ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ชุมชนโบราณบริเวณรอบอ่าวไทย, ชุมชนโบราณบริเวณรอบอ่าวไทย หมายถึง, ชุมชนโบราณบริเวณรอบอ่าวไทย คือ, ชุมชนโบราณบริเวณรอบอ่าวไทย ความหมาย, ชุมชนโบราณบริเวณรอบอ่าวไทย คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ชุมชนโบราณบริเวณรอบอ่าวไทย

          บริเวณรอบอ่าวไทย ได้พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดี แสดงให้เห็นว่ามีผู้คนอยู่อาศัยสร้างเป็นบ้านเมืองมาช้านาน และมีการติดต่อกับชุมชนที่อยู่ห่างไกลออกไป  ได้แก่ ชุมชนตามชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น จีน เขมร เวียดนาม อินโดนีเซีย และชุมชนในมหาสมุทรอินเดีย เช่น ลังกา อินเดีย พม่า และบริเวณตะวันออกกลาง เป็นต้น ชุมชนที่มีคูคันดินล้อมรอบที่พบรอบอ่าวไทย อยู่ไม่ห่างไกลจากทะเล มีเส้นทางคมนาคมหรือขุดคูคลองให้ติดต่อออกสู่ทะเล ได้  ส่วนใหญ่พบในบริเวณที่ราบเจ้าพระยา ซึ่งในอดีตชายฝั่งทะเลได้อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินมากกว่าปัจจุบัน

          แผนที่บริเวณที่ราบเจ้าพระยาแสดงแนวชายฝั่งทะเลเดิม และตำแหน่งชุมชนโบราณมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ในบริเวณที่ราบเจ้าพระยาตั้งแต่แนวชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกจังหวัดเพชรบุรีอ้อมไปทางทิศตะวันตกจังหวัดชลบุรี  มีเมืองต่างๆ ได้แก่ เพชรบุรี คูบัว ราชบุรี นครปฐม กำแพงแสน อู่ทอง สุพรรณบุรี อู่ตะเภา ดงละครและเมืองพระรถ เป็นต้น ในบริเวณจังหวัดภาคใต้พบชุมชนโบราณในบริเวณอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และบริเวณลุ่มน้ำปัตตานีเป็นต้น ชุมชนโบราณตามแนวชายฝั่งทะเลทุกแห่งที่พบในบริเวณรอบอ่าวไทยนี้ จะมีเส้นทางติดต่อเข้าออกถึงทะเล บางแห่งขุดคลองเชื่อมเพื่อให้เรือเข้าถึงตัวเมืองได้สะดวก เมืองเหล่านี้จึงมีลักษณะเป็นเมืองท่าติดต่อค้าขายกับภายนอกโดยทางเรือได้อย่างดี ร่องรอยคูคลองที่ขุดเชื่อมระหว่างตัวเมืองและแนวชายฝั่งทะเล เป็นหลักฐานให้ทราบถึงความสัมพันธ์ของตำแหน่งเมือง และแนวชายฝั่งทะเลในสมัยนั้น

          เมืองโบราณที่ตัวจังหวัดนครปฐม เป็นตัวอย่างการสร้างเมืองมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ และมีร่องรอยการขุดคลองออกสู่ทะเล และต่อมาภายหลังที่มีฝั่งทะเลถอยร่นไป การออกสู่ทะเลตามแนวคลองเก่าไม่สะดวก ได้ขุดแนวคลองใหม่เชื่อมต่อกับแม่น้ำออกสู่ทะเล ร่องรอยแนวคลองนี้ปรากฏให้เห็นในภาพถ่ายทางอากาศได้ชัดเจนและยังมีหลักฐานที่สามารถสำรวจเห็นได้ในภูมิประเทศจริง แนวคลองเก่าขุดจากตัวเมืองไปทางใต้สามารถติดต่อกับทะเลได้ที่บริเวณบ้านดอนยายหอม  ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางใต้ประมาณ ๙ กิโลเมตร ต่อมาเมื่อทะเลถอยร่นไกลออกไปไม่สะดวกที่จะใช้เป็นทางเข้าออกทะเล ได้ขุดคลอง ใหม่จากกลางเมืองไปทางตะวันออก เชื่อมต่อกับแม่น้ำท่าจีนที่นครชัยศรี ห่างจากตัวเมืองไปทางตะวันออกประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ซึ่งต่อมาเจริญเป็นเมืองบนฝั่งแม่น้ำ  และสันนิษฐานว่าชื่อเมืองนครชัยศรี คงเป็นชื่อเดิมของเมืองโบราณที่นครปฐม และคลองที่เชื่อมระหว่างตัวเมืองโบราณที่นครปฐมและแม่น้ำท่าจีนนี้ ต่อมาภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้บูรณะองค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกนอกเมืองโบราณที่นครปฐม ได้ขุดลอกคลองโบราณตลอดแนวจากแม่น้ำท่าจีนต่อเชื่อมกับแนวคูเมืองทางด้านเหนือ และขุดคลองใหม่ต่อออกไปจนถึงพระปฐมเจดีย์ มีชื่อเรียกในปัจจุบันว่า "คลองเจดีย์บูชา"

          เมืองโบราณที่อู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นเมืองโบราณตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจระเข้สามพัน ซึ่งเป็นทางน้ำมีร่องรอยต่อเชื่อมกับทะเลเดิมที่อยู่ลึกเข้ามาในแผ่นดินมีหลักฐานขุดพบโครงกระดูกและโบราณวัตถุในสมัยที่ยังใช้เครื่องมือหินและลูกปัดแก้ว  ซึ่งมีที่มาจากแถบตะวันออกกลาง แสดงว่าบริเวณนี้ได้มีการติดต่อกับทะเลมานาน หลักฐานปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศ แสดงให้เห็นคูคันดินรอบเมืองโบราณ  และมีร่องรอยการขุดคลองลัดเป็นแนวตรงถึงปากแม่น้ำจระเข้สามพัน ซึ่งติดต่อกับทะเล ภายหลังที่ทะเลถอยร่นห่างออกไป ปรากฏร่องรอยแสดงให้เห็นผลกระทบกับเมืองโบราณอู่ทองที่สำคัญสองประการ ประการที่หนึ่ง คือ พบร่องรอยของแนวคลองขุดเชื่อมต่อกับแนวคลองเก่ามาทางด้านใต้ ซึ่งแสดงว่าเมื่อแนวเก่าไม่สะดวกต่อการออกสู่ทะเล  จึงได้มีการขุดแนวคลองใหม่ ประการที่สองพบร่องรอยของการที่แม่น้ำจระเข้สามพันเปลี่ยนทางเดินลงสู่ทะเลในแนวใหม่ ก่อนถึงตัวเมืองโบราณที่อู่ทอง ทำให้ต้องขาดแคลนน้ำ  และได้พบร่องรอยการขุดพนังซึ่งเป็นคันดินสูงปิดทางน้ำ และบังคับให้น้ำไหลไปตามแม่น้ำจระเข้สามพันผ่านตัวเมืองอีกดังเดิมนับเป็นหลักฐานที่สำคัญแสดงให้เห็นถึงความสามารถของคนในอดีตที่พยายามต่อสู้เพื่อความอยู่รอดกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ แต่ในที่สุดเมื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำได้ แต่ทะเลกลับอยู่ห่างไกลออกไป ไม่สะดวกในการติดต่อกับทะเลทำให้เมืองดังกล่าวหมดความสำคัญลง และในที่สุดเมืองที่สร้างขึ้นมาบนแม่น้ำท่าจีน ได้แก่ เมืองโบราณที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งสะดวกในการติดต่อกับทะเล ก็เจริญขึ้นมาแทนที่ในที่สุด

          บริเวณที่ราบเจ้าพระยาตอนล่างเริ่มตั้งแต่จังหวัดชัยนาทลงมา แม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มไหลแยกออกเป็นแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยาจนออกอ่าวไทย มีหลักฐานทางธรณีวิทยาแสดงว่าเคยเป็นทะเลมาก่อน มีการเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งทะเลขึ้นลงมาหลายครั้ง ในช่วงเวลาที่มีการสร้างบ้านเมืองขุดคูคันดินล้อมรอบประมาณในช่วงสมัยทวารวดีหรือก่อนเวลานั้น คิดเป็นเวลาคงไม่น้อยกว่า ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว ทะเลจะอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินมากกว่าปัจจุบัน และอยู่ใกล้กับ เมืองโบราณ เช่น ที่เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี เมืองนครชัยศรีโบราณที่ตั้งเมืองจังหวัดนครปฐม เมืองอู่ทอง ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองอู่ตะเภา อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรีและเมืองพระรถ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เป็นต้น

          ตำแหน่งเมืองโบราณดังกล่าว อยู่ไม่ไกลจากฝั่งทะเล แต่ละเมืองได้พบร่องรอยขุดคลองหรือทางน้ำต่อเชื่อมถึงทะเล แสดงให้เห็นถึงการใช้เป็นเส้นทางเข้าออกสู่ทะเลในช่วงเวลานั้นต่อมาฝั่งทะเลได้ถอยร่นห่างออกไป ไม่สะดวกต่อการคมนาคม เป็นผลทำให้ต้องโยกย้ายที่ตั้งเมืองใหม่ หรือเกิดเมืองใหม่ขึ้นมาแทนที่บนฝั่งแม่น้ำที่ออกสู่ทะเลได้สะดวกกว่า เช่น เมืองโบราณที่บ้านเตาอิฐ  ที่ตั้งเมืองจังหวัดราชบุรี  ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแม่กลอง และเมืองโบราณบนฝั่งตะวันตกแม่น้ำท่าจีน ที่ตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ทั้งสองเมืองมีคูคันดินล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเหมือนกันสันนิษฐานได้ว่าทั้งสองเมืองสร้างขึ้นมาในสมัยเดียวกัน ภายหลังที่ฝั่งทะเลได้ถอยร่นห่างออกไปทำให้การติดต่อออกสู่ทะเลไม่สะดวก เมืองโบราณที่สุพรรณบุรีจึงเจริญขึ้นมาแทนที่เมืองอู่ทอง และเมืองราชบุรีก็เจริญขึ้นมาแทนที่เมืองคูบัว

ชุมชนโบราณบริเวณรอบอ่าวไทย, ชุมชนโบราณบริเวณรอบอ่าวไทย หมายถึง, ชุมชนโบราณบริเวณรอบอ่าวไทย คือ, ชุมชนโบราณบริเวณรอบอ่าวไทย ความหมาย, ชุมชนโบราณบริเวณรอบอ่าวไทย คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 15

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu