ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ความหมายและขอบเขตของพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน, ความหมายและขอบเขตของพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน หมายถึง, ความหมายและขอบเขตของพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน คือ, ความหมายและขอบเขตของพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน ความหมาย, ความหมายและขอบเขตของพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ความหมายและขอบเขตของพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน

         พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน เป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญอีกสาขาหนึ่งของวิชาพฤกษศาสตร์ ตรงกับนิยามศัพท์ในภาษาอังกฤษว่า "Ethnobotany" เรียกกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๘๙๕ (พ.ศ. ๒๔๓๘) จากการศึกษาพรรณไม้ที่ชาวพื้นเมืองท้องถิ่นนำมาใช้ประโยชน์ของ ดร.จอห์น ดับเบิลยู. ฮาร์ชเบอร์เกอร์ (Dr. John W. Harshberger) พฤกษศาสตร์พื้นบ้านเป็นคำผสมระหว่าง "พฤกษศาสตร์" หมายถึง วิชาที่ศึกษาในเรื่องพืช และ "พื้นบ้าน" หมายถึง กลุ่มชนใดกลุ่มชนหนึ่งที่มีเอกลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน อาจจะเป็นการดำรงชีพ ใช้ภาษาท้องถิ่นเดียวกัน นับถือศาสนาหรือความเชื่อถือเดียวกันกล่าวได้ว่ากลุ่มชนนั้นมีจุดรวมของวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีร่วมกัน ความหมายของคำว่าพื้นบ้านในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะชาวชนบทหรือชาวไร่ ชาวนา แต่อาจจะเป็นกลุ่มชนเมืองหากกลุ่มชนนั้นยังคงเอกลักษณ์ของกลุ่มตนไว้ได้พฤกษศาสตร์พื้นบ้านจึงเป็นวิชาที่ศึกษาถึง ความเกี่ยวข้องระหว่างพืชและกลุ่มชนพื้นบ้าน ความหมายที่ชัดเจนของวิชานี้ก็คือ "การนำพืชมาใช้ของกลุ่มชนพื้นบ้านที่สืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษหรือได้รับการถ่ายทอดจากเพื่อนบ้านในกลุ่มของตนจนเป็นเอกลักษณ์การใช้พืชพรรณประจำท้องถิ่นนั้น" พฤกษศาสตร์พื้นบ้านเกี่ยวข้องกับศาสตร์อื่นๆ  อีกหลายสาขา เช่น พฤกษศาสตร์จำแนกพวกพฤกษนิเวศ มานุษยวิทยา นิรุกติศาสตร์ เภสัชศาสตร์ ฯลฯ

          จะเห็นได้ว่ากลุ่มชนพื้นบ้านมีความผูกพันกับพืชมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เกี่ยวกับพืชของกลุ่มชนในท้องถิ่น ได้สูญหายหรือขาดการถ่ายทอดไปแล้วมากมายตามกาลเวลาที่ผ่านไป เมื่อสังคมพื้นบ้านหรือสังคมชนบท ได้พัฒนาไปสู่สังคมเมืองหรือสังคมอุตสาหกรรม แต่การศึกษาวิชาพฤกษศาสตร์พื้นบ้านตามแบบแผนยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นของทศวรรษที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้นงานค้นคว้าวิจัยที่เกี่ยวกับการนำพืชมาใช้ประโยชน์ จะเน้นแต่ความสำคัญและคุณค่าทางเศรษฐกิจของพืช เช่น พืชสมุนไพร เครื่องเทศ พืช อาหาร  พืชเส้นใย  พืชที่ใช้ในการก่อสร้างอันเป็นการศึกษาวิชาพฤกษศาสตร์เศรษฐกิจ (Economic botany) มากกว่าที่จะเป็นการศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน ซึ่งมีรูปแบบการศึกษาแตกต่างออกไป เช่น การศึกษาพืชผักพื้นบ้านตามชนบท ที่ได้จากการเก็บหาในธรรมชาติหรือจากป่า แตกต่างจากการศึกษาพืชผักเศรษฐกิจที่ได้จากการปลูกในแปลงผักเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามพืชผักพื้นบ้านหลายชนิดที่เกิดจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน อาจจะมีศักยภาพกลายมาเป็นพืชผักเศรษฐกิจขึ้นได้ในอนาคต หากได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง

          การศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้านครอบคลุมไปถึงศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอีกหลายสาขา เช่น เภสัชพื้นบ้าน(Ethnopharmacology) เกษตรกรรมพื้นบ้าน (Ethnoagriculture) ที่ศึกษาเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมแบบโบราณ เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านที่ใช้ทำการเกษตร และการปลูกพันธุ์พืชดั้งเดิมหรือพันธุ์พืชที่ยังไม่ได้ปรับปรุงพันธุ์ เครื่องสำอางพื้นบ้าน (Ethnocosmetics) ศึกษาเกี่ยวกับเครื่องประทินผิวเครื่องร่ำ เครื่องหอม และวิธีการผลิต เช่น การนำไม้กระแจะมาเป็นเครื่องประทินผิว การทำเครื่องหอมปรุงน้ำอบหรือแป้งร่ำจากดอกชำมะนาด ดอกมะลิ ดอกกระดังงาไทย ดนตรีพื้นบ้าน (Ethnomusicology) ศึกษาเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้าน และพืชที่ใช้ทำเครื่องดนตรีพื้นเมือง และวิธีการทำเครื่องดนตรี ถึงแม้ว่ามนุษย์จะเกี่ยวข้องกับพืช โดยนำพืชมาใช้ประโยชน์หลายรูปแบบมานานแล้ว แต่พฤกษศาสตร์พื้นบ้านยังเป็นวิชาที่ค่อนข้างใหม่ ปัจจุบันอยู่ในความสนใจของนักพฤกษศาสตร์ นักนิเวศวิทยา นักเภสัชศาสตร์ นักพฤกษเคมี นักมานุษยวิทยา นักธรรมชาติวิทยา นักโบราณคดี นักนิรุกติศาสตร์ ฯลฯ

          กล่าวได้ว่าการศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้านเป็นการศึกษาหาความรู้จากภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เกี่ยวกับพืช โดยศึกษาถึงชนิดพันธุ์พืชที่ถูกต้อง ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อพื้นเมือง ถิ่นกำเนิด ประโยชน์หรือโทษของพืช ฯลฯ ตลอดจนศึกษาถึงวิธีการนำพืชไปใช้จนกลายเป็นวัฒนธรรมของกลุ่มชนพื้นบ้านชนบางกลุ่มได้อนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ หรือพื้นที่ป่าไม้ของหมู่บ้านเอาไว้สืบต่อกันมา ด้วยความเชื่อถือเกี่ยวกับโชคลาง หรือสงวนไม้เพื่อใช้สอย เช่น ป่าปู่ตา ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นป่าชุมชนประเภทหนึ่งที่มีการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ป่าไม้แบบยั่งยืน

ความหมายและขอบเขตของพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน, ความหมายและขอบเขตของพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน หมายถึง, ความหมายและขอบเขตของพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน คือ, ความหมายและขอบเขตของพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน ความหมาย, ความหมายและขอบเขตของพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 21

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu