ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

วัฒนธรรม, วัฒนธรรม หมายถึง, วัฒนธรรม คือ, วัฒนธรรม ความหมาย, วัฒนธรรม คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 4
วัฒนธรรม

          มนุษย์สร้างวัฒนธรรมขึ้นมาเพื่อประโยชน์แห่งการดำรงชีวิตและการสืบทอดเผ่าพันธุ์ ในเมื่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เป็นเรื่องที่กว้างใหญ่และมีแง่มุมต่างๆ ให้พิจารณาอย่างซับซ้อน เรื่องของวัฒนธรรมจึงสามารถมองได้หลายแง่มุมไปด้วย มีผู้ให้ความหมายคำว่า "วัฒนธรรม" ต่างๆ กัน

          ใน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้นิยามความหมายของวัฒนธรรม ไว้ ๔ นัย ดังนี้คือ
               ๑. สิ่งที่ทำให้เจริญงอกงามแก่หมู่คณะ
               ๒. วิถีชีวิตของหมู่คณะ
               ๓. ลักษณะที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติและศีลธรรมอันดีของประชาชน
               ๔. พฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้นด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่พวกของตน

           พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ประทานคำอธิบายไว้ว่า

               วัฒนธรรม หมายถึง ความเจริญในทางวิชาความรู้ เช่น วิทยาศาสตร์ ศิลปวิทยา วรรณคดี ศาสนา ตลอดจนขนบธรรมเนียม ประเพณีและจรรยามารยาท

               วัฒนธรรมเป็นมรดกแห่งสังคม มีทั้งส่วนจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ เช่น กวีนิพนธ์ ศิลปะ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อร่างสร้างความประพฤติปฎิบัติของประชาชาติ

          พระยาอนุมานราชธน (๒๕๓๒: ๔๕ - ๔๘) ได้ให้บทนิยาม คำ "วัฒนธรรม" ว่า

               วัฒนธรรม คือ "สิ่งที่มนุษย์เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือผลิตสร้างขึ้น เพื่อความเจริญงอกงามในวิถีแห่งชีวิตของส่วนรวม ถ่ายทอดกันได้ เอาอย่างกันได้

               คือผลิตผลของส่วนรวมที่มนุษย์ได้เรียนรู้มาจากคนแต่ก่อนสืบต่อเป็นประเพณีกันมา

               คือความรู้สึก ความคิดเห็น ความประพฤติ และกิริยาอาการ หรือการกระทำใดๆ ของมนุษย์ใน ส่วนรวมลงรูปเป็นพิมพ์เดียวกัน และสำแดงออกมาให้ปรากฏเป็นภาษา ศิลปะ ความเชื่อถือ ระเบียบประเพณี เป็นต้น

               คือมรดกแห่งสังคม ซึ่งสังคมรับและรักษาไว้ให้เจริญงอกงาม เป็นผลิตผลของส่วนรวมที่มนุษย์ได้เรียนรู้มาจากคนแต่ก่อนสืบต่อเป็นประเพณีกันมา

          พระเทพเวที ( ประยุทธ์ ปยุตโต) ได้อธิบายความหมายของวัฒนธรรมเมื่อคราวแสดงปาฐกถาพิเศษ ๑๐๐ ปี ของพระยาอนุมานราชธน เรื่อง " วัฒนธรรมกับการพัฒนา" ไว้เป็นหลายนัยอย่างน่าพิจารณา ดังนี้

               วัฒนธรรม เป็นผลรวมของการสั่งสมสิ่งสร้างสรรค์และภูมิธรรมปัญญา ที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาของสังคมนั้นๆ

               วัฒนธรรม เป็นการสั่งสมประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ภูมิธรรมภูมิปัญญาทั้งหมดที่ได้ช่วยให้มนุษย์ในสังคมนั้นๆ อยู่รอด และเจริญสืบต่อได้ และเป็นอยู่อย่างที่เป็นในบัดนี้

               วัฒนธรรม คือผลรวมของทุกสิ่งซึ่งเป็นความเจริญงอกงามที่สังคมนั้นๆ ได้ทำไว้ หรือได้สั่งสมมาจนถึงบัดนี้

               วัฒนธรรม เป็นทั้งสิ่งที่ทำให้เจริญงอกงามสืบมา และเป็นเนื้อตัวของความเจริญงอดกงามที่มีอยู่ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของความเจริญงอกงามต่อไปตลอดจนเป็นเครื่องวัดระดับความเจริญงอกงามของสังคมนั้นๆ

          ในเอกสารของ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้แสดงความหมายของวัฒนธรรมไว้ต่างกัน เช่น

               วัฒนธรรม เป็นวิธีการดำเนินชีวิตของสังคม เป็นแบบแผนการประพฤติและการแสดงออกซึ่งความรู้สึกนึกคิดในสถานการณ์ต่างๆ ที่สมาชิกในสังคมเดียวกันสามารถเข้าใจและชาบชึ้งร่วมกันยอมรับและใช้ปฏิบัติร่วมกัน อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมนั้นๆ

               วัฒนธรรม เป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ที่เกิดจากระบบความสัมพันธ์ระหว่ามนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสังคม และมนุษย์กับธรรมชาติ วัฒนธรรมมีทั้งสาระและรูปแบบที่เป็นระบบความคิด วิธีการ โครงสร้างของสังคม สถาบัน ตลอดจนแบบแผนและทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้น



ประเภทของวัฒนธรรม

          พระยาอนุมานราชธน (๒๕๓๒ : น.๕๐ )ได้จำแนกประเภทของวัฒนธรรมออกเป็น

               ๑. วัฒนธรรมทางวัตถุ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขกายเพื่อให้ได้อยู่ดีกินดีมีความสะดวกสบายในการครองชีพ ได้แก่สิ่งความจำเป็นเบื้องต้นในชีวิต ๔ อย่างและสิ่งอื่นๆ เช่น เครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ ตลอดจนเครื่องอาวุธยุทโธปกรณ์เครื่องป้องกันตัว

               ๒. วัฒนธรรมทางจิตใจ เป็นสิ่งที่ทำให้ปัญญาและจิตใจมีความเจริญงอกงาม ได้แก่ การศึกษา วิชาความรู้อันบำรุงความคิดทางปัญญา ศาสนา จรรยา ศิลปะ และวรรณคดี กฎหมายและระเบียบประเพณี ซึ่งส่งเสริมความรู้สึกทางจิตใจให้งอกงามหรือสบายใจ



ลักษณะความเจริญแห่งวัฒนธรรม

          พระยาอนุมานราชธน (๒๕๓๒ : น.๕๓ ) ได้อธิบายลักษณะความเจริญงอกงามของวัฒนธรรมดังนี้คือ

               ๑. ต้องมีการสั่งสม และการสืบต่อ ตกทอดกันไปไม่ขาดตอนมีมรดกแห่งสังคมอันเกิดจากผลิตผลของสังคมที่สร้างสมไว้

               ๒. ต้องมีแปลกมีใหม่มาเพิ่มเติมของเดิมให้เข้ากันได้

               ๓. ต้องส่งเสริมเพื่อให้แพร่หลายไปในหมู่ของตนและตลอดไปถึงชนหมู่อื่นด้วย

               ๔. ต้องปรับปรุงและแก้ไขให้เหมาะกับสภาพแวดล้อม และสภาพของเหตุการณ์



ระยะแห่งวัฒนธรรม

         ระยะแห่งวัฒนธรรม

               ๑. สมัยนรปศุธรรม ( Stone Age Culture ) ได้แก่สมัยแรกเริ่มป่าเถื่อนตั้งแต่ยุคหิน จึงใช้คำว่า นร - ปศุธรรม ครึ่งคนครึ่งสัตว์

               ๒. สมัยอนารยธรรม (Barbarian Culture) ค่อยเจริญขึ้นแล้วแต่ยังป่าเถื่อนอยู่

               ๓. สมัยอารยธรรม (Civilization) มนุษย์มีความเจริญแล้ว อารยธรรมคือ วัฒนธรรมที่พ้นจากความป่าเถื่อนแล้วหรือพยายามให้พ้น และใช้คำว่า Culture ปนกันไปก็มี

          การที่วัฒนธรรมจะเปลี่ยนแปลงไปได้นั้นมี ๔ ระยะ คือ

               ๑. เปลี่ยนไปเล็กน้อย

               ๒. เกิดจากค้นพบสิ่งใหม่ๆ ( discovery) หรือประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ขึ้น (invention) สภาพภาวะเปลี่ยนแปลงไป วัฒนธรรมจึงเปลี่ยนไป

               ๓. มีคู่แข่งขึ้น เช่น เกวียนไปไม่ได้ รถไปได้

               ๔. การยืมวัฒนธรรมอื่นเขามา (Cultural borrowing)



เหตุแห่งความเจริญทางวัฒนธรรม

               ๑. การสะสม ต้องรับมรดกที่บรรพบุรุษมอบไว้ให้

               ๒. การปรับปรุง ถ้าหมดสมัยแล้วก็ต้องเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ สิ่งที่เป็นมาในอดีต (ทั้งฝ่ายนามธรรมด้วย) ที่ใช้ได้ก็ปรับปรุงให้เข้ากับสมัยปัจจุบัน

               ๓. การถ่ายทอด ต้องสืบต่อให้คนรุ่นหลัง ต้องเผยแพร่สั่งสอนกัน การจะทำให้วัฒนธรรมเจริญยั่งยืนนั้นเราต้องรักษาวัฒนธรรมมรดกตกทอดและปรับปรุงอดีตให้เหมาะสมกับปัจจุบัน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม



ลักษณะความเป็นไปแห่งวัฒนธรรม

          พระยาอนุมานราชธน (๒๕๓๒ : น.๕๗ ) กล่าวถึงลักษณะความเป็นไปของวัฒนธรรม เมื่อเกิดการขยายอำนาจ หรือการรุกรานดังนี้คือ

               ๑. วัฒนธรรมของฝ่ายแพ้จะต้องสูญไป ถ้าฝ่ายแพ้ไม่มีวัฒนธรรมอันเป็นบุคลิกลักษณะของตนอยู่ในระดับสูง หรือเท่ากับฝ่ายชนะ เช่นให้เลิกศึกษาภาษาของตน แต่ให้มาศึกษาของฝ่ายชนะ หรือไม่ ฝ่ายชนะพยายามทำลายวัฒนธรรมของฝ่ายแพ้ให้หมดไปทันที

               ๒. ถ้าทั้งสองฝ่าย คือทั้งแพ้และชนะมีวัฒนธรรมอยู่ในระดับทัดเทียมกัน วัฒนธรรมของฝ่ายแพ้ก็จะต้านทานฝ่ายชนะไว้ได้ วัฒนธรรมของทั้งสองฝ่ายจะเข้าระคนปนกันทีละน้อยๆ เมื่อเป็นเวลานานจะเกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่มีอำนาจดีกว่าเดิม เพราะได้กำลังทั้งสองฝ่ายมารวมกัน

               ๓. ถ้าฝ่ายแพ้มีวัฒนธรรมอยู่ในระดับสูงกว่าฝ่ายชนะ ก็จะสามารถดึงดูดเอาวัฒนธรรมของฝ่ายชนะเข้าประสานและอยู่ในครอบงำของฝ่ายแพ้ ถ้าฝ่ายชนะมีจำนวนคนน้อยกว่าฝ่ายแพ้ การพ่ายแพ้ในทางวัฒนธรรมของฝ่ายชนะจะเร็วขึ้น

               ชาติใดไม่กระตือรือร้นในการบำรุงและส่งเสริมวัฒนธรรมของตนให้มีความเจริญงอกงาม และแพร่หลายได้ทันท่วงที ชาตินั้นอาจเป็นผู้ถูกชาติอื่นรุกรานในทางวัฒนธรรม ดังนั้นเพื่อไม่ให้ถูกรุกรานหรือรุกรานก็ต้านอยู่ ก็จะต้องรู้จักปรับปรุงวัฒนธรรมของตนให้เจริญ สิ่งแปลกใหม่ไม่ใช่ว่าจะเป็นของดีมีประโยชน์แก่ตนเสมอไป ถ้าสิ่งแปลกใหม่นั้นไม่เข้ากันได้ดีกับรากฐานแห่งวัฒนธรรมของตน


วัฒนธรรม, วัฒนธรรม หมายถึง, วัฒนธรรม คือ, วัฒนธรรม ความหมาย, วัฒนธรรม คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu