ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

สมเด็จพระปิยมหาราช, สมเด็จพระปิยมหาราช หมายถึง, สมเด็จพระปิยมหาราช คือ, สมเด็จพระปิยมหาราช ความหมาย, สมเด็จพระปิยมหาราช คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 1
สมเด็จพระปิยมหาราช

พรุ่งนี้จะถึงวันที่ ๒๓ ตุลาคม ตรงกับวันที่สมเด็จพระปิยะมหาราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๕๓ เป็นวันกำหนดที่ชาวเราทั้งหลายไม่เลือกหน้าว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้ชายหรือผู้หญิง พร้อมใจกันไปถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าที่พระลานหน้าพระราชวังดุสิตเสมอทุกปีมามิได้ขาด ด้วยความรักอันเกิดแต่รู้สึกพระเดชพระคุณของพระองค์ซึ่งได้มีมาแก่ประเทศสยาม ยังฝังแน่นอยู่แก่ใจชาวสยามมิรู้คลาย พระบรมรูปของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็มีอยู่แพร่หลาย เหตุใดเมืองถึงวันที่ ๒๓ ตุลาคม ชาวเราจึงพากันไปถวายบังคมที่พระบรมรูปทรงม้า ข้อนี้ท่านทั้งหลายในปัจจุบันที่ทราบเหตุก็มี แต่มียังไม่ทราบก็เห็นจะมีมาก น่าจะเล่าเรื่องพระบรมรูปทรงม้าให้ทราบก่อน

อันพระบรมรูปหล่อองค์นี้เป็นของชาวสยาม ทั่วทั้งพระราชอาณาเขตได้เข้าทุนสร้างถวายเป็นของสมโภชพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. ๒๔๕๑ เมื่อพระองค์เสด็จดำรงราชสมบัติได้ถึง ๔๒ ปี เป็นรัชกาลที่ยืนนานยิ่งกว่าที่พระราชาธิบดีทุกพระองค์ที่ได้ทรงปกครองประเทศสยามมาแต่ก่อน การสร้างทรงม้าองค์นี้ จะต้องใช้เงินเพียงแสนบทาเศษ แต่ประชาชนทั้งหลายพากันนิยมยินดีขอเข้าส่วนสมโภชสนองพระเดชพระคุณ จนจำนวนเงินได้มากกว่าล้านบาทเกินจำนวนที่ต้องการตั้งสิบเท่า ปรากฏความรักใคร่ของประชาชนที่มีต่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเป็นอัศจรรย์

และเงินสมโภชที่เหลือจากการสร้างพระบรมรูปนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ใช้เป็นทุนตั้งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏอยู่ทุกวันนี้ เนื่องต่อการถวายพระบรมรูปทรงม้าดังได้กล่าวก็ยังมีข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งได้ถวายพระนามพิเศษว่า "พระปิยมหาราช" แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังจารึกไว้ที่ฐานพระบรมรูป การที่ถวายพระนามพิเศษนั้นอนุโลมตามประเพณีโบราณ อันถือว่าเป็นพระเกียรติยศสูงสุดซึ่งพสกนิกรจะพึงถวายได้ มีตัวอย่างปรากฏมาตั้งแต่พุทธศักราชได้สามร้อยเศษ คือพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ทรงยกย่องพระพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาสำหรับในประเทศอินเดีย พระองค์ได้ทรงรับพระนามพิเศษว่า "ปิยะทัสสี" ซึ่งแปลว่าอันเป็นที่รักของเทพยดา ในสมัยเดียวกันนั้น พระเจ้าดิส ครองอนุราชบุรีในลังกาทวีป ผู้ทรงรับพระพุทธศาสนาประดิษฐานในประเทศลังกาเป็นปฐม ก็ได้รับพระนามพิเศษว่า "เทวานนัมปิยะดิส" ซึ่งแปลคความเช่นเดียวกัน

แม้ในพงศาวดารสยาม เคยมีประเพณีถวายพระนามพิเศษเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินมาแต่ก่อน เช่นในสมัยเมื่อยังถือกันว่าช้างเผือกเป็นนิมิตเครื่องหมายของพระเจ้าราชาธิราช พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดได้ช้างเผือกมาสู่พระบารมีเป็นศรีนคร ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินก็ยินดีถวายพระนามพิเศษว่า "พระเจ้าช้างเผือก" เช่นดังได้ถวายแด่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิกรุงศรีอยุธยาเป็นต้น

เมื่อถวายพระบรมรูปทรงม้า ครั้งนั้นปรึกษากันว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระเดชพระคุณแก่ประเทศสยามถึงชั้นพระมหากษัตริย์ ซึ่งยกย่องที่พงศาวดารว่าเป็นพระเจ้ามหาราชของประเทศ และการที่พสกนิกรพร้อมใจกันเฉลิมพระเกียรติ ด้วยความรักเห็นปานนั้นก็ไม่เคยมีมาในปางก่อน สมควรจะถวายพระนามพิเศษ จึงพร้อมกันถวายพระนาม "ปิยมหาราช" เป็นพระนามพิเศษ พระบรมรูปทรงม้ากับพระนามปิยมหาราชจึงเป็นอนุสรณ์สำคัญ ซึ่งเตือนใจให้ระลึกถึงพระเดชพระคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และที่ชาวพระนครพากันถวายสักการบูชาทุกปีมิได้ขาด

ที่นี้จะได้กล่าวถึงพระเดชพระคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้มีมาแก่ประเทศสยาม แต่การจะพรรณนาให้ถ้วนทุกอย่างนั้น ย่อมพ้นวิสัยที่จะกล่าวภายในเวลากำหนดของวิทยุกระจายเสียง อีกประการหนึ่ง หนังสือซึ่งแต่งเฉลิมพระเกยรติยศสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็มีมาก ได้พรรณนาถึงสิ่งที่ได้ทรรงสร้าง และการต่างๆที่ได้ทรงจัดทำนุบำรุงบ้านเมืองและไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้อยู่เย็นเป็นสุขมีอยู่โดยพิสดาร ท่านทั้งหลายคงได้อ่านกันแล้วโดยมาก เพราะฉะนั้นในปาฐกถาที่จะแสดงต่อไปจะยกแต่ข้อสำคัญ ซึ่งนึกว่าท่านผู้ฟังโดยมากจะยังไม่ทราบมาแสดง

อันพระเดชพระคุณของสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า ซึ่งได้มีแก่ประเทศสยามและชาวเราทั้งหลาย แม้มากด้วยประการต่างๆแทบว่าจะนับไม่ถ้วนก็ดี ถ้าจะยกยอดมาเล่าให้ฟังแล้ว ก็ตือทรงสามารถสถาปนาอิสรภาพประเทศสยามมั่นคง ให้เป็นสิทธิ์แก่ไทย ไม่ตกไปอยู่ในอำนาจของชนชาติอื่น อันนี้แหละเป็นยอดของพระเกียรติคุณซึ่งชาวเราควรรู้สึก ผู้ที่เกิดมาภายหลังควรตระหนักในข้อนี้ และควรชักชวนกันไปถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าเสมอไป

ก็การบำเพ็ญเพื่อความเป็นอิสระมั่นคงนั้น ไม่ใช่ของง่าย ข้อนี้ผู้ที่อยู่ห่างไม่ใคร่จะรู้กัน ผู้ที่ได้ทำการสนองพระเดชพระคุณใกล้ชิด ทุกคนย่อมประจักษ์แก่ใจว่าในการพากเพียรเช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงสละความสุขในหน้าที่ของพระองค์ที่จะทรงนำประโยชน์มาสู่บ้านเมืองเพียงใด ทรงกรากกรำต่อความทุกข์ยากเพียงใด มีบางคราวที่ข้าพเจ้าทรงด้วยตนเองว่าถึงแทบสิ้นพระชนม์ชีพ ในเมื่อทรงพระโทมนัส คราวประเทศสยามใกล้ถึงฉายาอันตราย แต่ด้วยความรักพวกเราชาวไทย ได้ทรงอย่างขัตติยะมานะมิได้ย่อหย่อน กาลจึงสำเร็จสมดังพระราชประสงค์ เมื่อกาลใกล้จะเสด็จสวรรคต ทรงสำราญพระราชหฤทัยเมื่อทรงระถึงกิจการที่ได้สำเร็จล่วงไปแล้ว ถึงกับมีพระราชดำรัสว่า เมืองไทยเรานี้ เชื่อได้ว่าจะมีอิสรภาพมั่นคง เราจะมีไทยเป็นเจ้าของเราเอง ไม่ต้องตกไปเป็นทาสของผู้อื่น แต่การที่จะทรงอิสรภาพอยู่ได้นั้น พวกเราจะเผลอไม่ได้ต้องร่วมความสามัคคี อย่าให้มีความมุ่งร้ายต่อกัน ต้องช่วยกันทำนุบำรุงปกครองบ้านเมืองให้ปรากฏว่าไทยเราปกครองกันเองได้ และมีสติปัญญาพอจะทำความเจริญต่อไปได้ ถ้าทำได้ตามพระราชดำรัสนี้ อิสรภาพจึงจะมั่นคง ที่กล่าวมาแล้วก็เพื่อจะยกบางข้อที่นึกว่าท่านไม่ทราบมาเล่าสู่กันฟัง

เนื่องด้วยการที่กล่าวนี้ เป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำต้องย้อนกล่าวพงศาวดารเพียงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพอเป็นสังเขป เวลานั้นชนชาติตะวันออกที่เป็นอิสระอยู่ในแถบนี้มี ๕ ชาติด้วยกัน คือ พม่า ไทย ญวน จีน และญี่ปุ่น ทั้ง ๕ ชาตินี้มีการรบราฆ่าฟันกันบ้าง มีเวลาที่เป็นไมตรีกันก็มีบ้าง แต่ถือเป็นธรรมเนียมคล้ายกันมาแต่โบราณ คือ รังเกียจการคบค้าสมาคมกับฝรั่ง เพราะไม่อยากให้ต่างประเทศเข้ามามีอำนาจในดินแดนของตน ถึงจะยอมอนุญาตให้ชนต่างๆชาติต่างภาษาเข้ามาค้าขาย ก็ไม่คิดจะบำรุงหรืออุดหนุนให้เกินหน้าประชาชนพลเมืองของตน ทั้งไม่ยอมให้สัญญาอาณัติอย่างใดแก่ต่างชาติที่เข้ามาค้าขายนั้นด้วย

ครั้นเสร็จมหาสงครามคราวนโปเลียนแล้ว อังกฤษได้อินเดีย ให้บริษัทปกครองและผู้กขาดการค้าขายทางตะวันออก แผ่อำนาจเรื่อยมาจนวิวาทกับพม่าถึงรบกันในปลายรัชกาลที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๖๗) พม่าสู้อาวุธไม่ได้จึงพ่ายแพ้ อังกฤษยึดหัวเมืองปักษ์ใต้ เช่น ทวาย ตะนาวศรี เป็นเมืองขึ้นหมด การนี้ปรากฏอย่างแน่ชัดว่าฝรนั่งจะขยายอาณาเขตทางตะวันออก และอาวุธของตะวันออกจะสู้อาวุธของฝรั่งไม่ได้ ถึงดังนั้นก็ไม่ค่อยมีชาวตะวันออกเชื่อกันเป็นจริงจังนัก ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๓๘๕ อังกฤษรบชนะจีน จึงต้องยอมทำหนังสือสัญญามีข้อสำคัญ คือ

๑. อนุญาตให้ฝรั่งตั้งเมืองท่า เช่นเซี่ยงไฮ้เป็นต้น
๒. ชาวอังกฤษที่ไปทำการค้าขายตามเมืองท่าเหล่านี้ ขึ้นอยู่ในปกครองของอังกฤษโดยตรง
มีศาลและตุลาการของอังกฤษชำระความเอง
๓. อังกฤษจำกัดอัตราให้จีนเก็บภาษีสินค้าขาเข้า ขาออก

การที่จีนแพ้คราวนี้ ย่อมกระเทือนกันหมดในทางตะวันออก ถึงกระนั้นก็ดี ประชาชนส่วนมากไม่ค่อยจะถือเป็นอารมณ์นัก ด้วยพากันเชื่อว่าจีนเป็นชาติใหญ่มีอำนาจมาก ไฉนจะยอมแพ้ทำสัญญากับฝรั่งง่ายๆ ที่ทำเช่นนั้นก็คงเพียงจะซื้อความรำคาญเท่านั้นเอง แต่ในประเทศสยามเรานี้ มีบุคคลบางท่านที่เห็นการณ์ไกล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังทรงผนวชอยู่นั้น ทรงพระราชวิจารณ์เห็นว่าต่อไปฝรั่งจะมีอำนาจในทางตะวันออก ถ้าเราไม่ระวังตัวอาจจะเสียเมืองแก่เขาได้ เวลานั้นพระชนม์ได้ ๔๐ พรรษาแล้ว ถึงกระนั้นก็มิได้ทรงท้อถอย ได้ทรงพากเพียรเรียนภาษาอังกฤษจนทรงทราบและใช้การได้ก่อนใครๆ

ต่อมาความก็สมจริงดังพระราชวิจารณ์ คือเมื่ออังกฤษรบชนะจีนแล้ว จีนก็ได้รับความย่ำยี เมื่ออังกฤษได้ตั้งเมืองที่ฮ่องกงแล้ว ก็คิดที่จะทำเช่นนั้นบ้างในกรุงสยาม จึงแต่ให้เซอร์ เจมสบรุก เป็นทูตเข้ามาขอทำสัญญา เวลานั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรนัก ได้ปรึกษาหารือกันเป็นอันตกลงว่าไทยไม่ยอมทำสัญญา เซอร์ เจมสบรุ๊กได้กลับไป และไม่มีใครทราบว่าอังกฤษจะทำอะไรแก่เราต่อไป

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ อาศัยเหตุที่ได้ทรงศึกษาทราบวิธีการของฝรั่ง พอเสด็จขึ้นครองราชสมบัติก็เหมาะแก่เวลาที่จะได้ทรงแก้ไขเหตุการณ์ต่างๆ ก่อนที่จะให้อังกฤษมาโดยร้ายได้ ทรงทราบโดยตระหนักว่าหนทางที่ปลอดภัยก็มีอยู่หนทางเดียวเท่านั้น โดยทำสัญญาเป็นมิตรกับเขาด้วยใจดีต่อกัน ไม่ช้าก็ปรากฏว่าอังกฤษได้ใช้ เซอร์ ยอนเบาวริง เข้ามาขอทำสัญญา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับรองโดยอัธยาศัยไมตรี ผิดกันกับพม่าและจีน

ฝ่ายอังกฤษนั้นได้เตรียมทำสัญญาอย่างแบบที่ทำกับจีนและได้ปรึกษาโดยนัยนั้น คือจะขอตั้งเมืองท่าที่อ่างศิลาหรือบางนา หรืออะไรทำนองนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า ถ้าจะยอมให้เขาตั้งเมืองแล้วเป็นผิดต่อไป ภายหลังจะลำบาก จึงตรัสขอเขาว่าอย่าตั้งเมืองเลย มาอยู่ด้วยกันฉันท์ไมตรีสนิทเถิด ฝ่ายอังกฤษก็ยอมผ่อนผันให้ ไทยจึงไม่ต้องทำสัญญาเหมือนจีน ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เสียประโยชน์ที่สำคัญหลายอย่าง ไทยกับอังกฤษจึงเป็นมิตรกันมาตั้งแต่ครั้งนั้น(๑)

ส่วนฝรั่งเศสก็เป็นชาติหนึ่งที่เที่ยวหาเมืองเป็นที่ตั้งทางตะวันออก นอกจากนี้มีชาติอเมริกันที่เที่ยวทำการค้าขาย ทั้งสองชาตินี้ได้เข้ามาขอทำสัญญา ทรงพระราชดำริเห็นอีกข้อหนึ่งว่าถ้าเราทำสัญญาให้แก่อังกฤษเพียงชาติเดียวแล้ว จะไม่เป็นการเสมอหน้ากัน จึงทรงตกลงยอมทำสัญญาด้วย ต่อนั้นมาฝรั่งชาติไหนเข้ามาขอทำสัญญาก็ทรงยินยอมด้วยหมด เป็นอันปลดเปลื้องในข้อที่ฝรั่งจะเอาเปรียบอย่างจีนนั้นได้

ก็แต่ความลำบากภายใน อันเกิดแต่การที่ได้ทำสัญญากับฝรั่งแล้วนั้นย่อมมีไม่น้อย ต้องมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แต่ก่อนมาเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ของเราทำการค้าขายก็มีมาก ท่านพวกนี้เสียภาษีผูกขาดต่อรัฐบาล ครั้นฝรั่งยอมเสียภาษีบ้าง เขาจะซื้อสินค้าที่ไหนก็ได้ตามอำเภอใจ เป็นการตัดประโยชน์ของคนไทยผู้มีทรัพย์ การเกี่ยวข้องกับฝรั่งจึงต้องมีพิกัดภาษีอากรภายในขึ้น ถึงจะเสียประโยชน์บ้างก็จำต้องทนเอา เปรียบเหมือนเรามีชีวิตอยู่แต่ร่างกายไม่ปกติ ก็ต้องทำการรักษาพยาบาลไปพลาง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่า อันการที่จะรักษาสัญญาทางพระราชไมตรีให้คงดี โดยไม่มีใครกล้าทำร้ายเราเพราะผิดในข้อสัญญานั้น จำต้องทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญทัดเทียมต่างประเทศ และจัดการปกครองดี แต่กำลังของเราที่จะเป็นอุปกรณ์แก่การนี้ยังมีไม่พอในเวลานั้น ด้วยขาดผู้ที่ได้ร่ำเรียนศึกษาในทางนี้ ผู้ที่เข้าใจพระบรมราโชบายในเวลานั้น ก็มีเพียง ๔ - ๕ คนเท่านั้น นอกนั้นเป็นคนสมัยเก่า

จึงทรงเริ่มตั้งโรงเรียนขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เวลานั้นในบรรดาพระเจ้าลูกยาเธอที่ทรงพระเจริญวัยพอจะเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนได้ ก็มีแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียวเท่านั้น พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์อื่นยังเล็กมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีโอกาสได้รับการศึกษาทั้งจากครูภาษาอังกฤษ และพระองค์สมเด็จพระบรมนชกนาถ เมื่อทรงพระเจริญโสกันต์แล้วก็ได้ทรงดำรงอยู่ในตำแหน่งพระรัชทายาท แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังไม่สิ้นพระวิตก เพราะเวลานั้นพระราชโอรสยังทรงพระเยาว์ จึงทรงพระราชอุตสาหะฝึกฝนสั่งสอนด้วยพระองค์เองทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อให้ทรงทราบขนบธรรมเนียมขัตติยราชประเพณี ตลอดจนพระบรมราโชบายในข้อราชการแผ่นดิน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีโอกาสติดตามและรับใช้ใกล้ชิดสนิทสนมในสมเด็จพระบรมชนกนาถ ทั้งได้เป็นผู้เชิญกระแสพระบรมราชโอการในข้อราชการแผ่นดิน ไปให้สมเด็จเจ้าพระยาฯและพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่เนืองๆ แต่กระนั้นก้ดียังไม่สิ้นพระราชวิตกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลานั้นพระองค์ทรงพระเจริญพระชันษา ๖๐ แล้ว ได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ว่า เมื่อพระราชโอรสทรงเจริญพระชันษาครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์แล้ว จะโปรดให้ทรงผนวชแล้วจะมอบเวนราชสมบัติให้ พระองค์เองจะเสด็จไปประทับอยู่วังต่างหากคือที่วังสราญรมย์ ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น แต่การหาได้เป็นดังพระราชประสงค์ไม่ ด้วยมาเสด็จสู่สวรรคตเสียตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระชันษาเพียง ๑๕ ปีเท่านั้น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสวยราชสมบัติ เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ ต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอยู่ ๕ ปี ระหว่างเวลานั้นได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษและวิชาความรู้ของไทยที่ยังบกพร่อง ทรงพยายามกระทำประโยชน์ในเชิงปกครองบ้านเมืองด้วยการเสด็จไปทอดพระเนตรการปกครองที่สิงคโปร์ ชวา และอินเดีย ครั้นถึงปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ พระชันษาครบอุปสมบท เสด็จละราชสมบัติออกทรงผนวช ๑๕ วัน ทรงผนวชแล้วมีการบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ แต่นั้นมาทรงว่าการด้วยพระองค์เอง

ปีต่อมาถือว่าสำคัญ เพราะเป็นปีที่เริ่มการเลิกทาส พวกเรารู้กันน้อยว่าการเลิกทาสนี้ย่อมลำบากยากเย็นเพียงไร และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้อุบายอย่างไรจึงสามารถจัดการเป็นผลสำเร็จได้ เมื่อเทียบกับการเลิกทาสบางแห่งในต่างประเทศแล้ว ต้องยกย่องว่าวิธีดำเนินการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเรื่องนี้วิเศษกว่าของใครๆ ตัวอย่างที่จะชี้ให้เห็นเช่นในรุสเซีย เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ ๒ กำลังทรงดำเนินการเลิกทาสอยู่นั้น พระองค์เองได้ถูกพวกมิจฉาทิฐิปลงพระชนม์ชีพ ในอเมริกาเมื่อเปรสิเดนต์ลิงโคลน์จะเลิกทาส ก็มีการวิวาทถึงรบราฆ่าฟันกันระหว่างอเมริกาเหนืออเมริกาใต้ การเลิกทาสในสยามนี้ ไม่ใช่ว่าไม่มีการรบพุ่งอย่างเดียว ยังแทบกล่าวได้ว่าไม่มีใครรู้สึกเสียด้วยซ้ำไป ข้าพเจ้าเคยเล่าเรื่องนี้ให้ชาวต่างประเทศบางคนฟัง ต่างก็ลงเนื้อว่าเรื่องนี้สำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์ที่สุด

ก็อุบายที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้นั้นอย่างไร ข้าพเจ้าจะเล่าให้ท่านฟัง ตามที่ได้ยินพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ตรัสเล่าให้ฟังเองจากพระโอษฐ์ ในขั้นแรกที่ทรงพระราชดำริจะให้ประชาชนชาวไทยมีเสรีภาพนั้น ทรงเห็นว่าควรต้องเลิกทาสก่อนอื่น ได้ตรัสแสดงพระราชประสงค์เรื่องนี้ให้ผู้มีศักดิ์สูงทราบ ต่างก็เห็นว่าไม่ควรเลิกทาส ส่วนผู้ที่เป็นทาสเองเมื่อฟังเสียงดู ที่ชอบให้เลิกก็มีที่ไม่ชอบก็มี ทาสส่วนมากที่ไม่ชอบให้เลิกนั้น เพราะเห็นว่าเมื่อเลิกแล้วจะไปหากินที่ไหนก็ไม่ได้ สู้อาศัยเลี้ยงชีวิตอยู่กับมูลนายไม่ได้ดั่งนี้เป็นต้น พวกที่เห็นคุณและอยากให้เลิกตามพระราชดำริมีเป็นส่วนน้อย พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเห็นว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างโครมครามคงไม่สำเร็จแน่ และทั้งจะทำความไม่พอใจให้เกิดขึ้นแก่คนหมู่มาก จึงทรงใช้อุบายตรัสว่าการทาสนั้นจะคงมีอยู่ตามเดิมก็ได้ ขอแต่อย่างเดียวอย่าให้กุลบุตรที่เกิดในรัชกาลของพระองค์เป็นทาสก็แล้วกัน ใครเคยเป็นทาสมาแล้วในรัชกาลก่อนๆเมื่อจะยอมเป็นทาสอยู่ต่อไปก็ตามใจ การเลิกได้ดำเนินด้วยวิธีดังกล่าวมานี้ จึงไม่กระทบกระเทือนถึงใครเมื่อประกาศออกนั้น เด็กที่เกิดในต้นรัชกาลที่ ๕ มีอายุถึงเวลานั้นเพียง ๔ - ๕ ขวบ เท่านั้นไม่มีใครรู้สึก ประกาศก็เหมือนกระดาษแผ่นหนึ่ง ซึ่งไม่มีใครเอาใจใส่ ครั้นเมื่อเด็กเหล่านั้นเติบโตขึ้นแล้ว ทาสก็ค่อยๆหมดไปจนสูญสิ้น ไม่ต้องถึงแก่รบราฆ่าฟันกัน และไม่เปลืองเงินด้วย นี่เป็นอุบายเลิกทาสที่ควรยกย่องว่าวิเศษ

นอกจากนี้ ที่ทรงกระทำไปยังมีอีก ๒ อย่าง ที่พวกเราไม่ค่อยทราบกัน เป็นเรื่องที่น่าขันสักหน่อย พอเสวยราชย์ได้หน่อยก็โปรดให้เลิกไว้ผมมหาดไทยทั้งหญิงและชาย ทรงชักชวนให้ไว้ผมยาวอย่างในเวลานี้ แต่เรื่องเลิกนี้ก็ไม่ง่ายเหมือนกัน เพราะผู้คนไว้ผมมหาดไทยจนเป็นความนิยมกันนมนานแล้ว จึงต้องค่อยเลิกค่อยไป อีกข้อหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ก็คือ โปรดให้เลิกธรรมเนียมเฝ้าอย่างหมอบคลานตั้งแต่บรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ เป็นปฐม ครั้งนั้นโปรดให้นั่งเก้าอี้ในที่เฝ้า พวกเราในชั้นนี้บางทีจะเห็นว่าการเฝ้าอย่างหมอบคลานจะไม่สู้น่าเกลียดนัก ต้องผู้ที่เคยเฝ้าแหนครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงจะรู้สึกเกลียด เพราะอะไร เพราะเวลาถ้ามีฝรั่งมาเฝ้า จะเห็นว่าข้าราชการไทยหมอบเฝ้าอยู่ตามริมเท้าฝรั่งทีเดียว เป็นที่น่าละอายอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงทรงประกาศในที่นั้นเอง ว่าให้ข้าราชการสยามลุกขึ้นยืนเฝ้า เป็นนิทัศนนัยที่จับตาอย่างยิ่ง

ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงสิ่งสำคัญที่ได้ทรงจัดเพื่อสู่ความเจริญ

เมื่อแรกเสวยราชสมบัติ ได้โปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนขึ้นอย่างในบัดนี้ ซึ่งยังไม่เคยมีมาแต่ก่อน ทรงตั้งทั้งโรงเรียนภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ บรรดาพระเจ้าน้องยาเธอ รวมทั้งตัวข้าพเจ้าด้วยก็ได้เข้าโรงเรียนที่ทรงตั้งขึ้นนั้น ต่อมาจึงมีบุตรหลานข้าราชการและคหบดีมาเข้าเป็นจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ ผู้ที่ได้เข้าโรงเรียนชั้นแรกในรัชกาลที่ ๕ นั้น ที่ได้เป็นเสนาบดีและแม่ทัพนายกองในเวลาต่อมาก็มีมาก

การศึกษานี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ทรงตั้งพระราชอุตสาหะจัดการให้ลุล่วงเป็นขั้นๆมาโดยลำดับ แม้จะได้ทรงประสบอุปสรรคอยู่บ้างก็ไม่ทรงทิ้งและเลิก แต่ในเวลาเดียวกันก็มิได้ทรงจัดอย่างผลุนผลัน เท่าที่ทรงจัดก็เพียงแต่ขอให้ได้เดินหน้าไว้ ในเวลานั้นข้าราชการที่ไม่เป็นหนังสือมีอยู่มาก เพราะแต่ก่อนการเขียนหนังสือไม่ใช่ของจำเป็นสำหรับขุนนาง มีอะไรก็บอกด้วยปากให้เสมียนเขียนก็ได้ มาจนในรัชกาลที่ ๕ ขุนนางต้องเป็นหนังสือ และต้องส่งลูกเข้าโรงเรียน จึงจะมีความเจริญได้ ยังมีการอีกอย่างหนึ่งที่ทรงประพฤติเสมอโดยไม่ลดหย่อน คือการเสด็จประพาสตามท้องถิ่นต่างๆ ในพระราชอาณาจักร ทรงกระทำความคุ้นเคยต่ออาณาประชาราษฎร เพื่อทรงทราบกิจการของเจ้าหน้าที่และความเป็นไปของราษฎร

การเปลี่ยนแปลงก่อน พ.ศ. ๒๔๓๐ นั้น กล่าวได้ว่าดำเนินตามหลักแบบเก่า มีใหม่เข้าแทรกแซงเฉพาะแต่ที่จำเป็น แลที่เห็นว่าไม่ขัดกับหลักเดิม ส่วนการเปลี่ยนแปลงใน พ.ศ. ๒๔๓๐ นั้น เกิดจากทรงพระราชดำริว่าเวลานั้น ชาติฝรั่งกำลังคิดขยายอาณาเขต ประจวบกับคณะนักการเมืองฝรั่งเศสพวกหนึ่ง ที่เที่ยวหาเมืองขึ้นมามีอำนาจมากขึ้น ทรงพระราชวิตกว่าการที่ฝรั่งออกมาหาอำนาจนี้จะกระทบกระเทือนถึงสยามด้วย จึงทรงแก้ไขเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างเก่าให้เข้ารูปใหม่ เลิกตำแหน่งอัครเสนาบดี ๒ และจตุสดมภ์ ๔ ปรับรูปทบวงเป็น ๑๒ กระทรวง ซึ่งมีฐานะเท่ากัน คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัง กระทรวงนครบาล กระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงยุทธนาธิการ กระทรวงธรรมการ กระทรวงโยธาธิการ กระทรวงมุรธาธิการ

เวลานั้นประจวบกับคราวที่บรรดาพระเจ้าน้องยาเธอเจริญพระชนมายุ และมีความสามารถด้วยได้รับราชการในหน้าที่ต่างๆเป็นลำดับมา เพราะฉะนั้นเมื่อทรงพระราชดำริเลือกตัวเสนาบดีเจ้ากระทรวงต่างๆ หน้าที่เหล่านี้จึงตกอยู่แก่เจ้านาย ข้อนี้มีคนเข้าใจผิดกันอยู่ด้วยไปเข้าใจเสียว่า เสนาบดีต้องเป็นเจ้า หรือใครเป็นเจ้าก็ต้องเป็นเสนาบดี ข้อนี้ไม่จริง ไม่ไมองค์ใดที่ได้เป็นเสนาบดีเพราะเป็นเจ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเลือกเสนาบดีตามเกณฑ์ที่เป็นเจ้า เจ้าหรือสามัญชนย่อมมีสิทธิ์ที่จะบำเพ็ญตัวเป็นเสนาบดีได้เท่ากัน แต่เพราะเวลานั้นบรรดาพระเจ้าน้องยาเธอได้ทรงศึกษาเล่าเรียนมาก่อนใครๆ และได้ลงมือทำงานสนองพระเดชพระคุณมาก่อน หน้าที่เสนาบดีในชุดแรกจึงตกอยู่แก่เจ้าโดยมาก ผู้ที่ดูเพียงเผินๆจึงเลยพากันเข้าใจผิด

การที่ทรงจัดการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น แม้จะเป็นการใหญ่ก็จริง ก็มิได้ทรงจัดการสิ่งอันใดที่เกินความสามารถ หรือที่ไม่เหมาะแก่เหตุการณ์และเวลาเลย การใหญ่ๆที่ควรยกมาอ้างมีหลายอย่าง เช่น การปกครองบ้านเมืองได้ทรงตั้งกระทรวงมหาดไทยขึ้นรวบรวมหัวเมืองชั้นนอก ที่แบ่งขึ้นทางโน้นบ้างทางนี้บ้างมารวมอยู่ในกระทรวงมหาดไทย แบ่งปันเป็นมณฑล เมือง อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ยอมให้ราษฎรเลือกผู้ใหญ่ตามความเห็นชอบของตน นี่ว่าเฉพาะกิจการทางกระทรวงมหาดไทย

ส่วนกิจการทางกระทรวงกลาโหมนั้น แต่เดิมชายฉกรรจ์ทุกคนเป็นทหาร แล้วแต่จะสังกัดเจ้าขุนมูลนายคนใด เจ้านายและข้าราชการที่เป็นเจ้าขุนมูลนายนั้นต้องทำหน้าที่เป็นนายทหารด้วย ควบคุมและให้อารักขาแก่พวกสมพลของตน เวลามีราชการศึกสงครามก็ต้องระดมพลและเสบียงอาหารช่วยบ้านเมือง ครั้นเวลาสงบศึก พวกสมพลก็หาเลี้ยงนายของตน เป็นการเกื้อกูลกันและกัน ที่ทรงเปลี่ยนแปลงจากหลักเดิม ก็คือ การเกณฑ์ทหารให้มีกำหนดเวลา เปลี่ยนสังกัดทหาร มารวมขึ้นเป็นกระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นที่รวบรวมกำลังของชาติ ทหารไม่ขึ้นแก่บุคคลผู้ใดโดยเฉพาะเหมือนครั้งกระโน้น เมื่อเป็นทหารของชาติแล้วก็ถือเสรีภาพอย่างทุกวันนี้

ส่วนการชำระอรรถคดีนั้นได้ทรงเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างสำคัญมาก โปรดให้ยกเลิกระเบียบชำระความที่ศาลที่แยกย้ายสังกัดที่ต่างๆ มารวมขึ้นที่เดียวกัน ตั้งกระทรวงยุติธรรมและศาลที่ชำระความรวมทั้งแผ่นดิน ชำระกฎหมายเก่าใหม่และประมวลลงเป็นบรรทัดฐาน เพื่อใช้ในการชำระอรรถคดีให้ราษฎรได้รับความยุติธรรมเสมอหน้ากัน มีทนายว่าความสำหรับแผ่นดิน แต่ก่อนคู่ความต้องมีศักดินา ๔๐๐ ขึ้นไป จึงจะแต่งทนายความว่าความแทนตนได้

ส่วนการศึกษาสำหรับทวยราษฎร์นั้น ได้ขยายแพร่หลายทั่วพระราชอาณาจักรได้ผลในทางที่เพาะพลเมืองดี และได้คนเข้ารับราชการพอเพียงตลอดมาจนถึงทุกวันนี้

การบำรุงบ้านเมืองที่ทรงจัดไปแล้วมีมากมายหลายอย่าง เช่น การบำรุงกสิกรรม การขุดคลอง การคมนาคม การรถไฟ การไปรษณีย์โทรเลขและโทรศัพท์ ที่สุดรถยนต์ รถรางและสิ่งซึ่งทรงเห็นว่าจะเป็นประโยชน์และเป็นเครื่องบำรุงความสุขแก่อาณาประชาราษฎร ข้าพเจ้าของดไม่กล่าวถึงสิ่งเหล่านี้ต่อไป เพราะท่านทั้งหลายย่อมทราบประโยชน์อยู่ด้วยกันแล้ว

พระเดชพระคุณของสมเด็จพระปิยมหาราชดังได้พรรณนามาแล้ว ไม่แต่เป็นหน้าที่ของผู้ที่ได้เคยรับราชการในครั้งนั้ หรือเคยเห็นพระองค์ท่าน หรือประชาชนทุกวันนี้ จะระลึกถึงเท่านั้น ถ้าสยามประเทศยังตั้งอยู่ด้วยความอิสรภาพมั่นคงตราบใด ประชาชนชาวสยามต้องระลึกถึงพระเดชพระคุณอยู่ตราบนั้น อย่าลืมว่าพระราชกิจสำคัญที่สุดของพระองค์อยู่ตรงที่ทำให้คนไทยมีอิสรภาพมั่นคง ไม่ตกเป็นทาสของชนชาติอื่นดังกล่าวแล้ว

ข้าพเจ้าได้พรรณนาพระเกียรติคุณมามากพอสมควรแก่เวลาแล้ว หวังว่าคงเป็นเครื่องประดับความรู้และสติปัญญาของท่านได้บ้างไม่มากก็น้อย ขอให้ท่านทั้งหลายมีความสุขความเจริญทั่วกัน

....................................................................................................................................................

(๑) เรื่องพระราชอัธยาศัยอันละมุนละม่อมและสุขุมของพระองค์ท่าน สามารถแก้ไขเหตุร้ายของบ้านเมืองได้หลายครั้งหลายครา ครั้งหนึ่งราชทูตชื่อมิสเตอร์ฮาริปักฝ่ายอังกฤษได้เสนอเทคโนโลยี่ล้ำสมัย "รถไฟ" พร้อมทั้งได้นำแบบจำลองของรถไฟ "วิคตอเรีย" เข้ามาทูลเกล้าถวายฯ และว่าฝ่ายอังกฤษโดยบริษัทในเครืออีสต์ อินเดีย คอมปะนีเสนอจะออกทุนในการก่อสร้างทางรถไฟสายแรกให้ไทยตัดข้ามคอคอดกระ ถ้าเป็นพวกเราๆคงหยิบปากกาเซ็นชื่อไปแล้ว แต่พระราชดำรัสใน "คิงมงกุฏ" ช่างนุ่มนวลสุขุมใครได้ฟังก็ไม่อาจฝ่าฝืนไปได้ ...เราขอบใจท่านมาก แต่สยามเป็นประเทศที่ยากจน เรามีเพียงเกวียนใช้ก็พอแล้ว... เรื่องรถไฟนี้ก็เป็นจริงดั่งที่ทรงคาด ต่อมาก็เกิดเรื่องขึ้นกับอินเดีย (หลังจากเสด็จสวรรคต) ควีนวิคตอเรียก็ทรงประกาศพระองค์เป็น "เอมเปรสส์ ออฟ อินเดีย" ความเจริญที่หยิบยื่นให้ประเทศเหล่านั้นเปล่าๆ ต่อมากลับกลายเป็นของร้ายไป

แบบจำลองรถไฟวิคตอเรีย กลายเป็นของทรงเล่นทรงพระสำราญในสมเด็จฯเจ้าฟ้า จุฬาลงกรณ์ เมื่อยังทรงพระเยาว์ และต่อมากลายเป็นสิ่งเตือนพระราชหฤทัยให้ทรงระลึกถึงพระบรมราโชวาทในสมเด็จพระบรมชนกนาถ

(ได้จากบทความ "จาก ๑๑๒ สู่ ๑๑๖" ของ สรรพสิริ วิรยศิริ ,ต่วย'ตูน ปีที่ ๓๖ เล่มที่ ๔ ฉบับ "๒๓ ตุลาฯ วันปิยมหาราช")


พระปาฐกถาในสมเด็จหกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงแสดงที่สถานีวิทยุพญาไท ค่ำวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ เนื่องในงานถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าประจำปี
เรื่อง สมเด็จพระปิยมหาราช

ภาพและที่มา www.bloggang.com

สมเด็จพระปิยมหาราช, สมเด็จพระปิยมหาราช หมายถึง, สมเด็จพระปิยมหาราช คือ, สมเด็จพระปิยมหาราช ความหมาย, สมเด็จพระปิยมหาราช คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu