ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

สาระโดยรวมของกฎหมายตราสามดวง, สาระโดยรวมของกฎหมายตราสามดวง หมายถึง, สาระโดยรวมของกฎหมายตราสามดวง คือ, สาระโดยรวมของกฎหมายตราสามดวง ความหมาย, สาระโดยรวมของกฎหมายตราสามดวง คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
สาระโดยรวมของกฎหมายตราสามดวง

          กฎหมายตราสามดวงเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญฉบับหนึ่งของไทย ถือเป็นหลักฐานชั้นต้นในการศึกษาถึงสภาพการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งวัฒนธรรมในสมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์ตอนต้น

          โครงสร้างของสังคมไทยในสมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ตามที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง เป็นสังคมที่ยึดถือระบบศักดินาเป็นหลัก พระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนและพระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง ได้กำหนดหน้าที่และสิทธิของพลเมืองให้แตกต่างกันไปตามศักดินาที่กำหนดขึ้น โดยที่พระบรมวงศานุวงศ์ พระราชโอรสข้าราชการฝ่ายใน ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือนในราชธานีและหัวเมืองทุกกรมกอง พระภิกษุ ไพร่ ทาส ต่างมีศักดินาตามฐานะในสังคมและตำแหน่งของตน เช่น ทาสมีศักดินา ๕ ไพร่ซึ่งหมายถึงประชาชนทั่วไปมีศักดินา ๒๕  สำหรับผู้มีตำแหน่งจะมีศักดินาเพิ่มขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ศักดินา ๕๐ จนถึงศักดินา ๑๐,๐๐๐  ส่วนเจ้านายชั้นสูงจะมีศักดินาได้มากกว่านี้ ทั้งนี้ศักดินาจะเพิ่มขึ้นได้ด้วยการทำความดีความชอบในราชการ หรือประกอบอาชีพที่ทำประโยชน์แก่สังคม ในทางตรงกันข้ามศักดินาก็ลดลงได้เช่นกันถ้าทำผิดกฎหมาย กล่าวโดยสรุป คือ ศักดินาซึ่งทุกคนมีอยู่ประจำตัวเป็นเครื่องกำหนดสิทธิ หน้าที่ความรับผิดชอบและฐานะของคนทุกกลุ่มในสังคม ระบบศักดินาจึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการจัดระบบสังคมในสมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะสูงสุดของสังคม รองลงมาคือ เจ้านาย ขุนนาง ไพร่ และทาส สังคมไทยจึงแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มอย่างกว้างๆ  คือ ชนชั้นผู้ปกครอง และชนชั้นผู้ถูกปกครอง          ตามที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง คือ ไพร่ และทาส  ไพร่เป็นชนส่วนใหญ่ของสังคม โดยเป็นสามัญชนทั่วไปที่มิได้เป็นมูลนายและมิได้เป็นทาส กฎหมายบังคับให้ไพร่ต้องอยู่ใต้สังกัดของมูลนาย  โดยจดทะเบียนว่าอยู่ที่ใดและอยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้ใด ผู้เป็นมูลนายมีหน้าที่เกณฑ์ไพร่ใต้บังคับบัญชาของตนเข้า ประจำกองทัพเมื่อมีศึกสงคราม หน้าที่หลักของไพร่คือ ถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานด้านต่างๆ ไพร่มี  ๒  ประเภท  คือ ไพร่หลวง และไพร่สม  ไพร่หลวงเป็นชายฉกรรจ์ที่มีหน้าที่รับใช้บ้านเมืองหรือพระมหากษัตริย์  ซึ่งจะทรงแจกจ่ายให้อยู่ในปกครองของขุนนางกรมต่างๆ ไพร่หลวงเหล่านี้ต้องทำงานโยธา เช่น สร้างวังเจ้านาย  สร้างวัด  ป้อม  เขื่อน ทั้งในกรุงและนอกกรุงโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน หากไพร่หลวงไม่ต้องการเข้าเกณฑ์แรงงาน ก็ต้องเสียส่วยเป็นเงินหรือสิ่งของให้กับทางราชการแทน ส่วนไพร่สมเป็นไพร่ที่สังกัดเจ้านายและขุนนางขึ้นกับนายของตน ไม่ถูกเกณฑ์แรงงานไปรับราชการ แต่ต้องรับใช้การงานของผู้เป็นนายของตน ไพร่สมมีหน้าที่นำส่วยมาให้มูลนาย และทำงานโยธา เช่น  สร้างวัด และต้องถูกเกณฑ์เข้ากองทัพในยามศึกสงครามเช่นเดียวกับไพร่หลวง สิ่งที่ไพร่จะได้รับจากมูลนายคือ ได้รับการปกครองดูแล  และได้รับความช่วยเหลือ  คุ้มครอง ส่วนผู้ที่ไม่มีมูลนาย นอกจากจะไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆ แล้ว ยังถือว่าไม่อาจใช้สิทธิทางศาลได้ด้วย  ดังที่กำหนดไว้ในพระอัยการ ลักษณะรับฟ้องว่าผู้ที่จะมาร้องฟ้องคดี  ถ้าไม่ได้สังกัดมูลนาย  ห้ามมิให้ศาลใดรับฟ้องไว้  ทั้งยังต้องจับคนผู้นั้นส่งให้สัสดีเอาตัวเป็นคนหลวงด้วย  นอกจากนั้นไพร่ถูกจัดเป็นสมบัติของมูลนายและอยู่ในหมวดทรัพย์สินของมูลนายเช่นเดียวกับทาส  ภรรยา และบุตร ผู้ใดลักพาไพร่ของผู้นั้นไป ถือเป็นความผิดต้องถูกปรับโทษตามบรรดาศักดิ์

           ส่วนทาสซึ่งมีอยู่หลายชนิด ส่วนใหญ่ตกเป็นทาสเพราะยากจน ต้องขายตัวให้กับนายเงิน และต้องทำงานให้นายเงินตามแต่จะใช้สอย ทาสจะพ้นจากความเป็นทาสเมื่อมีเงินมาไถ่ตัว อย่างไรก็ดีสังคมไทยไม่ใช่สังคมที่ทารุณโหดร้าย ทาสได้รับการเลี้ยงดูตามสมควร ตัวอย่างเช่น  กฎหมายรับรองสิทธิของทาสว่าให้นายเงินค่อยใช้ค่อยสอย อย่าให้ทำร้าย ถ้าจะตีก็ให้พอหลาบจำพอให้กลัว  ห้ามมิให้ตีให้ล้มตาย ในกรณีที่ทาสพิพาทกับนายเงิน กฎหมายห้ามมิให้ทาสฟ้องนายเงิน ถ้ายังไม่ใช้ค่าตัว แต่หากนายเงินทำผิดต่อทาส ซึ่งเป็นความผิดมหันตโทษ กฎหมายก็อนุญาตให้ทาสฟ้องคดีนายเงินได้ โดยไม่ต้องใช้เงินค่าตัวก่อน

           สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม  ความเกี่ยวพันในทางทรัพย์สินและการทำมาค้าขาย  ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของรายได้ที่เกิดจากการประกอบการเกษตร และการค้าขายสินค้า  หรือเกี่ยวเนื่องมาจากการประกอบการเกษตร  ลักษณะดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่ในพระอัยการลักษณะเบ็ดเสร็จ  ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบในเรื่องที่ดินทำกิน สัตว์พาหนะที่ใช้ในการเกษตร การลักทรัพย์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร การรุกล้ำที่ทำกิน การรับจ้างประกอบการงานต่างๆ การฝากทรัพย์สิ่งของกันไว้ การซื้อขาย การยืม และการให้ทรัพย์ต่างๆ ซึ่งเน้นไปที่ที่ดินในการประกอบการเกษตร และพืชผลต่างๆ  ตลอดจนสัตว์พาหนะต่างๆ

          สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะ ของสังคมไทยที่มีมาแต่โบราณคือ ความสัมพันธ์ในครอบครัว  ครอบครัวไทยโบราณเป็นลักษณะครอบครัวใหญ่ ชายผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวมีภรรยาหลายคน จึงมีการกำหนดประเภทของภรรยาต่างๆ ไว้ในกฎหมาย ได้แก่ หญิงที่บิดามารดาชายสู่ขอให้ถือเป็นภรรยาหลวง มีคนเดียว เรียกว่า เมียกลางเมือง ส่วนหญิงที่ชายขอมาเลี้ยงเป็นอนุภรรยา  องจากภรรยาหลวงลงมา เรียกว่า เมียกลางนอก  และหญิงที่มีทุกข์ยาก ชายไปไถ่มาเลี้ยงเป็นเมีย  เรียกว่า เมียกลางทาสี  ทั้งเมียกลางนอกและเมียกลางทาสีนั้น กฎหมายไม่กำหนดจำนวนไว้

          นอกจากนี้ ยังมีบางกรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานหญิงมาให้เป็นภรรยาของชาย ซึ่งส่วนมากจะเป็นข้าราชการที่มีความชอบในราชการ เรียกว่าเป็น ภรรยาพระราชทานมีศักดิ์สูงกว่าภรรยาใดๆ กฎหมายได้กำหนดสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบต่อกันระหว่างชายกับหญิงผู้เป็นภรรยาต่างๆ ไว้มากน้อยลดหลั่นกันตามศักดิ์ฐานะของแต่ละคน  ความเกี่ยวพันในครอบครัวนี้ส่งผลให้เกิดหลักเกณฑ์ หรือกฎหมายต่างๆ ในชีวิตประจำวันอีกมาก  เช่น  ในพระอัยการลักษณะกู้หนี้กำหนดให้การกู้ยืมในระหว่างผู้ที่เป็นเมียหลวง เมียกลางนอก และเมียอื่นๆ ห้ามคิดดอกเบี้ย เพราะถือว่าร่วมสามีกัน เรื่องนี้ยังมีผลไปถึงกฎหมายลักษณะมรดกอีกด้วย เมื่อสามีถึงแก่กรรม  มรดกก็แบ่งปันไปยังบุตรภรรยาตามสัดส่วนที่แตกต่างกันไปตามสถานะ  สะท้อนให้เห็นสังคมไทยในสมัยโบราณว่า หญิงเป็นสมบัติของชาย และขาดความเท่าเทียมกับชาย

          ธรรมดาของผู้ที่อยู่ร่วมกันในสังคมย่อมมีทั้งดีและร้าย พระอัยการลักษณะวิวาทตี ด่ากัน และพระอัยการลักษณะอาชญาราษฎร์ เป็นกฎหมายที่กล่าวถึงการกระทำความผิดต่อชีวิต ร่างกาย การทะเลาะวิวาท ข่มเหง รังแกกันในลักษณะต่างๆ ซึ่งหลายอย่างฟังดูแปลกๆ เช่น วิวาทชกตี  ทุบ ถอง  ตบ บิดข่วน  ด้วยมือก็ดี เอาถุงเอาผ้าฟาดตีก็ดีจับเอาดินเปียก ข้าวเปียก   ชิ้นเนื้อ ชิ้นปลาสด  ทรายเปียก  ขว้างใส่ทำร้ายผู้อื่นก็ดี  มีโทษเท่ากับการทำร้ายด้วยมือเปล่า แต่ถ้าเอาน้ำผึ้ง น้ำอ้อย   น้ำมัน หรือเมล็ดข้าวเปลือกสาดใส่ทำร้ายกัน จะถูกปรับโทษเพียงครึ่งหนึ่งของการทำร้ายกันด้วยมือเปล่า 

          กฎหมายยังบัญญัติไปถึงการทำร้ายกัน จนถึงได้รับอันตรายแก่กาย หรืออันตรายสาหัสถึงพิกลพิการ การกระทำผิดโดยใช้อาวุธที่เป็นไม้ หรือเป็นเหล็ก การทำร้ายร่างกายผู้ทรงศีล เช่น สมณะ  พราหมณ์ และการทำร้ายบุพการี ได้แก่ บิดามารดาปู่ย่าตายาย เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมไทยในสมัยโบราณได้เป็นอย่างดี

          รายได้ของแผ่นดินในสมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้มีการกำหนดตัวข้าราชการผู้มีหน้าที่เก็บภาษีค่าธรรมเนียมต่างๆ ไว้ในพระธรรมนูญ  มีทั้งอากรสุราอากรบ่อนเบี้ย  อากรขนอนซึ่งเป็นการเก็บจากสินค้าที่ผ่านด่าน อากรค่าน้ำซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมการทำประมง อากรค่าตลาดซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมในการค้าขาย และสมพัตสร  ซึ่งเป็นอากรค่าธรรมเนียมที่เก็บจากพืชผลการเกษตรที่เป็นไม้ยืนต้น นอกจากนี้พระอัยการอาชญาหลวงมีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนในกรณีต่างๆ  เช่น การไม่จ่ายอากรค่าธรรมเนียม หรือเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังอากรค่าธรรมเนียม

          กฎหมายตราสามดวงยังสะท้อนให้เห็นถึงการจัดระบบงานของกระบวนการยุติธรรม ในสมัยโบราณซึ่งปรากฏอยู่ในพระธรรมนูญกฎหมายลักษณะรับฟ้อง ลักษณะตุลาการ ลักษณะพยาน  ลักษณะดำน้ำลุยเพลิง และลักษณะอุทธรณ์ จะเห็นได้ว่า ศาลหรือตุลาการสมัยนั้นกระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยราชการต่างๆ  ไม่เป็นระบบเดียวกัน และไม่มีการแยกเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา และคดีปกครองดังเช่นปัจจุบัน ตัวบทกฎหมายถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์  และไม่จำเป็นที่ประชาชนต้องล่วงรู้ จะรู้อยู่เฉพาะในชนชั้นผู้ปกครอง และผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาและตุลาการเท่านั้น

          นอกจากนั้นในพระราชกำหนดเก่าและพระราชกำหนดใหม่  และกฎ ๓๖ ข้อ ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความล่าช้าในการดำเนินคดี  การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการอำนวยความยุติธรรม ซึ่งทำให้ประชาชนผู้มีอรรถคดีได้รับความเดือดร้อนอยู่เสมอๆ เช่น การทรมานผู้ถูก  กล่าวหาว่าทำผิดให้รับสารภาพ  การตบปาก ผู้ที่โต้เถียงผู้พิพากษา การจำคุก  การจำขังทั้ง  ตัวโจทก์และจำเลยผู้มีคดีไว้ในศาลระหว่างพิจารณา  การเรียกค่าธรรมเนียมในขั้นตอนต่างๆ ของการพิจารณาคดีเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด  การเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่  และอื่นๆ อีกมาก รวมทั้งการขาดเหตุผลในการพิสูจน์ความถูกผิดในคดีที่ขาดพยานหลักฐานโดยให้คู่ความดำน้ำหรือลุยเพลิง หรือล้วงตะกั่วร้อนๆ เป็นการพิสูจน์ข้อแพ้ชนะกัน

          ด้วยสภาพปัญหาต่างๆ ในการจัดระบบ งานศาลและระบบงานการยุติธรรมดังกล่าว เป็นสาเหตุให้มีการปฏิรูปกฎหมายและการศาลครั้งใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนนำไปสู่การยกเลิกกฎหมายตราสามดวงในที่สุด

สาระโดยรวมของกฎหมายตราสามดวง, สาระโดยรวมของกฎหมายตราสามดวง หมายถึง, สาระโดยรวมของกฎหมายตราสามดวง คือ, สาระโดยรวมของกฎหมายตราสามดวง ความหมาย, สาระโดยรวมของกฎหมายตราสามดวง คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 30

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu