ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

พระราชพิธีและประเพณีท้องถิ่น, พระราชพิธีและประเพณีท้องถิ่น หมายถึง, พระราชพิธีและประเพณีท้องถิ่น คือ, พระราชพิธีและประเพณีท้องถิ่น ความหมาย, พระราชพิธีและประเพณีท้องถิ่น คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
พระราชพิธีและประเพณีท้องถิ่น

          ประเพณีหลวงมักมีศูนย์กลางในการสร้างสรรค์อยู่ที่ราชสำนักหรือพระราชวัง ซึ่งตามความเชื่อเกี่ยวกับระบบโลกภูมิของพระพุทธศาสนาแล้วถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ในขณะที่เขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ในส่วนของพื้นโลกราชธานีก็คือศูนย์กลางอันศักดิ์สิทธิ์ของจักรวรรดิ ซึ่งมีการสร้างให้มีรูปในทางสถาปัตยกรรมให้เหมือน "จริง" กับจักรวาล จนกลายเป็นอนุจักรวาลขนาดย่อม มีพระมหากษัตริย์และข้าราชสำนักประทับและแสดงบทบาทในทางโลก พระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนตัวแทนของพระอินทร์บนเขาพระสุเมรุ เหตุนี้จึงทรงมีพระราชภารกิจต่างๆที่มุ่งหมายที่จะรักษาและส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน ในสมัยอยุธยาพระราชพิธีต่างๆจะมีทุกเดือนในหนึ่งปี ที่เรียกกันว่า พระราชพิธีสิบสองเดือน ส่วนใหญ่ก็เพื่อให้แผ่นดินมีความ สมบูรณ์ และเพื่อความเจริญงอกงามของพืชพันธุ์ธัญญาหารพระราชพิธีต่างๆ มักจะเกี่ยวกับการทำมาหากินหรือการปลูกข้าวเป็นส่วนใหญ่ ดังปรากฏระเบียบอยู่ในกฎหมายตราสามดวงในหมวด "กฎมนเทียรบาล" ว่า
          เดือนหกมีพิธีจรดพระราชนังคัล หรือพระราชพิธีแรกนา ซึ่งกระทำติดต่อกันมาจนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลปัจจุบัน นอกจากนี้ถ้าฝนไม่ตกพระเจ้าแผ่นดินยังมีพระราชภาระที่จะต้องประกอบพระราชพิธีพิรุณศาสตร์หรือขอฝนเดือนสิบเอ็ดจะมีพิธีอาสยุชแข่งเรือเสี่ยงทายผลิตผลในนาอีกครั้ง โดยพระมหากษัตริย์จะทรงเรือชื่อ สมรรถไชย ส่วน ไกรสรมุข เป็นเรือทรงของสมเด็จพระอัครมเหสี และมีคำทำนายเป็นแบบแผนไว้ในกฎมนเทียรบาลว่า "ถ้าสมรรถไชยแพ้ไซ้เข้าเหลือเกลืออิ่ม ศุกขเกษมเปรมประชาถ้าสมรรถไชยชำนะจะมียุค"
          เดือนสิบสองจะมีพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม หรือพิธีที่เกี่ยวกับการลอยโคมพระประทีปลงน้ำ เพื่อแสดงความสำนึกในพระคุณของน้ำและเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ให้เกิดแก่บ้านเมืองและอาณาจักรด้วย
          ส่วนในเดือนอ้ายหรือเดือนหนึ่งจะมีพิธีกรรมไล่เรือ หรือการประกอบพระราชพิธีฟันน้ำ เพื่อมิให้น้ำท่วมมากจนเกินไป มิฉะนั้นข้าวจะแก่เน่าเก็บเกี่ยวไม่สะดวก ดังมีบันทึกในคำให้การของขุนหลวงหาวัด ถึงบุญญาภินิหารของสมเด็จพระนารายณ์ว่า "วันหนึ่งเสด็จทรงเรือพระที่นั่งเอกชัยในเวลาน้ำขึ้น รับสั่งว่าให้น้ำลดแล้วทรงพระแสงฟันลงไป น้ำก็ลดลงตามพระราชประสงค์" แต่พิธีนี้มิได้ทำทุกปีเพราะถ้าปีไหนน้ำไม่ท่วมก็ไม่ต้องประกอบพิธีนี้
          พิธีกรรมในเดือนห้าซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่เสร็จการเก็บเกี่ยวและเตรียมที่จะถึงฤดูการผลิตใหม่ถือเป็นวันสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่ที่นับตามคติพราหมณ์จากอินเดีย ที่ราชสำนักในสมัยอยุธยาเปลี่ยนจากวันปีใหม่ดั้งเดิมของชาวบ้านที่ถือเอาวันแรกของเดือนอ้ายเป็นสำคัญ พระราชพิธีในราชสำนักของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาจะเริ่มต้นด้วยการรัวกลองมโหระทึก และจับระบำ ต่อด้วยการเล่นโมงครุ่ม และการละเล่นหน้าพระที่นั่ง รวมทั้งการประโคมดนตรีอีกหลายชนิด ซึ่งล้วนมีความหมายเพื่อความอุดมสมบูรณ์และความปลอดภัย มั่นคงในชีวิตและสังคมส่วนรวม
          นอกจากนี้ยังมีพระราชพิธีอื่นๆ อีกมากที่เกี่ยวกับการทำหากิน ความมั่นคง และความอุดมสมบูรณ์เป็นสำคัญ ซึ่งพระราชพิธีทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว คงมีพัฒนาการมาจากประเพณีราษฎร์ในขณะที่สังคมยังอยู่รวมกันเป็นชนเผ่า ทำการกสิกรรมและประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อที่ถือว่าธรรมชาติมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและการทำมาหากินของตน ดังนั้นจึงต้องประกอบพิธีกรรมเพื่อเซ่นไหว้ หรือบวงสรวงอำนาจเหนือธรรมชาตินั้นๆซึ่งมักเป็นที่รู้จักกันในนามของ "ผี" หรือ "เจ้า" ยังมิได้เรียกว่าเทพ จนเมื่อมีการรับศาสนาฮินดูเข้ามาผสมผสานในการปกครองและการประกอบพิธีกรรมของชนชั้นปกครองหรือราชสำนักแล้ว ประเพณีต่างๆ จึงเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงให้ดูโอ่อ่าน่าเลื่อมใส และมีศักยภาพในการสื่อสารกว้างขวางออกไปในหมู่ชนต่างเผ่าต่างพันธุ์ได้ประเพณีที่นำคติฮินดูเข้ามาผสมโดยมีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีก็เพื่อให้พิธีมีความศักดิ์สิทธิ์ ยกฐานะของพระมหากษัตริย์และเจ้านายต่างๆ ให้สูงกว่าสามัญชนทั่วไป
          รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ได้วิเคราะห์ถึงพระราชพิธีสิบสองเดือนว่า แม้จะมีการรับศาสนาฮินดูเข้ามาผสมผสานอยู่ด้วย แต่พระราชพิธีเหล่านี้ก็มีฐานะเป็นเพียงเรื่องทางไสยศาสตร์ที่แสดงถึงความพยายามที่จะควบคุมพิธีแต่ละเดือนของมนุษย์ซึ่งมักมีมหรสพ การละเล่นสนุกสนานรวมอยู่ด้วยทำให้มีลักษณะเป็นปฏิทินที่มีกำหนดเวลาแน่นอน สำหรับกิจกรรมที่เนื่องในการสนุกสนานหย่อนใจของประชาชนในสังคมเกษตรกรรมด้วย และพระราชพิธีที่มีลัทธิฮินดูปนเปอยู่นี้ ต่อมาก็หมดความสำคัญในเรื่องความเชื่อ แต่ได้พัฒนาเป็นมหรสพการละเล่น เช่น พิธีกวนเกษียรสมุทรในพระราชพิธีอินทราภิเษกที่เป็นพระราชพิธีเกี่ยวกับการเสริมฐานะของพระมหากษัตริย์ให้เป็นพระจักรพรรดิราชได้กลายมาเป็นการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ และโมงครุ่ม เรื่องราวในคัมภีร์รามายณะก็กลายเป็นการเล่นโขนไปในที่สุด

พระราชพิธีและประเพณีท้องถิ่น, พระราชพิธีและประเพณีท้องถิ่น หมายถึง, พระราชพิธีและประเพณีท้องถิ่น คือ, พระราชพิธีและประเพณีท้องถิ่น ความหมาย, พระราชพิธีและประเพณีท้องถิ่น คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 18

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu