ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม, การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม หมายถึง, การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม คือ, การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ความหมาย, การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม

          สังคมไทยก็เหมือนกับสังคมมนุษย์ทั้งหลายในโลกที่ไม่หยุดอยู่นิ่งๆ หากมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสังคมอื่นๆ ในระดับเดียวกันแล้ว  ก็อาจกล่าวได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนคนส่วนใหญ่ในสังคมปรับตัวเองไม่ทัน  จนเกิดปัญหาทางวัฒนธรรมที่ต้องมีการแก้ไขกันตลอดมา  ทั้งนี้ก็เพราะแต่เดิมสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในชนบทที่มีการทำนาและการเพาะปลูกเป็นอาชีพหลัก  การผลิตแต่เดิมก็เป็นแต่เพียงให้พอมีพอกิน ไม่ได้ผลิตอย่างใหญ่โตเพื่อส่งออกไปค้าขายกับต่างประเทศ จึงไม่มีความจำเป็นในการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีแต่อย่างใด  แต่ในปัจจุบันสังคมเปลี่ยนมาเป็นสังคมอุตสาหกรรมที่มุ่งหวังผลิตสิ่งต่างๆ เพื่อส่งออกไปขายนอกประเทศ  การผลิตผลิตผลทางการเกษตรซึ่งแต่เดิมผลิตเพื่อเลี้ยงตัวเองด้วยเทคโนโลยีง่ายๆ แบบดั้งเดิม  ก็เปลี่ยนมาเป็นการผลิตเป็นจำนวนมากโดยอาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทันสมัยเข้ามาช่วย  มีการลงทุนและการใช้ที่ดินอย่างกว้างขวาง  โดยเฉพาะการใช้ที่ดินก็มีการขยายเขตการเพาะปลูกพืชพันธุ์นานาชนิดไปตามบริเวณต่างๆ โดยเฉพาะที่ดอนและที่ตามป่าเขา  ก่อให้เกิดการรุกล้ำป่าสงวนและการทำลายสภาพแวดล้อมอย่างกว้างขวางการผลิตแบบที่เป็นแบบเกษตรอุตสาหกรรมที่ชาวบ้านธรรมดาทั่วไปซึ่งไม่มีศักยภาพทั้งในด้านเงินทุน  กำลังคน และเทคโนโลยีจะทำได้ จึงเป็นเรื่องของบุคคลร่ำรวยที่เป็นนายทุน
          สิ่งที่ควบคู่กันไปกับการเกษตรอุตสาหกรรมคือการขยายตัวทางอุตสาหกรรม  เกิดโรงงานอุตสาหกรรมที่นำทรัพยากรต่างๆ ของประเทศมาผลิตสินค้าประเภทต่างๆ  อย่างมากมาย  ทำให้เกิดย่านอุตสาหกรรมและย่านพาณิชยกรรมขึ้นตามเมืองต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมากมาย  เหล่านี้ล้วนมีผลทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของผู้คนในท้องถิ่นต่างๆ อยู่ตลอดเวลา  มีทั้งการย้ายจากถิ่นหนึ่งไปอีกถิ่นหนึ่ง  เช่น ในภาคอีสานไปอยู่ทางภาคกลางและภาคใต้  เป็นต้น  กับการย้ายจากท้องถิ่นในชนบทเข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมหรือทำงานเป็นกรรมกรในเมืองซึ่งการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานดังกล่าวนี้มีผลกระทบทางสังคมและวัฒนธรรมของผู้คนที่อยู่ในชนบทและในเมืองเป็นอย่างมาก  ในสังคมชนบทนั้นแต่เดิมอยู่กันอย่างเรียบง่ายในกรอบของประเพณีที่มีจารีตและขนบธรรมเนียมท้องถิ่นคอยควบคุมให้ผู้คนอยู่กันอย่างสงบสุข   ปัจจุบันเมื่อคนรุ่นหนุ่มสาวย้ายออกไปทำงานที่อื่นโดยเฉพาะผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวขาดหายไปเป็นเวลาหลายๆ  เดือน  ทำให้สภาพครอบครัวขาดความสมบูรณ์  เด็กไม่มีความอบอุ่น  ในขณะที่คนรุ่นใหม่ก็หมดความเชื่อถือในความรู้ความสามารถต่อการเป็นผู้นำของคนรุ่นก่อนเพราะตนได้เล่าเรียนความรู้ใหม่ๆ จากในเมืองมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆได้  พร้อมกันนั้นก็รับเอาความทันสมัยหลายๆอย่างมาจากภายนอก จึงทำให้หมดความเลื่อมใสและเชื่อถือในสิ่งที่เป็นจารีตและประเพณีของท้องถิ่นที่เคยมีบทบาทในการสร้างและควบคุมความสัมพันธ์ทางสังคม  ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในบางแห่งที่มีกลุ่มชนกลุ่มใหม่เข้าไปขยายที่ทำกินและตั้งถิ่นฐาน จนทำให้เกิดลักษณะบ้านแบบใหม่ๆ เช่น บ้านจัดสรร ขึ้นนั้น เกือบจะทำให้ความเป็นสังคมท้องถิ่นแต่เดิมล่มสลายลงไปก็ว่าได้  ทั้งนี้เพราะคนในท้องถิ่นปรับตัวไม่ทัน  ความเรียบง่ายและการอยู่ร่วมกันที่ไม่มีความแตกต่างในเรื่องของชนชั้นก็หมดไป  สังคมใหม่ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้เป็นสังคมที่ซับซ้อนแบบมีชนชั้น และความรู้สึกในเรื่องการเป็นปัจเจกบุคคลก็มีปรากฏทั่วไปในชนบท
          ส่วนในสังคมเมืองนั้นภาวะความแออัดเพิ่มขึ้นจนยากแก่การควบคุม  ความเป็นสังคมเปิดที่ทำให้ติดต่อกับภายนอกได้อย่างสะดวกสบายนั้น  เป็นผลให้คนได้แต่รับอิทธิพลวัฒนธรรมที่หลากหลายจากภายนอกเข้ามา โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจว่าสิ่งที่รับเข้ามานั้นเหมาะสมหรือไม่กับบ้านเมืองของตน  เข้ากันได้กับสิ่งที่มีมาแต่เดิมเพียงใด  เมื่อไม่มีการกลั่นกรองความขัดแย้งก็เกิดขึ้น การยึดมั่นถือมั่นในลักษณะการปกครองแบบประชาธิปไตยที่หยุดนิ่งอย่างเป็นอุดมคติก็ดี    นโยบายทางเศรษฐกิจทุนนิยมแบบเสรีที่เป็นการส่งออกของรัฐบาลก็ดี  ล้วนเป็นสิ่งที่ชักจูงคนในสังคมรุ่นใหม่ให้หันไปเห็นความสำคัญทางวัตถุและความเป็นปัจเจกบุคคลตลอดเวลา  ทำให้สังคมมีความซับซ้อนทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้นจนยากแก่การควบคุมเกิดกลุ่มอาชีพกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายจนเป็นชนชั้นที่มีความแตกต่างกันมากมาย  โดยเฉพาะช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน จนกล่าวได้ว่าปัจจุบันผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจเท่านั้นที่มีอิทธิพลในเรื่องการเมืองการปกครองของประเทศ  และการรักษาผลประโยชน์ส่วนตัวก็ดี  หรือผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่มแต่ละเหล่าก็ดี  มีผลนำไปสู่การละเมิดกฎหมายอยู่เนืองๆ
          การเน้นในเรื่องอุตสาหกรรมทำให้เมืองมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  อันเนื่องมาจากการเคลื่อนย้ายของประชากรจากภายนอกเข้ามา โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายของพวกชาวนาในชนบทที่เข้ามาเป็นกรรมกรตามโรงงานอุตสาหกรรม  กรรมกรทำงานก่อสร้าง  ตลอดจนคนงานลูกจ้างด้านบริการต่างๆ นั้น  ทำให้เกิดปัญหาทางสังคมอย่างมากมาย  อย่างเช่น ปัญหาชุมชนแออัด  แหล่งเสื่อมโทรม  ปัญหาเรื่องการลักขโมย  ปล้นจี้  ซึ่งรวมไปถึงปัญหาทางโสเภณีและการว่างงานด้วย  สิ่งต่างๆ เหล่านี้นำมาสู่ปัญหาของความไม่มั่นคงภายในที่เป็นส่วนรวม   ถ้ามองให้กว้างกว่าเมืองออกไปถึงบริเวณชานเมืองรอบนอกที่แต่เดิมเป็นชนบท ก็จะพบว่าหลายๆ แห่งทีเดียวที่เปลี่ยนแปลงจากสังคมชาวนามาเป็นสังคมกรรมกร  เพราะผู้ที่เป็นชาวนาแต่ก่อนเคยมีที่ดินทำการเพาะปลูกด้วยตนเองนั้น  มีเป็นจำนวนมากที่ขายที่ดินให้กับนายทุนเพื่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม  หรือไม่ก็เพื่อทำการเพาะปลูกพืชไร่ในลักษณะที่เป็นเกษตรอุตสาหกรรม  จึงต้องเปลี่ยนสภาพและฐานะตนเองเป็นกรรมกรรับจ้าง  ทำงานให้กับกิจการทางอุตสาหกรรมเหล่านั้น   นับเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากรูปแบบหนึ่งมาสู่อีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งการปรับตัวเองเข้าสู่วิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบใหม่นี้ไม่ใช่ของง่าย   ผู้ที่ประสบความล้มเหลวอาจกลายเป็นคนยากจนที่มีความเสื่อมทางด้านจิตใจและศีลธรรมที่จะนำไปสู่ปัญหาทางสังคมนานัปการได้
           เมื่อสรุปเป็นภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรมในสังคมไทยโดยทั่วไปในขณะนี้   ก็อาจกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมมาเป็นสังคมอุตสาหกรรมก็ดี  หรือการเปลี่ยนแปลงจากสังคมชาวนามาเป็นสังคมกรรมกรก็ดี เป็นไปในลักษณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมปรับตัวไม่ทัน  เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงจากสังคมที่มีค่านิยมทางวัฒนธรรมที่เน้นการทำตัวเองให้กลมกลืนกับจักรวาล  และการสร้างดุลยภาพระหว่างความต้องการทางวัตถุกับทางจิตใจ ที่มีผลทำให้ผู้คนต้องพึ่งพากันเองและร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากรและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ  มาเป็นสังคมสมัยใหม่ที่มีแต่ความต้องการทางวัตถุและการเป็นปัจเจกบุคคล  แล้วสร้างค่านิยมทางวัฒนธรรมที่เน้นการควบคุมจักรวาลแทน  ผลที่เห็นในปัจจุบันก็คือ การใช้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์เพื่อการผลิตผลิตผลทางเศรษฐกิจจนเกินความจำเป็น ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่พอจะเหลือไว้ให้คนในรุ่นหลังๆ ได้ดำรงอยู่อย่างราบรื่นนั้นหมดสิ้นไปโดยไม่จำเป็น
           ดูเพิ่มเติมจากเรื่อง การศาสนา เล่ม ๔   ชีวิตชนบทไทย เล่ม ๑๓

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม, การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม หมายถึง, การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม คือ, การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ความหมาย, การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 16

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu