ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

นิยามต่าง ๆ, นิยามต่าง ๆ หมายถึง, นิยามต่าง ๆ คือ, นิยามต่าง ๆ ความหมาย, นิยามต่าง ๆ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
นิยามต่าง ๆ

          ความก้าวหน้าทางวิชาการ  โลกทัศน์ และกาลสมัย เป็นปัจจัยที่ทำให้ศัพท์เปลี่ยนความ-หมายไปได้ คำ ๆ เดียวอาจมีความหมายได้หลายอย่าง และบางกรณีอาจขัดกันด้วย ฉะนั้นวิชาแต่ละสาขาจึงต้องบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใช้เองซึ่งบางทีก็สืบความหมายจากรากศัพท์ได้ แต่บางทีก็ไม่ได้ เพราะความหมายสั้น ๆ นิยามแล้วยาวกว่าเดิมมากหรืออาจมาจากคำที่ใช้เปรียบเทียบ หรือคำที่แปลจากภาษาต่างประเทศหรือความหมายที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย 
          เริ่มต้นที่คำ  "อนุรักษ์"  กันก่อน  ซึ่งแปลตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๔๙๓ ว่า "ตามรักษา, ระวัง, ป้องกัน (ส.)."
          ปฏิสังขรณ์  (ตามพจนานุกรมฉบับที่อ้างแล้ว)  หมายถึง การซ่อมแซม  การตกแต่ง (ป.)และ
          บูรณะ ซึ่งมาจากคำ "บูรณ์" แปลว่า เต็ม
          ซึ่งเมื่อมาใช้กับวิชาการอนุรักษ์  ซึ่งเป็นสาขาวิชาใหม่ คำเหล่านั้นก็มีความหมายมากกว่าเดิม ขอยกตัวอย่างคำนิยามจากระเบียบของกรมศิลปากร ว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถาน๒๕๒๘... ข้อ ๓ ในระเบียบนี้
          (๑) "การอนุรักษ์" หมายความว่า การดูแล รักษา เพื่อให้คงคุณค่าไว้  และให้หมายรวมถึง  การป้องกัน การรักษา การสงวน การปฏิสังขรณ์ และการบูรณะด้วย
           ก. การสงวนรักษา หมายความถึง การดูแลรักษาไว้ตามสภาพของเดิมเท่าที่เป็นอยู่ และป้องกันมิให้เสียหายต่อไป
           ข. การปฏิสังขรณ์ หมายความถึง การทำให้กลับคืนสู่สภาพอย่างที่เคยเป็นมา
           ค. การบูรณะ  หมายความถึง  การซ่อมแซม และปรับปรุง  ให้มีรูปทรงลักษณะกลมกลืนเหมือนของเดิมมากที่สุดเท่าที่จะมากได้  แต่ต้องแสดงความแตกต่างของสิ่งที่มีอยู่เดิม และสิ่งที่ทำขึ้นใหม่
           คำ "โบราณคดี"  ก็เป็นคำหนึ่งที่มีความหมายเดิมอยู่บ้าง  แต่ขอบเขตกว้างขวางกว่าเดิมซึ่งหมายตามรูปคำว่า "เรื่องเก่า ๆ" แต่เมื่อเป็นวิชาโบราณคดี ก็หมายถึง  วิชาที่ศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ (เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ฯลฯ)   ในอดีตจากสิ่งของที่มนุษย์สร้างหรือดัดแปลงขึ้นแล้วตกทอดเป็นหลักฐานให้เราศึกษาได้
           สิ่งของที่มนุษย์สร้างหรือดัดแปลงใช้ คือโบราณวัตถุ  โบราณสถาน ในความหมายของวิชาโบราณคดีนั่นเอง บางชิ้น บางแห่ง อาจเป็นศิลปวัตถุหรือศิลปสถาน (คำนี้ไม่มีใช้กัน) ด้วยก็ได้ 
           มาตร ๔ ของพระราชบัญญัติโบราณสถาน  โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ มีคำจำกัดความของโบราณสถาน  โบราณวัตถุ  และศิลปวัตถุ ดังนี้

           "โบราณสถาน"   หมายความว่า  อสังหาริมทรัพย์  ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้าง  หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ในทางศิลปะประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี

           "โบราณวัตถุ" หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน  ซากมนุษย์หรือซากสัตว์  ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ในทางศิลปะประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี 

           "ศิลปวัตถุ"  หมายความว่า  สิ่งที่ทำด้วยฝีมือและเป็นสิ่งที่นิยมกันว่ามีคุณค่าในทางศิลปะ
          แต่ปัจจุบันนี้มีคำใหม่ ๆ เกิดขึ้นหลายคำหากแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับ พ.ศ. ๒๕๐๔ คงต้องบรรจุนิยามใหม่ ๆ เข้าไปอีก เช่นคำ "แหล่งโบราณคดี"และ "อุทยานประวัติศาสตร์"  ซึ่งจริง ๆ  แล้วก็เป็นโบราณสถานด้วย คำจำกัดความทางวิชาการของคำทั้งสองเป็นดังนี้
 
           "แหล่งโบราณคดี" หมายถึง บริเวณที่มีหลักฐานของพฤติกรรมมนุษย์ในอดีต ทั้งที่อยู่บนดิน ใต้ดิน และใต้น้ำ เช่น ที่อยู่อาศัย สุสานศาสนสถาน หรือสถานที่ประกอบอาชีพและแหล่งเรืออับปาง
          "อุทยานประวัติศาสตร์" หมายถึง บริเวณที่มีหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์สมัยใดสมัยหนึ่งของประเทศ หลักฐานและความสำคัญดังกล่าวอาจเป็นทางวัฒนธรรม การเมือง และสังคมวิทยาก็ได้
          และคำ "วัฒนธรรม" สมัยก่อนแปลกันตรงตัวตามรูปศัพท์ว่า "ธรรมะอันเจริญ"  เหมือนกับ "อารยธรรม" ทุกประการ ทั้ง ๆ ที่ทางวิชาการนั้นให้ความหมายต่างกัน กล่าวคือ "อารยธรรม"  หมายถึง ความเจริญระดับเมืองส่วน "วัฒนธรรม" เป็นคำที่ใช้ให้หมายถึงชีวิตความเป็นอยู่ทุกแง่มุมของมนุษย์ในฐานะที่เป็นสปีซีส์ (species) หนึ่ง และแคบเข้ามาก็เน้นวิถีชีวิตของกลุ่มสังคมในกลุ่มสังคมหนึ่ง  เช่น วัฒนธรรมจีน วัฒนธรรมไทย หรือแคบเข้ามาอีก เช่น  ไทยลื้อ  ไทยเขิน ไทยในประเทศไทยและอื่น ๆ แต่คุณลักษณะที่เด่นที่สุดก็คือเป็นมรดกทางด้านความคิดหรือปทัฏฐานที่สืบทอดกันต่อมา ไม่ใช่การสืบทอดทางพันธุกรรม
          ในสังคมมนุษย์   สิ่งที่ปรากฏออกมาเป็นรูปธรรม    เป็นผลิตผลของความคิดด้วย  เพราะการที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้บอกถึงระดับสติปัญญา และความสามารถของมนุษย์ จนกว่าจะได้นำทรัพยากรเหล่านั้นมาจัดการให้เป็นประโยชน์ต่อคน ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ  ไม่เช่นนั้นดินก็ยังเป็นดินไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เซรามิก หรือเครื่องปั้นดินเผา  และแร่ก็ยังเป็นสินแร่อยู่ในน้ำและในดิน  ไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อมนุษย์ด้วยกันใช้สอยนานัปการดังเช่นทุกวันนี้

นิยามต่าง ๆ, นิยามต่าง ๆ หมายถึง, นิยามต่าง ๆ คือ, นิยามต่าง ๆ ความหมาย, นิยามต่าง ๆ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 16

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu