที่มีโชคชัย และยิ่งใหญ่

6. ห้วยปากนาคราชเป็นห้วยที่มีความคดเคี้ยวเหมือนพยานาคราช อยู่ที่ตำบลเขาแก้ว อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นน้ำที่ใสสะอาดเย็นเชื่อว่าพระยานาคเป็น สัตว์ผู้เป็นสื่อเชื่อมระหว่างมนุษกับสวรรค์ น้ำที่นี่จึงเหมือนดั่งน้ำที่เทพประทานความอยู่เย็นมาให้

เมื่อได้น้ำศักดิ์สิทธิ์จากทุกแหล่งแล้ว ก็นำมารวมกันในคนโท และประกอบพิธีพุทธาภิเษกในพระวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร การทำน้ำอภิเษกที่มีความศักดิ์สิทธิ์ จะกระทำที่วิหารนี้ทุกครั้ง เพราะถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประกอบพิธีสำคญของบ้านของเมืองนี้

พิธีสำคัญที่ใช้น้ำศักสิทธิ์
ในพิธีราชาภิเษกสมรส พระราชพิธีราชาภิเษกและพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช เมื่อ พศ. 2493 ได้มีพิธกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 6 แหล่ง ในครั้งนั้นมี นายแม้น อรจันทร์ ข้าหลวงประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานในพิธีและมี พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฐภรโณ) เมื่อครั้งยังเป็น พระศรีธรรมประสาธน์ เป็นประธานสงฆ์ ตามกำหนดการได้ประกอบพิธี 2 วันคือ

วันที่ 18 มีนาคม 2493 เวลา 10.00 น. ข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นประธานจุดธูปเทียน เครื่องนมัสการ สมานทานศีล แล้วพระสงฆ์ประกาศเทวดา เวลา 17.00 น. ประธานสงฆ์จุดเทียนชัย พระสงฆ์ 30 รูป เจริญพระพุทธมนต์ จบแล้วพระสงฆ์ผลัดเปลี่ยนกันสวดภาณวารต่อไปตลอดจนรุ่ง

วันที่ 19 มีนาคม 2493 เวลา 10.00 น. ข้าหลวงประจำจังหวัดจุดธูปเทียน เครื่องนมัสการ สมาทานศีลแล้ว ประธานสงฆ์ดับเทียนชัย เจือน้ำพระพุทธมนต์ลงไป ในน้ำอภิเษก เวลา 12.00 น. ตั้งบายศรีเวียนเทียน สมโภชน์น้ำอภิเษกไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำส่งสำนักพระราชวัง ก่อนวันที่ 20 เมษายน 2493
นอกจากนี้ได้มีการประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์สิทธิ์ในพิธีสำคัญอีกหลายครั้งคือ

พ.ศ.2525 ในโอกาสพิธีเฉลิมฉลองสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี

พ.ศ.2530 ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนม์พรรษาครบ 60 พรรษา

พ.ศ.2531 ในวโรกาศที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครองราชย์ได้นานกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อ 31 กรกฎาคม 2531

พ.ศ.2539 ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2539
หลังจากนั้นเป็นต้นมาจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับหน่วยงานต่างๆจัดงานมหาสงกรานต์ และอนุรักษ์มรดกไทย ได้จัดพิธีสรงน้ำพระบรมธาตุเจดีย์

ในปี พ.ศ. 2541 มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ได้ใช้น้ำศักดิสิทธิ์ทั้ง 6 แหล่งนี้มาทำน้ำพุทธมนต์ ภายหลังจากจังหวัดได้มอบหมายให้เทศบาลนครนครศรีธรรมราช รับเป็นเจ้าภาพดำเนินการจัดงานโดยย้ายสถานที่มาจัดที่สนามหน้าเมือง และเปลี่ยนมาจัดที่สวนศรีธธรรมโศกราชในปัจจุบัน ก็มีการประกอบพิธีปรกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 6 แหล่งมาประกอบพิธีพทธาภิเษก เป็นน้ำพระพุทธมนต์สำหรับสรงน้ำพุทธสิหิงค์เรื่อยมมาจนถึงปัจจุบัน

พิธีพลีกรรมตักน้ำห้วยเขามหาชัย
พิธีพลีกรรมตักน้ำห้วยเขามหาชัย โดยมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราชได้เริ่มครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2525 มี ผศ.ดร. ประเสริฐ จริยานุกูล อธิการวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช เป็นประธาน เนื่องในพิธีเฉลิมฉลองสมโภชน์กรุงรัตน์โกสินทร์ 200 ปี ได้ยึดแบบแนวพิธีตามพิธีหลวงที่รัฐบาลได้จัดทำเป็นต้นแบบ เพื่อใช้ในการประกอบแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ในพิธีต่างๆ มีบางบทที่แต่งเสริม เพื่อให้พิกรรมนี้สมบูรณ์ และครบถ้วนตามประเพณีนิยม และเพื่อเป็นสิริมงคล กำหนดไว้เป็นลำดับขั้นตอนดังนี้

1. จัดวางเครื่องสักการะ วางบนศาลเพียงตาหรือแท่นอันเหมาะสม (หมายเหตุ: สูงเพียงตายึดเอาระดับสายตาของเป็นประธานเป็นสำคัญ)
2. ประธานในพิธีจุดธูปเทียน
3. ประธานในพิธีนำสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย
4. ประธานในพิธีกล่าวชุมนุมเทวดา
5. ประธานกล่าวคำขอขมา
6. ประธานในพิธีกล่าวคำอธิษฐาน น้ำห้วยเขามหาชัย
7. จบแล้ว ประธานในพิธีเชิญเทวดากลับ
8. ประธานเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปเก็บในที่อันควร
9. ในระหว่างเดินขบวนอัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ ให้ลั่นฆ้องเป็นระยะๆ
เสร็จพิธี

แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เมืองนครศรีธรรมราช
แหล่งน้ำในเมืองนครศรีธรรมราชที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ สามารถนำมาใช้ในพิธีกรรมอันเข้มขลังได้นั้นมี บ่อน้ำวัดหน้าพระลาน บ่อน้ำวัดเสมาเมือง บ่อน้ำวัดเสมาไชย บ่อน้ำวัดประตูขาว ห้วยปากนาคราช และห้วยเขามหาชัย

"บ่อน้ำวัดหน้าพระลาน" วัดหน้าพระลานเป็นวัดเล็ก ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ในท้องที่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีอายุการก่อตั้งมาตั้งแต่กรุงศรีอยุทธยาตอนกลาง บ่อน้ำแห่งนี้มีนำใสสะอาด มีน้ำมากกว่าบ่ออื่น เชื่อสืบกันมาว่าหากใครดื่มกินจะมีปัญยาดี มีวาสนาสูง มีโอกาสได้เป็นเจ้าคนนายคน

"บ่อน้ำวัดเสมาเมือง" ตั้งอยู่ทางทิศเหนือโรงธรรมศาลาของวัดเสมาเมือง ตำบลในเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ใน พ.ศ.2544 เทศบาลนครนครศรีธรรมราชได้สร้างหลังคาทรงปั้นหยาแปลง มุงด้วยกระเบื้องดินเผาครอบบ่อไว้

บ่อน้ำวัดเสมาเมืองเป็นบ่อที่มีนำใสสะอาดทั้งภิกษุสงฆ์ เด็กวัด และพุทธศาสนิกชนใช้ดื่มกินด้วยด้วยความเชื่อว่าเป็นนำศักดิ์สิทธิ์มาโดยตลอด เมื่อใดมีการใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์ เมื่อนั้นจะมการตักน้ำที่บ่อนี้ไปใช้ประกอบพิธเสมอ

"บ่อน้ำวัดเสมาไชย" วัดเสมาไชยเป็นวัดคู่แฝดกับวัดเสมาเมืองอยู่ทางทิศเหนือวัดเสมาเมือง เคยเป็นวัดสำคัญของเมืองนครศร๊ธรรรมราช สร้างสมัยเดียวกับวัดเสมาเงิน วัดเสมาทอง และวัดเสมาเมือง ปัจจุบันเป็นวัดร้าง บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดเสมาไชยแต่เดิมเป็นบ่อขนาดเล็ก รูปสีเหลี่ยม ผนังบ่อแต่ละด้านก่อด้วยอิฐซิเมนต์ มีต้นโพธิ์ใหญ่ขึ้นอยู่ข้างบ่อ ปัจจุบันเทศบาลนครนครศรีธรรมราชได้ปฎิสังขรณ์จากบ่อสีเหลี่ยมเป็นบ่อกลม แล้วสร้างศาลาหลังคากระเบื้องดินเผาครอบไว้ เพื่อมิให้ใบไม้ร่วงหล่นไปในบ่อ มีการเทพื้นคอนกรีตครอบบ่อกั้นรั้วเป็นขอบเขตปริมณฑล และประกอบพิธีเปิดบ่อน้ำ ในวันที่ 9 มกราคม 2545 น้ำในบ่อนี้ถือกันว่ามีความสะอาดและศักดิ์สิทธิ์ ใช้ประกอบพิธีสำคัญเช่นเดียวกับบ่อน้ำวัดเสมาเมือง

"บ่อน้ำวัดประตูขาว"วัดประตูขาว เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งในตัวเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลคลัง จากหลักฐานเอกสารเก่าและคำบอกเล่าของคนเก่าแก่ ทราบว่าวัดนี้ตั้งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ราวรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ปัจจุบันใช้พื้นท่เป็นสถานที่ตั้งโรงเรียนอนุบาลจังหวัดนครศรีธรรมราช (ณ นครอุทิศ) โดยการอนุญาติของกรมศาสนา
บ่อน้ำวัดประตขาว ตั้งอยู่บริเวณรั้วด้านหน้าของโรงเรียนอนุบาลจังหวัดนครศรีธรรมราช (ณ นครอุทิศ) อยู่ติดกับสนามเด็กเล่นในปัจจุบัน บ่อนี้มีความลึกราวสามเมตรครึ่งเป็นบ่อกลมมีผนังบ่อเป็นบล้องคอนกรีต (ปล้องบ่อ) ปากบ่อฉาบด้วยหิน มีฝาคอนกรีตเป็นแผ่นกลมแบนปิดอยู่ มีตัวอาครปั้นหยาหลังคามุงกระเบื้องดินเผาเช่นเดียวกับวัดเสมาเมืองและบ่อน้ำวัดเสมาไชย

"ห้วยปากนาคราช"หรือ "ห้วยเทวดานาคราช" เป็นลำห้วยเล็กๆ ที่ไหลจากภูเขาลูกหนึ่งในเทือกเขานครศรีธรรมราช ในท้องที่หมู่ที่ 4 ตำบลเขาแก้ว อำเภอลานสกา (เดิมขึ้นอยู่กับอำเภอเมือง) ห่างจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4015 ประมาณ 50 เมตร และห่างจากโรงเรียนบ้านร่อนไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว 400 เมตร
เหตุที่ได้ชื่อว่า "ห้วยปากนาคราช"ก็เพราะเป็นลำห้วยที่มีนำไหลมาจากแง่หินที่มีลักษณะคล้ายปากพญานาคราช และมีน้ำใสไหลรินตลอดปี จุดที่นิยมตักไปใช้ประกอบพิธี คือ แอ่งน้ำซึ่งมีสายน้ำเล็กๆ สามสายไหลมารวมกัน น้ำแหล่งนี้จึงถือเป็นน้ำซึ่งอยู่ในชัยภูมิอันดี เปรียบดังปากพญานาคสามตัวพ่นลงอ่างทองคำพร้อมกันน่าจะศักดิ์สิทธิ์และควรค่าแก่การนำไปใช้นำไปใช้ในงานมงคลพิธีเป็นอย่างยิ่ง

"ห้วยเขามหาชัย"เป็นลำห้วยเล็กๆที่ไหลจากเชิงเขามหาชัย อันเป็นภูเขาลูกหนึ่งในเทือกเขานครศรีธรรรมราช ในท้องที่หมู่ 4 ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ห่างจากตัวเมืองนครศรีธรรมราช ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4016 (นคร-นบพิตำ) ไปทางตะวันตกราว 13 กิโลเมตร และห่างจากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราชราว 500 เมตร เป็นลำห้วยที่มีน้ำสะอาดใสสะอาดไหลรินลงมาตามซอกหินและแมกไม้ตลอดทั้งปี
ด้วยเหตุที่เป็นนำใสสะอาดปราศจากมลภาวะ ประกอบกับมีชื่อลำห้วยอันเป็นมงคลนาม ดังนั้นเมื่อพิธีอภิเษกน้ำเพื่อใช้ในพิธีกรรมสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริ์ พระราชวงศ์ เจ้าผู้ครองนคร และพระพุทธศาสนา จึงนิยมตักน้ำจากห้วยเขามหาชัยไปใช้ในพิธีกรรมดังกล่าวทุกครั้ง

จากหนังสือ "พิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ ห้วยเขามหาชัยตำบลท่างิ้ว จังหวัดนครศรีธรรมราช" โดย ศูนย์วัฒนธรรม สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จัดพิมพืเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ 2550

ที่มา  www.bloggang.com


พิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์, พิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ หมายถึง, พิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ คือ, พิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ ความหมาย, พิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu