ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

รัฐประหาร 19 กันยายน, รัฐประหาร 19 กันยายน หมายถึง, รัฐประหาร 19 กันยายน คือ, รัฐประหาร 19 กันยายน ความหมาย, รัฐประหาร 19 กันยายน คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
รัฐประหาร 19 กันยายน

          วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549  คณะทหารในนาม “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (คปค.) ซึ่งมี พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้า ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งกำลังปฏิบัติภารกิจอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

          คปค. ให้เหตุผลที่ต้องยึดอำนาจว่า มีการทุจริตผลประโยชน์ทับซ้อน, การใช้อำนาจในทางมิชอบ, การละเมิดจริยธรรมคุณธรรมของผู้นำประเทศ, การแทรกแซงองค์กรอิสระ, การละเมิดสิทธิเสรีภาพ และการบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ รัฐประหารครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 10 ของไทย เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว และไร้การสูญเสียเลือดเนื้อ  ทั้งนี้ข่าวลือเรื่องทหารเตรียมการยึดอำนาจเริ่มตั้งแต่ตอนสาย ถึงตอนบ่ายกำลังทหารจากต่างจังหวัดก็เคลื่อนกำลังเข้าประจำการในกรุงเทพฯ ในตอนค่ำกำลังพลติดอาวุธพร้อมรถถัง ฮัมวี่ และยีเอ็มซีก็บุกเข้ายึดสถานีวิทยุโทรทัศน์และตรึงกำลังอยู่ตามสถานที่สำคัญ ๆ ทั่วกรุงเทพฯ

          ในเวลา 22.00 น. พ.ต.ท. ทักษิณได้ชิงออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขต กทม. สังปลด พล.อ. สนธิ แต่ยังประกาศไม่ทันจบ ทหารก็บุกเข้ามาตัดสัญญาณและออกประกาศการเข้ายึดอำนาจ จากนั้นก็ได้ออกประกาศ คปค. ฉบับต่าง ๆ ออกมา อาทิ ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวโดยให้ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้น คปค. ก็ถอยไปอยู่ในฐานะ “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” (คมช.) คอยดูแลรัฐบาลชั่วคราวบริหารประเทศและเร่งกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี จากนั้นจะเลือกตั้งใหม่ภายในปี 2550

          รัฐประหารครั้งนี้ก่อให้เกิดปฏิกริยาแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายคือฝ่ายที่เห็นว่าประเทศชาติถึงจุดวิกฤติแล้ว รัฐประหารคือทางออกเดียวที่เหลืออยู่ ขณะที่อีกฝ่ายมองว่ารัฐประหารครั้งนี้เป็นการตัดตอนกระบวนการประชาธิปไตยไทย เป็นการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับที่ได้ชื่อว่าเป็นของประชาชนมากที่สุด และนับเป็นการสูญเสียประชาธิปไตยอีกครั้งในรอบ 15 ปีหลังจากรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี 2535



ลำดับเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน

          ลำดับเหตุการณ์วันที่ 19 กันยายน 2549 "วันวิกฤติ" ก่อนที่คณะ ผบ.เหล่าทัพ และ ผบ.ตร.จะเข้ายึดอำนาจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี

          เวลาประมาณ 08.00 น. วันที่ 19 กันยายน มีคำสั่งจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี เรียกผู้นำทุกเหล่าทัพเข้าประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่มีผู้นำเหล่าทัพคนใดเข้าร่วม พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. อ้างว่ากระชั้นชิดเกินไป ทำให้ต่อมามีกระแสข่าวลือการปฏิวัติรัฐประหาร แพร่สะพัดไปทั่วทำเนียบรัฐบาล และเริ่มกระจายสู่ภายนอก โดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์

          เวลาประมาณ 12.00 น. หลังการประชุม ครม. โดยผ่านระบบเวบแคมเมอรา รัฐมนตรีหลายรายได้สอบถามผู้สื่อข่าวถึงข้อเท็จจริงเรื่องนี้อย่างตื่นเต้น

          เวลา 18.30 น. มีข่าวกำลังทหารหน่วยรบพิเศษจาก จ.ลพบุรี เคลื่อนกำลังเข้ากรุงเทพฯ มีข่าวว่า  พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ข่าวระบุว่า เป็นเรื่องการทำบุญ หม่อมหลวงบัว

          เวลา 18.55 น. สำนักข่าวไทยรายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ประกาศเลื่อนเดินทางกลับประเทศไทยเร็วขึ้นจากวันที่ 22 กันยายน เป็น 05.00 น. วันที่ 21 กันยายนแทน

          ช่วงค่ำ รัฐมนตรีหลายรายต่างโทรเช็คข่าว 

          เวลา 20.00 น. ตำรวจ 191 เบิกอาวุธเอ็ม 16 ไปรอเตรียมพร้อมที่กองกำกับการ 2 (ป้องกันและปราบปรามจลาจล) ถ.วิภาวดีรังสิต

          เวลาประมาณ 21.00 น.  กำลังทหารจากพลร่มป่าหวาย หน่วยสงครามพิเศษลพบุรี เข้ามาประจำการที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.)  มีผู้โพสต์ข้อความถามถึงข่าวลือปฏิวัติในเวบพันทิป

          เวลา 21.10 น. รถถ่ายทอดสด (โอบี) สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (ททบ.5) เข้า บก.ทบ.

          เวลาประมาณ 21.30 น. สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ตัดรายการปกติ เปิดเพลงที่มีเนื้อหาสรรเสริญพระบารมี

          เวลาประมาณ 21.30 น. กลุ่มผู้สื่อข่าวได้เข้าไปยังทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่พบสิ่งผิดปกติ ตำรวจยังคงรักษาทำเนียบรัฐบาลเป็นปกติ ท่ามกลางข่าวลือว่ามีการนำกำลังเข้าควบคุมตัว พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รักษาการ รมว.กลาโหม ขณะที่มีอีกกระแสข่าวว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เดินทางไปประเทศอังกฤษตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทำเนียบรัฐบาลมีคำสั่งห้ามคนนอกเข้าไปเด็ดขาด เจ้าหน้าที่ได้เชิญผู้สื่อข่าวบางส่วนออกมา ทำให้ผู้สื่อข่าวต้องไปรอจับกลุ่มออกันอยู่บริเวณหน้าทำเนียบเป็นจำนวนมาก

          เวลา 21.30 น. น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ เดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาลด้านหลังตึกไทย ไล่เลี่ยกัน พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ยุติธรรม ได้เดินทางตามเข้ามาแต่ไม่ได้ลงจากรถ ก่อนที่ น.พ.พรหมินทร์ จะหอบเอกสารปึกใหญ่เดินขึ้นรถ พล.ต.อ.ชิดชัย และเคลื่อนออกไปจากทำเนียบด้วยกัน

          เวลาประมาณ 21.30 น. กำลังคอมมานโดตำรวจกองปราบปรามได้เดินทางไปรักษาความปลอดภัยที่บ้านจันทร์ส่องหล้า

          เวลา 22.00 น. ขบวนรถถังเคลื่อนเข้าคุมเชิงที่สะพานมัฆวานรังสรรค์  และ ถ.ราชดำเนิน

          เวลาประมาณ 22.00 น. สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นรายงานสด (เบรกกิ่งนิวส์) สถานการณ์ในเมืองไทย หลังมีผู้เห็นกองกำลังทหารออกคุมกำลังตามสถานที่สำคัญต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ

          เวลา 22.15 น. ทหารจำนวนมาก ออกมาตรึงกำลังตามถนนต่างๆ ตั้งแต่แยกเกียกกาย ผ่านมาถึง ถ.ราชสีมา  บริเวณสวนรื่นฤดี สี่แยกราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) โดยมีทหารแต่งกายลายพรางเต็มยศเป็นผู้ควบคุมกำลัง

          เวลาประมาณ 22.00 น. พ.ต.ท.ทักษิณ รักษาการนายกฯ ได้โทรศัพท์สั่งการไปยังสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 เตรียมการถ่ายทอดสดเสียงตนเองผ่านทางโทรศัพท์จากนิวยอร์ก แต่ขณะที่กำลังรอสาย ทหารได้เข้าควบคุมสถานการณ์ในช่อง 11 ได้ก่อน โดยได้นำเจ้าหน้าที่ช่อง 11 ทั้งหมดไปควบคุมไว้ยังห้องโถง ตั้งแต่เวลา 22.00 น. จนถึงเวลา 00.30 น. จึงปล่อยตัวออกจากสถานี

          เวลา 22.13 น. สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท  พ.ต.ท.ทักษิณ ออกประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ควบคุมพื้นที่กรุงเทพฯ ระบุอยู่ในขั้นรุนแรง และให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้รายงานตัวต่อ พล.ต.อ.ชิดชัย และตั้ง พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผบ.สส. คุมอำนาจแก้สถานการณ์ฉุกเฉิน

          เวลา 22.17 น. สัญญาณช่อง 9 อสมท ถูกตัดลง หน้าจอโทรทัศน์ดับสนิทชั่วครู่  โดยมีรายงานว่า เพราะทหารตัดไฟสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ขณะ พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  ก่อนจะตัดเข้าโฆษณาสินค้าประมาณ 2 ตัว ก่อนจะตัดเข้าสู่รายการปกติ โดยมีรายงานข่าวว่ากำลังทหารบุกเข้าควบคุมที่ห้องส่งสัญญาณออกอากาศ พร้อมควบคุมตัวนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ กก.ผอ.ใหญ่ บมจ.อสมท

          เวลา 22.25 น. สถานีโทรทัศน์เกือบทุกช่องตัดเข้ารายการเพลง เปิดเพลงที่มีเนื้อหาสรรเสริญพระบารมี  ยกเว้นช่อง 9 และช่อง 3 ที่นำเสนอรายการปกติ โดยมีรายงานข่าวว่า มีกำลังทหารเข้ายึดสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง โดยเฉพาะช่อง 9 อสมท  และไอทีวี

          เวลา 22.30 น. สถานีโทรทัศน์ทุกช่องเริ่มเชื่อมสัญญาณกับ ททบ.5 และเปิดเพลงที่มีเนื้อหาสรรเสริญพระบารมี แม้แต่สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมอย่างเอเอสทีวี ยกเว้นเนชั่นแชนนัล ทางสถานีโทรทัศน์ไททีวี ช่อง 1 ที่ยังคงรายงานสถานการณ์ได้ตามปกติ

          เวลา 22.35 น. เนชั่นแชนนัล ถูกเชื่อมสัญญาณเหมือนทุกช่อง

          เวลา 22.30 น. มีรายงานข่าวว่า มีรถถ่ายทอดสดไปที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์เพื่อเตรียมถ่ายทอดสด

          เวลา 22.30 น. มีรายงานข่าวว่า กำลังทหารส่วนหนึ่งได้เข้าควบคุมตัว พล.ต.ต.วินัย ทองสอง ผบก.กองปราบปรามและ พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต (เสธ.ไอซ์) ที่ปรึกษากองทัพบก

          เวลา 22.54 น. สถานีโทรทัศน์ทุกช่องได้ขึ้นโลโก้สถานีรวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย พร้อมขึ้นคำประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมขออภัยในความไม่สะดวก พร้อมเปิดเพลง "ความฝันอันสูงสุด"

          เวลา 22.57 น. สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นแพร่รถถังและกำลังทหารควบคุมสถานการณ์ภายใน กทม. ช่วงหนึ่งได้แพร่ภาพกลุ่มชาวบ้านใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปกำลังทหารเหล่านั้น โดยไม่ได้รู้สึกหวาดกลัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

          เวลา 23.15 น. พล.ต.ประพาส ศกุนตนาถ อดีตโฆษก ททบ.5 อ่านแถลงการณ์คณะปฏิรูปการปกครองฯ ที่แสดงไว้ในหน้าจอก่อนหน้านี้ซ้ำถึงสองครั้ง

          เวลา 23.30 น. เอเอสทีวีออกอากาศได้ตามปกติอีกครั้ง ขณะที่สถานีโทรทัศน์ทุกช่องยังคงเชื่อมสัญญาณกับ ททบ. 5 ขณะเดียวกันทหารจาก ป.พัน 21 สังกัด ร.21 ประมาณ 30 นาย พร้อมอาวุธครบมือเดินทางมายังอาคารเนชั่นทาวเวอร์ ที่สถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนนัล โดยยืนยันว่า มาดูแลความสงบเรียบร้อยทั่วไป ขณะที่เนชั่นแชนนัล เริ่มออกอากาศได้อีกครั้งในเวลา 23.44 น.

          เวลา 23.59 น. ผู้บัญชาทหารทุกเหล่าทัพเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต  พระราชวังดุสิต



เหตุการณ์สำคัญที่เป็นชนวนนำไปสู่การปฏิรูป

การทุจริต/ผลประโยชน์ทับซ้อน
          - การแปลงค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือให้เป็นภาษีสรรพาสามิต
          - การแปลงธุรกิจดาวเทียมให้เป็นธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
          - การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิและกรณีเครื่องตรวจวัตถุระเบิด CTX
          - โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า Airport Link
          - การพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ไม่โปร่งใส
          - กรณีการครอบงำกิจการโทรทัศน์เสรี

การใช้อำนาจในทางมิชอบ
          - การแต่งตั้งเครือญาติ/คนใกล้ชิดดำรงตำแหน่งข้าราชการระดับสูง
          - การใช้วิธีการงบประมาณที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เพื่อผลประโยชน์ในการสร้างคะแนนนิยมต่อรัฐบาล
          - การใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการเจรจากับต่างประเทศเพื่อเอื้อต่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง (กรณีการปล่อยเงินกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย)
          - การใช้อำนาจทางกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกรมสรรพากร ในการตรวจสอบสถานะทางการเงินของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล

การละเมิดจริยธรรม/คุณธรรมของผู้นำประเทศ
          - การขายสัมปทานดาวเทียมและสถานีโทรทัศน์ให้แก่ต่างชาติ
          - การซื้อขายหุ้นของบุคคลในครอบครัวโดยไม่เสียภาษี

การแทรกแซงระบบการตรวจสอบทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ
          - การครอบงำวุฒิสภาซึ่งมีอำนาจในการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต่างๆ และการตรวจสอบการดำเนินการของฝ่ายบริหาร
          - การแทรกแซงการแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

ข้อผิดพลาดเชิงนโยบายที่นำสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพ
          - กรณีฆ่าตัดตอนหรือทำวิสามัญฆาตกรรมในคดียาเสพติด โดยมีผู้ถูกสังหารเป็นอันมาก
          - การบริหารจัดการในเชิงนโยบายที่ผิดพลาดและไม่ชอบธรรมในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแม้จะใช้เวลายาวนาน แต่ก็ไม่ทุเลาเบาบางลง

การบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติและการเผชิญหน้าที่เสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรง
          - การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารของกลุ่มที่จะตรวจสอบรัฐบาลหรือตัวนายกรัฐมนตรีเอง และเปิดเฉพาะข้อมูลที่คัดสรรแล้ว ทำให้ประชาชนไม่สามารถรับทราบความจริงทั้งหมด
          - การจัดตั้งกลุ่มคนสนับสนุนเพื่อตอบโต้และมุ่งหวังให้เกิดการเผชิญหน้าที่เสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงกับกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลโดยสันติ

ความพยายามในการหาทางออกเพื่อให้มีการแก้ไขในระบบ
          - การชุมนุมประท้วงโดยสันติวิธีและปราศจากอาวุธ
          - การให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อหาทางออกโดยบุคคลหลายฝ่ายที่ได้รับการยอมรับจากสังคม
          - บทบาทของศาลในการผ่าทางตันทางการเมือง (ตุลาการภิวัฒน์) เนื่องจากการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ผล (คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ที่ให้การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ รวมทั้งคำพิพากษาของศาลอาญาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 ที่ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งมีความผิดเนื่องจากการใช้อำนาจโดยไม่ชอบในการจัดการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549) 

ที่มา 
www.komchadluek.net
www.bangkokbiznews.com
www.sarakadee.com


รัฐประหาร 19 กันยายน, รัฐประหาร 19 กันยายน หมายถึง, รัฐประหาร 19 กันยายน คือ, รัฐประหาร 19 กันยายน ความหมาย, รัฐประหาร 19 กันยายน คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu