ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

พระบรมราชานุสาวรีย์พระมหากษัตริย์ และพระอนุสาวรีย์พระบรมวงศ์ในราชวงศ์จักรี, พระบรมราชานุสาวรีย์พระมหากษัตริย์ และพระอนุสาวรีย์พระบรมวงศ์ในราชวงศ์จักรี หมายถึง, พระบรมราชานุสาวรีย์พระมหากษัตริย์ และพระอนุสาวรีย์พระบรมวงศ์ในราชวงศ์จักรี คือ, พระบรมราชานุสาวรีย์พระมหากษัตริย์ และพระอนุสาวรีย์พระบรมวงศ์ในราชวงศ์จักรี ความหมาย, พระบรมราชานุสาวรีย์พระมหากษัตริย์ และพระอนุสาวรีย์พระบรมวงศ์ในราชวงศ์จักรี คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
พระบรมราชานุสาวรีย์พระมหากษัตริย์ และพระอนุสาวรีย์พระบรมวงศ์ในราชวงศ์จักรี

          อนุสาวรีย์เป็นเครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์อันแสดงถึงคุณความดีของบุคคล หรือเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง ปัจจุบันนิยมสร้างอนุสาวรีย์เป็นรูปเหมือนของบุคคลสำคัญหรือเป็นสัญลักษณ์แทนเหตุการณ์สำคัญ แต่ในสมัยโบราณตามคติความเชื่อ หรือวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนไทย ไม่นิยมสร้างรูปเหมือนของบุคคลเพื่อเคารพสักการะหรือระลึกถึง เนื่องจากมีความเชื่อว่า  การสร้างรูปเหมือนของบุคคลจะไม่เป็นสิริมงคลแก่บุคคลนั้น  ด้วยเกรงว่ารูปนั้นจะเป็นเหตุจูงใจให้ภูติผีปีศาจเข้ามากระทำในทางไม่ดีต่อเจ้าของรูป หรือทำให้เจ้าของรูปประสบความหายนะ ด้วยเหตุดังกล่าว คนไทยในสมัยโบราณจึงไม่นิยมทำรูปเหมือนของบุคคลไว้ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด  รูปปั้น  หรือแม้แต่ภาพถ่าย

          ในอดีตนั้น เมื่อคนไทยเกิดความประทับใจบุคคลหรือวีรกรรมของบุคคล  มักสร้างอนุสาวรีย์เป็นสิ่งก่อสร้างอันเนื่องในพระพุทธศาสนา  ซึ่งคนไทยยอมรับนับถือสืบทอดกันมานาน  ดังจะเห็นได้จากการก่อสร้างพระสถูปที่อำเภอดอนเจดีย์จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเป็นที่ระลึกถึงการทำสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระมหาอุปราชา การสร้างพระเจดีย์ที่วัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และการสร้างพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย ที่วัดสวนหลวงสบสวรรค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาหรือการสร้างพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นต้น

          ต่อมาเมื่อมีการติดต่อสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ  ทางตะวันตกมากขึ้น โดยเฉพาะในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงรับเทคโนโลยีและวัฒนธรรมจากชาติตะวันตกอย่างเต็มที่ เพราะตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงประเทศให้เจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ เพื่อป้องกันมิให้ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก ในด้านประติมากรรมก็เช่นเดียวกัน ไทยเริ่มยอมรับแบบแผนอย่างชาติตะวันตก ดังจะเห็นได้จากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขนาดเท่าพระองค์จริงฉลองพระองค์แบบไทยประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทเพื่อถวายสักการะในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลและพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ในฐานะที่ทรงสถาปนาพระบรมราชจักรีวงศ์ และทรงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ให้เจริญรุ่งเรืองสืบมาถึง ๑๐๐ ปีเมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๕ ต่อมา ในปีพุทธศักราช  ๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้เชิญไปประดิษฐาน  ณ  พุทธปรางค์ปราสาท ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามซึ่งภายหลังพระราชทานนามว่า ปราสาทพระเทพบิดร และมีการหล่อพระบรมรูปพระมหากษัตริย์รัชกาลต่อๆ  มาประดิษฐานไว้ด้วย

          พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งแรกที่สร้างไว้ในที่สาธารณะ และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปสักการะบูชาได้ คือ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ณ ลานพระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่า “พระบรมรูปทรงม้า” พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร โปรดให้เรี่ยไรเงินจากพระบรมวงศานุวงศ์และราษฎรเป็นค่าก่อสร้าง โดยจ้างประติมากรชาวฝรั่งเศส ให้เป็นผู้ปั้นหล่อในประเทศฝรั่งเศส เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ได้  ๔๑ ปี ยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์รัชกาลก่อน  ๆ ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๒ เมื่อปั้นหล่อแล้วเสร็จจึงส่งมาประดิษฐานในประเทศไทย  รายได้ที่เหลือจากการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ได้นำไปใช้ในการก่อสร้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          การปั้นหล่อรูปเหมือน หรืออนุสาวรีย์แบบตะวันตกเริ่มแพร่หลายในประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นผู้บุกเบิกและวางรากประติมากรรม แบบใหม่ในไทยศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี มีนามเดิมว่า คอร์ราโดเฟโรจี (Corrado Feroci) เป็นชาวอิตาเลียนเกิดที่เมืองฟลอเรนซ์ (FIorence) จบการศึกษาจากสถาบันศิลปะชั้นสูงแห่งเมืองฟลอเรนซ์ และเป็นอาจารย์สอนศิลปะ

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะได้ช่างปั้นเข้ามาช่วยงานสร้างอนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี  จึงมาสมัครเข้ารับราชการ ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๖ ในตำแหน่งช่างปั้นประจำกรมศิลปากร  ต่อมาท่านได้ก่อตั้งโรงเรียนสอนศิลปะ โดยร่วมมือกับช่างศิลปกรรมไทยและข้าราชการกรมศิลปากร เปิดสอนแผนกจิตรกรรม เละประติมากรรม  ซึ่งมีช่างปั้นเป็นจำนวนมากที่เรียนจบจากโรงเรียนแห่งนี้  ต่อมาโรงเรียนสอนศิลปะแห่งนี้ได้เลื่อนฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร  เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๖

          ดังนั้น  การก่อสร้างอนุสาวรีย์ในประเทศไทย และการปั้นหล่อพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ตลอดจนบุคคลสำคัญทั้งหลาย จึงเป็นฝีมือของศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี และลูกศิษย์ที่รับสืบทอดต่อมา ประกอบกับแนวความคิดในสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไป เกิดการยอมรับว่า การสร้างอนุสาวรีย์เป็นเครื่องเตือนใจให้น้อมรำลึกถึงคุณงามความดีของบุคคล ความนิยมในการสร้างอนุสาวรีย์จึงแพร่หลายขึ้น โดยเฉพาะเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์

          เพื่อให้การก่อสร้างอนุสาวรีย์มีความถูกต้องตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และมีคุณค่าทางศิลปกรรม ตลอดจนการกำหนดลักษณะและสถานที่ตั้งให้เหมาะสม  รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวนี้  คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ  ว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติ  และการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ พุทธศักราช ๒๕๒๐ กำหนดให้กรมศิลปากร  กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้รับผิดชอบพิจารณาอนุมัติการก่อสร้างอนุสาวรีย์ของบุคคลสำคัญของชาติไทย โดยให้คำนึงถึงความเหมาะสมเกี่ยวกับรูปลักษณะและสถานที่ตั้ง ให้ทั้งราชการและภาคเอกชนขออนุญาตตามระเบียบก่อนการก่อสร้าง ส่วนการจำลองพระพุทธรูปสำคัญและพระบรมรูปของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ในราชวงศ์จักรีจะต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต โดยเสนอผ่านกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักเลขาธิการ  คณะรัฐมนตรี ทั้งนี้เพื่อธำรงรักษาเอกลักษณ์และศิลปวัฒนธรรมของชาติ

          ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติ และการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ พุทธศักราช ๒๕๒๐ ให้คำอธิบายไว้ว่า

         “พระบรมราชานุสาวรีย์"  หมายความว่า  อนุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์ซึ่งได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นคุณยิ่งใหญ่แก่ชาติไทยในยุคสมัยต่าง ๆ ตามที่มีเรื่อง หรือพระนามปรากฏในเอกสาร หรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี พระบรมราชานุสาวรีย์นั้นจะได้ประดิษฐานไว้ในที่สาธารณะ หรือ ณ ที่ซึ่งเปิดให้มหาชนสักการะบูชาและชมได้

         "อนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ” หมายความว่า  สิ่งก่อสร้างที่เป็นเครื่องหมายน้อมนำให้ระลึกถึงวีรกรรม หรือคุณความดีของบุคคลที่ได้ประกอบกรณียกิจ เป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ไว้แก่บ้านเมือง สมควรจะสร้างอนุสาวรีย์ไว้ให้ปรากฏเพื่อเป็นที่รวมพลังใจ พลังศรัทธา และความนิยมนับถือของประชาชน เพื่อให้เป็นแบบฉบับแก่อนุชนไทยสืบต่อไป และสิ่งก่อสร้างนั้นจะได้ประดิษฐานไว้ในที่สาธารณะหรือ ณ ที่ซึ่งเปิดให้มหาชนสักการะบูชาหรือชมได้

          ในปัจจุบันได้มีส่วนราชการและเอกชนสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้นเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งหลายจังหวัดได้สร้างขึ้น และบางจังหวัดสร้างขึ้นหลายแห่ง ทั้งนี้เนื่องจากพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ยาวนานถึง ๔๒ ปี ส่วนพระบรมราชานุสาวรีย์พระมหากษัตริย์พระองค์อื่น  ๆ  นั้น ในที่นี้ จะนำมากล่าวเฉพาะที่เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์สำคัญของชาติ ซึ่งได้แก่
          ๑. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประดิษฐาน  ณ  ลานพระปฐมบรมราชานุสรณ์  สะพานพระพุทธยอดฟ้า
          ๒. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ที่พระบรมราชานุสรณ์วัดอัมพวันเจติยาราม จังหวัดสมุทรสงคราม
          ๓. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ที่ลานหน้าพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ หน้าวัดราชนัดดาราม
         ๔. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
         ๕. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  (พระบรมรูปทรงม้า)  ลานพระราชวังดสิต
         ๖. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ที่สวนลุมพินี
         ๗. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ที่หน้ารัฐสภา
         ๘. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล  พระอัฐมรามาธิบดินทร  ที่ลานพระวิหารวัดสุทัศนเทพวราราม
         ๙. พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท  ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
         ๑๐. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ที่โรงละครแห่งชาติ

         นอกจากนี้ ยังมีพระราชานุสาวรีย์และพระอนุสาวรีย์พระบรมวงศ์ที่ทรงบำเพ็ญคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ เช่น
         ๑.  สมเด็จพระศรีสวรินทิรา  บรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่โรงพยาบาลสมเด็จศรีราชา จังหวัดชลบุรี
         ๒.  สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่โรงพยาบาลศิริราช
         ๓.  สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนคริน-ทราบรมราชชนนี ตามพระราชดำริ ณ ชุมชนวัดอนงคาราม
         ๔.  สมเด็จพระkจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ที่กระทรวงการต่างประเทศ
         ๕.  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระบิดาแห่งการสาธารณสุขที่กระทรวงสาธารณสุข
         ๖.  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ที่กองบัญชาการทหารอากาศ
         ๗.  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และการปกครอง ที่กระทรวงมหาดไทย
         ๘.  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ที่จังหวัดอุดรธานี
         ๙.  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ที่ที่ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย
         ๑๐. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ  ผู้วางรากฐานการสหกรณ์ ที่กระทรวงพาณิชย์
         ๑๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์  ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ
         ๑๒. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช  ที่ค่ายจิรประวัติ จังหวัดนครสวรรค์
         ๑๓. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์  ที่กระทรวงยุติธรรม

พระบรมราชานุสาวรีย์พระมหากษัตริย์ และพระอนุสาวรีย์พระบรมวงศ์ในราชวงศ์จักรี, พระบรมราชานุสาวรีย์พระมหากษัตริย์ และพระอนุสาวรีย์พระบรมวงศ์ในราชวงศ์จักรี หมายถึง, พระบรมราชานุสาวรีย์พระมหากษัตริย์ และพระอนุสาวรีย์พระบรมวงศ์ในราชวงศ์จักรี คือ, พระบรมราชานุสาวรีย์พระมหากษัตริย์ และพระอนุสาวรีย์พระบรมวงศ์ในราชวงศ์จักรี ความหมาย, พระบรมราชานุสาวรีย์พระมหากษัตริย์ และพระอนุสาวรีย์พระบรมวงศ์ในราชวงศ์จักรี คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu