ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

หุ่นไทย, หุ่นไทย หมายถึง, หุ่นไทย คือ, หุ่นไทย ความหมาย, หุ่นไทย คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
หุ่นไทย

          สมัยอยุธยา หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงการเล่นหุ่นในประเทศไทย คือ จดหมายเหตุของบาทหลวงตาชาร์ด ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางมากรุงศรีอยุธนา เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๘ และจดหมายเหตุของลาลูแบร์ อัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส ดกินทางมาหรุงศรีอยุธยา เทื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐ ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา จดหมายเหตุทั้งสองฉบับได้บันทึกถึงการเล่นหุ่น เอกสารดังกล่าวทำให้สันนิษฐานได้ว่าการเล่นหุ่นอาจเกิดก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและได้มีการแสดงเรื่อยมา แต่จะเป็นรัชสมัยของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดไม่มีหลักฐานยืนยัน จึงอาจสรุปได้ว่ามีการแสดงหุ่นตั้งแต่บัเนั้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลาประมาณ ๓๐๐ ปี

          ในรัชสมัย พระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี หลักฐานการเล่นหุ่นในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ปรากฎอยู่ในหมายรับสั่งหลายฉบับ เช่น พ.ศ. ๒๓๑๙ พระราชพิธีพระราชทานพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระพันปีหลวง กรมหลวงพิทักเทพามาต (พระมารดา) ณ วัดบางยี่เรือนอก ให้มีการแสดงโขน งิ้ว หนังกลางวัน และหุ่น พระราชพิธีอัญเชิญพระแก้วมรกตจากนครเวียงจันทร์ ประเทศลาว มาประดิษฐานในพระราชวังกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๒ มีการมหรสพสมโภชพระแก้วมรกตโดยมีการเล่นมหรสพต่าง ๆ รวมถึงการแสดงหุ่นด้วย

          เหตุการณ์สำคัญที่มีผลต่อประวัติศาสตร์การมหรสพไทย คือ ในพ.ศ. ๒๔๕๒ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว หลาน กุญชร) เจ้ากรมมหรสพ เจ้ากรมหุ่นหลวง เจ้ากรมโขน เจ้ากรมรำโคม และเจ้ากรมปี่พาทย์ เจ็บป่วยทพพลภาพ ต้องถวายบังคมลาออกจากราชการเลิกเล่นโขนละครทั้งปวง และถึงแก่อสัญกรรมในพ.ศ. ๒๔๖๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ไม่ทรงโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งผู้ใดมาเป็นเจ้ากรมแทน ทำให้การมหรสพ หุ่น โขน และปี่พาทย์ ขาดการกำกับดูแลส่งเสริมอย่างใกล้ชิด

          พ.ศ. ๒๔๗๕ สมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากเป็นระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีการปรับปรุงหน่วยงานราชการให้มีประสิทธิภาพและประหยัดงบประมาณ อาจเป็นเหตุให้มหรสพทุกชนิดของราชการตกต่ำมากที่สุด มหรสพและการละเล่นหลายประเภทขาดผู้สืบทอด ส่งผลให้มหรสพและการละเล่นบางอย่างหายไปจากประเทศไทย ได้แก่การเล่นหุ่นหลวง มอญรำ เทพทอง รำโคม ระเบง โมงครุ่ม กุลาตีไม้ ไม้ลอย ญวนหก นอนหอก นอนดาบ ไต่ลวด กระอั้วแทงควาย แทงวิสัย วิ่งวัว และขี่ช้างไล่ม้า เป็นต้น

          ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้มีกลุ่มปัญญาชนไทย ที่มองเห็นการณ์ไกลได้พยายามสนับสนุน ให้มีการสืบทอดศิลปะการแดสงมหรสพของไทย ได้แก่ ละครนอก หนังใหญ่ หุ่นกระบอก และหุ่นละครเล็กให้อยู่คู่สังคมไทยมาจนปัจจุบันนี้ บุคคลที่ควรแก่การยกย่องอย่างยิ่ง คือศาสตาจารย์พระยาอนุมานราชธน (เสถียร โกเศศ) พลตรี ม.ร.ว. ศึกฤทธิ์ ปราโมช,นายธนิต อยู่โพธิ์,อดีตอธิบดีกรมศิลปากรและอาจารย์มนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ สาขาดนตรีไทย

          ประเภทของหุ่นไทยตามประเพณีแต่ดั้งเดิมนั้นมีหลายชนิด ได้แก่ หุ่นหลวงหรือหุ่นใหญ่หุ่นกระบอก หุ่นละครเล็ก หนังใหญ่ หนังตะลุง สำหรับในปัจจุบันนี้ มีหุ่นเกิดขึ้นอีกหลายประเภท เช่นหุ่นละครอย่างตะวันตก ซึ่งแสดงเนื้อเรื่องแบบสมัยใหม่ บางครั้งก็ล้อเลียนสังคม หรือหุ่นสำหรับเด็ก เป็นต้น



หนังใหญ่

          หนังใหญ่ เป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงอย่างหนึ่งของไทย มีกำเนิดมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๐ ในดั้งเดิมการแสดงหนังใหญ่เป็นต้นแบบของการเล่นโขนในปัจจุบัน ซึ่งท่าทางการแสดง การพากษ์ การเจรจา การใส่เครื่องประดับต่างๆประกอบในผู้แสดงโขน และเนื้อเรื่องแสดงเค้าโครงเรื่องเดิมมาจาก เรื่องรามายนะของอินเดีย ไทยเราเรียกว่า รามเกียรติ์ การแสดงหนังใหญ่ก็แสดงในเรื่องรามเกียรติ์และ แสดงเป็นตอนๆการแสดงหนังใหญ่เป็นมหรสพที่ขึ้นชื่อลือชา มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ดังที่กล่าวไว้ในหนังสือ บุณโณวาทคำฉันท์ ของมหานาควัดท่าทราย ซึ่งแต่งขึ้นในราว พ.ศ. ๒๒๙๔ ถึง พ.ศ. ๒๓๐๑ เป็นระยะเวลา ๗ ปี ปลายรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าบรมโกศในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงมหรสพที่แสดงฉลองพระพุทธบาทในตอนกลางคืนว่า มีการเล่นหนังใหญ่อยู่ด้วย

          สำหรับสถานที่แสดงหนังใหญ่นิยมแสดงบน สนามหญ้าหรือบนพื้นดิน มีจอผ้ขาว ยาว ขนาด ๑๖ เมตร กว้าง ๖ เมตร โดยมีไม้ไผ่หรือไม้กลมๆยาวปักเป็นเสา ๔ เสา รอบขอบจอ ผ้าขาวขลิบริมด้วยผ้สีแดง ข้างหลังจอ จุดไต้และก่อกองไฟให้สว่าง เมื่อผู้เชิดเอาตัวหนังขนานกับจอ ซึ่งมีแสงไฟ จากไต้หรือกองไฟ จะทำให้เห็นเงาสะท้อนของหนังใหญ่ไหวไปมา และมีความกลมกลืนกับท่าทางของผู้เชิด ตัวหนังใหญ่ตัวหนึ่งจะหนักประมาณ ๓-๔ กิโลกนัม และตัวประสาทจะหนักประมาณ ๕-๗ กิโลกรัม ผู้แสดงต้องเป็นชายและมีร่างกายที่แข็งแรง

          หนังใหญ่มีทุกภาคของประเทศไทย เช่น ภาคกลางหนังใหญ่จะมีอยู่ที่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี วัดพลับ จังหวัดเพชรบุรี วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี วัดภูมิรินทร์ จังหวัดสมุทรสงคราม ภาคตะวันออก ที่วัดดอน จังหวัดระยอง แต่ตัวหนังใหญ่ที่มากที่สุดและสมบูลณ์ที่สุด มีทั้งผู้เชิด ผู้พากย์ มีอยู่ที่วัดขนอน และยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

          หนังใหญ่นั้น ทำจากหนังวัว หรือ หนังควาย นำมาฉลุเป็นรูป ยักษ์ ลิง พระ และนางตาม เรื่องรามเกียรติ์ การเล่นหนังใหญ่ นอกจากจะมีตัวหนังแล้ว ยังมีคนเชิด คนที่นำตัวหนังออกมาเชิดต้องมีจังหวะในการเชิด นอกจากนี้ ยังต้องมีผู้ภากย์ เจรจา ทำหน้าที่พูดแทนตัวหนัง และมีวงปี่พาทย์บรรเลงประกอบการแสดงด้วย



หุ่นละครเล็ก

          หุ่นละครเล็ก เป็นศิลปะการแสดงที่ผสานศิลปะหลายแขนงไว้ด้วยกัน อัน ได้แก่ หัตถศิลป์ หรือการสร้างองค์ประกอบของหุ่น ประณีตศิลป์ ในการสร้างเครื่องแต่งกาย นาฏศิลป์ หรือการใช้ลีลา ท่าเชิด คีตศิลป์ หรือดนตรี มัณฑนศิลป์ หรือการจัดฉาก รวมทั้งวรรณกรรมเรื่องเอก ได้แก่ รามเกียรติ์ พระอภัยมณี และ ราชาธิราช เป็นต้น  หุ่นละครเล็กนี้ พ่อครูแกร ศัพทวนิช สร้างขึ้นเลียนแบบหุ่นหลวง ทั้งรูปร่างหน้าตา และขนาด ต่างกันที่กลไกการบังคับหุ่นและลีลาการเชิดหุ่น หุ่นละครเล็กและการเชิดหุ่นละครเล็ก จึงเป็นศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่

           ปัจจุบัน อนุสรณ์แทนตำนานหุ่นละครเล็ก ของ พ่อครูแกร ศัพทวนิช เหลือเพียงหุ่นละครเล็ก ๓๐ ตัว ที่ตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ แต่ความรู้ในการสร้างและศิลปะการแสดงละครหุ่นของท่านยังมิได้สาบสูญ เพราะได้รับการสืบทอดและพัฒนาเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ประจักษ์ในคุณค่าและร่วมดำรงรักษามรดกทางภูมิปัญญาของศิลปินพื้นบ้านไทย โดย นายสาคร ยังเขียวสด ศิษย์พ่อครูแกร ศัพทวนิช หรือ ครูโจหลุยส์ ศิลปินผู้โด่งดัง และเป็นที่รู้จักกันดีทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

          หุ่นละครเล็กเป็นหุ่นที่มีหัว แขน หรือเท่าแบบหุ่นหลวง สูงประมาณ ๑ เมตร ข้างในกลวงเป็นโพรง โครงหุ่นนั้น ท่อนบนทำด้วยกระดาษข่อย ท่อนล่างทำด้วยโครงลวดวง ๆ ไว้ ๒-๓ เส้น มีสายใยอยู่ภายในลำตัว ถ้าเป็นตัวเอกจะมีสายใยที่ข้อมือด้วยทำให้หักมือและชี้มือและชี้นิ้วได้ ส่วนตัวตลกมีมือแข็ง ๆ หุ่นบางตัวโดยเฉพาะตัวนางที่แปร๋แปร้นมีชิ้นไม้สี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ๒ ชิ้นอยู่ภายในตรงคอให้คนเชิดกดเพื่อให้หุ่นยักคอได้แบบละครจริง ๆ ส่วนตัวพระไม่มีชิ้นไม้ที่ว่านี้ ดังนั้นจึงได้แต่เหลียวคอซ้ายขวาตามธรรมดา ตัวตลกอ้าปากได้ ตัวหุ่นประเภทนี้ใช้ผ้ามุ้งแซมตรงคอเพื่อให้ย่น ๆ จะได้อ้าปาก หุบปากได้ หุ่นทุกตัวกลอกตาไม่ได้เพราะตาทำด้วยลูกแก้วแข็ง หัวโขนก็ถอดไม่ได้ แต่ตัวนางผีเสื้อสมุทรซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าหุ่นทุกตัวถอดหัวได้

          หุ่นละครเล็กกลับมาโลดเต้นบนเวทีการแสดงเป็นครั้งแรกจากหายไปนานกว่า ๕๐ ปี ในงานเทศกาลเที่ยวเมืองไทยปี พ.ศ. ๒๕๒๘ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ขอร้องให้ครูโจหลุยส์ จัดการแสดงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ครูโจหลุยส์จึงตัดสินใจทำพิธีบูชาพ่อครูแกรเจ้าของหุ่นเพื่อขออนุญาตจัดทำหุ่นเพิ่มเติม ในงานนี้ครูโจหลุยส์ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณ แสดงหน้าพระที่นั่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย ณ สวนอัมพรและแสดงสาธิตละครเล็กที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐

          หุ่นละครเล็กคณะครูโจหลุยส์จึงเป็นที่รู้จักแพร่หลายผ่านสื่อมวลชนรวมทั้งได้รับเชิญจาก สถาบันการศึกษาต่าง ๆ อีกทั้งได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปเผยแพร่ศิลปะการแสดงหุ่นละครเล็กในประเทศต่าง ๆ ครูโจหลุยส์ในฐานะผู้ฟื้นฟูชีวิตหุ่นละครเล็กให้กลับคืนมาเป็นศิลปะการแสดงที่เชิดหน้าชูตาของประเทศชาติ และเป็นผู้สสืบทอดมรดกของชาติ ได้รับยกย่องประกาศเกียรติคุณเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครเล็ก) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙



หุ่นวังหน้า

          กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าให้สร้างหุ่นขึ้น ๒ ชนิด คือ หุ่นจีนและหุ่นไทย โปรดเกล้าให้สร้างหุ่นจีนขึ้นก่อนและต่อมาก็โปรดให้สร้างหุ่นไทย หุ่นทั้งสองชนิดแสดงอยู่ในวังหน้า แต่ก็ไปแสดงในงานอื่นๆด้วยตามแต่พระราชประสงค์

          หุ่นไทยที่ทรงคิดทำขึ้นใหม่ ดำเนินวิธีการแสดง คล้ายหุ่นหลวงหรือหุ่นใหญ่อย่างโบราณ ที่มีมาแต่ครั้งกรุงอยุธยาและรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ ตัว หุ่นมีแขนขาเต็มตัว มีไม้แกนกัยสายใยชักอวัยวะต่างๆให้เคลื่อนไหว แต่ทำตัวหุ่นให้มีขนาดเล็กลง ทำโรงคล้ายๆ โรงละครฝรั่ง หากเล่นอย่างหุ่นไทย และเคยเล่นถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้อยู่หัว ทอดพระเนตร ในงานสมโภชช้างเผือก ที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ดังปรากฎในหนังสือข่าวราชการ เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๙ นอกจากนี้ยังมีหลักฐาน ปรากฎในราชกิจจานุเบกษาว่า "ในงานทำบุญวันสมภพ ในสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ครบ ๗๑ ปี กรมพระราชวังบวรสถานมงคล จัดทำหุ่นไปช่วยเพลา ๑"

          นอกจากนี้ ก็ไม่อาจพบหลักฐานหรือรูปถ่าย บันทึกการแสดง ตลอดจนลักษณะโรงของหุ่นชุดนี้ในที่ใดอีกนอกจากตัวหุ่นที่ยังเหลืออยู่เท่านั้น  กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงพระปรีชาสามารถรอบรู้ในการช่างต่างๆ ทรงตั้ง โรงงานการช่างขึ้นในวังหน้าหลายอย่างทั้งช่างไม้ ช่างหล่อ ช่างกลึง ช่างเคลือบ ของที่ประดิษฐ์คิด ทำล้วนเป็นฝีมืออย่างปราณีต จะหาเสมอได้โดยยาก   ฝีมือช่างวังหน้า จึงเป็นฝีมือชั้นสูงในงานศิลปะหลายแขนง ที่ได้รับการยกย่องถือเป็นแบบอย่างของช่างไทยสมัยหลัง ที่ได้สืบเนื่องศิลปะประเพณีนี้ต่อมา  กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชอยู่ ๑๗ ปี ประชวรพระโรควักกะพิการเสด็จทิวงคต ณ พรที่นั่งบวรบริวัตรเมื่อวันศุกร์ เดือน ๙ แรม ๓ ค่ำปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘ พระชนมายุ ๔๘ พรรษา

          ปัจจุบัน หุ่นจีนและหุ่นไทย ของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ จัดแสดงอยู่ที่ พระที่นั่งทักษิณาภิมุก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งได้รับการซ่อมแซม อนุรักษ์ให้สวยงามสมบูรณ์แบบ โดยอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต



หุ่นหลวงหรือหุ่นใหญ่

          ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า ศิลปะการแสดงหุ่นในประเทศไทย เกิดขึ้นราว พ.ศ. ๒๒๒๘ และพัฒนาสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน รวมอายุได้ประมาณ ๓๐๐ ปีเศษ คำว่า “หุ่น” และ “หุ่นหลวง” เป็นชื่อที่ท่านอาจารย์มนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ สาขาดนตรีเรียกในคราวแต่งหนังสือเรื่อง การมหรสพของไทยปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ตามหลักฐานในเอกสารราชการและวรรณคดีตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสืบต่อ ถึง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ว่า หุ่นหลวงใหญ่เป็นศิลปะการแสดงหุ่นที่เก่าแก่ที่สุด ของคนไทยมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

          หุ่นหลวงเฉพาะตัวหุ่นสูงประมาณ ๑๐๐ ซ.ม. สร้างเลียนแบบตัวละครในโขนและละครแต่งกายด้วยเครื่องละคร มีแขนและขาเหมือนตัวละครจริง สันนิษฐานว่าหุ่นหลวงแสดงต่อเรื่องรามเกียรติ์เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น ใช้คนเชิด ๑ คน ต่อหุ่น ๑ ตัว โครงสร้างตัวหุ่นหลวงทำด้วยไม้ประเภทมีน้ำหนักเบา คือ ไม้ทองหลางและไม้นุ่น เมื่อประกอบเป็นโครงตัวหุ่นทั้งตัวแล้วเหลาไม้เนื้อแข็งเสียบตั้งแต่ก้นหุ่นเข้าไปกลางลำตัว เพื่อเป็นแกนกลางใช้จับขณะเชิด ภายในโครงตัวหุ่นมีการเดินสายเชือกโยงใย จำนวน ๑๖ เส้น ใช้บังคับปาก แขน และมือของหุ่นให้เคลื่อนไหว เช่น กลอกกลิ้ง ลูกตา อ้าปาก ยกมือ ยกแขน รำและชี้นิ้วได้ สายเชือกโยงใยเหล่านี้จะเดินมารวมไว้ที่โคนไม้แกนกลาง ปลายสายเชือกโยงใยผูกห่วงวงแหวนทองแดงไว้ เวลาเชิดใช้นิ้วสอดเข้าไปห่วงวงแหวน ขยับนิ้วในท่าดึงรั้ง สายเชือกจะไปบังคับให้อวัยวะของหุ่นเคลื่อนไหวได้ตามต้องการ

          มหรสพหุ่นหลวงเสื่อมความนิยมในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ กรมมหรสพของราชการถูกยกเลิก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ปัจจุบัน ไม่มีผู้สืบทอดศิลปะการเชิดหุ่นหลวง มีเพียงหุ่น ๖ ตัว ที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร หุ่นเหล่านี้ได้รับการซ่อมแซมให้มีรูปร่างสมบูรณ์ โดยอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ ผู้มีความสนใจศิลปะการแสดงหุ่น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม



หุ่นกระบอก

          จากลายพระหัตถ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือ สาส์นสมเด็จ ทำให้ทราบว่า หุ่นกระบอกเริ่มขึ้นครั้งแรกราว พ.ศ. ๒๔๓๕ ที่เมืองสุโขทัย โดย นายเหน่ง สุโขทัย ซึ่งเป็นต้นคิด จำแบบอย่างมาจากหุ่นไหหลำ นำมาดัดแปลงเป็นหุ่นแต่งอย่างไทย และนายเหน่ง ได้ใช้เล่นหากินอยู่ที่เมืองสุโขทัย จนมีชื่อเสียง ส่วนที่กรุงเทพฯ ได้เกิดคณะหุ่นกระบอกของ ม.ร.ว. เถาะ พยัคฑเสนา มหาดเล็กในสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ ความคิดริเริ่มก่อตั้งคณะหุ่นของหม่อมราชวงศ์เถาะ ก่อให้เกิดยุคทองของการเล่นหุ่นชนิดนี้ขึ้น เพราะในสมัยเดียวกัน และต่อมาภายหลัง ได้มีคณะหุ่นกระบอกเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และเป็นมหรสพที่นิยมในหมู่ประชาชนในเวลานั้น

          ลักษณะหุ่นกระบอกที่สร้างขึ้นส่วนหัวมาถึงลำคอทำด้วยไม้ทองหลางหรือไม้นุ่น หัวหุ่นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๐-๑๕ ซ.ม. มีรายละเอียด เลียนแบบคนจริง แต่ไม่มีลำตัว ตรงลำตัวใช้กระบอกไม้ไผ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓-๕ ซ.ม. ยาวประมาณ ๕๐ ซ.ม. นำกระบอกไม้ไผ่นี้ต่อกับหัวหุ่นเสร็จแล้วนำผ้าปักลายด้วยดิ้นเงิน ดิ้นทอง เลื่อม แบบเครื่องโขน ละครมาทำเป็นเสื้อทรงกระสอบ ไม่มีแขนเสื้อ มาสวมกับหุ่น

          การเชิดหุ่นกระบอกยึดถือวิธีเชิดโดยดัดแปลงมาจากการแสดงละครรำ แบบละครนอก กล่าวคือผู้เชิดจะเชิดหุ่นมีท่าทางการร่ายรำแบบละครรำ แต่แสดงให้ผู้ชมเห็นเพียงครึ่งตัวเท่านั้น ส่วนล่างของตัวหุ่นนั้น ใช้ฉากบังไว้ไม่ให้ผู้ชมเห็นเพราะเป็นแกนกระบอกไม้ไผ่ที่ต้องใช้มือถือสำหรับเชิด ฉะนั้นผู้ชมจะเห็นท่ารำของหุ่นเพียงแค่ส่วนมือ และลำตัวของหุ่นเท่านั้น อนึ่ง ผู้เชิดจะเป็นผู้เจรจาและในบางครั้งก็ขับร้องแทนตัวหุ่นที่ตนกำลังเชิดอยู่นั้นด้วย บทที่ผู้เชิดมักจะต้องขับร้องเอง เมื่อเชิดหุ่นตัวใดมีบทบาทอย่างไร ผู้เชิดก็จะขับร้องและเจรจาตามบทบาทของหุ่นตัวนั้น

          วิธีการเชิดหุ่นของแต่ละสำนัก แม้จะดูคล้ายกัน แต่ถ้าสังเกตให้ดีแต่ละสำนักก็จะมีการเชิดหุ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เช่น

          - หุ่นคณะนายวิง ญาติผู้พี่ของ นายเปียก ประเสริฐกุล หุ่นคณะนี้จะเชิดด้วยมือขวา โดยใช้มือขวาจับไม้กระบอก แกนลำตัวของหุ่น และใช้มือซ้ายจับตะเกียบ ซึ่งต่างจากการเชิดหุ่นโดยทั่วไปที่ใช้มือซ้ายจับไม้กระบอกและมือขวาจับตะเกียบ

          - หุ่นของครูชื้น สกุลแก้ว บุตรีนายเปียก ประเสริฐกุล มักจะให้ผู้หัดเชิดหุ่นหาถ้วยวางไว้ที่พื้นตรงกับตัวหุ่นที่ผู้เชิดจับอยู่ เพื่อระวังบังคับไม่ให้หุ่นโยกออกไปไกลรัศมี ด้วยการบังคับด้วยถ้วยนี้ ถือว่าหุ่นต้องยืนรำหรือนั่งรำอยู่บนเตียงอย่างละคร ไม่ได้วิ่งรำไปมา หากผู้เชิดไม่บังคับศูนย์การประคองตัวหุ่นเสียแต่แรก ตัวหุ่นจะโยกไปมาเหมือนคนเมา

          - หุ่นนายจักรพันธุ์ โปษยกฤต นับเป็นหุ่นที่มีชื่อเสียงมากในปัจจุบัน เพราะนายจักรพันธุ์ เป็นบุคคลที่มีผลงานที่ได้รับการยกย่องในวงการศิลบะ จนได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ที่มีความสนใจการประดิษฐ์และการเชิดหุ่นกระบอกอย่างจริงจัง โดยได้รับการถ่ายทอดวิชาการเชิดหุ่นจากคุณครูชื้น สกุลแก้ว และจากคุณครูวงษ์ รวมสุข หุ่นกระบอกของนายจักรพันธ์จะมีความสวยงามวิจิตรบรรจง หุ่นกระบอกคณะนี้แสดงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ และมีชื่อเสียงโด่งดังมานับตั้งแต่บัดนั้น ฯลฯ

          อย่างไรก็ตาม หุ่นกระบอกเป็นเพียงตัวหุ่นจำลองไม่ใช่โขนละครที่แสดงด้วยคนจริงๆ ศิลปะในการเชิดจึงต้องทำท่าให้ง่ายเข้า แต่ยังคงเน้นที่อารมณ์ บทบาท และการร่ายรำ อันเป็นท่วงท่าและลักษณะเฉพาะของหุ่น



หนังตะลุง

          หนังตะลุงภาคใต้ เชื่อกันว่ามีต้นกำเนิดมาจากหนังตะลุงอยู่ที่ชวา อินโดนีเซีย ซึ่งเรียกว่า “วังวายอ” ต่อมาได้แพร่หลายเข้ามาทางเมืองมลายู ชาวมลายูเรียกหนังตะลุงว่า “วายังกุลิด” คนไทยได้ไปพบเห็นที่เมืองยะโฮร์ จึงได้นำมาปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะกับรสนิยมของคนไทย กล่าวกันว่าคนที่นำวายังกุลิดมาดัดแปลงเป็นหนังตะลุง คือ ตาหนังทอง ตานุ้ย นายทองช้าง และตาก้อนทอง ซึ่งเป็นชาวพัทลุง แล้วเปิดทำการแสดงครั้งแรกที่บ้านควนมะพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง จึงมีชื่อเรียกว่า “หนังควน” หนังตะลุง ครั้งนั้นเกิดขึ้นตรงกับรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

          เครื่องดนตรีประกอบหนังตะลุงมีอยู่ ๕ ชิ้น คือ โหม่ง ฉิ่ง ทับ กลองและปี่ ปัจจุบันมี ซอ กีต้า ออแกน เพิ่มเข้าไปอีกแล้วแต่ฐานะของนายหนัง เพลงที่ใช้บรรเลง เริ่มเบิกโรงด้วยเพลงพัดชา แล้วเปลี่ยนเป็นเพลงจีนแส ลาวสมเด็จ ลาวเขมรปี่แก้ว พม่ารำขวาน พม่าแทงกบ แขกหนัง ลาวดวงเดือน ลาวเสี่ยงเทียน เขมรไทรโยค เป็นต้น ปัจจุบันมีการนำเอาเพลงไทยสากลมาบรรเลงด้วย จึงเกิดมีเพลงมากมายสุดแท้แต่ความพอใจของแต่ละคณะ

          หนังตะลุงภาคอีสาน ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ มีหลักฐานว่า หนังตะลุงอีสานเลียนแบบจากหนังตะลุงคณะที่ไปจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คณะหนังตะลุงภาคอีสานที่มีชื่อเสียงได้แก่ หนังปราโมทัย หรือหนังบักตื้อ หนังบักป่อง บักแก้ว เรื่องที่นิยมเล่นกันมาก คือ รามเกียรติ์ จำปาสี่ต้น นางแตงอ่อน ศิลป์ชัย ตัวหนังตะลุงจะเป็นลักษณะของคนในภาคอีกสาน ยกเว้นเรื่องรามเกียรติ์

          ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ได้แก่ พิณ แคน ซอ โหวด กลอง ฉาบ ฉิ่ง การขับร้องเป็นแบบหมอลำ ส่วนบทเจรจาใช้ภาษาท้องถิ่น ลักษณะการแสดงจะเชิดหลังจอผ้าขาว มีแสงไฟส่อง ตัวหนังมีเชือกดึงปาก และมีไม้ยกแขนตัวหนัง การแสดงหนังแต่ละชุดนี้ใช้เวลาประมาณ ๑-๔ ชั่วโมง


หุ่นไทย, หุ่นไทย หมายถึง, หุ่นไทย คือ, หุ่นไทย ความหมาย, หุ่นไทย คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu