ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย ในภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน, สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย ในภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน หมายถึง, สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย ในภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน คือ, สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย ในภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน ความหมาย, สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย ในภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย ในภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน

          ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในบริเวณที่ราบสูง ซึ่งเป็นบริเวณภายในที่ไม่มีทางติดต่อกับทะเล มีแต่เทือกเขาล้อมรอบ และมีสภาพคล้ายแอ่งกระทะที่เทลาดจากที่สูงทางตะวันตกลงสู่ที่ลุ่มต่ำทางด้านตะวันออกที่มีแม่น้ำโขงเป็นขอบเขต ทางตะวันตกมีเทือกเขาเพชรบูรณ์และดงพระยาเย็นกั้นออกจากที่ราบลุ่มเขมรต่ำ ส่วนทางด้านตะวันออกแม้ว่าจะมีลำแม่น้ำโขงกั้นเขตออกจากประเทศลาว ก็มีทิวเขาภูพานกั้นเป็นขอบชั้นในตัดออกจากบริเวณจังหวัดมุกดาหารผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์และสกลนครไปยังอุดรธานี ทำให้บริเวณที่ราบสูงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือแบ่งออกเป็น ๒ แอ่งใหญ่ คือ แอ่งสกลนครทางเหนือมีลำน้ำสายเล็กหลายสาย เช่น แม่น้ำสงคราม และแม่น้ำก่ำไหลผ่านไปออกแม่น้ำโขง ส่วนอีกแอ่งหนึ่งคือ แอ่งโคราชอยู่ทางใต้ มีแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีตลอดจนลำน้ำที่เป็นสาขาอีกหลายสายหล่อเลี้ยง

          ในด้านภูมิอากาศทั้งแอ่งสกลนครและแอ่งโคราชไม่มีอะไรแตกต่างกัน แต่ในด้านภูมิประเทศแอ่งสกลนครมีพื้นที่น้อยกว่าแอ่งโคราช ประกอบด้วยพื้นที่ราบเชิงภูเขาภูพานและบริเวณที่ราบลุ่มต่ำที่อยู่ใกล้มาทางแม่น้ำโขง บริเวณที่ลุ่มดังกล่าวนี้ ในฤดูน้ำแม่น้ำโขงไหลทะลักเข้ามาท่วม ทำให้การเพาะปลูกและการตั้งหลักแหล่งชุมชนของมนุษย์ไม่ดีเท่ากับบริเวณที่ราบเชิงเขาภูพานซึ่งอยู่ทางตอนใต้แอ่งสกลนครนี้นักโบราณคดีพบหลักฐานว่าเป็นบริเวณที่มีชุมชนมนุษย์ เป็นหมู่บ้านมาแล้วแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อย่างน้อยก็มีอายุราว ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว ตั้งหลักแหล่งอยู่ในบริเวณที่ราบเชิงเขาภูพานที่มีลำน้ำสงครามและสาขาไหลผ่าน ต่อมาประมาณ ๓,๐๐๐ กว่าปีที่แล้วมาชุมชนเหล่านี้ก็มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสามารถหล่อสัมริดขึ้นเป็นเครื่องมือ เครื่องประดับและอาวุธ นอกจากนั้นยังมีประเพณีฝังศพที่ใช้ภาชนะเขียนสีเป็นเครื่องเซ่นผู้ตาย ชุมชนมนุษย์ที่กล่าวมานี้รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นพวกวัฒนธรรมบ้านเชียง ตามชื่อของหมู่บ้านในปัจจุบันแห่งหนึ่งในเขตอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี อันเป็นแหล่งที่พบชุมชนโบราณและแหล่งฝังศพของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ (ดูรายงานของ กรมศิลปากร ๒๕๓๐ และ สุจิตต์ วงษ์เทศ ๒๕๓๐)

          จากหลักฐานทางโบราณคดีเราพอกำหนดได้ว่า ชุมชนมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์เหล่านี้กระจายกันอยู่ตั้งแต่บริเวณอำเภอกุมภวาปี ผ่านอำเภอวาริชภูมิ อำเภอพนา ไปจนเขตอำเภอเมืองจังหวัดสกลนคร ซึ่งอยู่บริเวณรอบหนองหานสกลนคร การตั้งหลักแหล่งชุมชนในบริเวณนี้ มีสืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงสมัยที่เกิดศิลปะแบบทวาราวดีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ และศิลปะแบบลพบุรี หรือศิลปะขอมในประเทศไทย อายุประมาณพุทธศตวรรษ ๑๒-๑๘ (ม.จ.สุภัทรดิศ  ดิศกุล ๒๕๓๔: ๔-๒๑) ดังเห็นได้จากการพบโบราณวัตถุ โบราณสถาน และร่องรอยเมืองโบราณที่มีคูน้ำล้อมรอบเป็นหลักฐานให้เห็นส่วนในบริเวณที่ราบลุ่มต่ำใกล้กับลำน้ำโขงนั้นไม่ปรากฏร่อยรอยชุมชนมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เพราะเป็นบริเวณที่น้ำท่วมถึงใน  ฤดูน้ำ ไม่เหมาะกับการตั้งแหล่งที่อยู่อาศัย เพิ่งมาเกิดมีชุมชนขึ้นในสมัยหลังประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ ลงมา คนส่วนใหญ่ที่อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่ง ก็เป็นพวกคนลาวที่เคลื่อนย้ายลงมาจากเมืองหลวงพระบางและเวียงจันทน์  ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ในปัจจุบันการตั้งหลักแหล่งของผู้คนในแอ่งสกลนครกระจายอยู่ทั่วไป โดย เฉพาะบริเวณฝั่งแม่น้ำโขงนั้น มีบ้านเล็กเมืองน้อยเรียงรายอยู่ค่อนข้างหนาแน่น และอาศัยที่ดินตามชายฝั่งแม่น้ำโขงเป็นแหล่งปลูกผัก ยาสูบและพืชพันธุ์อื่นที่นอกเหนือไปจากการปลูกข้าว

          แอ่งโคราชมีพื้นที่กว้างขวางกว่าแอ่งสกลนคร มีทั้งบริเวณที่สูงทั้งทางตอนเหนือและตอนใต้ โดยเฉพาะทางตอนใต้นั้นเป็นที่ลาดลงจากเทือกเขาพนมดงรัก ส่วนบริเวณตอนกลางเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำชี (ยาว ๔๔๒ กม.) และแม่น้ำมูล (ยาว ๖๗๒ กม.) (สวาท เสนาณรงค์ ๒๕๒๑: ๕๑๕๒) ไหลผ่านจากทางตะวันตก ไปออกแม่น้ำโขงทางตะวันออก โดยเฉพาะที่ราบลุ่มของแม่น้ำมูลนั้นมีลักษณะเป็นที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมถึงในฤดูน้ำพื้นที่ตั้งแต่เขตจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ มหาสารคามศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานีนั้นส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณที่มีแม่น้ำมูลและชีหล่อเลี้ยงเป็นที่ราบกว้างใหญ่ที่มีผู้คนเข้ามาตั้งหลักแหล่งอาศัยมาแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ทีเดียว อย่างเช่นในบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นต้น คนทั่วไปแลดูว่าแห้งแล้ง แต่แท้ที่จริงแล้วพบแหล่งชุมชนโบราณของมนุษย์ที่มีมาแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์  จนถึงสมัยทวาราวดีและลพบุรีเป็นจำนวนกว่าร้อยแห่งทีเดียว แสดงว่าเคยเป็นที่อุดมสมบูรณ์ในสมัยนั้น การตั้งหลักแหล่งชุมชนบนที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงนี้ ดูแตกต่างไปจากบริเวณที่ลุ่มต่ำของแอ่งสกลนคร ซึ่งเพิ่งมีผู้คนอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานกันในสมัยหลัง 

          ส่วนในแอ่งโคราชดูเหมือนประชาชนจะหนาแน่นอยู่ในที่ลุ่มต่ำก่อน แล้วค่อยๆ เคลื่อนย้ายไปอยู่บนที่สูงในภายหลัง อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในขณะนี้ก็แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือประมาณ ๓,๐๐๐ปีมาแล้ว มีผู้คนตั้งหลักแหล่งชุมชนหมู่บ้านขึ้นตามบริเวณที่ราบลุ่มต่างๆ ในแอ่งโคราชไม่น้อยกว่าสามกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีความหนาแน่นและครอบคลุมบริเวณไม่เท่ากัน และมีความแตกต่างกันในด้านวัฒนธรรม ซึ่งแลเห็นได้จากบรรดาภาชนะดินเผาที่ใช้ในการประดับแหล่งฝังศพ กลุ่มชนเหล่านี้ ได้แก่ (๑) กลุ่มโนนชัย ในเขตจังหวัดขอนแก่น (๒) กลุ่มทุ่งกุลาร้องไห้หรือร้อยเอ็ดในเขตจังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ และ (๓)กลุ่มทุ่งสัมริดในเขตจังหวัดนครราชสีมา (ดูรายงานของ กรมศิลปากร ๒๕๓๑: ๔๕-๖๗ และศรีศักร วัลลิโภดม ๒๕๒๕: ๑๑๓-๑๒๗)

          การตั้งหลักแหล่งชุมชนของผู้คนในแอ่งโคราชในสมัยก่อนประวัติศาสตร์และยุคประวัติศาสตร์ตอนต้นๆ  มีลักษณะที่แตกต่างไปจากของแอ่งสกลนครอยู่มาก กล่าวคือ ในแอ่งสกลนครชุมชนมักตั้งบ้านเรือนอยู่บนเนินใกล้กับธารน้ำที่มีน้ำไหลลงจากเทือกเขาภูพานตลอดทั้งปี ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่ต้องขุดสระหรือสร้างอ่างเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง แต่ในเขตแอ่งโคราชถึงแม้ว่าจะอยู่ในที่ราบมีน้ำท่วมถึงก็มักเกิดการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง จึงมีความจำเป็นที่ต้องกักน้ำไว้ใช้ โดยเหตุนี้จึงมีการร่วมมือกันของผู้คนในชุมชนขุดคูน้ำโอบล้อมชุมชนที่อยู่อาศัยเพื่อกักน้ำไว้ใช้ จึงพบร่องรอยของชุมชนโบราณเป็นจำนวนมากที่มีคูน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบ บางแห่งมีการขุดคูล้อมถึง ๒ หรือ ๓ ชั้นก็มี ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้  หมายความว่าการเป็นเมืองโบราณจะต้องมีคูน้ำล้อมรอบเสมอไป เพราะมีเมืองโบราณหลายแห่งที่ไม่มีคูน้ำล้อมรอบ เช่น ในแอ่งสกลนคร

          เมื่อเปรียบเทียบจำนวนและขนาดของชุมชนโบราณในแอ่งโคราชแล้ว ก็เห็นได้ชัดเจนว่ามีจำนวนมากกว่า อีกทั้งมีหลายๆ แห่งทีเดียวที่มีขนาดใหญ่โตกว่าทางแอ่งสกลนคร แสดงให้เห็นถึงการมีประชากรที่หนาแน่นกว่า และมีสภาพทางสังคมและวัฒนธรรมที่ซับซ้อนกว่า ทั้งนี้คงเนื่องมาจากการที่บริเวณแอ่งโคราชเองมีโคราชเองทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในขณะนั้น คือ แร่เหล็ก และเกลือ เพราะปรากฏพบแหล่งถลุงเหล็กขนาดใหญ่เป็นจำนวนมากกว่าร้อยแห่งขึ้นไป บางแห่งก็มีขี้เหล็กกระจายอยู่บนเนินและเป็นชุมชนขนาดใหญ่ (พรชัย สุจิตต์ ๒๕๒๘: ๒๖) ส่วนการทำเกลือ    นั้นก็พบแหล่งทำเกลือขนาดใหญ่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะท้องที่ในเขตจังหวัดนครราชสีมาขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด (ศรีศักร วัลลิโภดม ๒๕๓๕: ๑๐-๔๐)

          การผลิตเหล็กและเกลือนั้นคงไม่ได้ผลิตขึ้นเพื่อใช้ในท้องถิ่นหรือภูมิภาคเท่านั้น คงมีการส่งต่อไปแลกเปลี่ยนหรือขายกับชุมชนบ้านเมืองต่างภูมิภาคที่อยู่ห่างไกลด้วย ยิ่งในสมัยหลังลงมา  คือ ยุคต้นประวัติศาสตร์ เช่น สมัยทวาราวดีการติดต่อกับบ้านเมืองภายนอกเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนผลิตผลเช่นเกลือและเหล็กคงเพิ่มความสำคัญ เป็นเหตุให้มีการรับวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามา โดยเฉพาะศาสนาฮินดูจากแคว้นเจนละในแขวงเมืองจำปาสักของลาว และบรรดาบ้านเมืองในอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ของกลุ่มบ้านเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในภาคกลางที่นับถือศาสนาพุทธ ผลที่    ตามมาก็คือเกิดบ้านเล็กเมืองน้อยขึ้นมากมายในแอ่งโคราช พบชุมชนที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบมีทั้งเมืองใหญ่และหมู่บ้านขนาดใหญ่มากมาย  การเกิดของชุมชนที่เป็นบ้านเมืองนี้ยังกินเลยเข้าไปถึงบริเวณแอ่งสกลนครอีกด้วย ดังปรากฏซากเมืองโบราณในเขตอำเภอกุมภวาปี อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี และที่หนองหาน อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร (ศรีศักร วัลลิโภดม  ๒๕๓๓)

          เมื่อเปรียบเทียบการตั้งหลักแหล่งชุมชนบ้านเมืองระหว่างภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความพยายามที่จะดัดแปลงและควบคุมสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติโดยอาศัยเทคโนโลยีมากกว่าทางภาคกลาง ทั้งนี้ก็เพราะ ต้องต่อสู้กับความขาดแคลนในเรื่องน้ำในฤดูแล้งเป็นสำคัญ  ตลอดระยะเวลาอันยาวนานของภูมิ    ภาคนี้ตั้งแต่สมัยปลายยุคก่อนประวัติศาสตร์มาจนทุกวันนี้ คือการที่จะต้องจัดการกักเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคตลอดมา การขุดคูน้ำล้อมรอบชุมชน และบ้านเมืองตั้งแต่สมัยปลายยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยทวาราวดี นั้นเป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามดังกล่าว และความพยายามดังกล่าวนี้ก็หาได้หยุดนิ่งไม่ หากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงและค้นหาวิธีใหม่ตลอดมา ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเข้าสู่สมัยลพบุรีราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นมา ลักษณะชุมชนบ้านเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็เปลี่ยนแปลงไป มีอิทธิพลของอารยธรรมและวัฒนธรรมขอมเข้ามาปะปนในขณะเดียวกันก็เกิดชุมชนใหม่ๆ ขึ้นตามบริเวณที่สูง ซึ่งในสมัยก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมี สิ่งที่ชัดเจนเกี่ยวกับวัฒนธรรมขอมจากกัมพูชาก็คือเกิดประเพณีการสร้างปราสาท อันเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดูและพุทธศาสนาลัทธิมหายานขึ้นอย่างแพร่หลายการสร้างปราสาทนั้นโดยทั่วไปมุ่งหวังให้

           เป็นศูนย์กลางของชุมชน ซึ่งก็มีทั้งระดับบ้านและเมือง เมื่อมีการสร้างปราสาทแล้วก็มีการขุดสระน้ำศักดิ์สิทธิ์และอ่างเก็บน้ำที่เรียกว่า สระบัวรายหรือบารายขึ้น โดยเฉพาะการขุดสระบารายนี้เองที่มีความหมายต่อการอุปโภคและบริโภคน้ำของคนในชุมชนเป็นอย่างมาก และการที่สระน้ำดังกล่าวนี้สัมพันธ์กับศาสนสถานก็ถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ด้วย ความศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งที่ป้องกันไม่ให้ผู้คนนำสัตว์เลี้ยง เช่น วัวและควาย ลงไปอาบน้ำทำให้สกปรก ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคระบาดได้ พัฒนาการชุมชนแบบใหม่ที่มีศาสนสถานและ สระน้ำดังกล่าวนี้แพร่หลายไปทั่ว แม้กระทั่งบริเวณที่เคยเป็นเมืองมาแล้วแต่สมัยทวาราวดีก็ยังมีการสร้างและขุดสระทับลงไป อาจกล่าวได้ว่าการขุดสระน้ำหรืออ่างเก็บน้ำที่เรียกว่าบารายนี้ได้ตอบสนองความต้องการน้ำในฤดูแล้งของคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ดีกว่าวิธีอื่นๆ ที่เคยมีมาแล้ว นอกจากนั้นยังเป็นการรวบรวมผู้คนให้อยู่ในสังคมที่มีระบบและระเบียบดีกว่าแต่ก่อนนั่นก็คือความสัมพันธ์กับศาสนสถานอันเป็นสิ่งที่กษัตริย์ ชุมชน หรือผู้มีอำนาจในการปกครองสร้างขึ้น (ธิดา สาระยา ๒๕๓๒)

          การสร้างเมืองในสมัยทวาราวดีที่นิยมสร้างอยู่บนที่สูงริมบริเวณที่ลุ่มต่ำที่เป็นหนองน้ำธรรมชาติ มีตัวอย่างเช่น เมืองโบราณที่อยู่ริมหนองหาน กุมภวาปี เมืองหนองหานน้อยจังหวัดอุดรธานี เมืองหนองหานหลวงที่จังหวัดสกลนคร และเมืองกันทรวิชัย ที่อำเภอกันทรวิชัยจังหวัดมหาสารคาม เป็นต้น

          ลักษณะชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับทางภาคกลางแล้วจะต่างกันมาก นั่นคือทางภาคกลางชุมชนบ้านและเมืองเรียงรายกันอยู่ตามริมแม่น้ำลำคลองเป็นส่วนใหญ่แต่ของทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักกระจายกันอยู่บนโคกเนินที่สูงที่แวดล้อมไปด้วยที่ลุ่มต่ำที่ใช้เป็นแหล่งเพาะปลูกและที่เก็บน้ำ โดยเหตุนี้รูปแบบชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงมีลักษณะเป็นกระจุกรวมกันอยู่อย่างหนาแน่น

สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย ในภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน, สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย ในภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน หมายถึง, สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย ในภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน คือ, สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย ในภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน ความหมาย, สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย ในภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 18

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu