ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ทุนการศึกษา, ทุนการศึกษา หมายถึง, ทุนการศึกษา คือ, ทุนการศึกษา ความหมาย, ทุนการศึกษา คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ทุนการศึกษา

          ความหมายของทุนการศึกษา 
         
ทุนการศึกษา หมายถึงเงินทุนสำหรับค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่บุคคลหรือองค์การต่างๆบริจาคให้เพื่อช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้ที่มิได้อยู่ในหน้าที่เลี้ยงดูปกครองโดยตรงของตนได้ศึกษาเล่าเรียนการศึกษาในระบบโรงเรียนและสถาบันการศึกษาในสมัยปัจจุบัน มีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นหลายประการ เช่น  ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือ เครื่องมือและอุปกรณ์  ค่าบำรุงกีฬาและกิจกรรม  และ
ฯลฯ ที่โรงเรียนหรือสถานศึกษาเรียกเก็บ ค่าเครื่องแบบนักเรียน ค่าเดินทางและกินอยู่ พักผ่อนหย่อนใจและกิจการสังคม  ฯลฯ ที่ผู้เรียนจับจ่ายใช้สอยเอง ถ้าผู้เรียนไม่สามารถพำนักที่บ้านกับครอบครัวของตนเองได้ ก็มีค่าเช่าที่พักที่จะต้องจ่ายเพิ่มอีก ดังผู้ที่ไปศึกษาต่างจังหวัดหรือต่างประเทศประจักษ์ได้ดี

          การศึกษาตามแบบประเพณีเดิมของไทยนั้นเป็นที่คุ้นเคยและปฏิบัติกันตามความพอใจและตามฐานะของบุคคล เรียกกันว่าศึกษาในวัดและในวัง ดังนั้นการศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ จากผู้ที่ไม่คุ้นเคย ไม่ตรงตามความพอใจ หรือฐานะของบุคคล เช่น การศึกษาความรู้แบบตะวันตกที่ชาวตะวันตกอยากจะให้หรือที่ผู้ปกครองบ้านเมืองไทยตระหนักเห็นความจำเป็นที่คนไทยต้องรู้จึงจำเป็นต้องมีสิ่งจูงใจหรือการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ที่จะเรียน
          ในอดีตมีหลักฐานการให้สิ่งจูงใจให้เล่าเรียน เช่น ประชุมพงศาวดาร (ภาคที่ ๓๒)   ระบุว่าคณะสอนศาสนาชาวฝรั่งเศสเคยให้ทุนคนไทยไปศึกษาต่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช    (พ.ศ. ๒๒๑๙-๒๒๓๑) แห่งกรุงศรีอยุธยามีการช่วยเหลือการเล่าเรียนของเด็กไทย ในสมัยรัชกาลที่ ๓  และ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  คน ไทยในระดับเจ้านายและขุนนางข้าราชการ เริ่มสนใจความรู้ของตะวันตกซึ่งหมอสอนศาสนาหรือมิชชันนารีตะวันตกนำมาเผยแพร่  มิชชันนารีคณะเพรสไบทีเรียน ชาวอเมริกัน ที่ตั้งโรงเรียนในเมืองไทยหาเด็กเข้าเรียนไม่ได้  ต้องใช้วิธีจ้างเด็กให้เรียน มิชชันนารีชาติเดียวกันนี้ได้ให้ทุนสตรีไทยคือนางเต๋อ   หรือนางเอสเทอร์  (Esther)ไปศึกษาวิชาผดุงครรภ์แผนใหม่ที่สหรัฐอเมริกาและกลับมาเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๓  เมื่อทางราชการเริ่มจัดการศึกษาแผนใหม่ในระบบโรงเรียนตามแบบตะวันตกอย่างจริงจัง  เพื่อรับเอาความรู้ของตะวันตกมาใช้ในการบริหาร และสร้างความเจริญให้ประเทศ    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่งนักเรียนไปศึกษาวิชาภาษาอังกฤษที่สิงคโปร์ และวิชาการตะวันตกที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๔ นักเรียนเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาในพระบรมราชานุเคราะห์ทั้งสิ้น
          ในระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้น  ก็มีทุนของเอกชนชาวต่างประเทศซึ่งอยู่ในเมืองไทย คือหมอเฮาส์ (Samuel House) มิชชันนารีชาวอเมริกันให้แก่นายเทียนฮี้ สารสิน   ต่อมารับราชการได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสารสินสวามิภักดิ์ ไปศึกษาวิชาแพทย์ ณ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กลับมาเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔
          ทุนการศึกษาที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่นักเรียนไทยให้ไปศึกษา ณ ต่างประเทศ ก็โดยพระราชประสงค์จะให้กลับมารับราชการ ได้ใช้และถ่ายทอดความรู้ของตะวันตกเผยแพร่ทั่วไปในหมู่อนุชนคนไทยแทนผู้เชี่ยวชาญและครูอาจารย์ชาวต่างประเทศรุ่นแรกๆ  ที่รัฐบาลจ้างมา     ดังปรากฏในพระราชปรารภในกฎหมายข้อบังคับสำหรับนักเรียนสยามที่เรียนวิชาอยู่ ณ ประเทศยุโรป ร.ศ. ๑๐๘ (พ.ศ. ๒๔๓๒) ว่า"...โดยพระบรมราชประสงค์เพื่อจะให้ได้วิชา]เวลากลับเข้ามากรุงเทพฯ    จะได้ทำการสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์แก่ราชการและบ้านเมืองต่อไป เพราะเหตุฉะนั้นจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้จัดเด็กคนไทยส่งออกไปเล่าเรียนวิชา  และพระราชทานเงินหลวงเป็นค่าเล่าเรียน  เสื้อผ้า กินอยู่เบ็ดเสร็จตามสมควร..." ต่อมาใน  พ.ศ. ๒๔๔๐  มีการวางระเบียบการพระราชทานเงินส่งนักเรียนไปศึกษาวิชา  ณต่างประเทศ   แยกเป็นทุน  "คิงส์สกอลาร์ชิป" (King's  Scholarship)  ส่วนพระองค์  ซึ่งผู้ได้รับพระราชทานทุนนี้ไม่จำเป็นต้องกลับมารับราชการประเภทหนึ่ง     กับทุนตามความต้องการของกระทรวง ซึ่งผู้ศึกษาต้องกลับมารับราชการอีกประเภทหนึ่ง  ทุนประเภทแรกภายหลังวิวัฒนาการมาเป็นทุนเล่าเรียนหลวง     หลังจากที่ขาดตอนไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕  และรื้อฟื้นใหม่ในรัชกาลปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘    ส่วนทุนประเภทหลังวิวัฒนาการมาเป็นทุนรัฐบาลไปศึกษาวิชาในต่างประเทศตามความต้องการของราชการสืบต่อมาไม่ขาดตอน คือทุนซึ่งคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)เป็นผู้บริหารในปัจจุบัน
          นอกจากทุนของทางราชการไทยแล้ว  ก็ยังมีทุนของมูลนิธิเอกชนไทยอีกหลายทุน  เช่น ทุนระพีมูลนิธิ    ซึ่งบรรดาศิษย์และผู้คุ้นเคยของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์  ร่วมกันตั้งขึ้นถวายกุศล  เริ่มให้ทุนส่งนักเรียนกฎหมายไปศึกษาต่อต่างประเทศ  เมื่อ  พ.ศ. ๒๔๖๕ ทุนของมูลนิธิต่างประเทศ เช่น ทุนร็อกกีเฟลเลอร์ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๕ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในรัชกาลปัจจุบัน) ทรงเจรจาติดต่อขอมาเป็นทุนให้นักเรียนไทยไปศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ และการแพทย์ และสาขาอักษรศาสตร์ในประเทศทางยุโรปและอเมริกา
          ทุนให้ไปศึกษาวิชาในต่างประเทศหลังจากการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย  พ.ศ.  ๒๔๗๕  นอกจากทุนของรัฐบาล และเอกชนไทยแล้ว  ก็มีทุนจากรัฐบาลและองค์การต่างประเทศมากขึ้นโดยลำดับ เช่น ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยไปศึกษาวิชาในประเทศมากที่สุด
ในปัจจุบัน     ทุนการศึกษามิได้มีให้เฉพาะนักเรียนไทยไปศึกษาในต่างประเทศ     เพราะมีความจำเป็นที่ต้องเรียนความรู้แบบตะวันตกเท่านั้นหากเมื่อการศึกษาวิชาการในสถาบันการศึกษาแพร่หลายและมีประโยชน์เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปทุนให้ผู้เรียนศึกษาภายในประเทศก็ปรากฏตามมาและมากขึ้น เพื่อผู้ขัดสนแต่มีสติปัญญาและความมานะพยายามจะได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาอย่างเสมอภาคกันตามที่ควรจะได้
          นอกจากให้ทุนนักเรียนไทยได้เรียนทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว   รัฐบาลไทยในสมัยหลังยังให้ทุนนักศึกษาต่างประเทศได้เข้ามาศึกษาวิชาการในประเทศไทยได้ด้วย   เช่น   ทุนรัฐบาลไทยภายใต้ความร่วมมือกับองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ที่เริ่มมีให้หลังสงครามโลกครั้งที่  ๒ (พ.ศ. ๒๔๘๒- ๒๔๘๘) มีนักศึกษาจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกทุกทวีป ได้รับทุนปีละประมาณ ๑๐ คนมาศึกษาค้นคว้าในสถาบันอุดมศึกษาของไทยทุกปี

ทุนการศึกษา, ทุนการศึกษา หมายถึง, ทุนการศึกษา คือ, ทุนการศึกษา ความหมาย, ทุนการศึกษา คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 12

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu