ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ประเทศไทย, ประเทศไทย หมายถึง, ประเทศไทย คือ, ประเทศไทย ความหมาย, ประเทศไทย คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ประเทศไทย

          ได้มีการจัดการศึกษาพิเศษมาเป็นเวลานานแล้ว  แต่มิได้บังคับให้เด็กไทยทุกคนต้องเข้าเรียน จนกระทั่งใน
ปี  พ.ศ.๒๔๗๘  ได้มีการตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาภาคบังคับ  แต่ให้การยกเว้นแก่เยาวชนผู้พิการไม่ต้องเข้าเรียน  จนกระทั่งต่อมาเมื่อได้มีการเปลี่ยนมาใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาปี พ.ศ. ๒๕๒๓  ซึ่งกำหนดให้เด็กทุกคนเข้ารับการศึกษา  ทำให้ผู้ปกครองที่ไม่ต้องการให้เด็กพิการเข้าเรียนต้องยื่นคำร้องขอยกเว้นจึงจะได้รับการยกเว้น  ทั้งนี้เพราะกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้จัดการสอนเยาวชนผู้พิการมาตั้งแต่ปี  พ.ศ.๒๔๘๒  พบว่าเยาวชนพิการสามารถเรียนได้ไม่ว่าจะเป็นเด็กพิการประเภทใด
          การศึกษาพิเศษของประเทศไทย ได้เริ่มขึ้นเมื่อมีสุภาพสตรีตาบอดชาวอเมริกันชื่อ นางสาวเจเนวีฟ คอลฟิลด์ (Geneviev Caulifield) (พ.ศ.๒๔๓๑-๒๕๑๕)  เดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครในปี  พ.ศ. ๒๔๘๑  ซึ่งเป็นระยะเวลาระหว่างสงครามโลกครั้งที่ โดยได้ร่วมกับเพื่อนคนไทยและชาวอเมริกัน  นำคนไทยตาบอดคนหนึ่งมาเลี้ยงดู  อบรมสั่งสอนให้ฝึกหัดอ่านและเขียนอักษรเบรลล์ ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์โดยการฝึกหัดทำงานการฝีมือ  เช่น  ถักนิตติ้ง  โครเชต์ฝึกทำงานบ้านและงานในชีวิตประจำวัน  ตลอดจนการทำอาหาร  จนกระทั่งต่อมาจำนวนคนตาบอดที่เข้ามารับการเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนมีเพิ่มมากขึ้น  จึงได้มีการจัดตั้งเป็นโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ  พร้อมๆ กับจัดตั้งมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์  ปี พ.ศ. ๒๔๘๒  ฉะนั้นจึงจัดได้ว่าการจัดการศึกษาพิเศษในประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒
          การศึกษาสำหรับเยาวชนผู้พิการตาบอดได้มีความเจริญก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน   มีโรงเรียนพิเศษอีกหลายแห่งถือกำเนิดขึ้น   คือโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  โรงเรียนการศึกษาคนตาบอด  จังหวัดขอนแก่น  โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่  พัทยานอกจากนี้ยังได้จัดให้เยาวชนผู้พิการตาบอดเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติในระดับชั้นมัธยมศึกษาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ที่โรงเรียนเซนต์คาเบียลกรุงเทพฯ จน
ปี พ.ศ. ๒๕๐๕  กรมสามัญศึกษาได้รับความช่วยเหลือจาก   มูลนิธิอเมริกันเพื่อคนตาบอดโพ้นทะเล  (American Foundation  for Overseas  Blind)  จัดทำโครงการทดลองให้เด็กตาบอดเรียนร่วมกับเด็กปกติในโรงเรียนระดับประถมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร  และได้ขยายโครงการออกสู่ภูมิภาคในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ แต่ต่อมาก็ล้มเลิกไปด้วยเหตุผลที่เกี่ยวกับเรื่องงบประมาณและสภาพครอบครัวของเด็กตาบอดแต่ในกรุงเทพมหานครก็ยังดำเนินการต่อไป และต่อมา พ.ศ. ๒๕๒๐  กองการศึกษาพิเศษก็ได้รับอนุมัติงบประมาณให้ดำเนินการขยายโอกาสให้เด็กตาบอดเรียนร่วมในโรงเรียนปกติระดับประถมศึกษาในสังกัดกองศึกษาพิเศษ  สังกัดสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ  และสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร  ตามกำลังงบประมาณที่กำหนดไว้ในแผนการพัฒนาการศึกษาระยะที่ และ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๓๔
          ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้มีการจัดตั้ง "ศูนย์บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มเด็กตาบอดและครอบครัว"  ขึ้นที่วิทยาลัยครูสวนดุสิต    เพื่อให้บริการแก่ครอบครัวที่มีลูกตาบอดและแก่เด็กตาบอดอายุ ๐-๗ ปี  โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะกระตุ้นพัฒนาการเด็กตาบอด  และส่งเสริมให้พ่อแม่สามารถเลี้ยงลูกตาบอดได้อย่างถูกวิธีเพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กเหล่านี้  คือให้สามารถเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติได้เร็วขึ้น  และปีการศึกษา ๒๕๓๔ นี้  ก็ได้ทดลองนำเด็กตาบอดและเด็กเห็นเลือนลางเข้าเรียนร่วมในระดับชั้นอนุบาลที่โรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศ
          นอกจากความเจริญก้าวหน้าทางการศึกษาแล้ว  ก็ยังมีการขยายงานช่วยเหลือบุคคลตาบอดในด้านอาชีพด้วย  กล่าวคือ ในปี  พ.ศ.๒๕๐๕  มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์   ได้จัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอดขึ้นหลายแห่ง   ในปัจจุบันมีนักเรียนตาบอดที่มีความสามารถเรียนได้ในระดับสูงทั้งสายสามัญและสายอาชีพ ในสถาบันต่างๆทั้งของรัฐและเอกชน เช่น  วิทยาลัยครูสวนดุสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช   มหาวิทยาลัยรามคำแหง   มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์   มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น
          ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔  กรมสามัญศึกษาได้รับอนุมัติให้จัดตั้งหน่วยทดลองสอนเยาวชนหูหนวกขึ้นเป็นครั้งแรก  โดยอาศัยห้องเรียน  ๑  ห้องเรียนของโรงเรียนเทศบาล  ๑๗  วัดโสมนัสวิหารกรุงเทพมหานคร  ต่อมามีจำนวนเด็กมากขึ้นจึงได้จัดตั้ง  "มูลนิธิเศรษฐเสถียร"  ในปี  พ.ศ.๒๔๙๕ เพื่อร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการจัดตั้ง  "โรงเรียนสอนคนหูหนวก" ในปี
พ.ศ.๒๔๙๖  คุณหญิงโต๊ะ   นรเนติบัญชากิจ ได้บริจาคที่ดินพร้อมอาคารตึกให้เป็นสถานที่เรียน  ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนเศรษฐเสถียร"  ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้มีการยกเลิกมูลนิธิเศรษฐเสถียรและจัดตั้งเป็น "มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก"  แทน ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้โปรดเกล้าฯ  ทรงรับมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์
          ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนสอนคนหูหนวกทุ่งมหาเมฆ  ในกรุงเทพมหานครปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น  "โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ" และตั้งแต่ปี  พ.ศ. ๒๕๐๔ จนถึงปัจจุบันนี้  กระทรวงศึกษาธิการก็ได้เปิดโรงเรียนพิเศษสำหรับสอนเยาวชนผู้พิการหูหนวกอีกหลายแห่งทั่วประเทศ  เช่น โรงเรียนสอนคนหูหนวกขอนแก่น  โรงเรียนสอนคนหูหนวกตากโรงเรียนสอนคนหูหนวกสงขลา  เป็นต้น สำหรับโรงเรียนสอนคนหูตึงชลบุรี  โรงเรียนโสตศึกษาจำปา  กรุงเทพมหานคร  และโรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร  จังหวัดเชียงใหม่  เป็นโรงเรียนที่รับเด็กหูตึงที่สูญเสียการได้ยินไม่เกิน ๘๕ เดซิเบล  สามารถใช้เครื่องช่วยฟังและใช้วิธีการสอนพูดกับเด็กเหล่านี้
          ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒  กรมการฝึกหัดครูอนุมัติให้วิทยาลัยครูสวนดุสิต  จัดตั้งศูนย์ทดลองสอนเด็กหูพิการชั้นเด็กเล็ก  ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ก็ได้จัดให้เด็กอนุบาลปกติเข้ามาเรียนร่วมกับเด็กอนุบาลหูตึง  และต่อมาก็ได้ส่งเด็กหูตึงเข้าเรียนร่วมในระดับชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนปกติ  ที่กองการศึกษาพิเศษได้จัดการสอนที่โรงเรียนพญาไท เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖
          ตั้งแต่  ปี  พ.ศ. ๒๕๒๐  เป็นต้นมา กระทรวงศึกษาธิการได้ขยายโครงการสอนเด็กหูตึงเรียนร่วมในระดับประถมศึกษาออกไปอีกหลายแห่ง  เช่น  โรงเรียนอนุบาลสามเสน  โรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์  โรงเรียนอนุบาลวัดนางนองในกรุงเทพมหานคร  และในปี  พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้ขยายโครงการออกสู่ภูมิภาคที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ธวัชบุรี  จังหวัดร้อยเอ็ด  โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์สกลนคร จังหวัดสกลนคร และโรงเรียนจิตต์อารี  จังหวัดลำปาง เป็นต้น
          การศึกษาพิเศษสำหรับเยาวชนผู้พิการทางร่างกายในประเทศไทยนั้น  ได้เริ่มโดยกรมสามัญศึกษา  อนุมัติให้กองการศึกษาพิเศษจัดทำโครงการสอนเด็กเจ็บป่วยด้วยโรคโปลิโอในโรงพยาบาลในปี  พ.ศ. ๒๕๐๑ ทั้งนี้เพราะระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๔  - พ.ศ. ๒๔๙๕ โรคไขสันหลังอักเสบ (โปลิโอ) ระบาดในประเทศไทย ทำให้มีเด็กเจ็บป่วยด้วยโรคนี้เป็นจำนวนมาก  จึงมีกลุ่มบุคคลคณะหนึ่งจัดตั้งมูลนิธิสงเคราะห์คนพิการขึ้น  เพื่อช่วยเหลือในการฟื้นฟูสมรรถภาพให้แก่เด็กเหล่านี้  ให้สามารถอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลได้สะดวกขึ้น ต่อมาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์มูลนิธินี้  จึงได้ชื่อว่า "มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการในพระบรมราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี"
          ต่อมามีเด็กจำนวนหนึ่งที่สามารถกลับบ้านได้  แต่แพทย์ให้มารับการตรวจรักษาอีกเป็นครั้งคราว พร้อมทั้งให้เข้ารับการฟื้นฟูบำบัดสมรรถภาพเป็นประจำเกือบทุกวัน   เด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กยากจน  และมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดและไกลจากโรงพยาบาลศิริราชในกรุงเทพมหานคร ทางมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการจึงได้จัดตั้ง  "ศูนย์บริการเด็กพิการ" ที่อำเภอปากเกร็ด  จังหวัดนนทบุรี 
          ในปี  พ.ศ. ๒๕๐๔  จำนวนเด็กที่ศูนย์บริการเด็กพิการมีจำนวนมากขึ้น  และเด็กจำเป็นต้องได้รับการศึกษาให้สามารถกลับไปเรียนต่อที่โรงเรียนเดิมได้โดยไม่ต้องหยุดเรียนหรือกลับไปเรียนซ้ำชั้น  ทางมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการจึงได้จัดตั้ง "โรงเรียนสอนเด็กพิการ" ขึ้นโดยมีบุคลากรจากกองการศึกษาพิเศษไปทำหน้าที่เป็นผู้บริหารและทำการสอนทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น
          ปี  พ.ศ. ๒๕๐๘  กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติเงินก่อสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติม  และในโอกาสนี้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีพระราชทานชื่อโรงเรียนว่า "โรงเรียนศรีสังวาลย์"
          ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๑  ที่ได้มีการเริ่มจัดทำโครงการสอนเด็กเจ็บป่วยด้วยโรคโปลิโอในโรงพยาบาลนั้น  ก็ได้มีการดำเนินการมาตลอดจนถึงปัจจุบัน  ซึ่งได้รวมเอาเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังด้วยโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเลือด โรคไต โรคเบาหวาน  ที่ต้องรับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานานติดต่อกันเข้ามาในโครงการจัดการศึกษาดังกล่าวด้วย  และในปัจจุบันก็ได้มีการขยายโครงการไปที่โรงพยาบาลอื่นๆทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและภูมิภาค เช่น โรงพยาบาลศิริราช  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลราชวิถี  โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลมหาราชที่จังหวัดเชียงใหม่  โรงพยาบาลศรีนครินทร์  และโรงพยาบาลขอนแก่นที่จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น  และยังมีแผนที่จะขยายสู่โรงพยาบาลในส่วนภูมิภาคให้มากขึ้นต่อไปอีก
          ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๙ - พ.ศ. ๒๕๐๐ ผู้ที่เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกได้ทำการสำรวจจำนวนบุคคลปัญญาอ่อนในประเทศไทย โดยวิธีสุ่มตัวอย่าง ปรากฏว่ามีบุคคลพิการทางสติปัญญาประมาณร้อยละ ของพลเมืองทั้งประเทศกรมการแพทย์  กระทรวงสาธารณสุข  จึงขอจัดตั้งโรงพยาบาลปัญญาอ่อนขึ้น  ในปี  พ.ศ.๒๕๐๓  และได้มีการจัดตั้ง "มูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์" ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ และต่อมาใน ปี  พ.ศ. ๒๕๐๖  ก็ได้จัดชั้นเรียนพิเศษขึ้นในโรงพยาบาล เพื่อสอนเด็กปัญญาอ่อนอายุระหว่าง ๗ - ๑๘ ปี  โดยจัดเด็กเรียนตามระดับความสามารถ คือ ระดับเรียนได้  ระดับฝึกได้และระดับปัญญาอ่อนรุนแรง และในปี พ.ศ.๒๕๐๗  พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ภูมิพลอดุลยเดช  รัชกาลที่  ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินนาถ  มาเปิดโรงเรียนซึ่งพระราชทานนามว่า "โรงเรียนราชานุกูล" ที่ได้พระราชทานรายได้จากการฉายภาพยนต์ส่วนพระองค์  จัดสร้างอาคารเรียนให้ภายในบริเวณโรงพยาบาล
           ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐  มูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนในพระบรมราชินูปถัมภ์  ได้จัดตั้ง "โรงเรียนปัญญาวุฒิกร"  สำหรับเด็กพิการทางสติปัญญาระดับเรียนได้  เป็นโรงเรียนพิเศษสำหรับเด็กประเภทนี้เป็นแห่งที่  ๒  ต่อมาในปี  พ.ศ. ๒๕๒๑  ทางโรงเรียนและมูลนิธิฯ  ได้ขยายงานโดยจัดตั้งโรงงานในอารักษ์ฝึกอาชีพคนปัญญาอ่อนขึ้นที่โรงเรียนปัญญาวุฒิกร   และที่ศูนย์วิชาชีพหญิง   อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐมและยังได้มีการขยายงานไปสู่ส่วนภูมิภาคโดยจัดตั้งศูนย์สงเคราะห์บุคคลปัญญาอ่อนในภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดอุบลราชธานีใน
พ.ศ. ๒๕๒๖ และในภาคใต้ที่จังหวัดสงขลาในปี พ.ศ. ๒๕๓๐
          ในปี  พ.ศ. ๒๕๒๓ กรมสามัญศึกษาได้รับโอนโรงเรียนกาวิละวิทยา  กองทัพบกอุปถัมภ์และเปิดเป็นโรงเรียนสอนเด็กปัญญาอ่อนขึ้นโดยใช้ชื่อว่า "โรงเรียนกาวิละอนุกูล  จังหวัดเชียงใหม่" ได้รับนักเรียนปกติที่อยู่ใกล้โรงเรียนเข้าเรียนร่วมกับเด็กปัญญาอ่อนด้วย
          ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕  มูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้จัดตั้ง  "ศูนย์ฝึกเด็กปัญญาอ่อนประภาคารปัญญา"  เพื่อฝึกเด็กปัญญาอ่อนรุนแรง  ศูนย์ตั้งอยู่ที่ถนนปิ่นเกล้านครชัยศรี  เขตตลิ่งชัน  กรุงเทพมหานคร  และต่อมาในปี 
พ.ศ. ๒๕๒๗
  มูลนิธิฯ  ก็ได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กปัญญาอ่อนวัยก่อนเข้าเรียน ในชุมชนคลองเตย  กรุงเทพมหานคร เพื่อฝึกอบรมและกระตุ้นพัฒนาการด้านต่างๆ และเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กเหล่านี้ก่อนเข้าเรียน
          ใน ปี พ.ศ. ๒๕๓๐  กองการศึกษาพิเศษกรมสามัญศึกษา ได้จัดตั้ง "โรงเรียนอนุบาลปัญญานุกูล" จังหวัดอุบลราชธานี โดยรับโอนมาจากโรงเรียนบ้านคำไฮวิทยา  จากกองการมัธยมศึกษา
          ในปี  พ.ศ. ๒๕๓๑  มูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อน ก็ได้เริ่มโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพแบบโรงงานในอารักษ์ที่นนทนิเวศน์  จังหวัดนนทบุรีเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพแก่บุคคลพิการทางสติปัญญาวัยผู้ใหญ่
          สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาที่เป็นเด็กเรียนช้านั้น  ก็ได้มีการจัดการศึกษาพิเศษให้ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยกรมสามัญศึกษา จัดเป็นชั้นเรียนพิเศษในโรงเรียนปกติในเขตกรุงเทพมหานคร    แห่ง คือ ที่โรงเรียนพญาไท  โรงเรียนวัดชนะสงคราม  โรงเรียนวัดนิมมานรดี  และโรงเรียนวัดหนัง  ต่อมาได้ขยายออกไปอีก ๕ แห่ง และในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้มีบางโรงเรียนยกเลิกโครงการไป แต่กรมสามัญศึกษาก็ยังสงวนไว้ ๕ แห่ง คือ โรงเรียนวัดชนะสงคราม   โรงเรียนพญาไท  โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์  โรงเรียนวัดหนัง  และโรงเรียนวัดเวตวันธรรมาวาส
         
          ในปัจจุบัน ได้มีการขยายโอกาสให้เด็กพิการทางสติปัญญาทั้งประเภทเรียนช้าและปัญญาอ่อนระดับเรียนได้ ในระดับประถมศึกษาออกไปอีกหลายแห่งทั้งในกรุงเทพมหานคร  ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการประถม-ศึกษาแห่งชาติ  และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์สังกัดกองการศึกษาพิเศษ  กรมสามัญศึกษา รวมทั้งในต่างจังหวัดอีกหลายแห่ง เช่น กาญจนบุรีเลย  สุราษฎร์ธานี  และนครราชสีมา

ประเทศไทย, ประเทศไทย หมายถึง, ประเทศไทย คือ, ประเทศไทย ความหมาย, ประเทศไทย คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 16

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu